สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร (10)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ขอนำประเด็นปุจฉา - วิสัชนา แนวคิดในเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร
ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ต่อจากสัปดาห์ก่อนดังนี้


ปุจฉา บัญชีเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร กับ บัญชีที่ต้องจัดทำตามประมวลรัษฎากร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

วิสัชนา การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี (The accounts examination and certification) ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ว่าหมายถึงการปฏิบัติเช่นไร โดยบุคคลใด จำเป็นต้องเข้าใจถึงเจตนารมณ์ในการตราบทบัญญัตินี้เสียก่อน โดยพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร กับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547 อาจกล่าวได้ว่า การตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากการสอบบัญชี (Auditing) งบการเงินโดยทั่วไปดังนี้

แม้จะมีกฎหมายอย่างน้อยถึง 3 ฉบับข้างต้นที่กำหนดให้ต้องมีบุคคลที่สาม (Third Party) ปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ “บัญชี” ของกิจการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม แต่กลับไม่มีการกำหนดคุณสมบัติ การปฏิบัติงาน และจรรยาบรรณ (มรรยาท) ของบุคคลผู้นี้ไว้เป็นการเฉพาะ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2505 จึงมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 คุณสมบัติการปฏิบัติงาน และจรรยาบรรณ (มรรยาท) ของผู้สอบบัญชีจึงได้ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้และกฎหมายลูก

มีข้อสังเกตว่า การตราพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 นั้น มุ่งหมายถึงการสอบบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เท่านั้น เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยการบัญชีในสมัยนั้น คือ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2482 และพระราชบัญญัติการบัญชี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2496 ยังมิได้บังคับให้กิจการต้องจัดให้มีการตรวจสอบบัญชี มีเพียงกิจการในลักษณะบริษัทเท่านั้นที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนด ให้ต้องมีการสอบบัญชี ที่จนเมื่อมีการบังคับใช้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 285 ในปี พ.ศ. 2515 จึงได้มีการบังคับให้กิจการทั้งห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและบริษัทจำกัดต้องจัด ให้มีการตรวจสอบบัญชี ดังบันทึกหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 ที่บันทึกไว้ว่า

“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การสอบบัญชีเป็นวิชาชีพอิสระแขนงหนึ่ง อันมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งแก่การพัฒนาเศรษฐกิจ ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมการสอบบัญชี ประกอบกับขณะนี้ได้มีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการบัญชีจากมหาวิทยาลัยและสำนัก ศึกษาต่างๆ มากขึ้น จึงสมควรจะได้ตรากฎหมายกำหนดคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้สอบบัญชีให้อยู่ ในมาตรฐาน ให้มีคณะกรรมการควบคุมให้เป็นไปตามความมุ่งหมายดังกล่าว”

ส่วนการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยเฉพาะเจาะจงเพื่อประโยชน์แห่งการจัดเก็บภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากรนั้น แม้จะมีการบัญญัติให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 แล้วก็ตาม แต่อธิบดีกรมสรรพากรก็ยังไม่เคยประกาศคุณสมบัติและกำหนดระเบียบสำหรับการ ปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีเลย จนกระทั่งมีการประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี เรื่อง กำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2523 โดยในทางปฏิบัติถือว่า ผู้สอบบัญชีตามพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 เป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี ตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากรไปด้วย ทั้งๆ ที่วัตถุประสงค์ในการตรวจแตกต่างกัน ดังที่อธิบายไว้ข้างต้น

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Tags : การตรวจสอบและรับรองบัญชีภาษีอากร

view