สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การหักรายจ่ายเพื่อคนพิการ (2)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ขอนำประเด็นการหักรายจ่ายเพื่อคนพิการมาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ ครับ
ปุจฉา มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติอย่างไร

วิสัชนา ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ขึ้นเป็นส่วนราชการในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งไม่มีฐานะเป็นกรมตามมาตรา 18 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 โดยมีเลขาธิการซึ่งมีฐานะเป็นอธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและบุคลากรของสำนักงาน (มาตรา 13) 

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
 1. ประสานงานและร่วมมือกับหน่วยงานด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ส่วนราชการหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศในการดำเนินงาน การทำงานร่วมกันในระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานด้านคนพิการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

 2. สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ รวบรวมและเก็บรักษาข้อมูลเกี่ยวกับคนพิการ สถานการณ์ของคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อประโยชน์ต่อการป้องกัน การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และจัดทำแผนงานวิเคราะห์ วิจัย ติดตาม ประเมินผลเสนอต่อคณะกรรมการ

3. จัดทำแผนงานเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

4. สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง การดำเนินงาน การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านคนพิการ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิคนพิการ ตลอดจนสนับสนุนและประสานงานให้หน่วยงานของรัฐ จัดงบประมาณให้แก่องค์การด้านคนพิการ เพื่อดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

5. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่คณะรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมอบหมาย

2. เพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คนพิการอาจยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวคนพิการต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด ณ สำนักงานทะเบียนกลาง สำนักงานทะเบียนจังหวัด หรือสถานที่อื่นตามระเบียบ ที่คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกำหนด

ในกรณีที่คนพิการเป็นผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความสามารถ หรือคนไร้ความสามารถหรือในกรณีที่คนพิการมีสภาพความพิการถึงขั้นไม่สามารถไปยื่นคำขอด้วยตนเองได้ ผู้ปกครอง ผู้พิทักษ์ ผู้อนุบาล หรือผู้ดูแลคนพิการ แล้วแต่กรณี จะยื่นคำขอแทนก็ได้ แต่ต้องนำหลักฐานว่าเป็นคนพิการไปแสดงต่อนายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัด แล้วแต่กรณีด้วย (มาตรา 19)

ปุจฉา กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

วิสัชนา ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดให้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เพื่อเป็นทุนสำหรับการใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ การส่งเสริมและการดำเนินงานด้านการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการ การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนพิการ รวมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ โดยจัดสรรให้อย่างเป็นธรรมและทั่วถึง (มาตรา 23)

กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประกอบด้วย

1. ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ เงินงบประมาณ และรายได้ในกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการตามพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534

 2. เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้ ให้รัฐบาลจัดสรรให้เพียงพอแก่การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
 3. เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับบริจาค เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์ของกองทุน
 4. เงินรายได้จากการออกสลากหรือที่ได้มาจากการจัดกิจกรรม
 5. เงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการส่งเข้ากองทุน
 6. ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน
 7. รายได้จากการขาย การลงทุน หรือการหาประโยชน์จากทรัพย์สินของกองทุน
 8. เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุน หรือที่กองทุนได้รับตามกฎหมายหรือนิติกรรม
 9. รายได้บางส่วนจากภาษีของสินค้าและบริการที่เป็นสาเหตุแห่งความพิการตามที่กฎหมายกำหนด
 10. รายได้อื่น

เงินและทรัพย์สินของกองทุนดังกล่าว ไม่ต้องส่งคลังเป็นเงินรายได้แผ่นดินการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเข้ากองทุน ให้ผู้บริจาคนำไปหักลดหย่อนหรือยกเว้นภาษีได้ตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 24)

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Tags : การหักรายจ่ายเพื่อคนพิการ

view