สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เหตุเกิดที่วัดต้นแก้ว ประวัติศาสตร์ฉบับเดินดินกิน แอ๊บปลา

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร บทความโดยอัครวิทย์ ชูเกียรติศิริชัย


พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณเฮือนยอง วัดต้นแก้ว

กินหอมของ สมุนไพรแบบไม่เหนียมเครื่อง ทำให้ ‘แอ๊บปลา’ จากความเมตตาของเหล่าคุณยายหอมฟุ้งกว่าที่ขายกันในตลาด ผมนั่งนึกอยู่ในใจว่า “โชคดีจังที่แอ๊บปลายังไม่ถูกทำให้กลายเป็นแค่ประวัติศาสตร์”
 “เรื่องเล่าจากใคร หรือเก่าแค่ไหน ถึงควรค่าพอที่จะเรียกว่าประวัติศาสตร์”


 หลายปีก่อนผมเคยโยนคำถามเหล่านี้ลงในวงสนทนาระหว่างเพื่อนพ้องน้อง พี่ร่วมสถาบันโดยไม่ได้ตั้งใจที่จะก่อกวน หากแต่เป็นความสงสัยใคร่รู้ตามสถานการณ์ที่ ‘การอนุรักษ์ประวัติศาสตร์’ กำลังมาพร้อมกับการ ‘ไล่รื้อ’


 “ผมว่ามันเป็นอุดมคติมากเกินไปที่จะเก็บเรื่องราวทุกอย่างไว้ มันทำไม่ได้หรอกพี่ เราเลยต้องเลือกที่มันสำคัญที่สุด” รุ่นน้องนายหนึ่งเอ่ยขึ้นด้วยอารมณ์หงุดหงิดกับความมากเรื่องของพลเมืองเจ้า ปัญหา


 “มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา อันนั้นมันเป็นขอบเขตของทางมานุษยวิทยาเขา” รุ่นพี่ท่านหนึ่งนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการกระชับขอบเขตของ ‘สิ่งที่เราควรยุ่ง’ กับ ‘สิ่งที่เราไม่ควรยุ่ง’ ตามหลักวิชาการ


 คำตอบจากใครบางคน ณ เวลานั้น ทำให้ผมแอบรำพึงกับลมหายใจเก่าๆ ที่ดูไร้ค่าว่า “หรือบางที ‘พื้นที่ประวัติศาสตร์’ มันอาจจะ ‘คับแคบ’ จนเราต้องเลือก ‘เก็บ’ เพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้ว ‘เขี่ย’ ทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”


 ปัจจุบันผู้ให้คำตอบบางคนก้าวเข้าสู่เส้นทาง ‘มหาบัณฑิต’ ขณะที่บางคนกำลังจะติด ‘ดร.’ นำหน้าสรรพนาม ส่วนสามัญชนคนไม่มีนามบัตรยังคงต้องออกเดินดินหากินกับคำถามนั้นต่อไป


เรื่องเล่าที่โยงใยมากกว่าเส้นไหมบนผ้าทอ (วันที่หนึ่ง)
 ท่าม กลางความอบอ้าวของยามเช้าปลายเดือนสิงหาคม (พ.ศ.2553) ผมเยื้องย่างผ่านหน้าวัดจามเทวี โดยมีจุดหมายทางอยู่ที่วัดต้นแก้ว ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จ.ลำพูน เพื่อภาระกิจในการเขียนเรื่องอะไรสักเรื่องเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์วัดต้นแก้ว


 ภาพของอาคาร 2 ข้างทางแปรเปลี่ยนไปตามอัตราการเร่งของฝีเท้า...ราว 45 นาที สังขารของคนไกลบ้านก็มาถึงจุดหมายปลายทางที่วัดต้นแก้ว...

 ผมเดินผ่านประตูเพื่อพบกับเรือนไม้ ใต้ถุนสูง ที่มีป้ายระบุว่า ‘พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณเฮือนยองวัดต้นแก้ว’ ซึ่งพระครูไพศาลธีรคุณ เจ้าอาวาสวัดต้นแก้วประสงค์ที่จะใช้เป็นพื้นที่ “อนุรักษ์วัฒนธรรมของคนล้านนา คนยอง โดยเฉพาะเรื่องการทอผ้าให้คงอยู่ชั่วลูกชั่วหลาน”

 บทสนทนาถึงที่มาของการทอผ้าลายยกดอก เริ่มต้นขึ้นใต้ถุนเรือนพิพิธภัณฑ์ โดยมี คุณยายบุญชุม ชัยสิทธิ์ เป็นผู้ถ่ายทอดความทรงจำ

 “เขาว่ากันว่าลายยกดอกมันมาจากคุ้มเจ้านาย” ส่วนผ้าทอที่ใช้นุ่งในวิถีชีวิตประจำวันของชาวยองในอดีต “เป็นผ้าซิ่น ทอลายแคบๆ เป็นเส้นๆ ธรรมดา แล้วก็เย็บต่อหัวท้ายด้วยผ้าพื้น” แม่เฒ่าวัย 72 บอกเล่าถึงความเป็นมาของลวดลายบนผืนผ้าที่กลายเป็นสินค้าขึ้นชื่อของบ้าน เวียงยอง

 ส่วนที่มาขององค์ความรู้ในเรื่องการทอผ้า คุณยายเล่าว่า “เกิดมาก็เห็นแม่นั่งทอผ้าแล้ว อย่างตอนยายเด็กๆ มันไม่มีของเล่น พอเห็นแม่ทอผ้ามันน่าสนุก เราก็เลยมาเล่นทอผ้า ก็เลยทอผ้าเป็นมาตั้งแต่ตอนนั้น”

 ในอดีต ‘การทอผ้า’ กับ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ของบ้านเวียงยอง เป็นเรื่องที่แยกขาดจากกันไม่ได้ เพราะมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชิวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้ในยามที่ความรักเริ่มเบ่งบานเมื่อคราแรกรุ่น การทอผ้าก็เปรียบเสมือนสื่อกลางที่ทำให้ชายและหญิงได้มาทำความรู้จักคุ้นเคย

 “อย่างตอนยายสาวๆ เริ่มมีหนุ่มมาจีบ ยายก็จะลงมานั่งทอผ้าใต้ถุนบ้านตอนกลางคืน เพราะเราจะมานั่งคุยกันเฉยๆ ไม่ได้ พ่อแม่จะว่าเอา” รอยยิ้มเล็กๆ ปรากฏขึ้นบนใบหน้าของคุณยาย ขณะย้อนรำลึกถึงความทรงจำวัยสาว

 ฝีมือในการทอผ้าของแม่หญิงเวียงยองไม่ได้เป็นที่รับรู้กันเฉพาะในเขต จังหวัดลำพูนเท่านั้น ครึ่งศตวรรษก่อนหญิงสาวจากบ้านเวียงยองอีกหลายคนได้มีโอกาสเดินทางลงมาทำงาน ทอผ้าเพื่อส่งให้กับวังในกรุงเทพฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ คุณยายบัวไหล ไชยวงษ์ศรี พี่สาวคนรองของคุณยายบุญชุม

 “ตอนนั้นลงไปอาศัยอยู่บ้านพักของหลวง แถวๆ ถนนพระอาทิตย์ แล้วก็ทอผ้าไหมส่งให้กับวัง ตอนนั้นลงไปหลายคน จริงๆ ยายก็ไม่อยากไป แต่ถ้ายายไม่ไปคนแถวบ้านก็ไม่ยอมลงไป อยู่ได้สักพักพอพวกเขาเริ่มปรับตัวได้ เราก็ขอแยกกลับ พอดีแม่สามียายเขามีโรงงานทอผ้าอยู่แถวดินแดงยายก็ไปช่วยเขา” คุณยายบัวไหล บอกเล่าความทรงจำผ่านรอยยิ้มในวัย 77 ปี

 นอกจากเรื่องราวเกี่ยวกับเส้นไหมบนผ้าทอ ผมยังได้ตามติดความทรงจำของคุณยายบุญชุมไปกับวิถีชีวิตริมน้ำกวง

“สมัยก่อนเวลาจะหาน้ำกินเราต้องไปขุดบ่อทรายริมแม่น้ำกวง อย่างที่เขาเรียกว่ากินน้ำบ่อทราย หนูเคยได้ยินไหม?” คุณยายบุญชุมละสายตาจากกี่ แล้วหันมาส่งรอยยิ้มให้กับคนไกลบ้าน ก่อนที่จะกล่าวต่อไปว่า

 “เวลาจะไปเอาน้ำต้องหาบหม้อน้ำไป แล้วก็ขุดบ่อทรายให้น้ำซึมเข้ามา แล้วก็คนๆ รอให้ตกตะกอนสักพักเราก็ตักน้ำใส่หม้อกลับบ้าน พอมีบ้านไหนมาบอกว่าน้ำบ่อไหนอร่อย คนในหมู่บ้านก็จะตามกันไปเอาน้ำจากบ่อนั้น สมัยก่อนลำบากแต่ธรรมชาติดี เดี๋ยวนี้จะกินอะไรก็ต้องระวัง น้ำในแม่น้ำก็กินไม่ได้”

 ความสุขจากบทสนทนาทำเอามนุษย์ผู้หากินกับภาษาหลงลืมประเด็นที่จะซักถาม ผมได้แต่ปล่อยหัวจิตหัวใจให้เวียนว่ายอย่างอิสระกับเรื่องเล่าที่มีชีวิต ชีวา ก่อนพระอาทิตย์เที่ยงวันจะส่งสัญญาณให้กล่าวคำขอบคุณเพื่อแทนการอำลาแล้วรอ วันกลับมาพบกันอีกครั้ง

 เรื่องเล่าที่โยงใยมากกว่าเส้นไหมบนผ้าทอ (วันที่สอง)
 สอง วันหลังขอบคุณความเมตตาจากคุณยายบุญชุม ชัยสิทธิ์ ผมเดินทางกลับมาที่วัดต้นแก้วอีกครั้ง บทสนทนาของวันใหม่เริ่มต้นง่ายๆ จากภาพถ่ายวัยสาวของคุณยายบุญชุม


 “นี่เป็นภาพตอนอายุ 25 ที่ยายทำงานในโรงทอผ้าร้านคำแว่น”  คุณยายบุญชุม กล่าวพร้อมยื่นภาพถ่ายซีเปียที่ปรากฏร่องรอยชำรุดของกาลสมัยให้กับคนไกลบ้าน ได้รับชม

 นอกเหนือภาพถ่าย เรื่องเล่าจากคุณยายยังช่วยอธิบายถึงความเฟื่องฟูของกิจการโรงงานทอผ้าเอกชน ในเขตจังหวัดลำพูนช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25 (พ.ศ. 2490-2500) ซึ่งนอกจากจะมีโรงงานทอผ้าของแม่เขียวอิสระเป็นจุดเริ่มต้นแล้ว ในช่วงเวลาต่อมาก็ยังมี “โรงงานทอผ้าของยายบัวเพียร โรงงานทอผ้าบ้านคำแว่น ร้านจรวยพร บ้านยายบัวศรี ร้านผ่องพันธุ์ ร้านศิริเวช” อีกด้วย

 แต่ใช่ว่า ‘การทอผ้า’ จะเป็นอาชีพเดียวสำหรับแม่หญิงเมือง 'หละปูน' เสียเมื่อไร เพราะจากข้อมูล ‘ความทรงจำ’ ของคุณยายบัวหลง กันน์ตี (วัย 74 ปี) พี่สาวคนที่ 3 ของคุณยายบุญชุม เราจะพบ ‘ทางเลือก’ ของแม่หญิงในการทำมาหาเลี้ยงชีพซึ่งผลัดเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

 เมื่อตอนคุณยายบัวหลงและคุณยายบุญชุมยังเป็นเด็ก ครอบครัวของคุณยายต้องอาศัยผืนนาของคนอื่นเพื่อทำการเพาะปลูก เนื่องจากทางครอบครัวไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง โดยเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิต 2 ใน 3 จะต้องถูกนำไปมอบให้กับเจ้าของที่นาเพื่อทดแทนค่าเช่า

 “ตอนอายุประมาณ 14 ยายซื้อถั่วลิสงจากลำพูนมาต้มแล้วเอาไปขายที่กาดต้นลำใยเชียงใหม่ โดยจะออกเดินเท้าตั้งแต่ตีหนึ่ง กว่าจะไปถึงกาดต้นลำไยที่เชียงใหม่ก็ประมาณ 7-8 โมงเช้า” คุณยายบัวหลง บอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับการเดินทางเพื่อค้าขาย ก่อนที่จะกล่าวถึงทางเลือกใหม่ในการประกอบอาชีพว่า

 “ตอนอายุ 17 ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้กับลูกของนายสถานีรถไฟเด่นชัย (จังหวัดลำปาง) ได้เดือนละ 30 บาท ทำอยู่ได้ 7 เดือนก็ทนไม่ไหวพยายามจะหนีกลับบ้าน” รอยยิ้มเคล้าเสียงหัวเราะในวัย 74 ดังขึ้น เมื่อรำลึกถึงความสนุกสนานของวัยสาว

 จนเมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ “ช่วงอายุ 20 กว่าๆ ก็ทำงานทอผ้าที่ร้านคำแว่น ทอผ้าไหม 1 ชุดได้ 50 บาท เดือนหนึ่งทอได้ประมาณ 2 ชุด” ซึ่งในช่วงเวลานี้นอกจากรายได้ส่วนหนึ่งของคุณยายจะถูกใช้จ่ายไปกับปัจจัย 4 แล้ว การลงทุนเพื่อความสวยความงามก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับสตรีทั่วไปในลำพูน

 คุณยายบัวหลง และคุณยายบุญชุม ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การเสริมสวยแบบโบราณด้วยความสนุกสนานว่า “มีเงินเหลือก็ไปดัดผม แต่ที่ดัดผมสมัยโบราณมันไม่เหมือนสมัยนี้นะ มันจะเป็นแท่งเหล็กกลมๆ แล้วเอาไปเผาไฟ พอเผาไฟเสร็จเขาก็จะเอามาม้วนผมเรา พอทิ้งไว้สักพักผมมันก็จะหยิกเพราะความร้อน บางครั้งกลับบ้านมาแผลเต็มหัวเลย” สองคุณยายบอกเล่าความทรงจำกลั้วเสียงหัวเราะอย่างครื้นเครง ก่อนที่คุณยายบัวหลงจะเริ่มต้นความทรงจำเกี่ยวกับทศวรรษใหม่ของชีวิต

 “ตอนอายุประมาณ 30 ไปทำงานที่โรงงานบ่มใบยาสูบ ได้ค่าแรงวันละ 7 บาท เข้างาน 7 โมงเช้า เลิก 4 โมงครึ่ง พอตอนหลังฝรั่งเข้ามาเป็นเจ้าของ ยายก็ลาออก”

 หลังผ่านความไม่แน่นอนของ ‘อาชีพ’ และ ‘รายได้’ คุณยายทั้งสองกลับมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดูสดใสกว่ากับบทบาท ‘แม่ค้า’ ข้าวหลามและปลาหมึกตามงานเทศกาล ทั้งงานบวช งานปอยหลวง งานสรงน้ำพระธาตุ งานลอยกระทง โดยเฉพาะงานฤดูหนาวซึ่งเป็นงานประจำปีของจังหวัดลำพูนที่จะจัดขึ้น 10 วัน 10 คืน ซึ่งคุณยายบุญชุม ยืนยันว่า “ชีวิตของยายมาดีขึ้นก็ตอนขายข้าวหลามนี่แหละ”

‘แอ๊บปลา’ โชคดีที่ความอร่อยยังไม่กลายเป็นประวัติศาสตร์
 หลัง ความสนุกสนานจากเรื่องเล่ายุติลงในยามเที่ยงวัน แม่อุ๊ยเจ้าบ้านได้เชื้อเชิญลูกหลานไกลถิ่นให้ลองลิ้มชิมรส ‘แอ๊บปลา’ จากฝีมือของคุณยายบัวไหล ไชยวงศ์ศรี


 กินหอมของสมุนไพรแบบไม่เหนียมเครื่อง ทำให้ ‘แอ๊บปลา’ จากความเมตตาของเหล่าคุณยายหอมฟุ้งกว่าที่ขายกันในตลาด ผมนั่งนึกอยู่ในใจว่า “โชคดีจังที่แอ๊บปลายังไม่ถูกทำให้กลายเป็นแค่ประวัติศาสตร์” เพราะไม่เช่นนั้นผมคงต้องไปยืนอ่านป้ายเรื่องราวของแอ๊บปลาในพิพิธภัณฑ์ ว่าพลางจกข้าวเหนียวจิ้มแอ๊บปลาเข้าปากอย่างกระหยิ่มในความสุขกับ ‘เรื่องเล่ามีชีวิต’

 ผมไม่แน่ใจว่า ‘เรื่องเล่า’ จากคุณยายใจดีทั้ง 3 ท่านจะมี ‘คุณค่า’ มากน้อยเพียงใดสำหรับ ‘ประวัติศาสตร์แบบ มาตรฐาน’ แต่สำหรับผม เรื่องราวเกี่ยวกับลำพูนช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 25 ต้นพุทธศตวรรษที่ 26 (พ.ศ. 2490 - หลัง พ.ศ. 2500) จากความทรงจำ มันกลับงดงามด้วยลมหายใจเกินกว่าตำราเล่มใดจะบันทึกเอาไว้ได้

 และคงน่าเสียดายหากเราจะทอดทิ้งลมหายใจ แล้วหลงภูมิใจกับซากที่ไร้ชีวิต

Tags : เหตุเกิดที่วัดต้นแก้ว ประวัติศาสตร์ฉบับเดินดินกิน แอ๊บปลา

view