สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความรับผิดชอบของกกต. ต่อคดียุบพรรค

ความรับผิดชอบของกกต. ต่อคดียุบพรรค

จาก โพสต์ทูเดย์

ข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่อาจลบล้างได้ คงเหลือแต่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการเลือกตั้ง จะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไร....

โดย...สมผล ตระกูลรุ่ง นักวิชาการกฎหมายอิสระ

หลังจากพรรคประชาธิปัตย์หลุดรอดคดียุบพรรคทั้งสองคดี จากความบกพร่องของกระบวนการยื่นคำร้องต่อศาล ได้เกิดคำถามที่ตามมามากมายว่า ใครจะต้องรับผิดชอบ กกต.เองในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ออกอาการตั้งแต่คำวินิจฉัยคดีแรกแล้ว

ในฐานะที่ติดตามคดีเรื่องนี้มาอย่างใกล้ชิด ขอฟันธงว่า กกต.ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้

กกต.บางท่านออกมาให้ข่าวว่า คดีหลัง 258 ล้านบาท อัยการเป็นผู้ยื่นคำร้อง กกต.จึงไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กกต.รู้ดีว่าปัญหาเรื่องกระบวนการเกิดจาก กกต. จึงออกอาการหาทางแก้ตัว

กกต.ทั้ง 5 ท่านรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่า กระบวนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหา

ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง คือนายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ได้ทำความเห็น กกต.จึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณา ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 93 วรรคสอง (สำหรับคดี 29 ล้านบาท) และมาตรา 95 วรรคแรก (สำหรับคดี 258 ล้านบาท)

ทั้งสองมาตราเริ่มต้นเหมือนกันว่า “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน...” และโดยเหตุที่นายทะเบียนเป็นคนคนเดียวกับประธานกรรมการการเลือกตั้ง จึงมีปัญหาว่ากรณีอย่างใดจึงจะถือว่า “ปรากฏต่อนายทะเบียน” แล้ว เพราะเมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงจะมีมติความเห็นชอบให้นำคดีสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้

กกต.ทั้งคณะทราบปัญหานี้ดี เรามาดูลำดับเหตุการณ์

เดือน มี.ค. 2552 ดีเอสไอ และ สส.เพื่อไทย แจ้ง กกต.ว่า พรรคประชาธิปัตย์ทำผิดกฎหมายทั้งสองเรื่อง

วันที่ 30 เม.ย. 2552 กกต.ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน

วันที่ 25 ส.ค. 2552 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนรายงานว่า ไม่พบมูลความผิดทั้งสองกรณี กกต.มีมติให้สอบเพิ่ม

วันที่ 10 พ.ย. 2552 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนรายงานว่า ไม่พบมูลความผิดทั้งสองกรณี กกต.มีมติให้สอบเพิ่ม

วันที่ 17 ธ.ค. 2552 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนรายงานความเห็นว่า เห็นควรยกคำร้องทั้งสองกรณี กกต.มีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาตามมาตรา 95 โดยประธาน กกต. เป็นเสียงข้างน้อย มีความเห็นให้ยกคำร้องทั้งสองกรณี

วันที่ 29 ธ.ค. 2552 นายทะเบียนตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดใหม่

วันที่ 12 เม.ย. 2553 คณะกรรมการตรวจสอบเสนอรายงานต่อนายทะเบียน นายทะเบียนเกษียณสั่งว่า อาจมีการกระทำที่เป็น|เหตุให้ยุบพรรค ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันควรสู่การพิจารณามีมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงให้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติด้วยเสียงข้างมากให้นายทะเบียนแจ้งเรื่องต่อ อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาล

ประธานกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นว่า กรณี 29 ล้านบาท ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาล ส่วนกรณี 258 ล้านบาท ให้ยกคำร้อง

วันที่ 21 เม.ย. 2553 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติในคดี 29 ล้านบาท ว่า เมื่อประธานกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะ กรรมการการเลือกตั้ง คำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน ตามมาตรา 93 วรรคสอง จึงเป็นประเด็นที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องพิจารณา ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ
การประชุมวันที่ 21 เม.ย.นี้ ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่ได้เข้าประชุมด้วย

นอกจากข้อเท็จจริงข้างต้นแล้ว ยังมีข้อเท็จจริงที่คนทั่วไปไม่ทราบ และ กกต.ก็ไม่ยอมเปิดเผย คือหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2552 แล้ว ได้มีการขอความเห็นจากฝ่ายกฎหมายของ กกต.เอง ว่า เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแล้ว จะดำเนินการได้เลยหรือต้องให้นายทะเบียนมีความเห็นก่อน

สำนักกฎหมายและคดี (ฝ่ายกฎหมาย 1) ได้สรุปความเห็นให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2553 เรื่องกระบวนการตามมาตรา 93 วรรคสอง และมาตรา 95 ว่า “เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมืองที่จะมีความเห็นก่อน แล้วเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อขอความเห็นชอบ”

ความเห็นของฝ่ายกฎหมายของ กกต.เอง ก็มีความเห็นเหมือนกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้ว ประเด็นนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง|จะไม่ทราบเลยหรือ

ต้องไม่ลืมว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งล้วนแต่เป็นนักกฎหมายระดับหัวกะทิ ผ่านงานมาโชกโชน คงไม่มีใครเชื่อว่าข้อกฎหมายอย่างนี้ท่านจะตีความไม่ออก ฝ่ายกฎหมายที่ทำความเห็นเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ก็เชื่อแน่ว่าอ่อนอาวุโสกว่า 5 เสือ กกต.
ข้อเท็จจริงที่สนับสนุนว่า กกต.ทั้ง 5 ท่าน ทราบดีว่านายทะเบียนต้องมีความเห็นก่อน แล้วคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงจะให้ความเห็นชอบได้นั้น ยังปรากฏจากการประชุมเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2553 ที่เป็นการประชุมเฉพาะคดี 29 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องมีมติให้ความเห็นชอบตามความเห็นของประธาน กรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งเป็นคนคนเดียวกับนายทะเบียน) เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ก่อนที่นายทะเบียนจะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้าเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งใหญ่กว่านายทะเบียน หรือถ้าจะตีความว่ากฎหมายไม่ได้บอกว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องทำความเห็นก่อน แล้ววันที่ 21 กกต.ทำไมต้องให้ความเห็นชอบ ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งใหญ่กว่า ทำได้เอง จะต้องเห็นชอบอีกทำไม ในเมื่อมีมติเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2553 แล้ว และหากนายทะเบียนไม่ต้องทำความเห็นก่อน กฎหมายก็ไม่ได้บอกว่าต้องให้ความเห็นชอบตามความเห็นของประธานกรรมการการ เลือกตั้ง

สิ่งที่คณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติมานั้น ไม่อาจตีความเป็นอื่นไปได้ นอกจากนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่กล้าที่จะให้ความเห็น แต่เป็นการโยนปัญหาไปให้ศาลเป็นผู้รับภาระไปพิจารณาเอง เพราะในความเห็นของฝ่ายกฎหมายของ กกต.ดังกล่าว ยังให้ความเห็นอีกว่าถ้านายทะเบียนพรรคการเมืองตรวจสอบแล้วเห็นว่า พรรคการเมืองมิได้ทำการฝ่าฝืนกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้ต้องยื่นคำร้องต่อศาล รัฐธรรมนูญตามมาตรา 93 และมาตรา 95 ก็ไม่ต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่ประการใด

ข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่อาจลบล้างได้ คงเหลือแต่ว่านายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการเลือกตั้ง จะแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้นอย่างไร

หรือยังจะยืนยันว่า องค์กรอื่นๆ เป็นผู้ผิด

Tags : ความรับผิดชอบ กกต. คดียุบพรรค

view