สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความตายกับภาษีไม่มีความเป็นสัจธรรม

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

โดย : ดร.ไสว บุญมา


เมื่อเอ่ยถึงเบนจามิน แฟรงกลิน ผู้ที่คุ้นเคยกับชื่อนี้อาจนึกถึงเรื่องต่างกัน บางคนอาจนึกถึงเรื่องกระแสไฟฟ้าและการทำสายล่อฟ้า
เนื่อง จากเขาเป็นทั้งนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบกระแสไฟฟ้าในอากาศและทำ สายล่อฟ้าขึ้นมาก่อนผู้อื่น นักหนังสือพิมพ์อาจนึกถึงนักเขียน นักวิจารณ์ บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์อันโด่งดัง บรรณารักษ์อาจนึกถึงการก่อตั้งห้องสมุดสาธารณะเพื่อให้ประชาชนยืมหนังสือ นักการเมืองและนักประวัติศาสตร์อาจนึกถึงทฤษฎีการเมืองและเรื่องผู้ร่วมก่อ ตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา และบางคนอาจนึกถึงคำคมอันเป็นอมตะที่ว่า คนเราหลีกเลี่ยงสองอย่างไม่ได้ นั่นคือ ความตายกับภาษี
 

เบนจามิน แฟรงกลิน มีความสามารถหลายด้าน อย่างไรก็ตาม หากเขามาอาศัยอยู่ในเมืองไทย เขาคงไม่เปล่งคำคมนั้นออกมา เนื่องจากคนไทยที่มีเงินและอำนาจอาจเลี่ยงภาษีได้ จะเห็นว่าล่าสุด โรงเรียนกวดวิชาเพิ่งได้รับเว้นภาษีเมื่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีกระดูกสันหลังแกร่งพอตีข้อเสนอให้เก็บภาษีธุรกิจนี้ตกไปโดยเสนอให้ ใช้การควบคุมการค้ากำไรเกินควรแทน
 

โรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจใหญ่มากเนื่องจากความล้มเหลวของระบบการศึกษา ไทย ความไร้ซึ่งจรรยาบรรณของผู้ทำงานในด้านการศึกษา และความฝังหัวในค่านิยมของสังคมแบบเจ้าขุนมูลนายที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
 

วิวัฒนาการด้านเศรษฐกิจชี้ให้เห็นแบบเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดแล้วว่า เศรษฐกิจไทยต้องการแรงงานในโรงงานและผู้มีความชำนาญด้านเทคนิคต่างๆ การขาดคนงานจำพวกนั้นมาเป็นเวลานานยังผลให้ผู้ประกอบการต้องจ้างแรงงานจาก ต่างประเทศ คนไทยไม่สนใจทำงานจำพวกนั้นเพราะมองว่ามันต่ำต้อย เราพากันมองว่างานจำพวกนั่งโต๊ะเท่านั้นเป็นงานมีเกียรติที่ผู้มีปัญญาสูง ส่งควรทำ ค่านิยมเช่นนั้น ถูกปลูกฝังกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตาทวด ยังผลให้เยาวชนทุกคนต้องการปริญญาเพราะมันเป็นใบเบิกทางสำหรับงานที่อยู่ใน ความต้องการสูงดังกล่าวและต่างช่วงชิงกันเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ ซึ่งรับเข้าเรียนได้ในจำนวนจำกัดเท่านั้น
 

คะแนนจากการสอบคัดเลือกแบบปรนัยถูกใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าใครจะได้เข้า เรียน การทำเช่นนี้มีความต่อเนื่องมาจากการสอบแบบปรนัยถูกใช้เป็นตัวชี้วัดความ สามารถและความสำเร็จทางการศึกษามานมนาน ทั้งที่ผู้ทำงานในด้านการศึกษาต่างตะโกนโพนทะนามานานแสนนานว่า การศึกษาที่ดีต้องฝึกเยาวชนให้มีความคิดเชิงวิพากษ์ ความสามารถในด้านการแก้ปัญหา ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ในสังคม แต่การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยไม่นำคะแนนจากการสอบในโรงเรียนมัธยมมาใช้ เพราะมาตรฐานการเรียนการสอนและการทดสอบของแต่ละแห่งแตกต่างกันมาก หากนำมาใช้ก็จะทำให้โรงเรียนเพิ่มคะแนนให้เด็กของตนแบบเกินเหตุผลแน่นอน ส่วนข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยมีเนื้อหานอกเหนือจากหลักสูตรของชั้นมัธยมซึ่ง เด็กไม่สามารถหาข้อมูลจากที่อื่นได้นอกจากในโรงเรียนกวดวิชา การออกข้อสอบแบบนี้มีค่าเท่ากับผู้ออกข้อสอบมีเป้าหมายที่จะให้การสนับสนุน แก่ธุรกิจกวดวิชา นอกจากนั้น ผู้ออกข้อสอบและผู้ผลักดันให้ใช้ข้อสอบแบบนี้ไม่มีความกระดากอายต่อผีสาง เทวดาที่จะตั้งโรงเรียนกวดวิชาขึ้นมาแสวงหากำไรแบบง่ายๆ เสียเอง
 

ในปัจจุบัน มิเพียงแต่โรงเรียนกวดวิชาเท่านั้นที่เลี่ยงภาษีได้ บรรดามหาเศรษฐีที่สร้างคฤหาสน์หรูหราและนักเก่งกำไรที่ซื้อที่ไร่ที่นามา ปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่ต้องเสียภาษี เศรษฐีขี้โอ่พวกนั้นส่วนหนึ่งร่ำรวยขึ้นมาจากการทำกิจการนอกกฎหมาย แทนที่จะเก็บภาษีพวกเขามากๆ จากการบริโภคแบบเมามันด้วยการสร้างคฤหาสน์หรูหรา รัฐบาลกลับไม่กล้าเก็บทั้งที่การเก็บภาษีการบริโภคแบบเกินพอดีนั้นเป็นหลัก สำคัญของการใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งรัฐบาลย้ำว่าจะนำมาใช้ การไม่ยอมเก็บภาษีการบริโภคจำพวกนี้ชี้ให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่ารัฐบาลไม่เคย มีความจริงใจที่จะใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งที่รัฐบาลพูดออกมาจึงมีค่าแค่ลมปาก
 

การเก็งกำไรในที่ไร่ที่นาสร้างความเสียหายมหาศาล แต่รัฐบาลก็ไม่มีความจริงใจที่จะทำอะไร เพื่อลดความเสียหายนั้นลงเพราะคนในรัฐบาลและผู้อุปถัมภ์มักทำเสียเอง ความเสียหายมีหลายด้าน อาทิเช่น การปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่าเป็นการสูญเสียในด้านการผลิต นอกจากนั้น เมื่อชาวนาชาวไร่ซึ่งไร้ที่ทำกินไม่สามารถเช่าที่ดินได้ก็มักจะไปรุกที่ป่า หรืออพยพไปทำมาหากินในเมือง หรือไม่ก็หมดอาลัยตายอยากอยู่กับความยากจนต่อไป ทั้งหลายทั้งปวงนี้มีปัญหาตามมาทั้งสิ้น
 

โรงเรียนกวดวิชาเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำเพราะมักอยู่ในเมืองใหญ่ๆ และช่วยเด็กที่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียนให้สามารถทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ มากขึ้น บรรดามหาเศรษฐีที่บริโภคแบบโอ้อวดตอกย้ำความเหลื่อมล้ำให้แจ้งชัดยิ่งขึ้น ส่วนบรรดานักเก็งกำไรเป็นผู้ทำลายเศรษฐกิจและทำความเหลื่อมล้ำให้เลวร้าย ยิ่งขึ้น รัฐบาลย้ำนักย้ำหนาว่าจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างเต็มกำลัง แต่แทนที่จะเก็บภาษีจากสามแหล่งนี้สูงๆ กลับเสนอโครงการประชาวิวัฒน์ที่แปดเปื้อนด้วยความเลวร้ายของมาตรการประชา นิยม น่าเสียดายโอกาสที่รัฐบาลมีเวลากว่าสองปี แต่ดูจะไม่มีความใส่ใจในด้านพัฒนา หากมุ่งเพียงแก้ปัญหาไปวันๆ ซึ่งมักหวังผลเพียงด้านการเมือง
 

หากรัฐบาลยังพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่อไปด้วยการใช้นโยบายประชา นิยม คำคมของเบนจามิน แฟรงกลิน อาจมีความเป็นอมตะแต่มิใช่สัจธรรม เนื่องจากการแก้ปัญหาแบบนี้เศรษฐีจะสามารถเลี่ยงภาษีได้ เมืองไทยเท่านั้นที่จะตายเมื่อต้องกลายเป็นรัฐล้มเหลว 

Tags : ความตาย ภาษี ไม่มีความเป็นสัจธรรม

view