สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร (12)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ขอนำประเด็นปุจฉา - วิสัชนา แนวคิดในเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้ ปุจฉา ในอดีตการอนุโลมให้ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดเก็บภาษีอากรตามประมวล รัษฎากรอย่างมีสาระสำคัญ แต่ในสภาพเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่การจัดทำบัญชี มีแนวโน้มเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการตัดสินใจทางธุรกิจในอนาคต มากกว่าเป็นหลักฐานแสดงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต อันเป็นผลมาจากอิทธิพลความต้องการของนักลงทุน (Investor) ที่มีต่อการกำหนดแนวคิดในการจัดทำบัญชี ทำให้การกำหนดให้ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรเหมือนในอดีตที่ผ่านมา จะยังมีความเหมาะสมและชอบด้วยเหตุผลหรือไม่ และหากยังเห็นว่าผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ยังคงมีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรด้วย ควรต้องมีการกำหนดหน้าที่ความรับชอบประการใดเพิ่มเติมหรือแตกต่างจากพระราช บัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 หรือไม่ อย่างไร วิสัชนา แนวคิดเกี่ยวกับการจัดให้มีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร (CPTA) เริ่มต้นในสมัยท่านอธิบดีกรมสรรพากร นายศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ มีนโยบายที่จะนำ CPTA มาใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ตรวจรับรองความถูกต้องในการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร ในลักษณะของการตรวจสอบในชั้นต้นก่อนที่เจ้าหน้าที่สรรพากรจะได้ทำการตรวจสอบ ตามกฎหมายต่อไป โดยให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเน้นการตรวจสอบทางด้านภาษีอากร ในระยะแรกกรมสรรพากรได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของการนำ CPTA มาใช้บังคับในประเทศไทย โดยดำเนินการ ดังต่อไปนี้

1. ศึกษาโครงสร้าง CPTA ของประเทศญี่ปุ่น ด้วยการศึกษาจากกฎหมายในส่วนที่เป็นกระบวนการสรรหา CPTA จนถึงกระบวนการลงโทษเพิกถอนทะเบียน และเห็นว่าบุคคลที่จะทำหน้าที่ตรวจรับรองความถูกต้องในการเสียภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากร (CPTA) ควรเป็นบุคคลเดียวกับผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร

2. ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นเกี่ยวกับคุณสมบัติและหน้าที่ความรับผิดชอบ ของ CPTA พร้อมทั้งขออนุมัติดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเป็นผู้ตรวจและรับรองความถูกต้องในการเสียภาษีอากร แต่เนื่องจากรายละเอียดและขั้นตอนในการดำเนินการสรรหา CPTA มีกระบวนการมาก

อธิบดีศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ จึงเห็นชอบให้ดำเนินการในรูปแบบของโครงการอบรมและทดสอบเพื่อคัดเลือกผู้ตรวจ สอบและรับรองบัญชีที่ได้รับสิทธิประโยชน์ โดยในการอบรมตามโครงการนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเข้าร่วมด้วย ซึ่งได้ดำเนินการอบรมและทดสอบรุ่นแรก ระหว่างวันที่ 26 - 28 กรกฎาคม 2549 และได้ดำเนินการจัดอบรมและทดสอบในลักษณะเช่นนี้อีก 1 ครั้ง จึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการจัดอบรมและทดสอบตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท. 293/2550ฯ โดยจัดให้มีการอบรมครั้งแรก ระหว่างวันที่ 27 - 29 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) และผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA) ที่ผ่านการอบรมและทดสอบตามโครงการ ท. 293/2550 จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,233 ท่าน ได้มีการปฏิบัติงานจริงเพียง 942 ท่าน แต่มีกระแสเสียงในเชิงที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินการดังกล่าว ที่ไม่มีกฎหมายรองรับ และอาจพิจารณาได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ โครงการดังกล่าวจึงระงับไป

อย่างไรก็ตามในปี 2554 กระแสเรียกร้องให้มีการนำแนวคิดในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อประโยชน์ แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยมุ่งเน้นให้เกิด “ความถูกต้อง ครบถ้วน” ในจำนวนภาษีอากรที่ต้องชำระตั้งแต่ก่อนการยื่นแบบแสดงรายการ (Pre-filling) ที่จะช่วยระงับปัญหาการประเมินเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ที่ผู้ต้องเสียภาษีอากรต้องเสียเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเป็นจำนวนมากลงได้อย่างสิ้นเชิง อันเป็นการลดการทำงานของเจ้าพนักงานประเมิน ก่อให้เกิดความสบายใจแก่ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องหวาดระแวงต่อการเรียกตรวจสอบ ภาษีจากเจ้าพนักงานสรรพากรอีกแม้จะได้มีการวางแผนภาษีอากรไว้เป็นอย่างดี แล้วก็ตาม ซึ่งมีการดำเนินการในลักษณะนี้แล้วในประเทศพัฒนาทั้งหลาย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ใช้ได้ผลเป็นอย่างมาก ในปี 2555 กรมสรรพากรกำหนดแนวนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนการตรวจสอบและรับรองบัญชีเพื่อ ประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ให้เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว โดยให้มีการศึกษาแนวทางการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องตลอดจนระเบียบตามบทบัญญัติ ของกฎหมาย ขนานไปกับการปรับเปลี่ยนการบริหารงานในกรมสรรพากร “ขนานใหญ่” ซึ่งเรียกกันจนติดปากว่า “Big Changes” ทั้งในส่วนของกฎหมาย ระเบียบ ไอที (IT) การบริหารทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร ความคืบหน้าเป็นประการใดจักได้นำเรียนท่านผู้อ่านที่เคารพต่อไป แล้วพบกันใหม่สัปดาห์ครับ

Tags : การตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร

view