สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การบัญชีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (1)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ในการประกอบธุรกิจต่างๆ นั้น โดยทั่วไปผู้ประกอบธุรกิจมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี
หรือ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 เป็นปกติอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรของกรมสรรพากร โดยเฉพาะตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร และผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย บางกรณีต้องจัดทำบัญชีพิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจากบัญชีที่ต้องจัดทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี จึงขอนำมาเป็นประเด็น ปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้

ปุจฉา การบัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร หรือเรียกย่อๆ ว่า “การบัญชีภาษีอากร” หมายความว่าอย่างไร

วิสัชนา “การบัญชีภาษีอากร” หมายความว่า การจัดทำบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ซึ่งอาจจำแนกรายละเอียด “การบัญชีภาษีอากร” ได้ดังนี้

 1. บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน
 2. บัญชีรายรับรายจ่าย
 3. บัญชีรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ
 4. รายงานเงินสดรับ - จ่าย 
 5. เอกสารหลักฐานและรายงานในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
 6. รายงานภาษีธุรกิจเฉพาะ
 7. บัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่ายและการนำส่ง
 8. บัญชีพิเศษสำหรับผู้ผลิตหรือผู้รับจ้างผลิตซีดี
 9. บัญชีพิเศษสำหรับกิจการโรงสีขนาดเล็ก
 10. บัญชีพิเศษสำหรับกิจการสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน
 11. บัญชีพิเศษสำหรับกิจการค้าของเก่าประเภทรถยนต์
 12. ใบรับ ใบส่งของ
 13. การแสดงรายการหรือแจ้งข้อความใดๆ ตามประมวลรัษฎากร
 14. การคำนวณและการยื่นรายการเพื่อชำระหรือนำส่งภาษีอากร
 15. การปิดแสตมป์บริบูรณ์
 16. การขอคืนภาษีอากร
 17. การปฏิบัติหน้าที่อื่นตามประมวลรัษฎากร อาทิ การขอมีและใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร การจดทะเบียน การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ปุจฉา บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน มีวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ในการจัดทำอย่างไร
วิสัชนา บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน มีวัตถุประสงค์ในการจัดทำดังนี้ 

     1. เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ ต้องทำการปรับปรุงกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางบัญชีหรือทางการเงิน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางภาษีอากร ตามมาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 65 จัตวา มาตรา 70 ตรี และมาตรา 74 โดยทำการปรับปรุงจากจำนวนกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิทางการเงิน


     2. เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล โดยเจ้าพนักงานประเมิน  ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิจัดทำบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังต่อไปนี้


    1. รูปแบบของบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน สอดคล้องกับการจัดทำบัญชีดังกล่าวตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี 

     2. บัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุนต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ตรวจสอบและรับรอง (มาตรา 68 ทวิ)

     3. พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องแนบบัญชีงบดุล บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน ที่มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรอง ด้วย (มาตรา 69)


พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Tags : การบัญชีภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

view