สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เกมแก้หนี้นอกระบบโกยเสียง 6 ล้านคน

จาก โพสต์ทูเดย์

รัฐบาล “ปักธง” นโยบายแก้หนี้นอกระบบซื้อใจรากหญ้าอีกระลอก  

โดย...ทีมข่าวการเงิน

รัฐบาล “ปักธง” นโยบายแก้หนี้นอกระบบซื้อใจรากหญ้าอีกระลอก

เที่ยวนี้ชูเป้าหมายดึงให้รากหญ้าที่อยู่ในระบบและนอกระบบกว่า 6 ล้านราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้ภายในปี 2554

พร้อมทั้งปักหมุดว่าให้คนไทยทุกคนเข้าถึงระบบสวัสดิการสังคม ประกันรายได้ และระบบการออม สร้างภูมิคุ้มกันจากหนี้นอกระบบภายในปี 2555

สุดท้ายต้องครอบคลุมรากหญ้าทั้งหมดได้ภายในปี 2558

นั่นหมายความว่า เกมนี้รัฐบาลวางเป้าหมายจะได้ครองใจรากหญ้าอีกไม่ต่ำกว่า 6 ล้านคน

รัฐบาลเดินหน้าเต็มสูบที่จะเอาจริงเอาจัง กะให้เป็นผลงานชิ้นโบแดงก่อนการเลือกตั้งใหม่กลางปีนี้

ถือเป็นการปลดบ่วงโซ่ตรวนการจ่ายดอกเบี้ยมหาโหดเดือนละ 5–20% ให้เหลือเพียง 1% ต่อเดือน

ดูเหมือนว่าจะเป็นนโยบายที่โดนใจรากหญ้าทั้งในคนเมืองกรุงและต่างจังหวัด

หมากต่อไปที่รัฐบาลเดินต่อการผลักดันการขึ้นทะเบียนลูกหนี้นอกระบบรอบสอง... และประกาศที่จะสะสางหนี้นอกระบบให้สิ้นซาก

ล่าสุด ได้มีการตั้งสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน (สพช.) เพื่อทำหน้าที่ดูแลข้อมูลหนี้นอกระบบคนรากหญ้า

สนับสนุนการสร้างเครือข่ายการจัดสวัสดิการชุมชน และนำภาคเอกชน ภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการชุมชน

เรียกว่าการจัดการหนี้นอกระบบแบบครบวงจร ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีฐานบัญชีข้อมูลลูกหนี้นอกระบบและรากหญ้าอยู่ในกำมือ

ส่วนการลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบรอบ 2 จะมีการเปลี่ยนให้ผู้เป็นหนี้ไปลงทะเบียนรับเงินกู้กับ “สถาบันการเงินชุมชน” ได้โดยตรง

หมากตัวต่อไป รัฐบาลได้อัพเกรดกองทุนหมู่บ้านขึ้นเป็นธนาคารชุมชน อัดฉีดธนาคารรัฐให้ปล่อยกู้ 8 หมื่นล้านบาท

โดย นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ได้สั่งการให้ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยกฐานะกองทุนหมู่บ้านให้เป็นสถาบันการเงินชุมชนครอบคลุมทุกหมู่บ้าน รวมประมาณ 8 หมื่นแห่ง เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนปล่อยกู้ให้กับประชาชนในหมู่บ้านได้มีเงินทุนประกอบ อาชีพหารายได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันธนาคารออมสินดูแลกองทุนหมู่บ้าน 6 หมื่นแห่ง และ ธ.ก.ส. ดูแล 2 หมื่นแห่ง โดยมีเป้าหมายจะยกระดับกองทุนหมู่บ้านเป็นสถาบันการเงินชุมชนให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2554

โดยกองทุนหรือสถาบันการเงินชุมชนจะได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารของรัฐเพิ่มอีก 1 ล้านบาท

ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 6% ต่อปี คิดเป็นวงเงินรวม 8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับคนในหมู่บ้านที่ต้องการเงินทุนได้ไม่เกิน 12% ต่อปี เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารปล่อยกู้แก้หนี้นอกระบบ

สำหรับหลักการเบื้องต้น กองทุนหมู่บ้านที่ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นสถาบันการเงินชุมชนแล้ว ต่อไปจะเป็นหน่วยงานที่พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับสมาชิกในหมู่บ้านกันเอง ซึ่งสมาชิกในหมู่บ้านจะต้องมีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือน

ที่สำคัญจะต้องเข้าโครงการ “หมอหนี้” ก่อน ซึ่งบัญชีที่แจ้งอาจจะมีรายจ่ายมากกว่ารายรับก็ได้ แต่ต้องเป็นรายจ่ายที่มาจากการทำอาชีพ ไม่ใช่รายจ่ายฟุ่มเฟือย การพนัน ซึ่งสถาบันการเงินชุมชนจะต้องไปพิจารณาสมาชิกในหมู่บ้าน ตรวจสอบกันเอง

โดยขณะนี้ ธ.ก.ส.และธนาคารออมสินกำลังเดินโครงการ “อบรมหมอหนี้” ด้วยการสร้างตัวแทนชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่เชื่อถือของคนใน ชุมชนมาทำการฝึกอบรมให้ความรู้ในการทำบัญชีครัวเรือน ใช้เป็นหลักฐานในการดูแลการควบคุมค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และรับรู้สถานภาพทางการเงินของแต่ละครัวเรือน

เพื่อให้สามารถประเมินการปล่อยสินเชื่อให้สมาชิก และเพื่อให้แนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบรอบสองมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

เป็นการปรับแผนให้ชาวบ้านดูแลกันเอง จะรู้ปัญหาดีกว่าที่จะมาลงทะเบียนโดยตรงกับภาครัฐในรอบแรก ซึ่งจะเป็นการเริ่มที่จะผลักภาระการปล่อยกู้ พิจารณาความเสี่ยงไปให้สถาบันการเงินชุมชนรับผิดชอบแทนธนาคารของรัฐ

ทั้งนี้ รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบได้อย่างยั่งยืน ต่างจากโครงการกองทุนหมู่บ้านในอดีต

หากย้อนกลับไปดูผลงานการแก้ไขหนี้นอกระบบของรัฐบาลรอบแรก มีลูกหนี้มาลงทะเบียนกับธนาคารของรัฐ 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) รวมจำนวน 1,181,133 คน คิดเป็นมูลหนี้ 122,406 ล้านบาท

แยกเป็นลูกหนี้ที่มีมูลหนี้น้อยกว่า 5 หมื่นบาท จำนวน 383,493 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 12,820.6 ล้านบาท และลูกหนี้ที่มียอดหนี้เกิน 5 หมื่นบาท มีจำนวน 797,640 ราย คิดยอดหนี้รวม 109,585.58 ล้านบาท

ผลการอนุมัติสินเชื่อลูกหนี้นอกระบบ ณ วันที่ 9 ธ.ค. 2553 มีลูกหนี้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ 448,449 ราย รวมเงินให้กู้ 42,549.40 ล้านบาท ซึ่งได้เพียง 1 ใน 3 ของจำนวนลูกหนี้ที่มีการขึ้นทะเบียน

ดังนั้น การไล่ต้อนลูกหนี้นอกระบบให้สู่อ้อมอกธนาคารรัฐให้ถึงเป้าหมาย 6 ล้านคน ภายในปี 2554 ผนวกกับนโยบายสินเชื่อประชาวิวัฒน์ให้วินมอเตอร์ไซค์ รถแท็กซี่ หาบเร่แผงลอย เข้าถึงสินเชื่ออีก 5,000 ล้านบาท จะเป็นฐานเสียงให้รัฐบาลได้เป็นกอบเป็นกำมากขึ้น โดยที่รัฐไม่ต้องควักตังค์จ่ายสักบาท แต่ก็ได้เสียงอื้อ

บทบาทหน้าที่รัฐใช่เพียงที่จะดึงลูกหนี้นอกระบบให้อยู่ในระบบเท่านั้น ยังต้องหากลวิธีที่จะดึงเจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตาม กฎหมาย

โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลก็คือ อย่าให้กลายเป็นหนี้เน่าบานปลาย เพราะอาจจะต้องเปิดโครงการแก้หนี้เน่าในธนาคารรัฐเป็นโครงการต่อไปก็ได้!!!

Tags : เกม แก้หนี้นอกระบบ

view