สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

สภาพัฒน์ฯขายฝันเนรมิตเกาะรัตนโกสินทร์

จาก โพสต์ทูเดย์

สภาพัฒน์ฯ ขายฝันอภิมหา 25 โปรเจ็ค เนรมิตเกาะรัตนโกสินทร์

โดย – อาทิตย์ เคนมี

พื้นที่ไข่แดงใจกลางกรุง แหล่งรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่เชิดหน้าชูตาที่สุดของ เมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ชาวต่างชาติต่างแห่แหนกันมาเยี่ยมชมคือ บริเวณ “เกาะรัตนโกสินทร์” ทว่าคนไทยในฐานะเจ้าของบ้านกลับใช้สอยพื้นที่อย่างไม่รู้คุณค่า ปล่อยให้เมืองขยายตัวอย่างสะเปะสะปะไร้ทิศทาง จนสุดท้ายต้องมานั่งคิดทบทวนหาแนวทางฟื้นฟูสภาพเกาะรัตนโกสินทร์เป็นการใหญ่

ที่ผ่านมาผู้ว่าฯกทม. ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย ต่างก็ไม่มีใครที่สามารถปักธงแห่งการพัฒนาได้อย่างเป็นระบบแบบแผน เหตุเพราะภารกิจของพ่อเมือง กทม.ยุ่งเหยิงจนไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญได้ ยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันที่ต้องอีรุงตุงนังกับปัญหาการเมืองรุมเร้า การพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์จึงเป็นเพียงเรื่องรอง

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้คิดค้นโครงการมากมายใหญ่โต เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่ตลอดแนวถนนราชดำเนินให้กลับมาเป็นที่ภาคภูมิใจของคนไทย อีกครั้ง โดยว่าจ้างบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นที่ปรึกษา ภายใต้ชื่อโครงการยาวเหยียดว่า “โครงการศึกษา วิเคราะห์ เสนอแนะแนวทางการรักษา ฟื้นฟู และพัฒนา ย่านประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ถนนราชดำเนินโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน” โดยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นประตูสู่กรุงรัตนโกสินทร์

โครงการของสภาพัฒน์ฯ ในการฟื้นฟูเกาะรัตนโกสินทร์ แยกย่อยออกมาได้ทั้งสิ้น 25 โครงการ รวมใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มภายในปี 2554-2556 โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ภาพรวมของโครงการมีเจตนารมณ์เพื่อพัฒนาด้านกายภาพบนถนนราชดำเนินและ อนุรักษ์ชุมชนโดยรอบ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน เช่น โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำ การป้องกันอัคคีภัย การจัดเก็บสายไฟและสายสัญญาณลงดิน การปรับภูมิทัศน์ พัฒนาคลองหลอดวัดราชนัดดา คลองคูเมืองเดิม ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน อนุรักษ์สถาปัตยกรรมชุมชน การปรับปรุงพื้นที่ถนนจักรพงษ์ ถนนสิบสามห้าง ถนนมหาไชย ถนนเจ้าฟ้า ถนนสำราญราษฎร์ ถนนบำรุงเมือง การปรับปรุงท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น

นายวัชระ จงสุวัฒน์ ประธานกรรมการบริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ระบุว่า หากพิจารณาถึงรายละเอียดในแต่ละโครงการนั้นถือว่าใช้งบประมาณไม่มากเมื่อ เทียบกับผลสำเร็จที่จะได้รับ บางโครงการใช้งบประมาณเพียงหลักหมื่นบาท และบางโครงการอาจไม่เป็นต้องใช้งบประมาณของรัฐ แต่สามารถร่วมมือกับภาคเอกชนและชุมชนในการพัฒนาร่วมกันได้ และหากโครงการใดที่เห็นว่าไม่เหมาะสมก็สามารถยุบทิ้งหรือแก้ไขปรับปรุงเพิ่ม เติมได้ โดยขึ้นกับความเห็นชอบของชุมชนเป็นสำคัญ

นายปรีดิ์ บุรณศิริ อดีตนายกสภาสถาปนิกไทย ให้ความเห็นว่า เข็มทิศในการพัฒนาเมืองที่ต้องทำให้ได้คือ การสร้างเมืองให้น่าอยู่น่าอาศัย โดยชุมชนต่างๆ จะเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและต้องมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็น เอกลักษณ์ของตัวเอง นอกจากนี้จะต้องส่งเสริมให้ชุมชนรู้จักหวงแหนสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เพราะหากยังมีมลภาวะ ขยะเกลื่อนเมือง โอกาสที่จะพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ก็จะน้อยลง

ที่สำคัญควรมีการจัดทำตัวชี้วัดความสำเร็จในระดับต่างๆ เพื่อนำมาใช้ประเมินผลการทำงานและปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป

ขณะที่นายธีระพล คชาชีวะ ประธานชุมชนแพร่งภูธร เสนอแนวคิดว่า อยากให้สภาพัฒน์ฯ รื้อสะพานพระปิ่นเกล้าทิ้ง เพื่อฟื้นฟูคลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ให้เชื่อมต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาได้และเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำของประชาชน เนื่องจากสะพานพระปิ่นเกล้าสร้างทับคลองคูเมืองเดิม ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไป

แนวคิดของนายธีระพลทำให้เกิดการหารือกันอย่างกว้างขวาง โดยนายวัชระ ระบุว่า ทางบริษัทพร้อมจะรับแนวคิดของประธานชุมชนแพร่งภูธรที่เสนอให้มีการรื้อสะพาน พระปิ่นเกล้า เพื่อลดปัญหาการจราจรที่คับคั่งบนถนนราชดำเนิน และเปิดพื้นที่คลองคูเมืองเดิม ให้ไหลออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้

นายวัชระ กล่าวว่า จะนำแนวคิดนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาพัฒน์ฯ เพื่อเสนอเป็นโครงการต่อไป ซึ่งเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เช่นเดียวกับกรุงโซล ประเทศเกาหลี ที่มีการฟื้นฟูคลองสายหลักที่พาดผ่านตัวเมือง จากเดิมที่มีสภาพเสื่อมโทรมมาก และมีการสร้างทางด่วนคร่อมคลอง จากนั้นจึงมีการรื้อทางด่วนทิ้งและสามารถฟื้นฟูคลองจนมีสภาพใสสะอาดได้ภายใน 2 ปีครึ่งเท่านั้น

“เดิมถนนราชดำเนินเป็นเส้นทางเสด็จฯ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเส้นทางผ่านของรถจำนวนมาก ทำให้แออัดคับคั่ง ฉะนั้นควรลดบทบาทความสำคัญของสะพานพระปิ่นเกล้าลง อาจไม่ถึงขั้นต้องทุบทิ้ง แต่เปลี่ยนเป็นเส้นทางคนเดิน อีกทั้งจะมีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาข้างรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับฝั่งธนบุรีได้” นายวัชระ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นายวัชระ ยอมรับว่า การฟื้นฟูและพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์เป็นเรื่องยาก เพราะจุดอ่อนของประเทศไทยคือ การเมืองไม่นิ่งและมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ทำให้โครงการต่างๆ ล่าช้าและไม่ต่อเนื่อง

ด้าน ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ประธานอนุกรรมาธิการศึกษานโยบายการอนุรักษ์เกาะรัตนโกสินทร์ วุฒิสภา กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะรื้อสะพานพระปิ่นเกล้า เนื่องจากปัจจุบันถนนราชดำเนินประสบปัญหาจราจรติดขัด ก่อให้เกิดมลพิษอย่างมาก กระทบต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งแรงสั่นสะเทือนของรถยนต์ยังกระทบต่อโบราณสถาน ทั้งพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว และวัดโพธิ์

ด้านนายมนูญ พุฒทอง ตัวแทนประชาคมบางลำพู กล่าวว่า ไม่เชื่อว่าเกาะรัตนโกสินทร์จะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ ตราบใดที่ถนนราชดำเนินยังเป็นถนนสายหลักในการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ทำให้ชุมชนต่างๆ ได้รับความเดือดร้อน นักท่องเที่ยวไม่กล้าเข้าพื้นที่ ราคาที่ดินตกต่ำ กลายเป็นเมืองที่ยังล้าหลัง ดังนั้นขอเสนอให้แก้ไขปัญหาผู้ชุมนุมให้ได้เสียก่อน

หลากหลายความคิดของสภาพัฒน์ฯ และชาวชุมชนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ แม้ในบางโครงการอาจไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นอีกก้าวหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทุก ฝ่ายที่ต้องการผลักดันบ้านเมืองไม่ให้ถอยหลังลงคลองมากไปกว่านี้

Tags : สภาพัฒน์ฯ ขายฝัน เนรมิต เกาะรัตนโกสินทร์

view