สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลตรวจโครงการชลประทานท่อน้ำ

การตรวจสอบดำเนินงานโครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำ
กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฉบับย่อ)  ฉบับเต็มอ่านด้านล่าง


วัตถุประสงค์ของโครงการ มีดังนี้
    1. เพิ่มแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในพื้นที่ขาดแคลน
    2. เพื่อให้มีแหล่งน้ำสำหรับใช้ในเกษตรกรรม สร้างงานใหม่ในชนบท และสามารถยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน
    3. เพื่อให้มีการส่งน้ำจากแหล่งน้ำที่เกินความต้องการไปยังแหล่งน้ำใกล้เคียงที่ขาดแคลนน้ำ
    4. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมและข้อจำกัดในกรณีต่าง ๆ

การดำเนินงานโครงการมีกิจกรรมหลักที่สำคัญ 2 ประการ คือ
    1. กิจกรรมการลงทุนก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ เพื่อเป็นโครงการนำร่องจำนวน 10 โครงการ ประกอบด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจำนวน 6 โครงการ ภาคตะวันออกจำนวน 3 โครงการ และภาคกลางตอนล่างจำนวน 1 โครงการ มีแผนการใช้งบประมาณรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 875 ล้านบาท
    2. กิจกรรมการจัดจ้างที่ปรึกษา เพื่อจัดทำแผนหลัก / ศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ กำหนดเงื่อนไขงานจ้างเหมา และการออกแบบโครงการนำร่อง มีแผนการใช้งบประมาณจำนวนเงิน 185 ล้านบาท
ผลการตรวจสอบ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อตรวจพบที่สำคัญซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลสำเร็จของการดำเนินงานโครงการ 4 ประการ สรุปได้ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 การก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบตามโครงการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ สิ้นปีงบประมาณ 2542 ได้ทำสัญญาก่อสร้างเพียงโครงการเดียวส่วนที่เหลืออีกจำนวน 9 โครงการยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จล่าช้าค่อนข้างมากคือโครงการที่ดำเนินการใน จ.ขอนแก่น ทั้ง 3 โครงการ เนื่องจากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้าง ผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน และผู้รับจ้างนำเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อทำงานต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในแผน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
จากความล่าช้าของการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบดังกล่าวข้างต้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโครงการ สรุปได้ดังนี้
    1. ทำให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายของโครงการเสียโอกาสในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและสร้างรายได้
    2. ทำให้การบริหารงบประมาณของกรมชลประทานเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
    3. ทำให้ไม่สามารถทราบผลที่ได้รับจากโครงการทั้ง 10 โครงการ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงการดำเนินงานโครงการในระยะที่ 2 ต่อไป
สาเหตุ ที่ทำให้การดำเนินงานก่อสร้างตามโครงการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจาก
    1. กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาส่งมอบงานตามสัญญาล่าช้ากว่าแผนเดิมที่กำหนดให้ส่ง
    2. ก่อนการดำเนินการก่อสร้าง เกษตรกรในพื้นที่โครงการไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสำรวจ หรือกำหนดแนวท่อส่งน้ำที่เหมาะสม และไม่ได้มีการจัดทำบันทึกยินยอมให้ใช้ที่ดินกับเจ้าของที่ดินที่จะต้องวางแนวท่อส่งน้ำผ่าน อีกทั้งในการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้าง กรมชลประทานจะใช้วิธีการขอความร่วมมือในการใช้พื้นที่จากเจ้าของที่ดินโดยไม่มีการตั้งงบประมาณในส่วนของการจัดหาที่ดินเพื่อการก่อสร้าง ทำให้เกิดปัญหาในการขอใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้าง
    3. บริเวณที่จะก่อสร้างเป็นแปลงทำการเกษตรซึ่งอยู่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ต้องรอให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยก่อนจึงจะสามารถก่อสร้างได้ ทำให้การก่อสร้างต้องหยุดชะงักหรือเลื่อนเวลาการก่อสร้างออกไป
    4. บริษัทที่ปรึกษาออกแบบก่อสร้างโดยไม่สำรวจสภาพพื้นที่จริง
    5. บางพื้นที่บริษัทผู้รับจ้างเข้าปฏิบัติงานก่อสร้างล่าช้า หรือบางพื้นที่บริษัทผู้รับจ้างนำเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อทำงานต่ำกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ในแผน หรือบางพื้นที่บุคลากรของบริษัทผู้รับจ้างขาดความรู้ความชำนาญในการปฏิบัติงาน ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำ รวมทั้งบางพื้นที่บริษัทผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องทางการเงิน
    6. วัสดุอุปกรณ์ที่สำคัญสำหรับการก่อสร้างบางประเภท ทำให้ต้องเสียเวลาในการจัดหา
    7. บางพื้นที่เกิดอุทกภัยจึงไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามระยะเวลาที่แผนกำหนดไว้
ข้อเสนอแนะ
ให้อธิบดีกรมชลประทานดำเนินการดังนี้
    1. สั่งการและติดตามให้สำนักชลประทานที่รับผิดชอบควบคุมการดำเนินงานของผู้รับจ้างให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
    2. สั่งการและติดตามให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาที่ได้รับการแต่งตั้งให้ความสำคัญหรือเคร่งครัดกับคุณสมบัติ ของบริษัทผู้รับจ้าง โดยเฉพาะในเรื่องประสบการณ์และผลงาน ความรู้ความชำนาญ ความพร้อมของเครื่องมือเครื่องจักร รวมถึงฐานะทาง การเงินของบริษัทผู้รับจ้าง
    3. หากมีการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งมีกิจกรรมการดำเนินงานหลายกิจกรรมและแต่ละกิจกรรมมีความสอดคล้อง และต่อเนื่องกัน ควรมีการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมหรือขั้นตอนให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

ข้อตรวจพบที่ 2
เกษตรกรไม่สามารถลงทุนก่อสร้างระบบจ่ายน้ำเพิ่มเติมต่อจากที่รัฐลงทุนให้ได้ โครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำ ได้กำหนดให้เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในส่วนของงานก่อสร้างร่วมกับรัฐ โดยตามนโยบายหรือเงื่อนไขของโครงการเกษตรกรต้องลงทุนก่อสร้างระบบจ่ายน้ำจนถึงแปลงของตนเองต่อจากที่รัฐลงทุนซึ่งบริษัท ที่ปรึกษาคิดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบท่อเต็มรูปแบบไว้ประมาณ 11,650 บาท/ไร่ มีข้อสังเกตว่าเกษตรกรไม่ได้มีส่วนร่วมลงทุน ก่อสร้างตามนโยบายหรือเงื่อนไขของโครงการจะเป็นการเอื้อประโยชน์โดยเฉพาะให้กับเกษตรกร จ.ขอนแก่น มากกว่าเกษตรกรในพื้นที่โครงการของจังหวัดอื่นๆ แล้วยังเป็นการกระทำที่ไม่เสมอภาคเพราะไม่ได้มีการปฏิบัติในลักษณะเช่นนี้กับพื้นที่ ในจังหวัดอื่นๆ และจากการตรวจสอบโครงการที่เกษตรกรต้องมีส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างพบว่า เกษตรกรไม่สามารถดำเนินการตามเงื่อนไขของโครงการซึ่งกรมชลประทานกำหนดไว้ได้ เนื่องจาก เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าจะต้อง ลงทุนก่อสร้างระบบจ่ายน้ำต่อจากที่รัฐลงทุนให้ พบว่า มีเกษตรกรร้อยละ 86 ไม่ทราบเลยว่าจะต้องมีส่วนร่วมลงทุนก่อสร้างระบบ จ่ายน้ำต่อจากที่รัฐลงทุนให้เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะลงทุนก่อสร้างระบบจ่ายน้ำต่อจากที่รัฐลงทุนให้ ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวค่อนข้างสูงและคาดว่าเกษตรกรในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ไม่สามารถที่จะจ่ายเงินจำนวนนี้ได้ เกษตรกรกลุ่มที่จะลงทุนก่อสร้างระบบจ่ายน้ำต่อจากส่วนที่รัฐลงทุนให้ได้มากที่สุดเต็มใจลงทุนระบบท่อส่งน้ำต่อจากที่รัฐลงทุนสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท/ไร่ หากต้องลงทุนสูงกว่านี้จะเปลี่ยนไปใช้วิธีการซื้อน้ำหรือขุดสระน้ำแบบเดิมจะคุ้มค่ากว่า

จากการที่เกษตรกรไม่สามารถลงทุนส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโครงการ ดังนี้
    1. เกษตรกรไม่สามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคและเพื่อการเกษตรได้ หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่
    2. อาจเกิดการสูญเปล่าของงบประมาณการก่อสร้างในส่วนที่รัฐลงทุนไปแล้ว เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการ
สาเหต ุที่เกษตรกรไม่สามารถลงทุนก่อสร้างระบบจ่ายน้ำเพิ่มเติมต่อจากที่รัฐลงทุนให้ได้ เนื่องจาก
    1. ก่อนการดำเนินงานก่อสร้างตามโครงการกรมชลประทานไม่ได้ชี้แจงหรือ ประชาสัมพันธ์รายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ให้เกษตรกรทราบ โดยเฉพาะเรื่องที่เกษตรกรจะต้องลงทุน ก่อสร้างระบบจ่ายน้ำต่อจากที่รัฐได้ลงทุนให้
    2. เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับรูปแบบการมีส่วนร่วมในการลงทุนร่วมกับภาครัฐ แต่จะคุ้นเคยกับงาน/โครงการที่ภาครัฐจัดสรรให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
    3. เกษตรกรบางพื้นที่มีข้อจำกัด เช่น ขาดเงินทุน มีพื้นที่ลงทุนก็ไม่คุ้ม หรือขาดแคลนแรงงานในการทำการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรบางพื้นที่มีที่ดินอยู่ห่างไกลจากจุดจ่ายน้ำ
ข้อเสนอแนะ
ให้อธิบดีกรมชลประทานดำเนินการ ดังนี้
    1. สั่งการและติดตามให้สำนักชลประทานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงและประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้เกษตรกรเข้าใจคุณค่าของน้ำว่า ในอนาคตน้ำถือเป็นต้นทุนในการทำการเกษตร
    2. แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหากรณีเกษตรกร ไม่สามารถร่วมลงทุนระบบจ่ายน้ำเพิ่มเติมต่อจากรัฐ เพื่อให้เกษตรกรลงทุนก่อสร้างระบบส่งน้ำเพิ่มเติมต่อจากที่รัฐได้

ข้อตรวจพบที่ 3 องค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำ (เกษตรกร) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขาดความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการ ภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ

กรมชลประทานได้กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารจัดการโครงการภายหลังโครงการแล้วเสร็จ โดยให้เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ องค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สอดคล้องกับนโยบายตาม พรบ. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นปี 2542 ดังนี้
องค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำ
    - จะต้องมีส่วนร่วมดำเนินการพิจารณาออกแบบวางแผน จัดทำรายชื่อสมาชิก คัดเลือกคณะกรรมการ จัดทำระเบียบต่างๆ การจัดสรรน้ำ การบำรุงรักษา และกำหนดค่าไฟฟ้า ก่อนโครงการจะเสร็จ
    - หลังจากโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะต้องบริหารจัดการด้านการจัดสรรและการแจกจ่ายน้ำการใช้งานและบำรุงรักษารวมทั้ง ค่ากระแสไฟฟ้าองค์การบริหารส่วนตำบล.
    - จะต้องรับโอนอาคาร-สิ่งก่อสร้างตามโครงการจากกรมชลประทานหลังการก่อสร้างของโครงการแล้วเสร็จ
    - จะต้องทำหน้าที่ควบคุม ดูแล ร่วมกับองค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำในการบำรุงรักษาอาคาร-สิ่งก่อสร้างตามโครงการนี้ต่อไป
จากการตรวจสอบพบว่า ทั้งองค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำ และ อบต. ขาดความพร้อมในการบริหารจัดการ ดูแล และบำรุงรักษาอาคาร-สิ่งก่อสร้าง ตามโครงการ ดังนี้
    1. องค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำขาดความพร้อม ดังนี้
จากการตรวจสอบทั้งหมด 9 โครงการ มีถึง 7 โครงการที่ยังไม่มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำซึ่งทั้ง 9 โครงการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กรมชลประทานกำหนดไว้ เช่น
    - โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 3 โครงการ
    - โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 6 โครงการ มีจำนวนถึง 4 โครงการที่ยังไม่มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ
สำหรับ 2 โครงการที่มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำแล้ว
จากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาได้ประมาณการค่าใช้จ่ายขององค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำของแต่ละโครงการพบว่าเกษตรกรเกินกึ่งหนึ่ง ไม่เต็มใจที่จะจ่ายเงินค่าใช้น้ำของโครงการ เพราะเคยชินกับระบบที่รัฐให้เปล่าตลอดเกษตรกรที่มีความเต็มใจจะจ่ายค่าใช้จ่ายสูงสุดไม่เกิน 200 บาท/ไร่/ปี
    2. องค์การบริหารส่วนตำบลขาดความพร้อม ดังนี้
จากการสอบถามหัวหน้าโครงการชลประทานจังหวัด เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และผู้จัดการโครงการเห็นว่า อบต.ในพื้นที่โครงการขาดความพร้อมที่จะบริหารจัดการ ดูแลสิ่งก่อสร้างตามโครงการภายหลังโครงการแล้วเสร็จ เนื่องจากไม่มีงบประมาณและบุคลากร ที่จะใช้ในการดำเนินการและไม่มีความพร้อมที่จะรับโอนโครงการจากกรมชลประทาน เนื่องจาก
    - กรมชลประทานไม่ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของโครงการในส่วนของ อบต. ต้องรับผิดชอบ
    - อบต. ส่วนใหญ่อยู่ในชั้น 5 ซึ่งมีรายได้น้อย และมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้กับประชากรในพื้นที่
    - อบต. ขาดบุคลากรที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับระบบการส่งน้ำ
จากการที่องค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำ และองค์การบริหารส่วนตำบลขาดความพร้อมในการบริหารผลกระทบดังนี้
    1. กรณีองค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำ (เกษตรกร) ไม่สามารถรับผิดชอบค่ากระแสไฟฟ้าและค่าซ่อมแซม อาจเป็นภาระต่องบประมาณต่อไป
    2. กรณี อบต. ขาดความพร้อมในการดูแลรักษา อาคาร-สิ่งก่อสร้างทำให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ส่งผลให้สิ่งก่อสร้างชำรุดเสียหายก่อนกำหนด
    3. อาจเกิดการสูญเปล่าของงบประมาณการก่อสร้างในส่วนที่รัฐได้ลงทุนไปแล้ว
สาเหตุ ที่ขาดความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการ เนื่องจาก
    1. ในขั้นตอนการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ บริษัทที่ปรึกษาไม่ได้ศึกษาหรือสำรวจความพร้อมของเกษตรกรและอบต. ในพื้นที่โครงการ
    2.ในขั้นตอนการออกแบบของบริษัทที่ปรึกษาเกษตรกรและอบต.ในพื้นที่โครงการไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิจารณาเลือกรูปแบบหรือ เทคโนโลยีที่จะใช้ในการก่อสร้างทำให้ได้ระบบที่ออกแบบที่ใช้เทคโนโลยีสูง มีความสลับซับซ้อน มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง และการดูแลบำรุง รักษาทำได้ยากเกินกว่าศักยภาพขององค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำและอบต.จะดูแลรักษาเองได้
    3. การกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการบริหารจัดการโครงการภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จไม่ชัดเจนและเป็นไปอย่างล่าช้า ทำให้เจ้าหน้าที่ของโครงการชลประทานจังหวัดขาดข้อมูลที่จะนำไปชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกร

ข้อเสนอแนะ
ให้อธิบดีกรมชลประทานดำเนินการดังนี้
    1. สั่งการและติดตามให้หัวหน้าโครงการชลประทานจังหวัด เร่งรัดการจัดตั้งองค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
    2. สั่งการและติดตามให้หัวหน้าโครงการ ดำเนินการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรของ อบต.ให้มีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้าง ก่อนถ่ายโอนอาคารสิ่งก่อสร้างให้กับ อบต.
    3. ภายหลังจากการดำเนินงานในส่วนของโครงการนำร่องแล้วเสร็จ ก่อนที่กรมชลประทานจะขยายการดำเนินงานในระยะที่ 2 ต่อไป ควรจะมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยเปรียบเทียบระบบส่งน้ำตามโครงการกับการส่งน้ำ ด้วยระบบคลองส่งน้ำแบบเดิม ในเรื่องของ ต้นทุนค่าใช้จ่ายและให้สำนัก/กอง ที่เกี่ยวข้องทบทวนการออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสม กับการใช้งานขององค์กรกลุ่มผู้ใช้น้ำ (เกษตรกร) และ อบต.
    4. หากมีการดำเนินงานโครงการอื่นของกรมชลประทานที่มีกิจกรรมหลักประการหนึ่งที่สำคัญคือการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเป็น ไปได้ของ โครงการกรมชลประทานจะต้องให้ความสำคัญกับการกำหนดรายละเอียดของข้อกำหนดขอบเขตการศึกษาในประเด็น วัตถุประสงค์ของการจ้าง ขอบเขตการปฏิบัติงาน ผลงานที่ได้รับจากการจ้างที่ปรึกษา  ให้มีความละเอียดรอบคอบและชัดเจน

ข้อตรวจพบที่ 4 ระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบที่ก่อสร้างแล้วเสร็จส่วนใหญ่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การดำเนินงานโครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากเพื่อการยังชีพไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ตามรายละเอียดดังนี้
    1. โครงการที่ยังไม่มีการสูบน้ำให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์จำนวน 2 โครงการ คือ
        - โครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำบ้านโนนฆ้อง จ.ขอนแก่น ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 51.21 ล้านบาทก่อสร้างเสร็จประมาณ 1 ปี แล้วยังไม่มีการสูบน้ำไปยังพื้นที่ โครงการ เนื่องจากสิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ ท่อส่งน้ำหลักแตกเสียหาย และอาคารหัวจ่ายน้ำชำรุด จำนวน 8 หัวจ่าย
        - โครงการสูบน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 51.56 ล้านบาท พบว่า ตั้งแต่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบงานรวมประมาณ 2 ปี ยังไม่มีการสูบน้ำตามวัตถุประสงค์หลักของโครงการแต่อย่างใด และโครงการนี้ มีข้อสังเกตว่าชื่อ โครงการไม่เกี่ยวข้องกับระบบท่อส่งน้ำแต่อย่างใด เพราะไม่อยู่ในการศึกษาความเหมาะสมของที่ปรึกษา แต่กรมชลประทานได้เพิ่มเข้าไปเป็นหนึ่งในโครงการนำร่องตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น เพื่อต้องการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ
    2. โครงการที่ได้มีการสูบน้ำไปยังพื้นที่โครงการแต่เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ คือ
        - โครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำบ้านดอนกอก อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 27.73 ล้านบาทจากการสอบถามเกษตรกรตามโครงการจำนวน 49 ราย พบว่ามีเกษตรกรเพียง 5 รายเท่านั้นที่ได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ทั้งที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
        - โครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำบ้านกุดแคน อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ใช้งบประมาณก่อสร้างจำนวน 55.83 ล้านบาท พบว่ามีเกษตรกรเพียง 3 รายเท่านั้นที่ได้นำน้ำไปใช้ประโยชน์เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ทั้งที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
จากการที่ระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบที่ก่อสร้างแล้วเสร็จส่วนใหญ่ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานโครงการ ดังนี้
    1. โครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วทั้ง 4 โครงการ คิดเป็นงบประมาณจำนวน 186.33 ล้านบาท อาจเกิดการสูญเปล่า
    2. เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้
    3. ทำให้อุปกรณ์ระบบท่อส่งน้ำและอาคารไม่ได้ใช้ประโยชน์เกิดการชำรุดเสียหายก่อนอายุการใช้งานจริงได้
    4. กรณีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ระบบท่อส่งน้ำเกิดชำรุดเสียหายทำให้เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบท่อส่งน้ำได้
ข้อเสนอแนะ
ให้อธิบดีกรมชลประทานดำเนินการดังนี้
    1. สั่งการและติดตามให้หัวหน้าโครงการชลประทานจังหวัด ซึ่งรับผิดชอบในการจัดสรรน้ำและการบำรุงรักษา
    2. ประสานงานกับหน่วยงานที่จะช่วยสนับสนุนเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการจูงใจเกษตรกรในพื้นที่โครงการให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์
    3. สั่งการและติดตามให้หัวหน้าโครงการติดตามการใช้ประโยชน์จากระบบท่อส่งน้ำตามโครงการอย่างสม่ำเสมอ
    4. สำหรับโครงการที่จะดำเนินงานในระยะที่ 2 ควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือก พื้นที่ดำเนินการโครงการให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความพร้อมของเกษตรกรในการ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตทางการเกษตรไปในเชิงพาณิชย์
ความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินต่อโครงการชลประทานระบบท่อส่งน้ำ

สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบโครงการนี้ในปีงบประมาณ 2546 เห็นว่าหากจะมีการขยายโครงการในระยะที่ 2 ต่อไป จะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ ที่มีผลต่อความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ดังนี้
    1. เกษตรกรในพื้นที่โครงการต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยเกษตรกรต้องทราบข้อมูลที่สำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจ
    2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่โครงการ ต้องมีความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอาคารและจัดเตรียมบุคลากร
    3.นอกจากหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำตามโครงการแล้ว ภาครัฐควรให้การสนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตร
    4. แหล่งน้ำต้นทุนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญสำหรับระบบท่อส่งน้ำตามโครงการ ต้องพิจารณาความเพียงพอของแหล่งน้ำต้นทุนให้สามารถ ส่งน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำได้ตลอดทั้งปี


ฉบับเต็มอ่านที่นี่  
view