สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ตื่นตาไปกับสมบัติชาติที่ พิพิธภัณฑ์ฯเจ้าสามพระยา

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

 โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา
       ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมืองเก่าของเราแต่ก่อน นั้น มากมายไปด้วยโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ ที่เป็นร่องรอยอารยธรรมที่เคยเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ใครที่มาเยือนยังอยุธยาก็จะต้องมาชมซากโบราณต่างๆที่ยังคงเก็บรักษาไว้เป็น อย่างดี
       
       หนึ่งในสถานที่ที่จัดเป็นหนึ่งในวัดที่ใหญ่และมีความเก่าแก่มากที่สุดในพระนครศรีอยุธยาก็คือที่ “วัดราชบูรณะ” ตำบลท่าวาสุกรี จ.พระนครศรีอยุธยา

พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี
       วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือเจ้าสามพระยา ในปี พ.ศ. 1967 ในบริเวณพื้นที่และตำแหน่งเดิมที่พระองค์ได้ทรงถวายพระเพลิงศพให้กับเจ้า อ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยา พระเชษฐาทั้งสองพระองค์ที่สิ้นพระชมน์ภายในหลังจากการกระทำยุทธหัตถี เพื่อแย่งชิงราชสมบัติของสมเด็จพระนครอินทราธิราชพระราชบิดาที่เสด็จสวรรคต ลง

เครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบ
       ภายในพระปรางค์วัดราชบูรณะมีกรุใหญ่และลึก กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะมีทั้งหมด 4 ห้องใหญ่ๆ เรียงกันลงไปแนวดิ่ง โดยชั้นล่างสุดอยู่ในแนวระดับพื้นดิน แต่เมื่อปี พ.ศ. 2499 ถูกกลุ่มคนร้ายจำนวนหนึ่งลักลอบขุดกรุภายในพระปรางค์ประธาน พบเครื่องทองและอัญมณีจำนวนมหาศาล แต่ทว่าฝนตกหนักและรับเร่ง กลุ่มขโมยจึงขนของไปไม่หมด เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เวลาไม่กี่วันก็จับและยึดของกลางได้บางส่วน
       
       หลังจากนั้น ในปีพ.ศ.2500 กรมศิลปากรได้เข้าทำการบูรณะขุดแต่งต่อภายหลัง พบทรัพย์สมบัติที่หลงเหลือและเครื่องทองจำนวนมากมาย ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์ วัดราชบูรณะ

โบราณวัตถุต่างๆภายในพิพิธภัณฑ์
       ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปรารภว่า “โบราณ วัตถุ และศิลปวัตถุที่พบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะนี้ สมควรจะได้มีพิพิธภัณฑสถานเก็บรักษา และตั้งแสดงให้ประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานี้ หาควรนำไปเก็บรักษา และตั้งแสดง ณ ที่อื่นไม่”
       
       กรมศิลปากรจึงได้สร้าง “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ” ขึ้น เพื่อเก็บรักษาจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ และโบราณวัตถุพบในจังหวัดนี้ โดยใช้เงินเงินบริจาคจากประชาชน และผู้บริจาคได้รับพระพิมพ์ที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นการสมนาคุณ

เครื่องถ้วยชามโบราณ
       และในการนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระนามสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ผู้ทรงสร้างพระปรางค์วัดราชบูรณะเป็นนามพิพิธภัณฑ์ว่า “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา” และทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2504

บรรยากาศภายในอาคารแสดง
       ภายในพิพิธภัณฑ์ฯเจ้าสามพระยานี้ จัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่พบในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจากการขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน โดยจัดแสดงเป็น 3 อาคาร “อาคารจัดแสดง 1” แบ่งเป็น 2 ชั้น ในชั้นแรก จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่พบจากที่พบจากการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานใน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ.2499-2500 ได้แก่ เศียรพระพุทธรูป พระพุทธรูปสมัยทวารวดี สุโขทัย อยุธยา อู่ทอง ที่สำคัญมีคุณค่าทางศิลปะที่มีความงดงาม เครื่องไม้จำหลักฝีมือช่างสมัยอยุธยา และเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วย

ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
       ชั้นบนจัดแสดงเป็นห้องวัดมหาธาตุเป็นห้องประดิษฐานพระบรมสาริกธาตุ ซึ่งขุดพบในพระปรางค์วัดมหาธาตุ ห้องวัดราชบูรณะ จัดแสดงเครื่องทองซึ่งค้นพบในกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ ห้องโถงกลาง จัดแสดงพระพิมพ์สมัยลพบุรี สุโขทัย อยุธยาที่พบจากกรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ เครื่องแก้วผลึก เครื่องถ้วยเล็กๆ ได้จากวัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ ภาพพระบฏสมัยรัตนโกสินทร์ ทวยเทพพากันมาบูชาพระธาตุจุฬามณี ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

พระพุทธรูปโบราณ
       ส่วน “อาคารจัดแสดง 2” จัดแสดงศิลปะโบราณวัตถุที่ พบในประเทศไทยตั้งแต่สมัยทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา รัตนโกสินทร์ เพื่อใช้ในการศึกษาเปรียบเทียบ และ “อาคารจัดแสดง 3” เป็นอาคารเรือนไทยที่ปรับปรุงใหม่เพื่อใช้เป็น “เรือนที่ระลึกพระยาโบราณราชธานินทร์”

เรือนไทยที่ระลึกพระยาโบราณราชธานินทร์
       ภายในอาคารเรือนไทยแบ่งเป็น 2 หลัง ได้แก่ “ห้องเจ้าคุณโบราณ” จัด แสดงประวัติชีวิตส่วนตัวของพระยาโบราณราชธานินทร์ผ่านของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ หรือพร เดชะคุปต์ เป็นผู้บุกเบิกองค์ความรู้ในเรื่องอยุธยาศึกษา เนื่องจากท่านได้รับราชการเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี
       
       และได้ตั้งใจสืบสวนข้อมูลเกี่ยวกับพระราชวังและวัดโบราณในพระนครศรี อยุธยาไว้มาก รวมทั้งได้เดินทางตรวจราชการในบริเวณต่างๆ จึงทำให้มีความรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องที่ตั้ง ลำน้ำ ชุมชน การประกอบอาชีพของคนไทยในสมัยก่อนด้วย

ห้องนอนพระยาโบราณฯ
       โดยโบราณวัตถุที่จัดแสดงในห้องนี้ได้รับบริจาคจากบุตรหลานของพระยา โบราณราชธานินทร์ สิ่งของที่จัดแสดงประกอบด้วย โต๊ะทำงาน เตียง อุปกรณ์ในการอาบน้ำ หีบเสื้อผ้า ตู้หนังสือ อุปกรณ์ในการรับประทานอาหารและปิ่นโตที่ใช้ในการตามเสด็จ ร.5 ในการเสด็จประพาสตามสถานที่ต่างๆ และแผนที่อยุธยาที่ท่านเจ้าคุณฯได้ตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งวัด เครื่องเล่นแผ่นเสียง หีบใส่เอกสาร อุปกรณ์เครื่องเขียนต่างๆ เก้าอี้บุนวม ภาพถ่ายสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระฉายาสาทิสลักษณ์ในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ที่มีลายพระราชหัตถ์

เก้าอี้บุนวม
       อีกหนึ่งเรือนคือ “เรือนเจ้าคุณเทศาฯ” เป็นอาคารเรือนไทยที่จัดแสดงประวัติการปกครองแบบเทศาภิบาล และประวัติการเทศาภิบาลในมณฑลอยุธยา มีโต๊ะทำงาน ชั้นหนังสือส่วนตัวพระยาโบราณราชธานินทร์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์สากล
       
       ใครที่ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยือนยังจังหวัดกรุงเก่าล่ะก็ สามารถไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์ครั้งกรุงศรีอยุธยา รวมถึงโบราณวัตถุและบุคคลที่สำคัญๆกันได้ แล้วเราจะรู้จักและรักประเทศไทยมากขึ้น

ห้องทำงานพระยาโบราณฯ
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

       “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา” ตั้ง อยู่ที่ ถ.ปรีดีพนมยงค์ ต.ประตูชัย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดทุกวันพุธ - วันอาทิตย์ เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9.00 - 16.00 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 0-3524-1587


Tags : ตื่นตา สมบัติชาติ พิพิธภัณฑ์ฯเจ้าสามพระยา

view