สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร (11)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ขอนำประเด็นปุจฉา - วิสัชนา แนวคิดในเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้

ปุจฉา กรมสรรพากรมีเหตุผลอย่างไร ในการอนุโลมให้ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505 เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา

วิสัชนา การที่กรมสรรพากรอนุโลมให้ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505 เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรมาตั้งแต่ต้น อาจวิเคราะห์เหตุผลได้ว่า

1. การเก็บภาษีเงินได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ส่วนใหญ่จัดเก็บจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งต้องอาศัยการคำนวณตามหลักวิชาการบัญชีให้ได้กำไรสุทธิทางบัญชีก่อน แล้วจึงปรับปรุงด้วยเงื่อนไขตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนดเป็นกำไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีอากร การอนุโลมให้ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการบัญชีเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรจึงมีเหตุผลรองรับอยู่ในขณะนั้น

2. ในอดีตที่ผ่านมาแนวความคิดในการจัดทำบัญชีเพื่อแสดงผลการดำเนินงานหรือฐานะ การเงินของกิจการ กับแนวความคิดในการจัดทำบัญชีเพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินภาษีอากรและการจัด เก็บภาษีอากร สอดคล้องกันอย่างมาก แม้แต่คำปรารภในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ยังระบุไว้ว่า เหตุผลหนึ่งที่มีคำสั่งให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2482 กับ พระราชบัญญัติการบัญชี (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2496 ก็เพื่อให้สอดคล้องกับระบบการภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร แต่เนื่องจากแนวความคิดในการจัดทำบัญชีตามหลักวิชาการบัญชี ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของกลุ่มวิชาทางสังคมศาสตร์ ย่อมมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดในการจัดทำบัญชีไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนตามความเห็นส่วนใหญ่ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ดังเช่นในปัจจุบันที่แนวคิดในการวัดมูลค่า (Measurement) ของรายการต่างๆ ในงบการเงินนิยมวัดมูลค่าด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) มากกว่าวิธีราคาทุนเดิม (Historical Cost) ที่เป็นวิธีการที่ประมวลรัษฎากรเห็นว่าจะสามารถรักษาความเป็นธรรมในการจัด เก็บภาษีอากรได้มากกว่า ทำให้ในปัจจุบันข้อมูลทางการบัญชีแตกต่างจากหลักเกณฑ์ตามประมวลรัษฎากร มากกว่าในอดีต

ปุจฉา มีความคิดเห็นอย่างไร กับเหตุผลของกรมสรรพากรที่กำหนดให้ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505 เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ดังกล่าวข้างต้น

วิสัชนา จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดประเด็นที่ควรนำมาอภิปรายว่า แม้ว่าในอดีตการอนุโลมให้ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ.2505 เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดเก็บภาษีอากรตามประมวล รัษฎากรอย่างมีสาระสำคัญ แต่ในสภาพเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่การจัดทำบัญชี มีแนวโน้มเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจทางธุรกิจในอนาคต มากกว่าเป็นหลักฐานแสดงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต อันเป็นผลมาจากอิทธิพลความต้องการของนักลงทุน (Investor) ที่มีต่อการกำหนดแนวคิดในการจัดทำบัญชี ทำให้การกำหนดให้ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จะยังมีความเหมาะสมและชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ และหากยังเห็นว่าผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 ยังคงมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรด้วย ควรต้องมีการกำหนดหน้าที่ความรับชอบประการใดเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากพระราช บัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 หรือไม่ อย่างไร

ปุจฉา ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 บัญญัติว่า ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องได้รับใบอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีแล้ว หากใบอนุญาตนั้นมิได้ถูกพักใช้ หรือถูกเพิกถอนให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตได้รับยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตต่อ อธิบดีกรมสรรพากรในการตรวจสอบ และรับรองบัญชีตามประมวลรัษฎากร หมายความว่าอย่างไร

วิสัชนา กรณีดังกล่าวหมายความว่า ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 นั้นมีสิทธิเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรเพื่อทำการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตลอดไป ตราบเท่าที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตท่านนั้นยังไม่ถูกพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต เพราะเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

อย่างไรก็ตามตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามประมวลรัษฎากร ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Tags : การตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร

view