สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชำแหละเหรียญสองด้านร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย.......ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ได้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเป็นจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้าน เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คงไม่ต้องบอกว่าการชุมนุมแต่ละครั้งของกลุ่มการเมืองสองสีได้สร้างอนุสรณ์ อะไรไว้กับประเทศไทยบ้างตั้งแต่การยึดสนามบิน ทำเนียบรัฐบาล ปิดถนน บุกโรงพยาบาล และอื่นๆอีกสารพัด

ข้ออ้างของกลุ่มผู้ชุมนุมใหญ่ในการหาความชอบธรรมและเงื่อนไขที่นำไปสู่การก่อการชุมนุม คือ มาตรา63 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุว่า “บุคคลบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ” ปรากฎว่าในทางปฎิบัติกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มักจะดำเนินการใช้เสรีภาพที่ได้ รับรองกันจนเกินขอบเขตและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าไป ใช้พื้นที่สาธารณะนั้นได้ ด้วยเหตุผลนี้จึงได้เกิดกระแสเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลและรัฐสภาตรากฎหมาย เกี่ยวกับการชุมนุมโดยใช้ช่องทางตามมาตรา 63 วรรคสองของรัฐธรรมนูญดังกล่าวซึ่งเปิดทางให้สามารถดำเนินการได้

“การกำจัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะและเพื่อคุ้มครองความ สะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ...”

 

ภาพประกอบข่าว

จากปัญหาทั้งหมดจึงได้นำมาสู่การเสนอร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเตรียมการพิจารณาไว้ในวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการในวันที่ 9มี.ค.ท่ามกลางการจับตาของหลายฝ่ายว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่านการพิจารณาของทั้ง สภาฯและวุฒิสภาได้หรือไม่
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งหมด 39 มาตรา มีหลักการและเหตุผลคือ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะในการชุมนุม มีสาระสำคัญคือ การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ ได้แก่ สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาท รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีขนส่งสาธารณะ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนสถานสถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ

สำหรับในกรณีที่จะต้องการจัดการชุมนุมต้องแจ้งต่อหัวหน้าสถานทีตำรวจใน ท้องที่ที่จะจัดชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงก่อนเริ่มชุมนุมโดยผู้ขอให้มีการชุมนุมต้องอยู่ร่วมการชุมนุมตลอด เวลา ต้องดูแลให้เกิดความเรียบร้อย ปราศจากอาวุธ และต้องยกเลิกการชุมนุมตามที่ได้แจ้งเอาไว้
หากผู้รับแจ้งเห็นว่า การชุมนุมนั้นขัดต่อกฎหมายสามารถยื่นคำขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งห้ามการชุมนุม โดยให้ศาลพิจารณาคำขอนั้นเร่งด่วนและหากศาลมีคำสั่งห้ามชุมนุม ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เจ้าพนักงานที่ควบคุมการชุมนุม ต้องผ่านการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุม และอาจใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนได้ตามที่รัฐมนตีรประกาศกำหนด กรณีผู้ชุมนุม ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและไม่เลิกชุมนุมตามคำสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นทีควบคุมและประกาศใหผู้ชุมนุม ออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็วและรายงานให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบทราบ

เมื่อพ้นระยะเวลาตามที่กำหนดให้ออกจากพื้นที่แต่ยังไม่มีการปฎิบัติตามคำ สั่งศาลให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และให้ผู้ควบคุมสถานการณ์ดำเนินการให้มีการเลิกชุมนุมโดยสามารถ ค้น จับผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้

ขณะที่ ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้มีการบทกำหนดโทษเอาไว้ในหลายกรณี เช่น การชุมนุมที่กระทบความสะดวกขอประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะโดยไม่ได้แจ้งการ ชุมนุม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท ผู้ใดเชิญชวนให้ผู้อื่นมาชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยบทลงโทษที่กำหนดไว้หนักที่สุด คือ กรณีพกอาวุธโดยไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากพบว่าอาวุธดังกล่าวเป็น ปืน ระเบิก ต้องระวางโทษจำคกไม่เกิน 5ปี และปรับไม่เกิน1แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับนี้จะไม่มีผลย้อนหลังกับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้

ภาพรวมของร่างพ.ร.บ.ดูเผินๆแล้วประหนึ่งว่าเป็นเหรียญสองด้าน โดยด้านหนึ่งเป็นการการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไป ส่วนอีกด้านหนึ่งเพื่อเป็นเครื่องมือป้องปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธิของตัว เองจนเกินขอบเขต และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทั้งหมดสุดแล้วแต่ใครจะมองเหรียญด้านไหน

สาระสำคัญ 6 ประการของร่างพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

1.การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่
2.ต้องแจ้งตำรวจในท้องที่ที่จะจัดชุมนุมไม่น้อยกว่า 72 ชั่วโมงก่อนเริ่มชุมนุม
3.ผู้จัดชุมนุมต้องอยู่ร่วมชุมนุมตลอดเวลาและต้องเลิกตามเวลาที่ได้แจ้งเอาไว้
4.เจ้าพนักงานฟ้องศาลให้สั่งห้ามการชุมนุมได้หากขัดกับกฎหมาย
5.จัดชุมนุมกระทบความสะดวกของ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท
6.ผู้ใดเชิญชวนมาชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

Tags : ชำแหละ เหรียญสองด้าน ร่างพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

view