สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

หมุนฟันเฟืองข้าราชการ

จาก โพสต์ทูเดย์

ประชาธิปัตย์ น่าจะเป็นพรรคการเมืองที่อาศัยใบบุญข้าราชการในการขับเคลื่อนการทำงานมากที่สุด

โดย....ทีมข่าวการเงิน

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าเหตุใดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ส.ค. จึงไฟเขียวการปรับอัตรา “เงินเดือนแรกบรรจุ” ของข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ

ปัจจุบันมีข้าราชการพลเรือนสามัญในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เฉียดๆ 4 แสนคน จากข้าราชการทั่วประเทศมากกว่า 1.5 ล้านคน

ในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการปรับเงินเดือนและแจกโบนัสข้าราชการไปแล้วอย่างละครั้ง

แม้รัฐบาลจะมีเงินงบประมาณจำกัดจำเขี่ย เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองในประเทศ

แต่รัฐบาลนี้ก็ยังใจป้ำเพิ่มสตางค์ในกระเป๋าข้าราชการแบบเต็มๆ!!!

ถือเป็นการ “ซื้อใจ” และ “เอาใจ” โครงสร้างการ บริหารประเทศที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุด

ย้อนกลับไปในช่วงวิกฤตการณ์การเมืองรุนแรงในเดือน เม.ย. 2552 ข้าราชการกว่า 50% ใส่เกียร์ว่าง

ข้าราชการระดับบริหารเกือบ 100% เป็นคล้ายๆ มือถือที่ “ไม่มีสัญญาณตอบรับจากหมายเลขที่ท่านเรียก”

ต่อมาในเดือน พ.ค. 2553 แม้ข้าราชการเกียร์ว่างน้อยลง แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่ผสมโรงกับบรรดาผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง หักหลังรัฐบาลดังโพละ

จนถูกตั้งฉายาแบบแปลกๆ ว่าเป็นพวกตำรวจมะเขือเทศ ทหารแตงโม และครูพริกขี้หนู

หากมองข้ามให้ไกลกว่าปัญหาทางการเมือง จะพบว่าข้าราชการถูกตีตราว่าเป็นบุคลากรที่เงินเดือนน้อย และสมควรได้รับความเห็นใจ

ทางสำนักงาน ก.พ. รายงาน ครม.ว่า สภาพปัญหาปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นค่าครองชีพที่สูง การดึงดูดของภาคเอกชน และภาระรับผิดชอบที่หนักอึ้ง

ส่งผลให้แรงดึงดูดในการรักษาคนเก่งคนดีในระบบราชการลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง

อัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการต่ำกว่าภาคเอกชน การขาดความยืดหยุ่น รวมถึงยังมีความหลากหลายของอัตราเงินเดือนแรกบรรจุประกอบกับการเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวน

ขณะที่ขีดความสามารถในการสรรหาของสถานประกอบการขนาดใหญ่สูงขึ้น

จากรายงานผลการสำรวจอัตราค่าจ้างและสวัสดิการสำหรับการบริหารค่าจ้าง ประจำปี 2552-2553 ของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย พบว่า เงินเดือนแรกบรรจุของภาคเอกชนสูงกว่าภาครัฐ 6-86%

ไม่เพียงเท่านั้น หากย้อนกลับไปดูสถิติการ “ลาออก” ของข้าราชการพลเรือนสามัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่าตัวเลขสูงอย่างน่าตกใจ

โดยในปี 2549 มีจำนวนผู้ลาออกราชการ 3,136 คน จากข้าราชการพลเรือนสามัญทั้งหมด 3.6 แสนคน

ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มข้าราชการที่ทำงานด้านการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ลาออก 1,806 คน

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็น “ปัญหาคลาสสิก” คือเงินเดือนของโรงพยาบาลเอกชนสูงลิ่ว จูงใจให้แพทย์และพยาบาลกล้าที่จะออกไปทำงานด้วย

ขณะที่อีกสาขาที่ลาออกมาก คือ ข้าราชการในด้านการคลัง เศรษฐกิจ พาณิชย์ และอุตสาหกรรม ยื่นใบลาออกถึง 329 คน

สะท้อนได้ว่าภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคง สามารถให้สวัสดิการและเงินเดือนที่ดีกว่าระบบราชการแน่นอน

ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น 2 ปี อัตราการลาออกของข้าราชการพลเรือนสามัญ ปี 2547 ยังมีจำนวน 1,099 คน

แต่น่าสังเกตว่าข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขยังคงเป็นแชมป์การลาออกมากที่สุด 614 คน

ขณะที่ข้าราชการกระทรวงการคลังก็ยังตามมาเป็นอันดับที่สอง 162 คน

ที่เหลือก็เป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม และกระทรวงไอซีที เป็นต้น

ก.พ.จึงเสนอให้รัฐบาลทุบโต๊ะ ปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุของภาคราชการให้ใกล้เคียงกับเอกชนภายใน 5 ปี โดยเริ่ม “คิกออฟ” ปีงบประมาณ 2554

ไม่งั้นปัญหาสมองไหลบานปลายแน่นอน!!!

ประเด็นที่ขาดไม่ได้จากการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ คือการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงในต้นปีหน้า 2554

จะถือเป็นการเลือกตั้งที่แข่งขันกันดุเดือดเลือดพล่านมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ประชาธิปัตย์แพ้ไม่ได้

เพื่อไทยต้องการกลับมาสู่เกม

ขณะที่ภูมิใจไทยก็เดิมพันสูง...

การขึ้นเงินเดือนเที่ยวนี้จึงต้อง “ออกสตาร์ต” ทันทีในเดือน เม.ย. 2553 ซึ่งกำลังเป็นช่วงโหมโรงทางการเมืองว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลใหม่

อีกทั้งยังเป็นตัวกำหนดยุทธศาสตร์ “แยกกันเดินรวมกันตี” กับพรรคภูมิใจไทย ที่ล้ำหน้าไปลุยหาเสียงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงกำนันผู้ใหญ่บ้าน ผ่านกระทรวงมหาดไทยแล้ว

ประชาธิปัตย์เล่นฐานใหญ่ ภูมิใจไทยลุยฐานย่อย หาเสียงกันซื้อใจกันแบบเบ็ดเสร็จ

งานนี้สิ้นเปลืองงบประมาณหลายหมื่นล้าน แต่ได้คะแนนเสียงอื้ออึง ดียิ่งกว่าการตกเขียว

แถมยังทำให้ “ฟันเฟือง” ข้าราชการ ที่เคยสนิมเกาะ เคาะไม่ออกได้น้ำมันหล่อลื่นในการทำงานให้บริการประชาชน เดินหน้ารัฐสวัสดิการอย่างเต็มที่

Tags : หมุนฟันเฟือง ข้าราชการ

view