สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีอากรกับความไม่เห็นแก่ตัว

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

คอลัมน์ มุมภาษี
อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


ต่อไปนี้เป็นความคิดอ่านของนิสิตคณะศิลปศาสตร์และวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ชั้นปีที่ 2 ซึ่งศึกษากระบวนวิชา ระบบภาษีอากรธุรกิจ เกี่ยวกับประเด็น “ภาษีอากรกับความไม่เห็นแก่ตัว”
   
นิสิตท่านแรก นางสาวสุกานดา สุวรรณ ให้ความเห็นว่า “คำว่า “ไม่เห็นแก่ตัว” ในเชิงภาษีอากร คือ การที่ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ไม่เห็นประโยชน์ของตน มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม จนไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นเช่นไร ไม่ใช่จะเอาอยู่ฝ่ายเดียว ควรเป็นฝ่ายให้บ้าง เพราะภาษีเป็นสิ่งที่คนเราทุกคนเกิดมาแล้วไม่สามารถหลีกเลี่ยงกับคำคำนี้ได้ และทุกคนก็ไม่สามารถปฏิเสธ ได้ว่า จะไม่เสียภาษีให้กับรัฐบาล เพราะภาษีอากรถือเป็นรายได้หลักของรัฐบาล ถ้าคนเราเห็นแก่ตัวไม่ยอมเสียภาษีให้รัฐบาล แล้วรัฐบาลจะมีรายได้จากที่ไหนมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของเราทุกคน เพราะมีคนเห็นแก่ตัวอยู่ในประเทศของเรามาก ประเทศของเราเลยไม่เจริญเหมือนประเทศอื่นสักที ถ้าคนเราไม่เห็นแก่ตัว จ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลตลอด ประเทศชาติคงเจริญมากกว่านี้ การ  ที่เราเสียภาษีอากรเหมือนกับว่าเราได้ทำความดี เป็นคนดีของสังคม เพราะว่าภาษีอากรช่วยกระจายรายได้ให้คนที่มีรายได้น้อยให้เขามีความเป็นอยู่ ที่ดีขึ้น และยังได้ช่วยชาติในการช่วยใช้หนี้เงินกู้ยืมจากต่างประเทศ”
   
นิสิตท่านต่อมา นางสาวสุรัสวดี ต้นสวรรค์ เห็นว่า “ถ้าคนเราไม่เห็นแก่ตัว เสียภาษีอากรให้รัฐบาลตามหน้าที่ ประเทศชาติก็จะเจริญก้าวหน้า ไม่ต้องประสบปัญหาอย่างทุกวันนี้ เพราะคำว่า “เห็นแก่ตัว” เพียงคำเดียว ถึงทำให้ชาติวุ่นวายไม่หยุดสักที”
   
นิสิตอีกท่านหนึ่ง นางสาวพนิดา รัตนโสภา เห็นว่า “ภาษีอากรนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้มีรายได้ เนื่องจากบุคคลที่มีรายได้จะต้องทำการเสียภาษี ให้แก่ภาครัฐ เพื่อทางภาครัฐนั้นจะได้นำเงิน นั้นไปพัฒนาประเทศต่อไป แต่ก็มีบุคคลบางกลุ่มที่มีรายได้แต่ไม่ยอมไปเสียภาษี และพยายามหลีกเลี่ยงการไปเสียภาษี เพราะเห็นว่าตนไม่ได้รับประโยชน์ และอีกประการคือ ผู้ที่มีรายได้มาก ก็ต้องเสียภาษีมากเช่นกันจึงพยายามไม่ไปเสียภาษี ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ “เห็นแก่ตัวอย่างยิ่ง” เพราะคิดว่าตนไม่ได้รับประโยชน์ มีแต่เสียกับเสีย” แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ทุกคนได้ใช้ทรัพยากรของประเทศชาติในรูปแบบต่าง ๆ กันไป จึงต้องตอบแทนรัฐอย่างไม่เห็นแก่ตัว       
   
และ นางสาวกัญญาณัฐ พันผูก มีความเห็นว่า การเสียภาษีเป็นหน้าที่ของบุคคลที่มีรายได้ จึงจำเป็นจะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ เพื่อรัฐจะได้นำเงินภาษีไปพัฒนาประเทศ แต่ก็มีบางกลุ่มที่คิดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ เพราะคิดว่ามันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตน และพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีนั้น ๆ คนกลุ่มนี้เรียกว่า “คนเห็นแก่ตัว”
   
นับเป็นความคิดอ่านในทางที่ดีของนิสิตนักศึกษาในวัยนี้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้าต่อไปครับ.

Tags : ภาษีอากร ความไม่เห็นแก่ตัว

view