สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ในหลวงมีพระราชดำริหน่วยราชการต่างคิดต่างทำงาน

จาก โพสต์ทูเดย์

ในหลวงพระราชทาน 6 พระราชดำริ ทรงระบุหน่วยงานราชการต่างคิดต่างทำงาน หน่วยเดียวกันรายงานก็ไม่สอดรับกัน ทรงเป็นห่วง 3โครงการที่ไม่มีโอกาสได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมในระยะหลังๆ

นาย สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร นำคณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการ เกษตรเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสรุปสถานการณ์น้ำประเทศไทย และขอรับพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับ การดำเนินงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์กรมหาชน) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2553 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช  / ภาพ : สำนักพระราชวัง

สำนักโฆษกนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 12 ต.ค.ได้รับทราบรายงาน สรุปพระราชดำริ 6 ประการ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสุเมธ  ตันติเวชกุล ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร นำคณะผู้บริหารสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการ         เกษตรเข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานสรุปสถานการณ์น้ำประเทศไทย   และขอรับพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับ การดำเนินงานของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เมื่อวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2553 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดทำสรุปเสนอ ครม.เพื่อทราบดังนี้

เรื่องที่ 1. ตามที่หน่วยราชการต่าง ๆ ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายรายงานไปนั้น  ทรงเห็นว่า แม้หน่วยงานเดียวกัน รายงานก็ไม่สอดรับกัน ทำให้ได้ฐานข้อมูลต่างกัน  ข้อสรุปที่จะนำไปกำหนดแผน ทำงาน แก้ปัญหา ก็เลยไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ เพราะแม้ในหน่วยงานเดียวกัน  ยังใช้หลักคิด หลักการทำงานต่างกัน หากหน่วยงาน ใช้หลักการทำงานเดียวกัน  ก็จะได้รายงานสอดรับกัน ฐานข้อมูลก็สอดรับกัน  ข้อสรุป ก็จะไปในทิศทางเดียวกัน  การทำงาน การแก้ปัญหาก็จะง่าย หากทำได้ การประสานการทำงานข้ามหน่วยงานก็จะง่ายขึ้น

เรื่องที่ 2. การจัดการน้ำชุมชนที่มีแบบอย่างความสำเร็จแล้ว  จะขยายผลให้คำนึงถึงพื้นที่ สังคม ภูมิอากาศ ให้มีการปรับตัวตลอด นำไปสรุปให้เรียบง่ายเหมาะสมกับพื้นที่  และดึงให้ชุมชนมาทำงานร่วมด้วย  ต้องเรียนจากชาวบ้านไปด้วย ไม่ควรใช้ความสำเร็จเป็นทฤษฎี แล้วปฏิบัติตาม ความเคยชินคิดว่าถูกต้องนำไปใช้โดยไม่ปรับแก้ ก็จะพัฒนาชุมชนไม่สำเร็จ เมื่อพัฒนาชุมชนแล้ว บางส่วนก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงชุมชนด้วยไม่ให้กลับมาทำในส่วนที่ไม่ดีเสีย หายอีก

เรื่องที่ 3. ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเห็นได้ชัด ทั้งทิศทางลม ฝน ฤดูกาล เห็นได้จากแนวฝนที่เคลื่อนตัวลงต่ำกว่าเขื่อนภูมิพล ทิศทางลมที่ทำให้เกิดฝนก็เปลี่ยนและวกวนมาก เช่น สัปดาห์นี้ ลมพาฝนมาจากทะเลอันดามันพัด    ไปทางตะวันออกแล้ววกกลับมาตกตอนเหนือของไทย  จึงต้องเร่งศึกษาวิจัย แนวทางการศึกษาของสถาบันฯ ที่ทำเกี่ยวกับอุณหภูมิ และคลื่นในทะเล  และแบบจำลองลม นั้นถูกแล้ว ให้ดำเนินการต่อให้ใช้ได้โดยเร็ว

เรื่องที่ 4. การบริหารจัดการน้ำนั้น ที่สำคัญคือจังหวะการปิด เปิด ระบายหรือรับน้ำ เพราะ น้ำเมื่อไหลไปแล้ว ไม่ไหลไหลย้อนกลับขึ้นมา  จะทำได้ก็ต้องใช้พลังงานมาก  นอกจากนี้หากเข้าใจธรรมชาติของน้ำอย่างถ่องแท้  ไม่ใช่แค่การไหล  ต้องเข้าใจตั้งแต่น้ำในมหาสมุทรที่อุณหภูมิเปลี่ยน ต่างกัน  จึงเกิดการไหล ระเหย เป็นฝนตกลงมา บางส่วนซึมเป็นน้ำใต้ดิน      ซึ่งหากเข้าใจศึกษาก็พัฒนาเขื่อนใต้ดิน แหล่งน้ำใต้ดินได้  เหมือนที่เชียงดาว หรือแม่ฮ่องสอน และถ้าเข้าใจพืชชนิดต่าง ๆ   ก็สามารถเลือกพืชมาปลูกให้ดูดซับ ดึง สร้าง และรักษาความชื้นในผิวดินไว้ได้

เรื่องที่ 5. การกัดเซาะชายฝั่งที่มากขึ้น รุนแรงขึ้น และยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในการดำเนินงานแก้ไข ก็ทรงอยากให้ลองพิจารณาโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่ใช้ป่าชายเลนและระบบบำบัดน้ำเสียโดยอาศัยธรรมชาติ จนประสบความสำเร็จ แนวชายหาดที่ถูกกัดเซาะก็กลับมางอกเพิ่มขึ้นนับพันไร่

เรื่องที่ 6.โครงการพระราชดำริที่ทำไว้แต่เดิม เช่น โครงการพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์หุบกะพง ตำบล เขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มขนาดเล็กอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีโอกาสเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมในระยะหลัง ๆ ทรงเป็นห่วงความก้าวหน้า ความยั่งยืน ของชุมชน รวมทั้งที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ชุมชนยังรักษาไว้หรือไม่  หรือขายเปลี่ยนมือไปแล้ว  ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการพัฒนาที่บางครั้งมุ่งด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เช่น  การพยายามปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ทั้งที่ได้เพิ่มพื้นที่ปลูกยางพารามาระยะหนึ่งแล้วและก็ประสบผลสำเร็จ

Tags : ในหลวง พระราชดำริ หน่วยราชการ ต่างคิดต่างทำงาน

view