สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ของกินถิ่นเก่า..ย้อนฝันวันเยาว์

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ปิ่นอนงค์ ปานชื่น


เพื่อลิ้มรสชาติอาหารและบรรยากาศของวันวานอันอบอุ่น พร้อม ๆ กับกิจกรรม เตร่ ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบศัตรูพ่าย - พระนคร
นั่ง รถเมล์ไปเรียนหนังสือผ่านถนนหลานหลวงนับสิบปี แต่ไม่เคยรู้เลยว่าใกล้ ๆ วัดสุนทรธรรมทาน (วัดแคนางเลิ้ง) มีขนมจีนไหหลำร้านอร่อย มีก๋วยเตี๋ยวผัดไทยมือรางวัล ตรงสี่แยกตัดถนนจักรพรรดิพงษ์เป็นที่ตั้งของร้านกาแฟโบราณที่คนรุ่นปู่ย่ามา ดื่มกาแฟคุยข่าวกันยามเช้า

เช้าวันนี้ @Taste ชวนคุณทิ้งรถยนต์ไว้ที่บ้าน ลงจากรถเมล์ รถโดยสารประจำทาง ลงเดินลัดเลาะไปเยือนร้านของกินถิ่นเก่าในย่านเขตพระนคร และป้อมปราบศัตรูพ่าย เพื่อลิ้มรสชาติอาหารและบรรยากาศของวันวานอันอบอุ่น พร้อม ๆ กับกิจกรรม เตร่ ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบศัตรูพ่าย - พระนคร ครั้งที่ 1 ซึ่งเปิดตรอกให้สัมผัสชีวิตของ 6 ชุมชน วันที่ 16 ตุลาคม - 16  พฤศจิกายน 2553

รับอรุณด้วยกาแฟโบราณ

จังหวะชีวิตยามเมื่อก้าวเท้าเดินนั้นช้าช่างเป็นสุข อดนึกไม่ได้ว่าถ้ารถยนต์บนถนนมีน้อยกว่านี้สักครึ่งหนึ่ง สีสันยามเช้าบนถนนจักรพรรดิพงษ์จะคึกคักเหมือนดั่งวันวานหรือไม่...

ร้านกาแฟหน่ำเฮงหลี วันนี้ดูเงียบเหงา แต่ให้ความรู้สึกอบอุ่นได้อย่างประหลาดเมื่อก้าวเท้าเข้าไปนั่งบนเก้าอี้ เชคโก เท้าแขนลงบนโต๊ะหินอ่อนอิตาลีอายุรุ่นคุณปู่ คุณวิวรรณ ศิลปโภชากุล ย้อนประวัติ 'หน่ำเฮงหลี'  ชื่อร้านที่มีความหมายว่า 'ค้าขายมีกำไร' ว่าเริ่มต้นมาเมื่อราว 60 ปีก่อน คุณพ่อเบ้ง แซ่หง่วน เป็นคนจีนคนแรกที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้สิทธิ์เช่าอาคาร

"เดิมพ่อเปิดร้านเป็นเพิงอยู่แถว ๆ นี้ โค้วตงหมง หรือ คุณประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ชอบมานั่งกินโอยัวะ พอมาเปิดร้านที่นี่ก็เป็นที่รวมของคนเล่นหมากรุกจีน"

ตามไปดูเมนูกาแฟหน่ำเฮงหลี มีเพียงกระดาษพิมพ์แผ่นเดียวปิดไว้ที่ผนังพร้อมระบุราคาดังนี้ ชาร้อน กาแฟร้อน ใส่นม 12 บาท , ชาดำร้อน กาแฟดำร้อน 11 บาท, ชาเย็น กาแฟเย็น 13 บาท, ชาดำเย็น โอเลี้ยง 11 บาท, โอวัลตินร้อน โกโก้ร้อน 12 บาท, โอวัลตินเย็น โกโก้เย็น 13 บาท, ไข่ลวก 2 ฟอง 12 บาท, ขนมปังทาเนย ทาสังขยา 6 บาท

คุณวิวรรณ เผยเคล็ดลับการชงกาแฟให้ได้รสชาติว่า ขั้นแรกต้องเลือกใช้กาแฟดี “สมัยก่อนนี้เราคั่วกาแฟเองด้วย แต่ตอนนี้คนกินน้อยลงเราก็ซื้อเค้าแต่เลือกใช้ของดีมีคุณภาพ ชาเราก็ใช้ชาซีลอนอย่างดี เมื่อใช้ของดีเวลาชงน้ำต้องร้อน ถ้วยกาแฟเราก็ต้องลวกน้ำให้ร้อนก่อน พอชงกาแฟร้อน ๆ ใส่ลงไปกาแฟมันก็ยังคงความร้อนและให้รสชาติ”

นอกจากกาแฟรสดี ชาอร่อยแล้ว เมนูเด็ดของหน่ำเฮงหลี คือ สังขยาฝีมือ คุณแม่ซอกเอ็ง แซ่โซว ที่กวนสดใหม่ทุกเช้า ลูกค้าเก่าแก่นิยมสั่งซื้อล่วงหน้าแล้วแวะมาจอดรถรับหน้าร้านในราคา 65 บาท ต่อครึ่งกิโลกรัม

คุณแม่ซอกเอ็ง เล่าว่า สมัยก่อนจะใช้ขนมปังก้อนกลม ๆ ปิ้งบนเตาถ่านแล้วทาสังขยา ขายมาตั้งแต่ 2 แผ่น  3 บาท ตอนนี้ขายแผ่นละ 6 บาท ขนมปังก็ต้องเปลี่ยนมาใช้ฟาร์มเฮ้าส์เพราะคนทำขนมปังเก่าแก่มาตายจากกัน เตาปิ้งขนมปังก็ต้องใช้ไฟฟ้าแทน มีที่ไม่เปลี่ยนก็คือรสชาติของสังขยานี่แหละที่ไม่เปลี่ยนและยังคงเลือกใช้ แต่วัตถุดิบดี ๆ

"ส่วนผสมมีไข่ น้ำตาล กะทิ และสีผสมอาหารธรรมชาติ ขั้นแรกก็ตีไข่ ใส่น้ำตาล ใส่กะทิคัดอย่างดีใช้แต่หัวไม่เอาหาง แล้วนำไปนึ่ง 3 ชั่วโมง  สังขยาของเราสามารถเก็บไว้ได้นาน 4 -5 วัน โดยไม่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น"

นั่งดื่มชาเย็นหอม ๆ แกล้มขนมปังสังขยาสีตุ่น ๆ หน้าตาหม่น ๆ เหมือนบรรยากาศ แค่กินเข้าไปคำเดียวแทบอยากร้องไห้ ช่างเป็นรสชาติของความอร่อยที่เรียบง่าย ไม่ต้องมีนมสดมาโรยหน้า หรือสารปรุงรสแต้มกลิ่นใด ๆ มาเสริม แค่นี้ก็พอดีอยู่แล้ว

คุณวิวรรณ บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนเก่าแก่ที่กินกันมาแต่ดั้งเดิม บางคนย้ายไปอยู่ไกลถึงพุทธมณฑลก็ยังแวะมากิน
 “หนุ่ม สาวสมัยนี้ไม่กินกาแฟโบราณกันแล้ว ทุกวันนี้ที่เปิดร้านจะคิดเป็นค่าแรงคงจะไม่มี แต่ทำเพื่อให้แม่มีคนมาคุยด้วย ตัวเราเองโชคดีไม่มีหนี้ พอมีพอกินก็สุขใจแล้ว”

ภาพคุณแม่ซกเอ็งนั่งคุยกับเพื่อนเก่าบนเก้าอี้เชคโก มีถ้วยกาแฟและจานขนมปังสังขยาวางอยู่โต๊ะหินอ่อนอิตาลี เป็นภาพประทับใจที่เราได้เห็นก่อนจากมา

หากใครอยากไปสัมผัสบรรยากาศร้านกาแฟโบราณที่ยังคงอุปกรณ์แบบเดิม เฟอร์นิเจอร์ ตู้เย็นโบราณแสนคลาสสิกที่ยังใช้งานได้ รวมไปถึงพัดลมที่มีใบพัดเป็นไม้ มีลวดลายสลักแบบเดิม แวะไปได้ที่หน่ำเฮงหลี เปิดตั้งแต่หกโมงเช้าถึงสี่โมงเย็น เสาร์ อาทิตย์ เปิดถึงเที่ยง โทร.02-281-2134


คารวะอินทรีแดง ที่วัดแคนางเลิ้ง

ลัดเลาะจากร้านกาแฟมุมถนนจักรพรรดิพงษ์ตัดกับหลานหลวง เข้าตรอกเล็กซอกน้อยมาทะลุวัดแคนางเลิ้ง หรือ วัดสุนทรธรรมทาน สบโอกาสได้ไปกราบหลวงพ่อพระบารมี ในวิหารน้อยซึ่งมุมหนึ่งเป็นที่ตั้งของรูปปั้นมิตร ชัยบัญชา

เจอลุงใจดีที่กำลังกวาดลานหน้าวิหารพระบารมีบอกว่า มาถึงนี่แล้วก็อธิษฐานขอพระบารมีให้ได้ดั่งสิ่งที่ประสงค์นะ คนที่นี่ขออะไรมักจะสำเร็จสมดังใจ ถามว่าแล้วรูปปั้นมิตร ชัยบัญชาล่ะ... ลุงว่าคนใกล้ไม่ค่อยได้ผล ส่วนคนที่อยู่ไกลมักจะขอแล้วได้ ว่าแล้วก็หัวเราะอย่างอารมณ์ดี

มิตร ชัยบัญชา ผูกพันกับวัดแคนางเลิ้งมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะว่าบ้านของแม่อยู่เยื้องกับวัด ครั้นเป็นพระเอกดังก็บริจาคเงินส่วนตัวสร้างโบสถ์ให้กับวัด เป็นเจ้าภาพทอดกฐินให้วัด เมื่อเสียชีวิตศพก็ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดนี้ ก่อนจะย้ายไปประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทร์ เนื่องจากมีประชาชนมาร่วมงานมากถึงสามแสนคน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กล่าวว่า เป็นงานศพของสามัญชนที่มีคนมาร่วมงานมากเป็นประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

ส่วนกระดูกของพระเอกนักบุญเจ้าของฉายา “อินทรีแดง” บรรจุในช่องเก็บกระดูกอยู่ที่วัดแคนางเลิ้ง ซึ่งมีผู้คนแวะมากราบไหว้อยู่ไม่ขาด ระหว่างทางเดินออกจากวัด พบกับคุณป้าเจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวผัดไทยมือรางวัล ที่เปิดร้านอยู่เยื้องกับวัด ป้าบอกว่าช่วงนี้ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงประกอบกับอยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ จึงขอพักผ่อนชั่วคราว แต่จะมาเปิดร้านผัดไทยให้ได้ชิมรสมือกันในเทศกาล เตร่ ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบศัตรูพ่าย - พระนคร ครั้งที่ 1 แวะมาชิมกันได้ภายในวัดแคนางเลิ้งนี่ล่ะคะ ป้ายืนยันพร้อมกับรอยยิ้มหนักแน่น

ขนมจีนไหหลำร้านศุภมิตร

เดินออกจากวัด มุ่งหน้าไปทางโรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง มีร้านค้าตรงหัวมุมถนนศุภมิตร เป็นร้านอาหารเก่าแก่เปิดมา 60 ปีแล้ว มีชื่อว่า ร้านศุภมิตร ขายขนมจีนไหหลำ ข้าวมันไก่ไหหลำ สูตรดั้งเดิม

วันที่ไปถึงลุงกับป้าปิดร้านเกือบเสร็จแล้ว เหลือประตูบานเล็ก ๆ เปิดอยู่เพียงบานเดียว เราโผล่หน้าเข้าไปถามไถ่ พร้อมบอกว่าอยากรับประทานขนมจีนไหหลำสักครั้ง ป้าถามว่าอยากกินน้ำหรือแห้ง หมู หรือ เนื้อ ทราบแล้วก็บอกให้ลูกจ้างสาว ๆ ไปเปิดเตาแก๊สต้มเส้นให้รับประทาน ประทับใจในความใจดีของป้า ลุง เหลือจะกล่าวจริง ๆ...

คุณป้ากนิษฐา กรรณตพร บอกว่าร้านศุภมิตรนี้เปิดมาเป็นปีที่ 29 แล้ว เมนูอาหารก็ไม่มากขายกันเฉพาะจานเด่น ๆ กันเลย ได้แก่ ขนมจีนไหหลำ 35 บาท , ข้าวมันไก่ 30 บาท, ไก่สับ 85 บาท, เนื้อตุ๋น 85 บาท, ยำผ้าขี้ริ้ว 85 บาท, ยำหมู 85 บาท

คุณป้าบอกว่า "เดี๋ยวนี้ขนมจีนไหหลำมีขายกันอยู่ไม่กี่ร้านแล้ว เพราะว่าโรงงานที่เค้าทำเส้นจะเลือกทำส่งให้แต่ร้านที่เคยขายกัน ส่วนลักษณะเส้นขนมจีนไหหลำนั้นจะคล้ายกับเส้นอูด้ง มีส่วนผสมของแป้งสาลีทำให้แตกต่างจากเส้นก๋วยเตี๋ยวทั่วไป ลักษณะของขนมจีนน้ำกับแห้งจะมีลักษณะแตกต่างกัน ถ้าเป็นแบบน้ำจะราดด้วยน้ำซุปที่ต้มกระดูก ใส่ผักกาดดองเปรี้ยว ๆ เค็ม ๆ ซอยลงไป แต่ถ้าเป็นน้ำจะราดด้วยน้ำซอสปรุงพิเศษ ถ้าใครชอบรับประทานเนื้อแล้วน่าจะถูกใจเพราะเค้าจะใช้เนื้อตุ๋น ผ้าขี้ริ้ว ปรุงกับน้ำซอสนี้ราดลงไปบนเส้น แต่ไม่ว่าจะสั่งน้ำหรือแห้ง ส่วนประกอบสำคัญอยู่ที่น้ำจิ้ม ปรุงด้วยกะปิไหหลำนำมาปรุงรสกับพริกขี้หนู กระเทียม งาคั่ว"

รสชาติอาหารไหหลำจะไม่จี๊ดจ๊าดเหมือนอาหารไทย แต่ก็มีรสชาติกลมกล่อม นุ่มนวล โดยเฉพาะการนำเอาเนื้อหมู เนื้อวัว นำมาปรุงเป็นส่วนผสมนั้นแม้ว่าจะออกตัวว่าไม่ได้มีส่วนผสมอะไรเป็นความลับ แต่ว่าเนื้อของร้านนี้มีความนุ่มนวลมากเลยทีเดียว

ยำเนื้อสดกับผ้าขี้ริ้ว โรยด้วยถั่วชุบแป้งทอดทุบพอแตก เป็นเมนูอีกจานที่ป้าทำมาให้ชิม คนรักเนื้อชิมแล้วถึงกับโอดโอยถึงความนุ่ม และรสชาติที่กลมกล่อมแม้ว่าจะไม่เผ็ดเปรี้ยวเหมือนชื่อยำก็ตามที
 “เนื้อ เราเลือกเอาตรงสะโพกล้างให้สะอาดแล้วก็หั่นใส่กะละมังแช่ตู้เย็นค้างคืนไว้ พอมาลวกมันก็นิ่ม แค่นี้ไม่มีเคล็ดลับอะไรหรอก เวลาจะยำก็ลวกเนื้อให้สุก ใส่ผงชูรส น้ำมันกระเทียม งา คลุกกับน้ำราดที่ปรุงไว้” คุณป้าบอกเหมือนเป็นของง่าย ๆ

เช่นเดียวกับเมื่อถามถึงเคล็ดลับการต้มไก่กับหุงข้าวมันไก่ให้อร่อย ป้าก็บอกว่าต้มไก่ให้ใช้ไฟอ่อน ๆ ใส่ไก่ตอนลงไปต้มสักชั่วโมงครึ่ง แล้วเอาน้ำต้มไก่นั่นแหละมาหุงข้าว ส่วนน้ำจิ้มแบบไหหลำก็จะกินกับซีอิ๊วดำ ไม่เน้นน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวอย่างที่เราคุ้นเคยกัน

ร้านศุภมิตร เป็นร้านโปรดของคนชอบกินเนื้อ แต่ใครที่ไม่กินเนื้อก็มีหมู กับข้าวมันไก่ตำรับไหหลำให้รับประทาน ร้านเปิดมา 29 ปี ในอาคารของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อายุ 105 ปี ได้กินอาหารโบราณในบรรยากาศดั้งเดิมทำให้รู้สึกราวกับนาฬิกาเดินย้อนกลับ  ร้านนี้เปิดทุกวันตั้งแต่แปดโมงเช้า ถึงบ่ายสามโมง โทร.02-281-5226


ไอศกรีมเมืองไทย

ออกเดินต่อมุ่งหน้าสู่ถนนหลานหลวงแยกตัดกับถนนจักรพรรดิพงษ์ ถ้าเลี้ยวขวาจะพบกับร้านหน่ำเฮงหลี คราวนี้เราเลี้ยวซ้ายทางไปวัดสระเกศ เดินตรงไปเรื่อย ๆ ก่อนถึงสะพานข้ามคลอง เชิงสะพานฝั่งตรงข้ามเป็นที่ตั้งของร้านสุธาทิพย์ ร้านอาหารเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงและมีเมนูอาหารให้เลือกรับประทานหลายอย่าง รวมทั้งขนมจีนไหหลำเมนูอาหารหาทานยากด้วย

แต่เราจะเลี้ยวซ้ายไปทางวัดสิตาราม หรือ วัดคอกหมู เดินพ้นเขตกำแพงวัดก็จะพบกับไอศกรีมเมืองไทย ร้านไอศกรีมแบบโอเพ่นแอร์มีสตูลทรงสูงให้นั่งกินคลายร้อน  ไอศกรีมเมืองไทย ขายกันในราคาไทย ๆ คือ โคน 5 บาท ขนมปัง 10 บาท ถ้วยเล็ก 10 บาท ถ้วยกลาง 15 บาท ถ้วยใหญ่ 20 บาท พิเศษ 30 บาท ไอศกรีมมีให้เลือกรสกะทิ ช็อกโกแลต วานิลลา กาแฟ เผือก และ สตรอว์เบอร์รี่

สั่งไอศกรีมถ้วยเล็กได้เครื่องเคียง 3 ชนิด ในบรรดาเครื่องที่เรียงรายอยู่สิบกว่าอย่าง ทำไมไอศกรีมถึงต้องชื่อเมืองไทย และทำไมถึงขึ้นป้ายว่าถ้ามากินตรงกับวันเกิดใคร ให้กินฟรีเลยไม่อั้น

คุณไชยณรงค์ วรวุฒคชานนท์ ประธานบริษัทไอศกรีมเมืองไทย จำกัด บอกว่า “เราอยากเป็นบางระจัน อยากทำอะไรที่ได้ชื่อว่าเป็นของไทยบ้าง”

คุณไชยณรงค์ เล่าให้ฟังว่าเดิมเป็นช่างทำเข็มขัดทอง นาก เงิน อยู่ที่คลองถม เมื่อผู้หญิงเมืองกรุงหันมานุ่งกางเกงแทนผ้าถุง เขาจึงต้องขวนขวายมองหาลู่ทางประกอบอาชีพใหม่ จึงตัดสินใจมาขายไอศกรีมเป็นรถเข็นอยู่แถวคลองถมถิ่นเก่า เนื่องด้วยเป็นอาชีพที่อาศัยเงินลงทุนไม่มากนัก

วันหนึ่งไปเที่ยวที่วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยความที่เป็นช่างทองเก่า พอได้เห็นลวดลายประดับอาคารภายในวัดอันวิจิตร จึงเกิดความประทับใจในฝีมือและความสามารถของบรรพบุรุษ ทำให้คิดว่าเราจะเป็นแบบบางระจันได้มั้ย ว่าแล้วก็ตั้งชื่อกิจการไอศกรีมของตนเองว่า 'เมืองไทย' ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ปรากฏว่าขายดิบ ขายดี จนวันนี้มีกิจการขายปลีก ขายส่ง ขายเฟรนไชส์ เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ฝึกอาชีพให้กับคนที่อยากมีกิจการเป็นของตัวเอง

“ผมมีอาจารย์เป็นคนจีน 3 คน แต่ละคนสอนวิชาให้แต่ละอย่าง เช่น การทำสับปะรดเชื่อม ต้มอย่างไรให้อร่อย ขั้นแรกต้องต้มน้ำแรกทิ้งก่อน แล้วค่อยนำมาเคี่ยวใหม่ใส่น้ำตาล ถ้าต้องการสีเข้มให้ใช้น้ำตาลทรายแดง เวลาตักมากินกับไอศกรีมก็ต้องวางสับปะรดเชื่อมไว้ด้านบนไอศกรีม ถ้าวางด้านล่างรสชาติจะไม่อร่อย กลิ่นจะไม่หอมเท่า”

คุณไชยณรงค์ บอกว่าบ้านเรามีมะพร้าวเยอะ อยากให้คนไทยเราสนับสนุนพืชผลการผลิตของไทย ใครทำไม่เป็นแต่อยากจะทำเขายินดีจะสอนให้ เพราะเราเป็นคนไทยต้องรู้จักการแบ่งปัน

เช่นเดียวกับ วันเกิด ใครนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นที่ร้านเขาจะให้กินฟรีไม่อั้น โดยเฉพาะเด็ก ๆ
 “ผม เคยจัดงานเลี้ยงวันเกิดที่ร้านหมูกระทะ ได้ยินเด็กโต๊ะข้าง ๆ บอกพ่อว่า วันเกิดหนูอยากให้พ่อจัดงานวันเกิดให้บ้าง พ่อเด็กบอกว่าพ่อไม่มีตังค์อย่างเขา ผมคิดว่าในเมื่อเราอยากให้ เราอยากให้เด็ก ๆ ได้มีวันเกิดอย่างมีความสุข ถ้ามาที่ร้านผมให้กินฟรีเลย”

จะแวะไปกินไอศกรีมเมืองไทย หรือจะสั่งซื้อ หรือจะให้บริการนอกสถานที่ก็ยินดี หากสนใจไอศกรีมทรงเครื่องแบบไทย ๆ ผลิตโดยคนไทย โทร.สอบถามได้ที่ โทร.081-514-3175

มื้อค่ำที่มักเจริญ

ร้านนี้ยามค่ำมีเสน่ห์จับตายิ่งนัก แม้ว่าร้านมักเจริญจะเปิดตั้งแต่สิบโมงเช้าไปจนถึงสี่ทุ่ม แต่ช่วงเวลาเย็น ๆ ค่ำ ๆ นี่น่านั่งยิ่งนัก

คุณลุงสมัคร จริยธีรชัย เจ้าของร้านวัย 77 ปี  ยิ้มต้อนรับอย่างใจดี ก่อนเฉลยที่มาของชื่อมักเจริญว่า มาจากชื่อเล่นของลุงเอง ใคร ๆ ก็เรียกว่ามักก็เลยเติมคำว่าเจริญไปซะเลย

ลุงมักเล่าว่า เดิมทีมีร้านเป็นรถเข็นขายราดหน้ายอดผัก อยู่แถววัดสระเกศขายห่อละ 5 บาท ห่อใส่ใบตอง เวลาห่อก็ต้องราดน้ำขลุกขลิก ห่อให้แน่น น้ำราดหน้าจะไหลออกมา
 “วันนึงมีเด็กวิ่งมาซื้อให้คนกินบนรถ 2-3 ครั้ง ปรากฏว่าคนกินคือ 'หม่อมถนัดศรี' จากนั้นเค้าก็มีขึ้นป้ายให้ เขียนลงหนังสือพิมพ์ คนก็มาจอดรถกินกันเป็นแถวยาวเลย”

ลุงมักขายก๋วยเตี๋ยวราดหน้ายอดผักอยู่สิบปีก็ย้ายเข้ามาเปิดร้านในอาคาร ของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประตูหน้าร้านเป็นบานเฟี้ยมสองชั้น ชั้นแรกเป็นบานเฟี้ยมไม้ ชั้นที่สองเป็นบานเฟี้ยมกรุกระจก อวดมือจับโบราณสวย ๆ และช่วยกันเสียงรถยนต์ที่วิ่งอยู่ภายนอกได้เป็นอย่างดี ร้านมักเจริญตั้งอยู่ติดกับทางเข้าวิทยาลัยสารพัดช่างพอดี จึงมีลูกค้าเป็นอาจารย์มากมาย เมื่อมาเปิดร้านเป็นหลักแหล่งลุงมักเพิ่มรายการอาหารเข้าไปมากมาย แม้ว่าจะไม่ใช่ว่าเป็นเมนูหรูเลิศ แต่รสชาตินั้นอร่อยจนแปลกใจ ที่ต้องยกตัวอย่างคือ หมูทอดกระเทียมพริกไทย เมนูธรรมดาที่ต้องสั่ง ทำไมรสชาติถึงกลมกล่อมหอมอร่อยได้อย่างนี้

ลุงมักบอกว่าไม่มีอะไรมาก ให้ล้างหมูให้สะอาดผึ่งให้แห้งแล้วนำไปบด หมักกับซีอิ๊วขาว กระเทียม พริกไทย ใช้เนื้อหมูล้วน ๆ และต้องเป็นหมูบดเท่านั้นเนื้อจึงจะเกาะกันเหมือนลูกชิ้น ถ้าใช้หมูสับเนื้อหมูจะไม่เกาะติดกัน

ก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ก็เป็นอีกจานที่ชิมครั้งแรกรู้สึกเค็มนิด ๆ แต่ตัดสินใจไม่ปรุง (ร้านนี้ไม่เสิร์ฟคู่ซอสพริกแต่เสิร์ฟพร้อมพริกน้ำส้ม น้ำตาล น้ำปลา พริกป่น) ปรากฏว่ายิ่งกินก็ยิ่งเข้าทีกลมกล่อมหอมกลิ่นกระทะ

อาหารทุกจานลุงมักจะเป็นคนปรุงทั้งหมด เทคนิคความอร่อยของอาหารคืออุปกรณ์หลักได้แก่กระทะเหล็ก และไฟ ลุงมักบอกว่าการคุมไฟนี่แหละคือเคล็ดลับในการปรุงอาหารให้ได้อร่อย และหอมกรุ่น เมนูอาหารร้านลุงมักแบ่งเป็น หลากหลายแกงจืด เช่น แกงจืดเกี้ยมฉ่าย แกงจืดเต้าหู้เห็ดหอม อาหารประเภทยำ มีมากชนิดหน่อย ได้แก่ พล่ากุ้ง ยำตะไคร้ ยำเนื้อ ยำปลาสลิด รายการไข่ มีไข่ตุ๋นกุ้งมะนาว ไข่เยี่ยวม้าผัดใบกะเพรากรอบ นอกจากนี้ยังมีประเภทก๋วยเตี๋ยว อาหารจานเดียว อาหารเชลล์ชวนชิมอีก ไม่แปลกใจเลยที่แรกถามลุงมักว่า “อะไรอร่อยคะ”
 “อร่อยทุกอย่างครับ” ลุงตอบยิ้ม ๆ

 ตอนนี้หนูเชื่อลุงแล้วค่ะ อยากไปชิมรสมือลุงมักสอบถามได้ที่โทร.02-223-8157

////////////////////////////

วันที่ 16 ตค. - 16 พย. 2553  ทุกวัน เวลา 08.00 - 17.00 น. สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  สำนักวัฒนธรรมกีฬาและการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร    สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สพช. สสส. หอศิลป์ตาดูและเครือข่ายฟื้นฟูชุมชนเมืองเชิง อนุรักษ์ย่านป้อมปราบฯ-พระนคร จัดงาน “เตร่ ตรอก ลัดรั้วบ้าน ฟื้นตำนานป้อมปราบฯ พระนคร ครั้งที่ 1”  พบกับ 6 ชุมชน ที่มีประวัติศาสตร์และกิจกรรมที่น่าประทับใจ ประกอบด้วย ชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธ์ วังโบราณแหล่งสังฆทานเก่าแก่ ชุมชนบ้านบาตร “เล่าขานตำนาน 200 ปี อาชีพคนตีบาตร”

สาธิต-ทดลองการทำบาตร 21 ขั้นตอน ชมรำวงบ้านบาตรสามัคคี เยี่ยมดูบ้านไม้เก่า ชุมชนวัดสระเกศ “โลงศพดี ฝีมือเซี่ยงไฮ้” ชมวิถีชีวิตแบบจีน บริเวณตรอกเซี่ยงไฮ้ สาธิตการทำโลงศพ ชุมชนสิตาราม “แหล่งค้าไม้ รวมคนมีฝีมือด้านละคร ทำขวัญนาค” ชมโบสถ์วิหารเก่าแก่ สมัยรัชกาลที่ 2 ณ วัดสิตาราม ชมสาธิตชกมวยไทย ดูการทำข้าวเกรียบ ปากหม้อ ตามดูเครื่องใช้โบราณสมัยรัชกาลที่ 6 ณ บ้านหลวงวิศาลดรุณกร ชุมชนจักรพรรดิพงษ์ “แหล่งรวมกุ๊กฝีมือดี อาหารอร่อย” ชมร้านกาแฟกาแฟโบราณ บ้านไม้สักเก่า โรงพิมพ์โบราณ พร้อมชมนิทรรศการ 6 ชุมชน ณ ตึกอนุรักษ์ TAT ชุมชนวัดสุนทรธรรมทาน “ศูนย์รวมชาวนางเลิ้ง วัฒนธรรมเก่าในวังวรดิษฐ์” ชมบ้านศิลปะ ชุมชน ละครชาตรีรำซัด งานปักสะดึงชุดละคร โรงหนังเฉลิมธานี เยี่ยมชมบ้านมิตร ชัยบัญชา และกิจกรรมเวทีวัฒนธรรมชุมชน ณ วัดสระเกศ การแสดงของแต่ละชุมชน 6 ชุมชน ดนตรี การออกซุ้มอาหารของชาวชุมชน ประกวดอาหารอร่อยและขึ้นชื่อของแต่ละชุมชน
 

นอกจากนี้ยังมีการแสดงนิทรรศการภาพถ่าย เล่าเรื่องราววิถีชีวิตของ 6 ชุมชน ซึ่งจัดในพิพิธภัณฑ์ (ชุมชน) แออัด (ผนังบ้าน ริมรั้ว และลานกิจกรรมของชุมชน) ผ่านมุมมองจากช่างภาพ 3 ท่าน คือ เรืองรอง รุ่งรัศมี นักคิด นักเขียน และนักเดินทาง 2 พี่น้องสตรีท โฟโต้กราฟเฟอร์ สุพจน์ อภัยสุวรรณและสมัชชา อภัยสุวรรณ และศิลปินร่วมสมัย กลุ่มมุตตะ พร้อมกิจกรรมสาธิตอาชีพ แวะเวียนย้อนอดีต ทางสถาปัตยกรรม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ดั้งเดิม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่ซุกซ่อนภายในพร้อมชมนิทรรศการชุมชนและการพัฒนา ร่วมกิจกรรมศิลปะร่วมสมัยและภาพถ่ายที่เริ่มต้นจากชุมชน (พิพิธภัณฑ์ (ชุมชน) แออัด) สนุกสนานกับการช็อปและชิม สินค้าอาหารที่พิเศษในย่านของดีและอร่อยใน 6 ชุมชน ประวัติศาสตร์ที่พลาดไม่ได้พร้อมชมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชนในเวทีลาน วัดสระเกศ

Tags : ของกิน ถิ่นเก่า ย้อนฝัน วันเยาว์

view