สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ชวนเที่ยวงานครบ70ปี รพ.อภัยภูเบศร

จาก โพสต์ทูเดย์

ชวนเที่ยวงานครบรอบ 70 ปีสถาปนารพ.อภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้

ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี จะจัดงานครบรอบ 70 ปี ฉลองครบรอบการสถาปนาโรงพยาบาลขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2509 ขณะที่ตัวตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ครบรอบ 101 ปี และฉลองครบรอบ 100 ปีไปก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

นพ.วิชาญ เกิดวิชัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรกล่าวว่า นี่เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่มีอายุการดำเนินงานที่ยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของ ประเทศ อาคารโรงพยาบาลเดิมปัจจุบันได้ดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์แพทย์แผนไทย และยังคงอนุรักษ์ไว้ในฐานะโบราณสถานขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากร รวมทั้งได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคาร จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีด้วย ปัจจุบันโรงพยาบาลได้พัฒนาเป็นโรงพยาบาลศูนย์ระดับตติยภูมิ ให้การรักษาพยาบาลทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย

“งานสถาปนารพ.ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ช่วงเช้าเป็นกิจกรรมและงานเสวนาด้านการแพทย์แผนปัจจุบัน ส่วนช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมด้านการแพทย์แผนไทย โดยเราตั้งใจจะให้เกิดการแลกเปลี่ยนและพัฒนาองค์ความรู้อย่างรอบด้านมากที่ สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน”นพ.วิชาญกล่าว งานจะจัดขึ้นที่โรงพยาบาล จ.ปราจีนบุรี โดยขอเชิญประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขมากมาย รวมทั้งเข้าเยี่ยมชมตัวตึกเก่าของโรงพยาบาลที่มีคุณค่าและมีความงดงามยิ่ง ด้านสถาปัตยกรรม

สำหรับตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2452โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ในสมัยนั้นได้ว่าจ้างบริษัท โฮวาร์ด เออร์สกิน ก่อสร้างตามแบบศิลปะบาโรคของตะวันตก เพื่อใช้เป็นที่ประทับแรมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ หากเสด็จมลฑลปราจีนบุรีอีก หลังจากเสด็จครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2451 (แต่พระองค์สวรรคตเสียก่อนในปี พ.ศ.2453) โดยที่ท่านเจ้าของตึกไม่เคยใช้ตึกหลังนี้เป็นที่พำนักส่วนตัวเลยตราบจนสิ้น อายุขัย ในปี พ.ศ2465 จึงมีการตั้งศพท่านไว้ที่ชั้นบนของตึกนี้ก่อนการพระราชทานเพลิงศพในปีเดียว กัน หลังจากอสัญกรรมของท่าน ตึกหลังนี้ก็ตกเป็นของตระกูลอภัยวงศ์ และเมื่อหลานสาวคนหนึ่งของท่านได้รับการสถาปนาเป็นพระนางเจ้าสุวัทนาวรราช เทวีในพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตระกูลอภัยวงศ์จึงได้ถวายกรรมสิทธิ์ในตัวตึกและที่ดินทั้งหมดให้แก่พระนาง เจ้าสุวัทนาฯ

ต่อมาเมื่อปี 2480 เมื่อพระองค์ฯจะโดยเสด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพรรณวดี พระราชธิดาไปประทับที่ประเทศอังกฤษ จึงประทานที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแก่มลฑลทหารบกที่ 2 จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อใช้เป็นสถานพยาบาลสำหรับทหารและประชาชนทั่วไป ต่อมาโอนมาเป็นของกรมสาธารณสุข จัดตั้งเป็นโรงพยาบาลปราจีนบุรี ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 กระทั่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในวันที่ 24 มิถุนายน 2509

ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเดิม ถูกใช้งานเป็นโรงพยาบาลจนถึงปี 2512 จนวันที่ 25 มกราคม 2533 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นโบราณสถาน ในปี พ.ศ. 2537 ทางโรงพยาบาลได้รับเงินพัฒนาจังหวัด สมทบกับเงินบริจาคนำมาบูรณะซ่อมแซม จนมีความสวยงามใกล้เคียงสภาพเดิม ต่อมาได้จัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าอ้างอิง รวบรวมการอนุรักษ์ตำรายาไทยการแพทย์พื้นบ้านของปราจีนบุรี

ในการนี้โรงพยาบาลได้รับการสนับสนุนจาก นพ.ไพโรจน์ นิงสานนท์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการจัดตั้งมูลนิธิหมื่นชำนาญแพทยา (พลอย แพทยานนท์) เมื่อแล้วเสร็จเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2539 รวมทั้งได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทอาคารจากสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อปี 2542

ความสำคัญของตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร นอกจากจะมีความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแล้ว ยังเป็นตัวแทนความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ อดทน และเสียสละของท่านเจ้าของตึกที่จะเป็นอนุสติให้แก่ชนรุ่นหลัง และด้วยเจตจำนงที่จะสร้างตึกหลังนี้ให้เป็นที่ประทับแรมของพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ มิได้สร้างเป็นที่พักของตน ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันนี้ตึกหลังนี้ยังมิได้เป็นของส่วนตัวของเชื้อสายท่าน แต่อย่างใด ได้ใช้ประโยชน์เป็นสาธารณสมบัติของส่วนรวมดังจะสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน

อนึ่ง สำหรับงาน “ 70 ปี แห่งการพัฒนา ก้าวหน้าสู่ความเป็นผู้นำด้านการแพทย์แผนไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงบ่ายของวันที่ 24 มิ.ย. และต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 26 มิ.ย.นั้น มีเสวนาวิชาการ 2 หัวข้อคือ 1.เปิดคัมภีร์รักษาโรคสตรีด้วยการแพทย์แผนไทย 2.เส้นประธานสิบฟื้นชีวิตการนวดไทย รับฟังทฤษฎีของเส้นประธานสิบ ว่ามีแนวทางเดินของเส้นประธานสิบอย่างไร และมีความสัมพันธ์ของลมประจำเส้นประธานสิบที่อาจก่อให้เกิดอาการต่างๆ เช่น อาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณต่างๆในร่างกาย โดยจะมีการสาธิตการนวดและการตรวจตามแนวเส้นประธานสิบ และการศึกษาวิจัยเรื่องเส้นประธานสิบ

ส่วนกิจกรรมสาธิต ประกอบด้วย นวดไทยถวายมือ   เป็นกิจกรรมสำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย  ที่ไม่ต้องการใช้ยา คือ การนวดฟรี  ไม่มีค่าใช้จ่าย  สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น อาการปวดหลังเรื้อรัง  นิ้วล๊อค  นิ้วไกปืน  ท้องผูกเรื้อรัง  ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ  ปวดท้องประจำเดือน โดยการนวดรักษาจากอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านการนวดไทย  รวมทั้งบัณฑิตและนิสิตการแพทย์แผนไทยประยุกต์  ของวิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร 

นอกจากนี้ก็มีการสาธิตสรรพยาดอง  สาธิตการทำอาหารและเครื่องดื่มจากรางจืด สมุดไพรล้างพิษ   สาธิตการทำอาหารและเครื่องดื่มจากขมิ้นชัน สาธิตการปรุงยาหอมสด สาธิตผลไม้แปลงกาย (มะกรูด  ตรีผลาฯลฯ) สาธิตการทำยาอมแก้ไอมะขามป้อม และสุดท้ายคือการสาธิตการปรุงน้ำสลัดสมุนไพรต้านหวัด ซึ่งจะเป็นการรวบรวมสมุนไพรพื้นบ้าน ที่นำมาประยุกต์ให้เข้ากับน้ำสลัดไทยๆ ที่สามารถทดลองทำเองได้ ด้วยฝีมือท่านเอง ซึ่งคุณประโยชน์มีมากมาย รวมไปถึงสรรพคุณการต้านไข้หวัดจากสมุนไพร ต้านหวัดได้อีกด้วย

สนใจสอบถามรายละเอียด โทร.037-211-289 www.abhaiherb.com

Tags : ชวนเที่ยวงาน ครบ70ปี รพ.อภัยภูเบศร

view