สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลสอบโครงการค่าใช้จ่ายสำรอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

การตรวจสอบดำเนินงานโครงการพัฒนาสาขาการท่องเที่ยวภายใต้ค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2545 จังหวัดอุดรธานี

 
ความเป็นมา
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6 จังหวัดอุดรธานี ตระหนักถึงความสำคัญของการนำเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2545 ค่าใช้จ่ายสำรองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (งบกลาง) วงเงิน 58,000 ล้านบาท จึงได้เลือกตรวจสอบโครงการพัฒนาสาขาการท่องเที่ยว ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติโครงการฯ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2545 วงเงิน 1,972.21 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ซึ่งสรุปเป็นข้อตรวจพบและข้อสังเกตได้ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1 : การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนด
 จากการตรวจสอบพบว่าการดำเนินงานโครงการ จำนวน 3 โครงการ มีผลการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้และต้องมีการกันเงินงบประมาณไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 2 โครงการ ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยงานไม่มีกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนงาน/โครงการ ไม่มีการประสานงานในเรื่องของการ สั่งการ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์หรือให้ความสนใจในการจัดทำโครงการ ขาดแผนการเตรียมความพร้อมก่อนดำเนินการ
ข้อเสนอแนะ
1. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานที่มีบทบาทในด้านการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการจัดทำโครงการ และให้มีช่วงระยะเวลาการเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินโครงการ
2. ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของที่ทำการปกครองอำเภอหนองหานและสำนักงานเทศบาลตำบลไชยวาน กำหนดแผนปฏิบัติงานให้มีช่วงระยะเวลาการเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินงานเพื่อนำมาประกอบในการจัดทำแผนให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และให้ผู้บริหารตรวจสอบความถูกต้องก่อนเสนอโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ
ข้อตรวจพบที่ 2 : งานที่ดำเนินการแล้วประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า
จากการตรวจสอบโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 3 โครงการ พบว่า ไม่มีมีการใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างหรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า ดังนี้
1. กิจกรรมการก่อสร้างอาคารศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรกลุ่มอาชีพจึงเลิกจำหน่าย อาคารดังกล่าวจึงปิดไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ แต่ใช้เป็นสถานที่เก็บวัสดุและครุภัณฑ์สำนักงาน เป็นสถานที่เก็บจักรยานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมอบให้ จำนวน 50 คัน และเป็นสถานที่ประชุมกลุ่มอาชีพหรือผู้นำชุมชนเป็นครั้งคราว
2. กิจกรรมการก่อสร้างอาคารศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ของที่ทำการปกครองอำเภอหนองหานใช้พื้นที่ส่วนหลังของอาคารเนื้อที่ประมาณ 144 ตารางเมตร จากพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 531 ตารางเมตร เป็นที่สำหรับให้กลุ่มอาชีพนำสินค้าเข้ามาจำหน่าย ประสบปัญหาไม่มีห้องเก็บสินค้าและยังมีพื้นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกร้อยละ 72.88 ส่วนกิจกรรมการก่อสร้างอาคารที่พักวิทยากร ไม่เคยมีวิทยากรจากหน่วยงานราชการหรือองค์กรเอกชนใดเข้าพัก
3. กิจกรรมการก่อสร้างอาคารนักท่องเที่ยว ของสำนักงานเทศบาลตำบลไชยวาน พบว่า บริเวณอาคารส่วนใหญ่ไม่มีการใช้ประโยชน์ และใช้ประโยชน์เป็นครั้งคราวไม่คุ้มค่า
ทั้งนี้เนื่องจากหน่วยงานไม่ได้สำรวจพื้นที่ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ กลุ่มอาชีพส่วนใหญ่ทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำเกษตรกรรมจึงยังไม่ให้ความสนใจมากนัก ไม่มีแผนรองรับในการใช้ประโยชน์ ขาดการประสานงานเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ และขาดการดูแลเอาใจใส่ของ ผู้บริหารในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อีกทั้งไม่สามารถบริหารจัดการและติดตามการใช้ประโยชน์ของ โครงการให้เป็นไปตามที่ขออนุมัติโครงการ ว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุนปีละ 18-36 ล้านบาท ทำให้กลุ่มอาชีพต้องสูญเสียรายได้ที่พึงมี / สูญเสียโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากการดำเนินโครงการ และรัฐต้องสูญเสียโอกาสที่จะนำเงินงบประมาณไปดำเนินการในพื้นที่ที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า
ข้อเสนอแนะ
ให้นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเชียง นายกเทศมนตรีตำบลไชยวาน นายอำเภอหนองหาน ดำเนินการดังนี้
1. สำรวจสภาพพื้นที่และศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด เมื่อดำเนินการแล้วสามารถบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่
2. ประสานงานกับพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ราษฎรในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายการท่องเที่ยว
3. ดำเนินการปรับทัศนคติ สร้างจิตสำนึกให้กลุ่มอาชีพให้รู้จักรัก หวงแหน และเห็นคุณค่าของ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
4. จัดการฝึกอบรมการพัฒนารูปแบบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ ฝึกอบรมพัฒนาทักษะการตลาด ฝึกอบรมการบริหารธุรกิจเพื่อการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น
5. ให้องค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตน ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงด้านอาชีพและเพิ่มรายได้
6. จัดทำสื่อการประชาสัมพันธ์โครงการ ฯ เพื่อส่งเสริมการผลิตและการตลาด
7. ให้นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเชียงนำจักรยานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมอบให้มาใช้ให้เกิดประโยชน์

ข้อตรวจพบที่ 3
: การดำเนินโครงการซ้ำซ้อนกับโครงการของหน่วยงานอื่น
จากการตรวจสอบ พบว่า มีหน่วยงานที่จัดทำโครงการที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกัน ห้วงเวลาในการดำเนินการและสถานที่อยู่ใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างกันด้านแหล่งที่มาของเงิน จึงเป็นการก่อสร้างที่ซ้ำซ้อนเกินความจำเป็น ทั้งนี้เนื่องจากการจัดทำแผนงาน/โครงการของแต่ละหน่วยงานเป็นอิสระไม่ขึ้นตรงต่อกัน ทำให้ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดความต้องการจนถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการ
ข้อเสนอแนะ
ในโอกาสต่อไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีประสานงานกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการตรวจสอบและพิจารณาคัดเลือกโครงการที่ดำเนินการในพื้นที่เดียวกัน

ข้อสังเกตอื่น-การดำเนินงานมีการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายและข้อบังคับ
นอกเหนือจากข้อตรวจพบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีข้อสังเกตจากการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนี้
1. ที่ทำการปกครองอำเภอหนองหาน
ในการประมาณราคาค่าก่อสร้างอาคารศูนย์สาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้านอำเภอหนองหาน พบว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลาง คำนวณราคากลางงานก่อสร้างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำหนดราคากลาง ทำให้ประมาณราคาค่าก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริง
ข้อเสนอแนะ
ได้แจ้งตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6 ให้นายอำเภอหนองหานสั่งกำชับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบเรื่อง การคำนวณราคากลางงานก่อสร้าง โดยเคร่งครัด
2. สำนักงานเทศบาลตำบลไชยวาน
2.1 จัดทำรายงานแผน/ผล และการใช้จ่ายเงิน (แบบ ศก.1) ไม่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถใช้รายงานเพื่อติดตามและควบคุมการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามแผนได้
2.2 สำนักงานเทศบาลตำบลไชยวาน ขยายเวลาก่อสร้างให้ผู้รับจ้าง แต่สำนักงานเทศบาลฯ ไม่ได้เรียกค่าปรับจากผู้รับจ้างแต่อย่างได เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ได้ตรวจสอบเอกสารการขยายเวลาก่อสร้างเมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานเลยกำหนดเวลาจึงมิได้มีการคำนวณเรียกค่าปรับแต่อย่างใด
2.3 ก่อนการดำเนินการจัดหาไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางงานก่อสร้างทำให้ไม่ทราบว่าราคากลางในการก่อสร้างมีความเหมาะสมหรือไม่ แต่จะใช้การประมาณราคาก่อสร้างที่ช่างโยธาได้ประมาณการในการเสนอโครงการ
2.4 มีการกำหนดข้อความในประกาศประกวดราคาเกินความจำเป็นและเข้าข่ายเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น และการจัดทำสัญญาไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดในประกาศประกวดราคา
2.5 ในการประมาณราคาค่าก่อสร้างอาคารบริการนักท่องเที่ยว ประมาณราคาค่าก่อสร้างโดยใช้ค่า Factor F ไม่ถูกต้อง ทำให้ประมาณราคาค่าก่อสร้างสูงกว่าความเป็นจริง 245,091.78 บาท
2.6 ประมาณราคาวัสดุของงานก่อสร้างสูงกว่างานก่อสร้างจริง ตามรูปแบบรายการและการก่อสร้างจริงของอาคารบริการนักท่องเที่ยวสำนักงานเทศบาลไชยวาน ทั้งนี้เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ได้คำนวณถอดรูปแบบรายการเพื่อประมาณราคากลางงานก่อสร้าง
ข้อเสนอแน
ได้แจ้งตามหนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6 ให้นายกเทศมตรีตำบลไชยวานสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบและหนังสือสั่งการต่าง ๆ โดยเคร่งครัด ให้เรียกเงินค่าปรับจากผู้รับผิดชอบส่งคืนคลังเทศบาล และให้แต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง      


อ่านฉบับเต็ม    
view