สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิจัยทุจริตประพฤติมิชอบ กรมศุลกากร

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 1
ชื่อรายงานการวิจัย     รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการวิจัยเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบในหน่วยงานราชการไทย :กรณีศึกษากระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร)
ชื่อนักวิจัย                   ผศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์, อ.นพนันท์ วรรณเทพสกุล, อ.รัตพงษ์ สอนสุภาพ, อ.ศรัณย์ ธิติลักษณ์
หน่วยงานวิจัย             คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แหล่งทุนวิจัย              คทง.ติตตามและศึกษาปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สถานภาพ โครงการที่ทำเสร็จแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2547
บทคัดย่อหรือบทสรุปผู้บริหาร
บทคัดย่อ
1. วัตถุประสงค์
    1. เพื่อศึกษาลักษณะและรูปแบบของมาตรการ ที่ทางกรมศุลกากรนำมาใช้    เพื่อขจัดปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในกระบวน การศุลกากรไทย
    2. เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ สภาพปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในกรมศุลกากร ในช่วงที่จะมีการนำมาตรการมาใช้ และสภาพปัญหา หลังจากที่ได้มีการนำมาตรการมาใช้
    3. เพื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของมาตรการที่นำมาใช้ และปัญหาอุปสรรคของการใช้มาตรการดังกล่าว
    4. เพื่อเสนอแนวทางและมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ในการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันกระบวนการศุลกากรไทย
2. รูปแบบการศึกษาวิจัย
    การวิจัยศึกษาเฉพาะกรมศุลกากร โดยศึกษาแนวทางและมาตรการที่ทางกรมศุลการกรนำมาใช้ในการขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน
ในช่วงเวลานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การจัดเก็บข้อมูลจะใช้การค้าทางเรือเป็นสำคัญโดยผ่านท่าเรือที่สำคัญ 2 แห่ง คือ ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ระเบียบการวิจัยที่ใช้มีหลายวิธีประกอบกัน คือ
    1) วิจัยเอกสาร โดยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น รายงานการศึกษาวิจัย วิทยานิพนธ์ บทความ ข้อมูลสื่อมวลชน และเอกสารทางราชการ
    2) จัดเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ เจาะลึกผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนซึ่งประกอบด้วยบริษัทนำเข้าและส่งออก โดยตรง บริษัทตัวแทนการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งหมดประมาณ 12 คน
    3) จัดเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามบริษัทนำเข้าและส่งออกโดยตรง และบริษัทตัวแทนการนำเข้าและส่งออก โดยเป็นการส่งออกและ นำเข้า ที่ผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ และท่าเรือแหลมฉบังรวม 200 ฉบับ
    4) การจัดสนทนากลุ่มย่อย เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถออกความเห็นร่วมกันในเชิงลึกได้
3. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
    วิธีการในการวิจัยได้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ การจัดเก็บแบบสอบถามกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการศุลการกรจำนวน 200 ฉบับ การสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และการจัดสนทนากลุ่มเพื่อเจาะลึกในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาและอุปสรรค ในกระบวนการศุลกากรในประเทศต่างๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการศุลกากรนั้น มิได้เกิดขึ้นในประเทศไทย เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมีผลให้ประเทศต่างๆ ต่างก็พยายามที่จะหาวิธีการในการแห้ปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการศุลกากรเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งที่สามารถส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้
4. ผลการดำเนินงาน
    ผลการศึกษาพบว่าในอดีตที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการศุลกากร เพื่อให้มีการดำเนินงานที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการและเพื่อลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการปฏิรูปที่สำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีการนำระบบเทคโนโลยี สารสนเทศ EDI (Electronic Data Interchange) มาใช้ในการให้บริการมากขึ้นซึ่งมีผลโดยตรง ระหว่างผู้ดำเนินการพิธีการศุลกากรและ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร มีผลทำให้ระบบมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น มีความโปร่งใสในการบริการ ระยะเวลาในการดำเนินการลดลง และ สามารถลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้า-หน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนี้แล้วมาตรการอื่นๆเช่น การใช้ระบบ Gold Card หรือการใช้ x-ray container ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโดยเป็นการลดระยะเวลาในกระบวนการศุลกากรได้มากขึ้น แต่ยังคงไม่มีผลในการลดปัญหาเงิน ใต้โต๊ะ
    เมื่อเปรียบเทียบปัจจัยที่มีผลต่อการทุจริตคอร์รัปชัน พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรมเงินใต้โต๊ะ น้ำร้อนน้ำชา เป็นอันดับหนึ่ง เช่นเดียวกับผลการศึกษาในปี 2542 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปรับปรุงระบบอาจจะมีส่วนช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ ความโปร่งใสมากขึ้นก็จริง แต่เนื่องจากในการดำเนินการยังคงต้องเกี่ยวข้องกับคน และต้องอาศัยดุลยพินิจในการตีความ การสร้างเสริม วัฒนธรรม และจิรยธรรมที่ดีงามของคนในองค์กรจึงเป็นเรื่องที่มีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเช่นเดียวกัน
    ทั้งนี้พบว่าอัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะต่อใบขนมีขนาดลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อกรมศุลกากรได้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ เพื่อเป็นการนำเงินใต้โต๊ะขึ้นมาอยู่บนโต๊ะ ผลปรากฏว่าเงินที่จ่ายใต้โต๊ะลดลง แต่ไม่หมดไป เจ้าหน้าที่ยังคงเรียกร้องเงินใต้โต๊ะ ดังนั้น ผลที่เกิดขึ้นต่อต้นทุนของภาคเอกชนจึงไม่ชัดเจนว่ามีผลโดยรวมให้ต้นทุนลดลงหรือไม่
    ปัญหาอุปสรรคที่สำคัญในกระบวนการศุลกากร เกี่ยวข้อกับเรื่องกฎระเบียบและพิธีการศุลกากรที่ซับซ้อนยุ่งยาก การขาดระบบการ ประเมินราคาที่ชัดเจน โปร่งใส การมีโครงสร้างภาษีหลายอัตรา โดยปัจจัยเหล่านี้ ก่อให้เกิดทุจริตคอร์รัปชันในกระบวนการศุลกากร
5. ข้อเสนอและข้อสังเกตจากผลการศึกษาวิจัย
    ควรมีการปรับปรุงและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของกระบวนการศุลกากรประกอบด้วย
        (1) การปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่ไม่ทันสมัยให้มีความทันสมัยชัดเจน ลดการ
ตีความ โดยอาศัยดุลพินิจ
        (2) พัฒนาระบบเครือข่ายสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ลดขั้นตอนงานให้น้อยลง และลดความซ้ำซ้อนในการจัดเตรียมเอกสาร
        (3) ปรับปรุงระบบโครงสร้างพิกัดอัตราภาษีศุลกากรให้มีอัตราน้อยลง
        (4) ใช้ระบบการวินิจฉัยพิกัด และราคาที่ชัดเจนและเป็นระบบมากขึ้น
        (5) จะต้องมีการปรับปรุงในเรื่องโครงสร้างองค์กรให้มีระบบตรวจสอบชัดเจนและเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ
        (6) มีการพัฒนาบุคลากรให้เป็นบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีคุณธรรม โดยจะต้องมีการสรางระบบให้คุณให้โทษที่ชัดเจน
view