สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เอ็กซิทโพลล์ เออเรอร์ถึงเวลาสังคายนา

'เอ็กซิทโพลล์'เออเรอร์ถึงเวลาสังคายนา

นักวิชาการ ชี้ถึงเวลาสังคายนาโพลล์ หลังตัวเลขเอ็กซิทโพลล์ เออเรอร์ สูงมาก ระบุสาเหตุอาจมาจากกลุ่มตัวอย่างน้อยไป
วันที่ 3ก.ค.2554  สายตา "คอการเมือง" จดจ้องที่หน้าจอทีวีรอเวลา 15.00 น. เพื่อฟังการประกาศผลคะแนนการสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้ง "เอ็กซิทโพลล์"

คะแนนที่ออกมาเพื่อไทย "แลนด์สไลด์" ทั้งเอแบคโพลล์ สวนดุสิตโพล นิด้าโพล ศรีปทุมโพล
 ยิ่งนักวิชาการที่จัดทำโพลล์ ระบุว่า ที่ผ่านมา "เอ็กซิทโพลล์" คลาดเคลื่อนแค่ร้อยละ 3 ยิ่งกระตุ้นอารมณ์ "กองเชียร์" ให้ตะเลิดเปิดเปิง

 ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ สาเหตุที่ทำให้ "เอ็กซิทโพลล์"  สำนักต่างๆ สรุปผลสำรวจการเลือกตั้งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงค่อนข้างมากนั้น น่าจะเกิดจากขั้นตอนการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งขนาดกลุ่มตัวอย่างอาจเป็นเพียงกลุ่มเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด อาทิเช่น ประชากร 10 ล้านคน แต่โพลล์กลับสำรวจความคิดเห็นของคนเพียง 1,000 คน ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะทำให้ผลการสำรวจกับความเป็นจริงมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก
 "ผมมองในแง่ดีนะว่าผู้ทำโพลล์คงไม่เมคข้อมูลขึ้นมาเอง แต่ความผิดพลาดน่าจะเกิดจากขั้นตอนการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ไม่กระจายเท่าที่ควร และขนาดของกลุ่มตัวอย่างเล็กเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนของประชากรทั้งหมด ซึ่งเมื่อสอบถามความคิดเห็นจากคนกลุ่มน้อยอาจตอบคำถามที่แตกต่างจากคนกลุ่มใหญ่ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ผลออกมาก็มีโอกาสที่จะความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้อย่างถล่มทลาย"


 ดร.ยุกติ กล่าวย้ำว่า "ความผิดพลาด" ที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียนของสำนักโพลล์ต่างๆ ที่จะต้องทบทวน "มาตรฐาน" ในการสำรวจกรณีศึกษาต่างๆ ซึ่งต้องกลับไปวิเคราะห์ว่าสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในครั้งต่อไป เพราะหากไม่มีการแก้ไขก็จะทำให้สำนักโพลล์นั้นๆ ขาดความน่าเชื่อถือ

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ธุกิจบัณฑิตโพล กล่าวกับ “ สำนักข่าวเนชั่น ” กรณีความคลาดเคลื่อนของผลสำรวจเอ็กซิทโพล ว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการทำผลสำรวจ แต่ทั้งนี้ความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่หลักการทำผลสำรวจ แต่เป็นเพราะปัจจัยทางการสำรวจที่ควบคุมไม่ได้ ประกอบไปด้วย 1. กลุ่มตัวอย่างมีปัญหา กล่าวคือแม้จะมีการสุ่มตัวอย่างอย่างเป็นระบบ แต่อาจจะเป็นไปได้ว่าเมื่อทีมงานนำผลสำรวจไปให้ประชาชนลงความเห็น ประชาชนกลุ่มที่เป็นพลังเงียบที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ไม่กล้าที่จะตอบแบบสอบถาม แตกต่างจากกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่มีความกล้าแสดงออกทางการเมืองสูง ดังนั้นถึงทีมงานจะพยายามสุ่มตัวอย่างหลากหลายแต่ผู้ที่ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามอาจเป็นกลุ่มเสื้อแดงเสียส่วนใหญ่ ผลจึงออกมาในลักษณะดังกล่าว

 ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวว่า 2. ความผันผวนในค่าตัวเลข ที่เชื่อมโยงต่อการรายงานข่าว ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ตนเคยชี้แจงมาแล้วในการทำผลสำรวจความนิยมก่อนการเลือกตั้ง ว่าแต่ละผลสำรวจจะออกมาจะมีสัดส่วนของความคลาดเคลื่อน รวมถึงในบางเขตเลือกตั้งที่ผู้มีคะแนนนำ ได้รับความนิยมมากกว่าฝ่ายตรงข้ามเพียงร้อยละ 1 - 5 เท่านั้น ซึ่งหมายความว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครชนะ แต่เมื่อนำเสนอผ่านสื่อมวลชนกลับถูกฟันธงอย่างชัดเจน อาทิ ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยมีคะแนนนำในการทำผลสำรวจเพียง 2% แต่กลับถูกสรุปในรายงานข่าวว่าชนะการเลือกตั้ง เป็นต้น ทั้งนี้หลังจากผลการเลือกตั้งออกมาทั้งในส่วนกรุงเทพฯ และทั่วประเทศคลาดเคลื่อนตนถูกสอบถามเป็นจำนวนมาก ตนก็วิเคราะห์ใน 2 ประเด็นดังกล่าว ที่สามารถใช้อธิบายได้ทั้งผลสำรวจก่อนหน้าการเลือกตั้ง และผลสำรวจเอ็กซิทโพล

 “ ครั้งต่อไปหากมีการทำผลสำรวจการเลือกตั้ง หากมีเขตเลือกตั้งไหนที่มีคะแนนสูสี ขอเสนอว่าไม่ให้มีการฟันธงผู้ชนะอย่างชัดเจน แต่จะนำเสนอเป็นการประเมินโอกาสชนะการเลือกตั้งจะดีกว่า เพื่อไม่ให้มีความรู้สึกว่าผลสำรวจมีความผิดพลาดเช่นนี้ ” ดร.เกียรติอนันต์กล่าว

 น.ส.นฤวรรณ เรืองโรจน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายประกันคุณภาพ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มองว่า ปกติผลโพลล์ ยังไม่สามารถตอบคำถามอะไรได้มากนัก เนื่องจากการทำโพลล์มีปัจจัยหลายๆ อย่างที่อาจส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อน เช่น กระแสสังคมในช่วงนั้นๆ เป็นอย่างไร การเก็บข้อมูลทีมจัดทำโพลล์ไปสอบถามความคิดเห็นจากคนกลุ่มไหนเขาอยู่คนเดียวหรืออยู่กันหลายคน ซึ่งการที่อยู่คนเดียวอาจได้ข้อมูลที่แท้จริงกว่าการอยู่หลายคน เพราะ "ผู้ให้ข้อมูล" กล้าจะให้ข้อมูลตามความเป็นจริงมากกว่าเนื่องจากเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง


 "เราก็รู้กันอยู่ว่าสังคมเราในขณะนี้มันเปราะบาง มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก ในการที่ใครคนใดคนหนึ่งจะให้ข้อมูลอะไรออกมา โดยเฉพาะการเลือก ส.ส.บางครั้งหากเข้าไปขอข้อมูลที่กลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนที่ให้ข้อมูลอาจพูดข้อมูลที่เป็นเท็จจากความเป็นจริงเพื่อลดความขัดแย้งกันเองในกลุ่มก็เป็นได้ หรืออีกกรณีหนึ่งหากโพลล์ไปสำรวจก่อนการลงคะแนนตอนนั้นด้วยกระแสสังคม เรื่องนโยบายที่สวยงามก็คิดว่าเลือกพรรคหนึ่งไว้ในใจ แต่เมื่อถึงเวลาช่วงโค้งสุดท้ายอาจเปลี่ยนใจก็เป็นได้ โพลล์ที่ทำมาก็อาจมีความคลาดเคลื่อนก็เป็นได้"

น.ส.นฤวรรณ ย้ำว่า สาเหตุอีกอย่างที่ทำให้การทำเอ็กซิทโพลล์ครั้งนี้เกิดความ "ผิดพลาด" ค่อนข้างมาก เนื่องจากขั้นตอนการสอบถามข้อมูลจากผู้ที่เดินทางไปเลือกตั้งแล้วได้ข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริง เนื่องจากผู้ให้ข้อมูลอาจ "กลัวกระแสเรื่องความปรองดอง" จึงไม่อยากจะบอกความคิดเห็นส่วนตัวแก่เจ้าหน้าที่ต่อหน้าคนอื่น ตรงนี้ดูได้จากโซเชียลมีเดียที่มีกลุ่มคนต่างตั้งกลุ่มแสดงความคิดเห็น แต่ก็มีคนบางกลุ่มแสดงความคิดเห็นเป็นกลางๆ เพื่อลดความขัดแย้ง


 แต่หากความ "เออเรอร์" ของเอ็กซิทโพลล์เกิดจากการได้ข้อมูลจาก "ฐานข้อมูล" เดียวกัน ยิ่งเป็นสิ่งที่สำนักโพลล์ต่างต้องสังคายนากันครั้งใหญ่อย่าปล่อยให้โพลล์ที่ผิดๆ มาชี้นำสังคมอีกต่อไป

ผอ.ธุรกิจบัณฑิตฯ ปัดโพลมั่วนิ่ม แจงแดงกล้าตอบ

Tags : เอ็กซิทโพลล์ เออเรอร์ ถึงเวลาสังคายนา

view