สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่5กษัตริย์นักธุรกิจ(ตอนที่1)

จาก โพสต์ทูเดย์

จุดเปลี่ยนสยาม หรือประเทศไทย ที่กลายเป็นประเทศพัฒนา และยั่งยืนตราบเท่าปัจจุบัน ไม่มีใครปฏิเสธว่าเริ่มจากวิสัยทัศน์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว....

โดย...สมาน สุดโต

จุดเปลี่ยนสยาม หรือประเทศไทย ที่กลายเป็นประเทศพัฒนา และยั่งยืนตราบเท่าปัจจุบัน ไม่มีใครปฏิเสธว่าเริ่มจากวิสัยทัศน์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทอดพระเนตรเห็นการณ์ไกล ทรงวางรากฐานการศึกษา ปูทางด้านเศรษฐกิจ ปฏิรูประบบราชการ และทรงลงทุนธุรกิจพื้นฐานให้กับประเทศชาติ ทั้งนี้เพราะทรงเป็นกษัตริย์นักธุรกิจ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ พ.ศ. 2411-2453

จดหมายเหตุในหนังสือพิมพ์สยามสไมย หนังสือพิมพ์ที่ศาสนาจารย์ ซามูเอล สมิธ (อเมริกัน แบบติสต์) เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ กล่าวถึงสภาพบ้านเมือง พ.ศ. 2429 สมัยรัชกาลที่ 5 ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบารมีประเสริฐน่าอัศจรรย์ ควรชาวเราต้องชมสรรเสริญพระบารมี ตั้งแต่เสวยราชสมบัติ อาณาประชาราษฎร์มั่งมีศรีสุข เจริญไปด้วยทรัพย์สมบัติ ทวยราษฎร์ทุกวันนี้ที่นุ่งห่มแต่งตัวก็ดูหมดจด งดงามผิดกว่าแต่ก่อน

ในถนนหลวง รถม้าออกดาดดื่นไปทุกถนน ท้องน้ำก็เรือกลไฟแล่นขึ้นล่อง ออกพล่านไป

บ้านเรือนก็ล้วนแล้วไปด้วยตึก มั่งคั่งเป็นที่ศรีสง่าแก่พระนคร

เมื่อแต่ก่อนตั้งแต่วัดทองธรรมชาติลงไป ทั้งสองฟากแม่น้ำดูเป็นบ้านสวน เรือน(มุง)จากห่างๆ กัน เดี๋ยวนี้ล้วนเป็นตึก และเรือนฝากระดานคับคั่งถึง|บางน้ำชน ถึงบางคอแหลม

ทางถนนบำรุงเมือง แต่ก่อนเป็นป่ารก เรือกสวน เดี๋ยวนี้เป็นตึก เป็นโรงมากแล้ว เกือบจะไม่มีที่ว่าง

บ้านเรือนในกรุงเทพทุกวันนี้ คนประกอบด้วยความมั่งมี แต่ก่อนฤาดูหนาวคราวหนึ่ง เกิดเพลิงไหม้หลายสิบตำบล เดี๋ยวนี้ไม่ใคร่มี เพราะบ้านเรือนเป็นตึกไปมาก

ผมนำจดหมายเหตุสยามสไมย เมื่อ พ.ศ. 2429 มาลงไว้เพื่อให้เห็นภาพที่ ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ รศ.ดร.กุลดา เกษบุญชู-มี้ด ได้พูดถึงพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระกรุณาต่อพสกนิกรชาวไทยและประเทศไทย ในการบรรยายชุดหนึ่งศตวรรษสองศึกษิตมหาราชผู้ยิ่งยง เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2554 ณ อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จัดโดยหอประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร.5 ทรงเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ

ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจเกิดขึ้นแบบถอดรูป มีข้าวเป็นรากฐานที่สำคัญ โภคทรัพย์ของประเทศเพิ่มพูนอย่างมหาศาล

ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ ไทยยังเป็นประเทศส่งออกสินค้าไม้ แร่ธาตุ เครื่องเทศ และสมุนไพร ปลายรัชสมัยของพระองค์ ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจแห่งเกษตรกรรม ผลิตสินค้าเกษตรกรรม ส่งออกข้าวเป็นรายใหญ่รายหนึ่งของโลกในทันที

การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่ง คือ ที่เคยทำการค้ากับประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้าน ถึงปลายรัชสมัยการค้ากับจีนได้หดหายไป เพราะการเปลี่ยนแปลงภายในของจีน การค้ากับยุโรปและประเทศใกล้เคียงอื่นๆ เข้ามาทดแทน จะเห็นโกดังของบริษัทฝรั่งเต็มสองฝั่งเจ้าพระยา โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้ท่าเรือ

กรุงเทพฯ สมัยต้นรัชกาลที่ 5 เป็นเพียงเมืองท่าเล็กๆ แทบจะไม่มีอะไรพิเศษเมื่อเทียบกับเมืองท่าอื่นๆ เช่น เซี่ยงไฮ้ บอมเบย์ และจาการ์ตา จนถึงปลายรัชสมัยจึงเป็นเมืองท่าที่ฟู่ฟ่า มีฐานะเคียงบ่าเคียงไหล่กับเมืองท่าใหญ่ๆ ในเอเชีย

เมื่อขึ้นครองราชย์พบว่าเงินท้องพระคลังมีเหลือไม่มาก จนกระทั่งกล่าวว่าขัดสนราชทรัพย์ สิ่งนี้เห็นได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ และกรุงเทพฯ สมัยนั้นไม่แสดงถึงความโอ่อ่า ถึงปลายรัชกาลจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน

การที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรป 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้เวลา 8 เดือน ครั้งที่ 2 ใช้เวลา 9 เดือน ทำให้ทรงมีแนวพระราชดำริสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองหลวงสวยงาม โดยนำแบบอย่างการสร้างถนนขนาดใหญ่ สร้างอนุสาวรีย์ตามรูปแบบของเมืองหลวงในยุโรปมาประยุกต์ใช้

มีผู้พูดเชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจจนเกิดความมั่งคั่งว่ามาจากสนธิ สัญญาเบาว์ริง ปี 1855 หรือ พ.ศ. 2390 แท้จริงแล้วสนธิสัญญาในตัวมันเองไม่ได้สร้างอะไร สนธิสัญญาอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องใช้เวลา เพราะว่า|ตัวละครและสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีการปรับตัว

การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจไทยได้เกิดขึ้นอีก 2 ทศวรรษต่อมาหลังจากเซ็นสัญญานี้ คือในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เอง

ตัวละครที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง คือ การส่งออกข้าว โดยมีกลุ่มที่มีส่วน 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มชาวนาชาวไร่ไทย 2.จีนอพยพที่เสี่ยงโชคมาทำงานในเมืองไทย และตัดสินใจไม่กลับบ้านเกิด โดยตั้งรกรากในไทย การอพยพคนจีนเข้ามาตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ และเข้ามาเรื่อยจนถึง 1 ล้านกว่าคนในสมัยรัชกาลที่ 5

คนจีนอพยพบางคนตั้งตัวเป็นผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานรับจ้างเรียกว่า กุลี บ้างก็ตั้งตัวเป็นนายทุนทำโรงสีข้าว ทำการค้าระหว่างชาวนา ชาวไร่ และแหล่งการค้าทั่วโลก บ้างได้ดิบได้ดีเป็นเจ้าภาษีนายอากร มาก่อร่างสร้างตัวเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำของไทย เช่น โชติกพุกกณะ พุกกณะสุต โปษยานนท์ พิศาลยบุตร พิศลยบุตร ณ ระนอง เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงร่วมลงทุนในกิจการธุรกิจต่างๆ ทรงส่งเสริมระบบตลาดในประเทศไทย ทรงมีวิญญาณเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ทรงเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจข้าวในหลายรูปแบบ รวมทั้งส่งเสริมการเกิดขึ้นของชาวนาชาวไร่อิสระในระบบเศรษฐกิจข้าวสมัยใหม่

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับเปลี่ยนสถาบันที่สำคัญ ซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไทยด้วย นั่นคือการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหัวใจคือการปฏิรูประบบภาษีและระบบเทศาภิบาล ซึ่งเป็นการรวมศูนย์อำนาจเก่าเข้ามาอยู่ในมือของกรุงเทพฯ การปฏิรูปอันนั้นทำให้รัฐบาลมีรายได้มาใช้จ่ายเพื่อพัฒนามากขึ้น

ที่น่าสนใจในสมัยเดียวกันนั้น มีประเทศเอเชียอีกแห่งหนึ่งที่เกิดการปฏิรูปคล้ายกับประเทศไทย นั่นคือญี่ปุ่น

คงจำ Meji Restoration หรือ Meji Revolution ที่เกิดในช่วงเดียวกับรัชกาลที่ 5 คือ พ.ศ. 2411-2455 ซึ่งรัชกาลที่ 5 ครองราชย์ พ.ศ. 2411-2453 แต่เมจิครองราชย์ถึง พ.ศ. 2455 มากกว่ารัชกาลที่ 5 เพียง 2 ปี

เมื่อสิ้น Meji จะเห็นว่าญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงมากกว่า พลิกผันเป็นประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งยุโรปต้องกริ่งเกรงเมื่อมาถึงจุดนั้น ญี่ปุ่นรบชนะทั้งรัสเซียและจีน พร้อมกับสถาปนาระบอบประชาธิปไตย อันมีรัฐสภาและพรรคการเมืองเป็นองค์กรสำคัญมาตั้งแต่ พ.ศ. 2432

อาจารย์ผาสุก บอกว่า การบรรยายของท่าน|เพื่อวิเคราะห์กระบวนการบุกเบิกความเป็นอิสระของชาวนาชาว ไร่ของไทย และบทบาทของพระมหา กษัตริย์ไทย คือ รัชกาลที่ 5 ในฐานะที่ทรงเป็นกษัตริย์นักธุรกิจ

เรื่องที่อาจารย์บรรยายแตกต่างจากที่เคยรับรู้เกี่ยวกับพระองค์ในอดีต โดยจะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 4 เรื่อง คือ 1.การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 2.บทบาทชาวนาผู้บุกเบิก 3.บทบาทพระมหากษัตริย์นักธุรกิจ 4.เปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยกับบางประเทศในเอเชียในสมัยเดียวกัน

1.การเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่า GDP เพิ่ม 1 เท่าตัว จาก 5,600 ล้านบาท เป็น 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะในสมัยนั้นมาก

ขณะที่ GDP เพิ่ม 1 เท่าตัว รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว จาก 7.4 ล้านบาท เป็น 14.4 ล้านบาท เป็นผลจากการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน

อาจารย์ผาสุก พาไปดูว่ารัฐเก็บภาษีจากอะไรบ้าง เพราะจะบอกให้ทราบถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจด้วย

ภาษีทางตรง เช่น ภาษีที่ดิน ค่ารัชชูปการ หรือภาษีค่าหัวปีละ 68 บาท ต่อมาค่ารัชชูปการมีปัญหามาก เพราะเป็นเงินจำนวนไม่น้อยทีเดียว จึงมีกบฏเกิดขึ้น 2 ครั้ง ที่อีสาน 1 ครั้ง เรียกว่า กบฏผีบุญ ภาคใต้ 1 ครั้ง จึงต้องลดค่ารัชชูปการเหลือ 6 บาท/ปี ถึงกระนั้นค่ารัชชูปการ พ.ศ. 2435 อันเป็นปีที่เริ่มปฏิรูประบบภาษี เก็บได้ 2.9% ของภาษีทั้งหมด

ปลายรัชกาลเพิ่มเป็น 1 ใน 5 ภาษีที่ดินเพิ่มขึ้นจาก 6% เป็น 11% ภาษีทางอ้อมที่สำคัญ คือ สินค้าออก สินค้าเข้า โดยรวมแล้วก็เท่ากับ 1 ใน 5

อากรบ่อนเบี้ยลดลงไป แต่จำนวนเงินไม่ลด แต่สัดส่วนลดลง

อาจารย์ผาสุก ว่าที่น่าสนใจ คือ ภาษีฝิ่น และภาษีขาเข้า ขาออก ซึ่งถูกจำกัดที่อัตราร้อยละ 3 ตามสนธิสัญญา ถ้าหากไม่ได้จำกัด คงได้มากกว่านี้ เพราะการผลิตภาคอุตสาหกรรมของเราเกือบไม่มีเลยในสมัยนั้น ต้องนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะผ้า (สิ่งทอ) และอื่นๆ

อันนี้แสดงให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงในสมัยต่อมา พระราชวงศ์ทรงพระองค์โอ่อ่า กรุงเทพฯ อลังการขึ้น จะเห็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์เปลี่ยนไปจากยุคต้น โดยเฉพาะภูษาภรณ์ (ที่งดงามยิ่ง)

Tags : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5 กษัตริย์นักธุรกิจ

view