สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรอยกรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถาปนิก

จากประชาชาติธุรกิจ

กรณีการ แจ้งความดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วม หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ในการออกแบบโครงการมหานครโปรเจ็กต์หรูมูลค่า 1.8 หมื่นล้านบาท ของเพซ ดีเวลลอปเมนท์ ไม่ได้เป็นความพยายามครั้งแรกของสภาสถาปนิก

ก่อนหน้า นี้เคยมีกรณีการแจ้งความดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันนี้ กับโครงการคอนโดฯ เดอะริเวอร์ ของ บมจ.ไรมอนแลนด์มาแล้ว แต่สุดท้ายสำนักงานอัยการสูงสุดก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

ตลอดระยะ เวลาประมาณ 10 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งสภาสถาปนิกเมื่อปี 2543 สภาสถาปนิกได้แจ้งความดำเนินคดีกับสถาปนิกต่างชาติที่รับออกแบบอาคาร รวมถึงสถาปนิกไทยที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่รับงานออกแบบพื้นที่ตั้งแต่ 150 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งถือว่ามีความผิดตามกฎหมายรวมแล้วประมาณ 8 ราย แต่ส่วนใหญ่ดำเนินการอะไรไม่ได้

ทั้ง ๆ ที่ พ.ร.บ.สถาปนิก พ.ศ. 2543 ตามมาตรา 45, 47 และ 74 มีบทบัญญัติโทษเรื่องการฝ่าฝืนไว้ชัดเจน โดยมาตรา 45 และ 47 กำหนดข้อห้ามมิให้สถาปนิกที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากสภาสถาปนิกประกอบวิชาชีพ ออกแบบสถาปัตยกรรม ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 45 จะต้องได้รับโทษ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรา 47 จะต้องได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่มาตรา 74 กำหนดบทลงโทษนิติบุคคลที่เป็นผู้ว่าจ้างจะต้องได้รับโทษปรับไม่เกิน 10 เท่าของอัตราโทษปรับตามความผิดนั้น ๆ

ต้องจับตามองกันต่อไปว่า ในที่สุดแล้วกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดจะลงเอยอย่างไร


ชงอัยการสั่งฟ้องใช้สถาปนิกนอก โปรเจ็กต์หรู"มหานคร"โต้เลือกบริษัทคนไทยล้วน


จากประชาชาติธุรกิจ




กรณีศึกษา-โครงการ คอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ แบรนด์ "มหานคร" กำลังเป็นที่จับตามองจากผู้ประกอบวิชาชีพสถาปนิกคนไทยเพราะทางสภาสถาปนิกฯ ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถาปนิกฯ เนื่องจากบริษัทออกแบบไม่ใช่คนไทย

สภา สถาปนิกเกาะติดโปรเจ็กต์หรู 1.8 หมื่นล้านบาท "โครงการมหานคร" ของ "เพซ ดีเวลลอปเม้นท์" หวังใช้เป็นกรณีตัวอย่างฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถาปนิกฯ ว่าจ้างสถาปนิกต่างชาติออกแบบ เผยล่าสุดตำรวจสรุปสำนวนเสนอให้ สนง.อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง เล็งเดินหน้า ค้านอีกรอบหาก กทม.ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ ด้าน "สรพจน์ เตชะไกรศรี" แจงต่างชาติเป็นแค่ที่ปรึกษาร่วมออกไอเดีย พร้อมเดินหน้าต่อเต็มสปีด



ผู้ สื่อข่าวรายงานว่า จากที่สภาสถาปนิกได้เข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจนครบาล ลุมพินี (สน.ลุมพินี) เมื่อปี 2552 ให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดฐาน ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ.2543 (พ.ร.บ. สถาปนิก พ.ศ.2543) หลังได้รับร้องเรียนและตรวจสอบข้อมูลพบว่า โครงการมหานคร ของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อาจว่าจ้างสถาปนิกต่างชาติเป็นผู้ออกแบบโครงการ ซึ่งอาจได้รับโทษตามมาตรา 45, 47 และ 74 นั้น ล่าสุดต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ได้สรุปสำนวนส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

ตาม ขั้นตอนหากสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นสมควรสั่งฟ้อง ก็จะเข้าสู่กระบวนการส่งฟ้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ แต่หากมีความเห็นไม่สั่งฟ้องหรือให้สอบสวนพยานหรือหาหลักฐานเพิ่มเติมก็จะ ส่งสำนวนกลับมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน อดีตนายกสภาสถาปนิก ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาปนิกในช่วงดังกล่าว กล่าวว่า การที่สภาสถาปนิกเข้าแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการในคดีนี้ก็เพื่อ ให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า ปัจจุบันการออกแบบงานสถาปัตยกรรมจะต้องดำเนินการโดยสถาปนิกคนไทยที่มีใบ อนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปนิกเท่านั้น ไม่สามารถว่าจ้างสถาปนิกต่างชาติเป็นผู้ออกแบบได้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามีความผิดและต้องได้รับโทษตามกฎหมาย

เนื่อง จากในระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่มีการเปิดการค้าเสรีวิชาชีพสถาปัตยกรรม สถาปนิกต่างชาติจะไม่มีสิทธิ์เข้ามารับงานออกแบบได้ นอกจากนี้หากโครงการมหานครสามารถขออนุญาตก่อสร้างหรือดำเนินการก่อสร้างได้ ก็จะมีการทักท้วงให้โครงการชี้แจงว่าเป็นการก่อสร้างตามแบบของสถาปนิกต่าง ชาติหรือไม่

"สภาสถาปนิกพยายามดูแลเรื่องนี้มาตลอด แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นการยากที่จะลงโทษผู้กระทำผิด เพราะเมื่อถึงขั้นตอนการสืบหาพยานหลักฐาน ก็มักได้รับการปฏิเสธจากผู้ที่จะมาเป็นพยาน แต่ถึงแม้ยังไม่เคยมีกรณีตัวอย่างที่สามารถเอาผิดสถาปนิกต่างชาติได้ สภาสถาปนิกก็จะเฝ้าระวังและให้ความสำคัญกับกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ ต่อไปอีก"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการมหานครเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด กับบริษัท อินดัสเทรียล บิลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัทพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ในเครือ "ฟิช แมน กรุ๊ป" ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศอิสราเอล โดยจะพัฒนาในรูปแบบมิกซ์ยูส (ผสมผสานประโยชน์ใช้สอย) ประกอบด้วย พื้นที่ส่วนโรงแรมบูติคหรู คอนโดมิเนียมระดับลักเซอรี่ ราคาเริ่มต้น 30 ล้านบาทต่อยูนิต และศูนย์การค้า รวมมูลค่าการพัฒนาทั้งโครงการ 18,000 ล้านบาท

ด้าน นายสรพจน์ เตชะไกรศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพซ ดีเวล ลอปเม้นท์ จำกัด เปิดเผยกรณีมีการตรวจสอบว่าบริษัทได้ว่าจ้างบริษัทสถาปนิกต่างชาติเป็นผู้ ออกแบบโครงการมหานครว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ชี้แจงกับผู้ร้องเรียนมาโดยตลอดว่าบริษัทสถาปนิกต่างชาติ เป็นเพียงที่ปรึกษาในการออกแบบเท่านั้น ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบโครงการโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้เงียบหายไปประมาณ 7-8 เดือนแล้ว

ส่วนตัวมองว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่สร้างปัญหาให้กับการพัฒนาโครงการ เนื่องจากข้อเท็จจริงบริษัทต่างชาติไม่ได้เป็นผู้ออกแบบโครงการ เป็นเพียงผู้ร่วมออกไอเดียเท่านั้น ส่วนการออกแบบตั้งแต่เริ่มแรกบริษัทใช้สถาปนิกอินเฮาส์เป็นผู้ออกแบบ

"ขณะ นี้เรื่องนี้เงียบไปแล้ว คิดว่าคงเข้าใจกันดีทุกฝ่ายแล้ว ขั้นตอนที่ทำอยู่ขณะนี้เป็นของเรา คืออยู่ระหว่างการเลือกบริษัทสถาปนิก 2-3 รายที่มีชื่อเสียง มีความเชี่ยวชาญ และมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพที่จดทะเบียนในประเทศ มาออกแบบรายละเอียดโครงการ จากปัจจุบันออกแบบโครงการเบื้องต้นไปแล้ว 20% แต่การยื่นฟ้องโครงการของสภาสถาปนิกจะไม่มีผลกับกระบวนการยื่นขออนุญาตก่อ สร้าง เนื่องจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องการออกใบอนุญาตก่อสร้างเป็น กทม."

สำหรับความคืบหน้าด้านการขายและการก่อสร้าง หลังจากเปิดตัวโครงการช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันบริษัทมียอดขายแล้ว 20% จำนวน 50 ยูนิต มูลค่ารวมกันประมาณ 2,800 ล้านบาท

เนื่องจาก ช่วงเดือนเมษายนบริษัทได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง ทำให้ต้องชะลอการทำตลาดและชะลอการก่อสร้างไปประมาณ 4-5 เดือน ทำให้บริษัทมีต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นประมาณ 150 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้ว 2,500 ล้านบาท และเงินกู้ซื้อที่ดินจากธนาคารกสิกรไทย วงเงิน 800 ล้านบาท

Tags : ย้อนรอย กรณีฝ่าฝืน พ.ร.บ.สถาปนิก

view