สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีอากรกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย (4)

จาก เดลินิวส์ออนไลน์

คอลัมน์ มุมภาษี
อ.สุเทพ พงษ์พิทักษ์


 

สมัยรัชกาลที่ 4 มีชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศอังกฤษ

ได้ ส่งเซอร์จอห์น เบาริ่ง เจ้าเมืองฮ่องกง เป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์น เข้ามาขอทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีในปี พ.ศ. 2397 ทั้งนี้โดยมีข้อความของสนธิสัญญาทางด้านภาษีที่สำคัญประการหนึ่งคือ ให้มีการยกเลิกภาษีเบิกร่องหรือภาษีปากเรือที่เก็บตามสัญญา ฉบับปี พ.ศ. 2369 โดยให้เก็บภาษีขาเข้าแทน และให้เก็บในอัตราเพียงร้อยละ 3 ของสินค้าเท่านั้น ผลของสัญญาฉบับนี้ได้ทำให้ไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ที่ต้องเลิกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าขาเข้าขาออกอย่างแต่ก่อน
   
ซึ่งในขณะนั้นรัฐบาลไทยจำเป็นต้องยอมทำสนธิสัญญาในลักษณะเดียวกันกับประเทศ ในแถบยุโรปอีกหลายประเทศ เพราะประเทศในแถบยุโรปมีแสนยานุภาพด้านกองทัพมาก และได้เข้ามามีอำนาจในเอเชียตะวันออก ดังนั้น เพื่อให้เป็นการคงรักษาเอกราชไว้ รัฐบาลจึงจำต้องทำสนธิสัญญาดังกล่าว รวมทั้งรัฐบาลไทยต้องยอมให้นานาประเทศมีการซื้อขายสินค้ากับราษฎรได้อย่าง เสรี ทั้งนี้โดยให้เสียภาษีตามพิกัดอัตราที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา ทำให้รายได้ภาษีของรัฐบาลตกต่ำลงเป็นอย่างมาก รัฐบาลในขณะนั้นจึงขาดแคลนเงินทุนเพื่อนำมาทำนุบำรุงให้ทันกับความเจริญของ บ้านเมือง จึงได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ขึ้นอีก 14 ประเภท อาทิ ภาษีฝิ่น ภาษีปลาสด ภาษีปลาทู อากรพนัน อากรมหรสพ รวมทั้งได้นำภาษีเดิมที่เลิกจัดเก็บมาใช้ในการจัดเก็บใหม่ อากรค่าน้ำ และอากรรักษาเกาะ 
   
ในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2453) ได้มีพระราชปรารภว่า เงินภาษีอากรอันเป็นผลประโยชน์ของแผ่นดิน จัดเก็บกันไม่เป็นระเบียบกระจัดกระจายรั่วไหลไปมากมาย ในปี พ.ศ. 2416 จึงได้ตราพระราชบัญญัติสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ จุลศักราช 1235 และได้โปรดเกล้าฯ ตั้งสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์ขึ้น เพื่อเป็นสำนักงานกลางสำหรับเก็บเงินผลประโยชน์รายได้ภาษีอากรของแผ่นดินมา รวมไว้ในที่แห่งเดียว มิให้แยกย้ายกระจัดกระจายอยู่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ดังที่เคยเป็นมาแต่ก่อน ให้หน่วยงานราชการทุกแห่ง นำส่งเงินผลประโยชน์เข้าสำหรับหอรัษฎากรพิพัฒน์เป็นรายได้แผ่นดิน ให้มีพนักงานบัญชีกลางสำหรับรวบรวมบัญชีผลประโยชน์แผ่นดิน และตรวจตราการเก็บภาษีอากรของหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างรัดกุม นับเป็นต้นกำเนิดของกระทรวงการคลังในปัจจุบัน
   
ในด้านการจัดเก็บภาษี ได้โปรดให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บภาษีอากรเสียใหม่ จากระบบเจ้าภาษีนายอากร มาเป็นทางราชการ เป็นผู้เก็บเอง โดยในช่วงแรกได้ทดลองให้เทศาภิบาลบางแห่งจัดเก็บภาษีอากรเอง ปรากฏว่าได้ผลดี สามารถจัดเก็บภาษีอากรได้เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก จึงโปรดให้เลิกวิธีการเรียกประมูลรับเหมาผูกขาดเก็บภาษีอากรจากราษฎรโดยสิ้น เชิง และให้เทศาภิบาลเก็บเองเหมือนกันหมดทุกมณฑล.

Tags : ภาษีอากรกับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

view