สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

คุก4ปี ไพศิษย์ บ.SCH เลี่ยงภาษี200ล้าน

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ศาลตัดสินคุก4ปี กก.SCHอินดัสทรี่ เลี่ยงภาษีกว่า200ล้าน ให้การมีประโยชน์ลด3ปีไม่รอลงอาญา นับโทษต่อคดีเดิมรวม18ปี ยกฟ้องน้องชาย2คน
ที่ ห้องพิจารณาคดี 911 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันนี้(12 พ.ย.) เวลา 10.00 น. ศาลมีคำพิพากษา คดีดำหมายเลข อ.408/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายไพศิษย์ ชูชินวัตร อายุ 54 ปี นายไพรัชต์ ชูชินวัตร อายุ 51 ปี และ นายไพโรจน์ ชูชินวัตร อายุ 49 ปี กรรมการบริษัท เอสซีเอช อินดัสทรี่ส์ จำกัด ( SCH Industries) ตั้งอยู่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายลวดทองแดงเพื่อผลิตสายไฟ เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิดฐานร่วมกันโดยฉ้อโกงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1)(2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83

ตามฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 51 สรุปว่าระหว่างวันที่ 19 มิ.ย. 46 - 22 มี.ค. 47 จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการบริษัท เอสซีเอช ฯ นำเงินเข้าบัญชีเงินฝากในนามของคณะบุคคลของจำเลยทั้งสาม รวมเป็นเงินจำนวนหลายร้อยล้านบาท และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีสำนักงานตรวจสอบภาษีกลาง กรมสรรพากร ออกหมายเรียกเพื่อมาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสามนำเข้าบัญชี เงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาปู่เจ้าสมิงพราย เพื่อประเมินภาษีเงินได้ สำหรับปี 2540 และ 2541 ซึ่งจำเลยทั้งสามเจตนาฉ้อโกงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ ได้ปกปิดข้อเท็จจริงโดยไม่ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับรายการเงินฝากในธนาคารทั้ง 2 ธนาคารทั้ง 2 บัญชีว่าได้มาอย่างไร อันเป็นการร่วมกันโดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใด หลีกเลี่ยงการเสียภาษี ซึ่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเหตุให้รัฐขาดรายได้ภาษีอากรในปีภาษี 2540 รวมเป็นเงิน 192,351,378.00 บาท และรัฐขาดรายได้ภาษีอาการในปีภาษี 2541 รวมเป็นเงิน 88,320,240.69 บาท เหตุเกิดที่ แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม.และ ต.สำโรงกลาง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และที่กรมสรรพากร แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม.

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และ จำเลยทั้งสามนำสืบแล้วเห็นว่า โจทก์เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบภาษี หลายปาก เบิกความสอดคล้องกันว่า เมื่อปี 2539-2540 ได้ออกหมายเรียกให้จำเลยทั้งสามนำเอกสารเพื่อเข้าชี้แจงเกี่ยวกับเงินรายได้ ที่ปี 2540 พบว่ามีเงินเข้าบัญชีที่มีจำเลยทั้งสามประมาณ 262 ล้านบาทเศษ ซึ่งการตรวจสอบพบว่าพวกจำเลยไม่ได้ยื่นแบบประเมินภาษี ไม่มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และไม่เคยชำระภาษี ภงด.90 และ 94 โดยจำเลยที่ 2-3 ไม่สามารถชี้แจงเกี่ยวกับเงินดังกล่าว อ้างว่าไม่ทราบการเคลื่อนไหวบัญชี จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดูแลให้สอบถามรายละเอียดกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ผู้แทนเข้าชี้แจงแทน ที่ระบุว่าบัญชีธนาคารดังกล่าวเปิดไว้ใช้ส่วนตัวสำหรับพี่น้อง ส่วนเงินที่มีการนำเข้าบัญชีเป็นเงินที่ให้บริษัท SCH กู้ยืมและซื้อสินค้า อีกส่วนหนึ่งเป็นเงินรายได้ที่จำหน่ายลวดทองแดงให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการใบ กำกับภาษี ซึ่งเอกสารที่จะนำมาชี้แจงนั้นไม่มีเพราะได้ทำลายเอกสารไปหมดแล้ว เนื่องจากเข้าใจว่าเก็บเอกสารไว้เพียง 5 ปี ศาลเห็นว่าพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการเสียภาษี ได้เบิกความตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสาม ขณะที่จำเลยทั้งสามไม่ได้โต้แย้งว่าพยานโจทก์ไม่มีอำนาจหน้าที่ประเมินภาษี หรือประเมินภาษีไม่ชอบอย่างใด เพียงแต่โต้แย้งว่าการประเมินภาษีไม่ถูกต้องตามความจริงเท่านั้น

ขณะที่ผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี และนางอรวรรณ ภรรยาจำเลยที่ 1 ให้การทำนองเดียวกันว่า การเปิดบัญชีเป็นบัญชีส่วนตัว และมีเงินที่ได้จากการขายลวดทองแดงให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการใบกำกับภาษี

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการบริษัท ภายหลังที่บิดาเสียชีวิต โดยจำเลยที่ 2-3 แม้เป็นกรรมการบริษัท แต่ก็ปฏิบัติตามคำสั่งจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 2 -3 เซ็นชื่อในเช็คเปล่าทั้ง 2 ธนาคารก็มีภรรยาจำเลยที่ 1นำดำเนินการ ขณะที่จำเลยที่ 1 ดูแลและทราบการเคลื่อนไหวบัญชี และนำเงินรายได้จากการจำหน่ายลวดทองแดงให้กับลูกค้าที่ไม่ต้องการใบกำกับ ภาษีเข้าบัญชี รวมทั้งพบว่ามีการนำเข้าเช็คบริษัท SCH เข้าบัญชีด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจในบริษัท จึงมีภาระต้องยื่นแบบประเมิน แต่ไม่เคยยื่นแบบประเมินภาษีก็ถือเป็นความผิด

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (2) ให้จำคุก 4 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง เห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 3 ปี โดยให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีหมายเลขแดง อ.3898/2552 ที่ศาลอาญา ให้จำคุกจำเลยที่ 1 อีก 15 ปี ในความผิดเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินได้นิติบุคคลด้วย

ส่วนจำเลยที่ 2-3 แม้จะเปิดบัญชีร่วมด้วย แต่ฟังได้ว่าเปิดไว้ตั้งแต่ปี 2529 และ 2533 เพื่อไว้ใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งคดีนี้เหตุเกิดขึ้นภายหลังที่เปิดบัญชี โดยการยื่นแบบประเมินภาษีเป็นภาระของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้มีอำนาจในบริษัท จึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2-3 กระทำผิด จึงพิพากษาให้ยกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีแดง อ.3898/2552 นั้น ศาลอาญา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.52 ให้ปรับบริษัท SCH ฯ จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1.5 ล้านบาท และให้จำคุกนางอรวรรณ ภรรยานายไพศิษย์ จำเลยที่ 4 และนายไพโรจน์ คนละ 15 ปี โดยให้ยกฟ้องนายไพรัชต์ จำเลยที่ 2 ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างอุทธรณ์

Tags : คุก4ปี ไพศิษย์ บ.SCH เลี่ยงภาษี

view