สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การหักรายจ่ายเพื่อคนพิการ (4)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ขอนำประเด็นการหักรายจ่ายเพื่อคนพิการมาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ ครับ
ปุจฉา ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับคนพิการเข้าทำงาน อย่างไร

วิสัชนา ตามกฎหมายดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการรับคนพิการเข้าทำงาน ดังต่อไปนี้
 1. เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้นายจ้าง หรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม กับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ ทั้งนี้ ตามจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 33)
 2. นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่มิได้รับคนพิการเข้าทำงานตามจำนวนที่ กำหนดตามข้อ 1. ให้ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ทั้งนี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดจำนวนเงินที่นายจ้างหรือ เจ้าของสถานประกอบการ จะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ที่ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่มิได้ส่ง ส่งล่าช้า หรือส่งเงินไม่ครบถ้วน ให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของจำนวนเงินที่ยังไม่ได้ส่งเข้ากองทุน

นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ ซึ่งรับคนพิการเข้าทำงานหรือส่งเงินเข้ากองทุนตามวรรคหนึ่งมีสิทธิได้รับยก เว้นภาษีเป็นร้อยละของจำนวนเงินค่าจ้างที่จ่ายให้แก่คนพิการหรือเงินที่ส่ง เข้ากองทุนแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา 34)

3. ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงาน หรือนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการไม่รับคนพิการเข้าทำงานตามข้อ 1 และไม่ประสงค์จะส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หน่วยงานของรัฐ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้นอาจให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงาน ฝึกงาน หรือให้การช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการแทนก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการกำหนดในระเบียบ (มาตรา 35)

ปุจฉา มีสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรเกี่ยวกับการจัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก แก่คนพิการ ตลอดจนนายจ้างที่รับคนพิการเข้าทำงานอย่างไร

วิสัชนา ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 บัญญัติว่า "เจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น" ซึ่งได้จัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการดังกล่าว มีสิทธิได้รับการลดหย่อนภาษี หรือยกเว้นภาษีเป็นร้อยละของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ ตามมาตรา 38 แห่งกฎหมายดังกล่าวยังบัญญัติให้ "นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการที่จ้างคนพิการเข้าทำงานมากกว่าร้อยละ 60 ของลูกจ้างในสถานประกอบการนั้น โดยมีระยะเวลาจ้างเกินกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใดมีสิทธิได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายกำหนด"

 "สิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด" ดังกล่าวหมายถึง สิทธิประโยชน์ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ในที่สุด ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 499) พ.ศ. 2553 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป

1. กรณีนายจ้างทั้งที่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคลมีสิทธิจ้างคนพิการเข้าทำงานโดยไม่จำกัดจำนวน โดยได้สิทธิประโยชน์ในการหักเป็นค่าใช้จ่าย หรือรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิหรือกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ แล้วแต่กรณี เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 100 หรือ 1 เท่าของจำนวนค่าจ้างที่จ่ายให้แกลูกจ้างที่เป็นคนพิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคน พิการ ซึ่งแตกต่างจากหลักเกณฑ์ตามมาตรา 38 ดังกล่าวข้างต้น และตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ที่เดิมกำหนดให้สิทธิแก่นายจ้างที่พนักงานถึง 200 คน จึงจะได้สิทธิจ้างคนพิการที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ได้ 1 คน และหากมีเศษถึง 100 คน ก็จะได้สิทธิในการจ้างคนพิการ ที่ได้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้อีก 1 คน

2. กรณีเจ้าของอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือผู้ให้บริการสาธารณะอื่น ซึ่งได้จัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ บริการขนส่ง หรือบริการสาธารณะอื่น ให้แก่คนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ก็ให้สามารถนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินดังกล่าวมาหักเป็นรายจ่าย ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าของจำนวนค่าเสื่อมราคาดังกล่าว

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Tags : การหักรายจ่ายเพื่อคนพิการ

view