สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระที่นั่งอภิเศกดุสิต งามวิจิตรงานศิลป์ น้ำพระทัยจากแม่หลวงสู่ปวงชน

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

  โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

พระที่นั่งอภิเศกดุสิต รูปแบบอาคารเป็นรูปตัวE มีมุขด้านหน้า 3 มุข
       "ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวนาชาวไร่ หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใดคนไทยมีความละเอียดอ่อน และฉับไวต่อการรับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝนเขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้ เห็นได้ " พระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
       
       ที่ฉันอัญเชิญพระราชเสาวนีย์ในพระราชินีนาถของเรามานั้น ก็แน่นอนว่าในครั้งนี้ฉันจะพาพวกเราไปเที่ยวชมผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าที่ สร้างมาจากฝีมือคนไทยล้วนๆ ซึ่งจัดแสดงอยู่ภายใน "พิพิธภัณฑ์ศิลปาชีพ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต" ถนนอู่ทองใน

พระที่นั่งอภิเศกดุสิตมีแผงซุ้มประตูเป็นวงโค้งเกือกม้าฉลุลวดลายขนมปังขิง
       พวกเราปวงชนชาวไทยที่รักในชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นั้น รู้ดีกว่าพระราชกรณียกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คือการเสด็จพระราชดำเนินตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปทรงเยี่ยมราษฎรใน ทุกแห่งหนทั่วทุกภาคของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายสิบปี จึงทำให้ทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎรว่ามีความทุกข์สุขอย่าง ไร
       
       ทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่ต้องทำงานหนัก และต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ศัตรูพืชระบาด ทำให้ชาวนาชาวไร่มีฐานะยากจน การนำสิ่งของไปแจกจ่ายเป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า เป็นการช่วยเหลือที่ไม่ยั่งยืน ควรจะหาวิธีอื่นที่ช่วยให้ราษฎรพึ่งตนเองได้
       
       สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงมีพระราชปณิธาณในการส่งเสริมและฟื้นฟูการผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้าน ทั่วทุกภาค เพื่อให้ราษฎรของพระองค์มีรายได้เสริมจากอาชีพเกษตรอันเป็นอาชีพหลัก แล้วยังสามารถอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านแต่โบราณ อันเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศชาติให้คงอยู่ต่อไปด้วย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ.2519 และมีการดำเนินงานอย่างมีระบบ มีการจัดหาครูผู้ฝึกสอนที่เชี่ยวชาญมีฝีมือด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านมาถ่าย ทอดวิชาการอันละเอียดอ่อน โดยจะทรงพิจารณาจากสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และวัสดุในแต่ละท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น ภาคเหนือ จะส่งเสริมให้ฝึกอบรมการเย็บปักถักร้อย การทอผ้า ทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าจก การทำเครื่องประดับเงินและทอง ตามแบบศิลปะของชาวไทยภูเขา เป็นต้น

ลวดลายฉลุอันงดงามประดับพระที่นั่งอภิเษกดุสิต
       ภาคอีสาน ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมการทอผ้าไหมมัดหมี่ เพื่อรักษาศิลปวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะไว้ มิให้สูญหายแต่ให้ปรับปรุงวิธีการทอ การย้อมสี การตกแต่งสำเร็จให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการปลูกต้นหม่อนและเลี้ยงไหมอีกด้วย ส่วนภาคกลาง ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมการทำดอกไม้ประดิษฐ์ การทำเครื่องจักสานด้วยหวาย ไม้ไผ่ และป่านศรนารายณ์ การทอผ้าฝ้าย การปั้นตุ๊กตาชาววัง การตัดเย็บเสื้อผ้า และการถนอมอาหาร
       
       ส่วนภาคใต้ ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมการทอผ้า การจักสานด้วยหวาย ไม้ไผ่ ย่านลิเภา การทอเสื่อกระจูด การเย็บปักถักร้อย การทำถมเงินถมทอง เป็นต้น จนกระทั่งทำให้งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งในอดีตที่ทำกันอยู่เฉพาะใต้ถุน บ้านสำหรับใช้ภายในครัวเรือน ให้กลับมาเป็นงานฝีมือออกสู่ตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางศิลปหัตถกรรมและมีเอกลักษณ์ เฉพาะตัว โดยผลงานที่มีคุณค่าเหล่านี้ในบางส่วนก็ได้ถูกนำมาจัดแสดงไว้ภายใน "พิพิธภัณฑ์ศิลปาชีพ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต" เพื่ออวดโฉมศิลปหัตถกรรมไทยอันล้ำค่าสู่สายตาคนทั่วโลก โดยตัวพระที่นั่งอภิเศกดุสิตนี้เป็นโถงชั้นเดียวรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2444
       
       ลักษณะโครงสร้างตัวอาคารเป็นรูปตัว E ในภาษาอังกฤษ มีมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า 3 มุข แต่ละมุขมีจุดเด่นอยู่ที่การทำแผงซุ้มประตูเป็นรูปวงโค้งเกือกม้า ประดับด้วยเครื่องไม้ฉลุลวดลายอันกอปร ด้วยลวดลายแบบแขกมัวร์ ผสมกับลวดลายแบบอาร์ตนูโว สวยงามอย่างที่เรียกสถาปัตยกรรมรุ่นนี้กันว่า ขนมปังขิง หรือ ginger-bread ทั้งยังมีการประดับกระจกสี จึงทำให้พระที่นั่งองค์นี้งดงามมาก

ห้องท้องพระโรงใหญ่สวยงามโอ่อ่า
       พระที่นั่งอภิเศกดุสิตถูกใช้เป็นท้องพระโรงออกว่าราชการแผ่นดิน กระทั่งมีการก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงหลังใหม่ แทน จนมาถึงปี พ.ศ.2535 ในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บูรณะตกแต่งพระที่ นั่งอภิเศกดุสิตจัดเป็น "พิพิธภัณฑ์ศิลปาชีพ" ถาวรเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

ภายในส่วนจัดแสดงเครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม
       ภายในพิธิภัณฑ์ศิลปาชีพนี้ จัดแสดงผลงานศิลปาชีพอันประณีตวิจิตรบรรจงแขนงต่างๆ ของนักเรียนศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ บางส่วนก็เป็นของใช้ส่วนพระองค์ที่มีการลงพระนามาภิไธยย่อ พระปรมาภิไธยย่อด้วย โดยเริ่มจากท้องพระโรงใหญ่ซึ่งเป็นส่วนแรกจัดแสดง "เครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องถม" ที่ จัดแสดงอยู่ภายในตู้โชว์มายมายเรียงรายอย่างเป็นระเบียบสวยงาม เช่น กระเป๋าถมทองประดับเพชรลวดลายและทรวดทรงต่างกันทุกใบ มีทั้งเป็นรูปหอย รูปพัด รูปหนังสือ ฯลฯ ฝีมือประณีตงดงาม พระกรัณฑ์ตะทอง ชุดเชี่ยนหมากขนาดเล็ก ตลับถมทองรูปผลไม้ประดับเพชรเป็นผลระกำ ฟังทอง ฝักมะขาม มะละกอ และของใช้ต่างๆ อาทิ ขัน ถาด พาน จาน เป็นต้น งานคลั่งก็เป็นงานฝีมือโบราณอีกแบบหนึ่ง เป็นการตีเหล็กฝังเส้นเงินเส้นทองลงไปในเนื้อวัสดุแลดูสวยงามมาก

ตู้แสดงงานจากปีกแมลงทับ
       นอกจากนี้ยังมีตู้แสดงผลงานที่ทำมาจากปีกแมลงทับสีเขียวมรกตมันวาว ซึ่งแมลงทับเป็นแมลงที่มีวงจรอายุสั้น แต่ปีกของมันสวยงามคงทนจึงนำเอาปีกแมลงทับที่มีสีเขียวสวยนั้นมาใช้ให้เกิด ประโยชน์ โดยทำเป็นพวกเครื่องประดับ และของโชว์ต่างๆ เช่น รูปกินรี ไก่ฟ้า กลายเป็นของสวยหรูมีมูลค่า ส่วนที่โดดเด่นอีกหนึ่งจุดในห้องท้องพระโรงแห่งนี้คือ พระที่นั่งกง ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นว่าในอดีตพระ ที่นั่งอภิเศกดุสิตหลังนี้เคยถูกใช้เป็นสถานที่ว่าราชการแผ่นดินของพระมหา กษัตริย์

พระที่นั่งกง ที่ประทับออกว่าราชการในสมัยก่อน
       ถัดไปเป็นห้องจัดแสดง "ผ้าทอมือ" เช่น ผ้าซิ่น ผ้าตีนจก ผ้าฝ้ายพื้นเมืองจังหวัดสุรินทร์ ผ้าฝ้ายเกล็ดเต่า ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมลายลูกแก้ว ลายราชวัติ ผ้าไหมเม็ดพริกไทย ผ้าขาวม้าไหมหางกระรอก ผ้ายกทอง และผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีลวดลายเฉพาะที่ต่างกัน และยังมีวิธีการเดินลายเดินเส้นที่แตกต่างกันด้วย ผ้าที่จัดแสดงอยู่นี้บางส่วนได้มาจากการที่ประชาชนนำมาถวายระหว่างที่ทรง เสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ

ส่วนจัดแสดงผ้าทอ ที่มีทั้งผ้าไหม ผ้าซิ่น ผ้าตีนจก ผ้ามัดหมี่
       ต่อไปเป็นห้องจัดแสดง "เครื่องจักสาน" ซึ่งมีทั้งย่านลิเภา ทั้งไม้ไผ่ ทำเป็นพวกของใช้ต่างๆ ทั้งเล็กใหญ่ เช่น กระเป๋าถือหลายหลากรูปแบบ กระติ๊บ ตระกร้า กระจาด ที่แต่ละชิ้นถักทออย่างละเอียดลออแสดงให้เห็นถึงฝีมือของคนไทยจริงๆ และห้องสุดท้ายจัดแสดง “งานแกะสลัก” ที่ใช้วัสดุทั้งจากหินสบู่ซึ่งเป็นหินที่มีลักษณะอ่อนกว่าหินทั่วไป แกะสลักจากหนังสัตว์เป็นหนังตะลุง งานไม้แกะสลักเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ฉากไม้ขนาดใหญ่ด้านล่างเป็นไม้จำหลักสลักลายอย่างละเอียดประณีต ด้านบนเป็นภาพเขียนสีประดับปีกแมลงทับสวยสดงดงามมาก
       
       ใครที่ชมฝีมืออันล้ำค่าของคนไทยแล้วอยากจะหาซื้อผลงานศิลปาชีพไว้ใน ครอบครองล่ะก็ ใกล้ๆกันก็มีสินค้าให้เลือกซื้อหา หรือจะไปตามเลือกซื้อเลือกชมที่ศูนย์ศิลปาชีพต่างๆก็มีเช่นกัน หรือหากใครยังชมผลงานศิลปาชีพในพิพิธภัณฑ์ไม่หนำใจก็สามารถไปชมต่อกันได้ที่ “พระที่นั่งอนันตสมาคม” ที่ปัจจุบันได้ใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดนิทรรศการถาวร "ศิลป์แผ่นดิน" แสดงผลงานศิลปะหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ โดยเป็นการนำเสนอผลงานชิ้นสำคัญที่วิจิตรงดงามจากฝีมือของนักเรียนจากโรงฝึก ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา

ส่วนจัดแสดงเครื่องจักสานทั้งจากไม้ไผ่และย่านลิเภา
       สำหรับพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นพระที่นั่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียนเรอเนสซองส์ ภายนอกประดับด้วยหินอ่อนซึ่งสั่งมาจากประเทศอิตาลี มีโดมสูงใหญ่อยู่ตรงกลาง บนเพดานโดมมีภาพเขียนสีปูนเปียกขนาดใหญ่ที่สวยงามจำนวน 6 ภาพ แสดงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 6 โดยฝีมือเขียนภาพของศาสตราจารย์แกลิเลโอ คินี และนาย ซี.ริกุลี
       
       นอกจากนี้ในบริเวณใกล้กันยังเป็นที่ตั้งของ "พระที่นั่งวิมานเมฆ" ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2443 โดยมีสมเด็จฯกรมพระยานริศฯเป็นผู้ออกแบบและควบคุมงาน ซึ่งได้รื้อพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ จากเกาะสีชัง มาสร้างขึ้นใหม่ในพระราชวังสวนดุสิต

ส่วนจัดแสดงงานแกะสลัก ที่ใช้วัสดุจากหินสบู่มาแกะเป็นรูปต่างๆ
       โดยพระที่นั่งหลังนี้ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างจากสถาปัตยกรรมตะวันตก ผสมกับไทยประยุกต์ ตัวอาคารเป็นแบบวิตอเรียวางผังเป็นรูปตัวแอล(L) มีลวดลายตามหน้าต่างและช่องลมซึ่งฉลุเป็นลายที่เรียกว่าขนมปังขิง เมื่อแล้วเสร็จพระที่นั่งวิมานเมฆหลังนี้กลายเป็นตำหนักไม้สักทองหลังใหญ่ ที่สุดในโลก ภายในจัดแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์และศิลปวัตถุของรัชกาลที่ 5 และพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆ รวมถึงของเจ้านายชั้นสูง ที่น่าไปเยี่ยมชมเป็นอย่างมาก

กระเป๋าถมทองประดับเพชรลวดลายรูปหอย รูปพัด
       

      
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       "พิพิธภัณฑ์ศิลปาชีพ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต" ตั้งอยู่บนถ.อู่ทองใน ตรงข้ามสวนสัตว์ดุสิตใกล้กับทำเนียบรัฐบาล เปิดให้เข้าชมทุกวัน เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00-15.30 น. โดยสามารถเข้าได้ทั้งทางประตูพระที่นั่งอภิเศกดุสิต ถ.อู่ทองใน และประตูพระที่นั่งวิมานเมฆ ถ.ราชวิถี ค่าเข้าชมคนไทย 75 บาท ชาวต่างชาติ 100 บาท นักเรียนและนักบวช 20 บาท ผู้เข้าชมโปรดแต่งกายสุภาพเพราะเป็นเขตพระราชฐาน สอบถามโทร. 0-2628-6300

Tags : พระที่นั่งอภิเศกดุสิต งามวิจิตรงานศิลป์ น้ำพระทัย แม่หลวง สู่ปวงชน

view