สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดงานวิจัย!ค่าแรง5ปีต่ำกว่า จีดีพี-เงินเฟ้อ

เปิดงานวิจัย!ค่าแรง5ปีต่ำกว่า'จีดีพี-เงินเฟ้อ'

แบงก์ชาติ โชว์ผลวิจัยค่าแรง 5 ปีเพิ่มแค่1.8%ต่ำกว่าจีดีพีซึ่งโตยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.8%และยังต่ำกว่าเงินเฟ้อ ที่อยู่ระดับ 2.3%

  ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้ทำรายงานการวิจัยเกี่ยวกับ “ระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของไทย” ซึ่งรายงานการวิจัยฉบับดังกล่าวเขียนโดย นางสมศจี ศิกษมัต หัวหน้านักวิจัยอาวุโส สายนโยบายการเงิน ธปท. และ นายวรุตม์ เตชะจินดา นักศึกษาฝึกงาน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 รายงานการวิจัยฉบับนี้ ได้ระบุถึงความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำว่า ความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประเมินได้ในหลายมิติ แต่ในที่นี้จะพิจารณาเรื่อง ความเหมาะสมต่อการใช้จ่ายตามอัตภาพ ซึ่งประกอบด้วยรายจ่ายที่จำเป็นต่างๆ ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าเช่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาล ค่ายาที่นอกเหนือจากประกันสังคม ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และค่ายานพาหนะ

 นอกจากนี้ยังพิจารณาถึง ความเหมาะสมต่อการใช้จ่ายตามคุณภาพ คือ ขนาดของค่าใช้จ่ายตามอัตภาพรวมกับค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระที่อยู่อาศัย เงินทำบุญ ทอดกฐินและผ้าป่า รวมไปถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการบันเทิงและพักผ่อน สุดท้ายคือ ความเหมาะสมตามผลิตภาพของแรงงาน ซึ่งวัดจาก Real GDP ต่อจำนวนการจ้างงาน
 ถ้าดูจากเกณฑ์ความเหมาะสมใน 2 ข้อแรก คือ ความเหมาะสมต่อการใช้จ่ายตามอัตภาพและการใช้จ่ายตามคุณภาพ

ผู้เขียนระบุว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับที่สอดคล้องกับการใช้จ่ายตามคุณภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2551-2553 และที่สำคัญในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังน้อยกว่าความต้องการใช้จ่ายตามอัตภาพด้วย
 “แม้เมื่อคิดรวมถึงสวัสดิการต่างๆ เงินโบนัส และค่าล่วงเวลา ทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงิน ก็ยังพบว่าค่าตอบแทนจากการทำงานของแรงงานระดับล่างยังต่ำกว่าอัตราค่าจ้างตามคุณภาพในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่เป็นเช่นนี้เพราะจำนวนวันหรือชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างล่วงเวลา และเงินโบนัส ล้วนมีความสัมพันธ์และอ่อนไหวตามภาวะเศรษฐกิจ จะเห็นว่าในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีตลาดแรงงานจะปรับตัวโดยลดจำนวนชั่วโมงทำงานและการเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้กระทบโดยตรงต่อค่าต่างตอบแทนของแรงงาน”

 หากพิจารณาในด้านความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจโดยเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พบว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยในปี 2542-2553 ขยายตัวเพียง 1.8% ต่อปี เทียบกับ Nominal GDP ซึ่งเติบโตโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 6.8% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3% ทั้งนี้ถ้าดูอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังถือว่าต่ำกว่าผลิตภาพของแรงงานมาโดยตลอด

 รายงานการวิจัยฉบับนี้ ยังสรุปออกมาด้วยว่า ประเทศไทยใช้ระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ โดยที่แต่ละจังหวัดอาจมีอัตราที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ทางการกำลังจะเพิ่มมิติของมาตรฐานฝีมือแรงงานเข้ามาเป็นเกณฑ์ช่วยกำหนดอัตราค่าจ้างในไม่ช้า ซึ่งมีส่วนดีที่จะช่วยให้อัตราค่าจ้างสัมพันธ์กับผลิตภาพของแรงงานมากขึ้น

 ส่วนกระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการฯ ที่เป็นแบบไตรภาคีมีข้อดีในด้านการช่วงถ่วงดุลอำนาจ และยังมีคณะอนุกรรมการของแต่ละจังหวัดพิจารณาเสนออัตราค่าจ้างในจังหวัดของตน ซึ่งเท่ากับเป็นการกระจายอำนาจในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะสมตามแต่ละท้องที่ โดยมีฝ่ายรัฐบาลช่วยดูแลในภาพรวมเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจมีต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

 อย่างไรก็ตาม กระบวนการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว ยังไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนหรือสร้างความเป็นธรรมให้แก่แรงงานได้เท่าที่ควร นอกจากนี้อัตราดังกล่าวเป็นอัตราที่คิดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับแรงงานไร้ฝีมือหนึ่งคนที่เข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่เท่านั้น แต่ยังไม่รวมถึงครอบครัว และมีประเด็นเรื่องการบังคับใช้ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลที่ห่างไกล ทำให้แรงงานบางกลุ่มอาจได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราที่กำหนด

 นอกจากนี้การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำยังต้องอาศัยข้อมูลในหลายระดับ รวมทั้งความสามารถในการวิเคราะห์ และที่สำคัญต้องมีวิธีการที่เหมาะสมในการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกำไรที่จะตกอยู่กับนายจ้างกับค่าจ้างที่ตกเป็นรายได้ของลูกจ้าง

 ผู้เขียนงานวิจัยฉบับนี้ ยังระบุด้วยว่า การแก้ไขปัญหาความยากจนและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้แก่แรงงานจะอาศัยเพียงแต่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำอย่างเดียวไม่ได้ ควรต้องใช้วิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย เช่น ระบบสวัสดิการสังคม ซึ่งคงไม่ใช่เฉพาะแต่แรงงานเท่านั้น แต่ควรครอบคลุมถึงคนระดับฐานรากทั้งประเทศ
 ที่สำคัญแนวคิดเรื่องอัตราค่าจ้างควรถูกใช้เป็นเครื่องมือที่จะช่วยส่งเสริมคุณภาพและผลิตภาพของแรงงาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อตลาดแรงงานในระยะยาว เพราะจะช่วยรองรับแนวโน้มของค่าจ้างที่จะสูงขึ้นโดยไม่ก่อปัญหาต่อภาคธุรกิจและการจ้างงาน

Tags : เปิดงานวิจัย ค่าแรง5ปี ต่ำกว่า จีดีพี-เงินเฟ้อ

view