สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ผลสอบองค์การเภสัช

บทคัดย่อ
บทสรุปการตรวจสอบการดำเนินงานด้านการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ
ขององค์การเภสัชกรรม

ขอบเขตการตรวจสอบ
1. ตรวจสอบผลการดำเนินงานด้านการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ทั้งยาที่ อภ. ผลิตและยาผู้ผลิตอื่น
2. ตรวจสอบหน่วยงานที่รับผิดชอบในการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาของ อภ. ทั้งในส่วนกลางและสาขาภาคทั้ง 3 สาขา
ผลการตรวจสอบ
การดำเนินการของ อภ. ด้านการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนยาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน ไม่สามารถเลือกผลิตเฉพาะยาและเวชภัณฑ์ที่มีกำไรสูงเท่านั้น ที่สำคัญต้องมีการปฏิบัติงานด้านการขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนดอย่างรัดกุม จากการตรวจสอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ปรากฏว่ามีบางส่วนไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับ และการให้บริการไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สรุปได้ดังนี้
1. องค์การเภสัชกรรมดำเนินการซื้อ ขายยา โดยมีบางส่วนไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับ
1.1 การดำเนินการขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐ
1.1.1 ยาที่ อภ. ผลิตและขายให้แก่หน่วยงานภาครัฐมีราคาสูงกว่าภาคเอกชน
1.1.2 การให้เงินสนับสนุนการขายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ที่กำหนด จากการตรวจสอบ พบว่า
อภ. ไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของยอดหนี้ค้างชำระในภาครัฐที่ได้รับชำระเร็วขึ้นหรือมีจำนวนมากขึ้น
มีการให้เงินสนับสนุนการขายแก่หน่วยงานภาครัฐในกรณีที่สั่งซื้อยาผู้ผลิตอื่นผ่าน อภ.
การจ่ายเงินสนับสนุนการขายไม่จ่ายให้หน่วยงานที่สั่งซื้อโดยตรงและไม่จ่ายทันทีที่จบการซื้อขายแต่ละครั้ง
1.1.3 การกำหนดราคาขายยาผู้ผลิตอื่นไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ พบว่า อภ. กำหนดราคาขายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
กำหนดราคาขายเพิ่มขึ้นจากราคาซื้อมากกว่า 20 %
กำหนดราคาขายเกินกว่าราคาขายทั่วไปของบริษัท
กำหนดราคาขายเพิ่มขึ้นจากราคาซื้อมากกว่า 20 % และเกินกว่าราคาขายทั่วไป
1.2 การดำเนินการจัดซื้อยาของ อภ. เพื่อขายให้หน่วยงานภาครัฐ ไม่เหมาะสม
การจัดซื้อยาจากบริษัทต่างๆ อภ. ดำเนินการโดยใช้วิธีพิเศษ ซึ่งการสั่งซื้อจะซื้อยาที่ อภ. มิได้ผลิตหรือผลิตไม่ทันขาย จากการสุ่มตรวจสอบรายการยาที่ อภ. ดำเนินการจัดซื้อดังนี้
1.2.1 จัดซื้อหลายครั้งในวันเดียวกันราคาต่างกันหรือเท่ากัน โดยจัดซื้อมากกว่า 5 ครั้งต่อวัน จำนวน 582 รายการ
1.2.2 จัดซื้อจำนวนเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ในช่วงเวลาเดียวกันราคาต่างกัน มีการจัดซื้อในวันเดียวกัน จำนวน 7 รายการ และเดือนเดียวกัน จำนวน 56 รายการ
1.2.3 จัดซื้อจำนวนมากราคาต่อหน่วยสูงกว่าจัดซื้อจำนวนน้อย ไม่เป็นไปตามหลักการซื้อขายทั่วไป มีการจัดซื้อวันเดียวกัน จำนวน 46 รายการ และระยะเวลาใกล้เคียง จำนวน 108 รายการ
1.3 วิธีการปฏิบัติงานของ อภ. เอื้ออำนวยให้มีการหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
1.3.1 การเอื้ออำนวยให้ใช้วิธีกรณีพิเศษในการสั่งซื้อยาที่ อภ. ไม่ได้ผลิตผ่าน อภ.พบว่า มีการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับระบียบดังกล่าว คือ
มีการสั่งซื้อยาที่ อภ. ได้ผลิตและยาผู้ผลิตอื่นปนกันมาในใบสั่งซื้อเดียวกัน หรือระบุชื่อบริษัทไว้ในช่องหมายเหตุ โดยใช้วิธีกรณีพิเศษ
มีการสั่งซื้อยาแบบระบุชื่อทางการค้าหรือชื่อบริษัทโดยวิธีกรณีพิเศษปนมากับการสั่งซื้อแบบใช้ชื่อสามัญ
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของ อภ. พบว่าแม้ทราบว่ามีความผิดปกติในการสั่งซื้อ ก็จะดำเนินการให้ โดยเห็นว่า อภ. เป็นเพียงผู้ขายไม่มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องในการสั่งซื้อของลูกค้า
1.3.2 อภ. ยินยอมให้มีการใช้หลักฐานการสั่งซื้อที่ไม่สมบูรณ์ จากการสอบทานเอกสารประกอบการสั่งซื้อยาของโรงพยาบาลต่างๆ พบว่า การสั่งซื้อทางโทรศัพท์ โทรสาร ไม่นำหลักฐานการสั่งซื้อฉบับจริงมาแนบไว้กับหลักฐานการขายอื่นๆ ที่สำคัญหนังสือสั่งซื้อยังไม่มีการลงนามจากผู้มีอำนาจอนุมัติซื้อ และยังไม่มีการออกเลขที่หนังสือสั่งซื้อ รวมทั้งมีข้อสังเกตว่าสำเนาใบส่งของไม่มีการบันทึกเลขที่หนังสือสั่งซื้อและวันที่ส่งของ นอกจากนี้ยังพบว่ากรณีจำนวนเงินสั่งซื้อเกินอำนาจการอนุมัติของผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนพนักงานขายของ อภ. ได้นำหนังสือสั่งซื้อไปทำเป็น 2 ฉบับ โดยถ่ายเอกสารแล้วเติมเลขที่ใหม่ เพื่อให้เห็นว่าเป็นการสั่งซื้อคนละครั้ง
2. การดำเนินการจัดหายาให้แก่หน่วยงานภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
2.1 การบริการด้านการขายยังไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เป็นลูกค้าได้เท่าที่ควร
2.2 ยาที่ อภ. แจ้งว่ามีขายแต่ผลิตไม่ทันจำหน่าย
2.3 การดำเนินงานด้านการแลกเปลี่ยน คืนยา ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ผลกระทบ
จากข้อตรวจพบข้างต้นจะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่อภาครัฐและ อภ. ดังนี้
ผลกระทบต่อภาครัฐ
1. ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องใช้งบประมาณจัดซื้อยาจาก อภ. เพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น กล่าวคือ
1.1 การให้เงินสนับสนุนการขายแก่หน่วยงานภาครัฐที่สั่งซื้อยาจาก อภ. โดย อภ. ได้นำรายการเงินสนับสนุนการขายไปตั้งเป็นองค์ประกอบหนึ่งในราคายาด้วยจำนวนเต็ม 5 % ของราคาขายไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม หากคำนวณจากยอดขายยา จำนวน 9,722.90 ล้านบาท ทำให้รัฐต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นทันทีที่สั่งซื้อยาจาก อภ. เป็นเงิน 486.15 ล้านบาท และ อภ. ได้จ่ายคืนเงินดังกล่าวให้แก่หน่วยงานภาครัฐในอัตราที่ต่ำกว่า 5 %โดย อภ. จะได้รับประโยชน์จากผลต่าง เป็นการแสวงหากำไรจากรัฐและประชาชน
1.2 การที่ อภ. ขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐในราคาสูงกว่ายาผู้ผลิตอื่น ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณจัดซื้อยาจาก อภ. เพิ่มขึ้น
1.3 การให้เงินสนับสนุนการขายยังเป็นไปในลักษณะของการนำเงินซึ่งมีที่มาจากงบประมาณแผ่นดินกลับมาใช้ในกิจการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือสาธารณะทำให้รัฐเสียโอกาสในการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมอื่นในการพัฒนาประเทศ
2. ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่สั่งซื้อยาผู้ผลิตอื่นจาก อภ. เสียประโยชน์จากการแข่งขันด้านราคา
3. การผลิตยาไม่ทันจำหน่าย ทำให้เป็นปัญหาในการบริหารเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล
ผลกระทบต่อองค์การเภสัชกรรม
4. การที่ อภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอาศัยความได้เปรียบอันเป็นผลเกื้อหนุนจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อยาที่ อภ. ได้ผลิต ไปแสวงหาผลประโยชน์ด้านราคา และยังไม่มีการปรับปรุงการให้บริการด้านการขาย ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ อภ. และทำให้ยากต่อการรักษายอดขายในกลุ่มลูกค้าภาครัฐไว้ได้
5. การผลิตยาไม่ทันจำหน่าย ทำให้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2541-2543 อภ. เสียยอดขายในกลุ่มลูกค้าภาครัฐไปแล้ว
สาเหตุ

การที่ อภ. ดำเนินการซื้อ ขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐโดยมุ่งแสวงหากำไรสูงสุด โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับ และการจัดหายาให้แก่หน่วยงานภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สรุปสาเหตุได้ดังนี้
1. นโยบายการบริหารงานมิได้กำหนดโดยยึดกรอบของการดำเนินกิจการที่ให้ อภ. คำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน
2. กิจกรรมที่กำหนดขึ้นไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชน
3. การดำเนินการซื้อยาเพื่อขายให้แก่หน่วยงานภาครัฐในลักษณะซื้อมาขายไป ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดด้านราคา
4. ข้อบังคับ ที่ใช้เป็นกลไกในการปฏิบัติงาน และหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติงานในการขาย กำหนดไว้ไม่รัดกุม และไม่เหมาะสม กล่าวคือ
4.1 ข้อบังคับ อภ. ว่าด้วยการขายกำหนดเพียงกว้างๆจึงเป็นสาเหตุทำให้ผู้มีหน้าที่ต้องกำหนดราคาขายให้มีกำไรมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ทุกรายการ
4.2 มาตรฐานวิธีปฏิบัติงานของแผนกขายส่ง กำหนดวิธีการรับใบสั่งซื้อ โดยให้พนักงานธุรการรับหลักฐานการสั่งซื้ออย่างไม่เป็นทางการได้
4.3 การรับใบสั่งซื้อ การยืนยันการขาย ตามมาตรฐานวิธีปฏิบัติงานของแผนกขายส่งไม่กำหนดให้มีการสอบทานการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
4.4 การดำเนินการจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่นในลักษณะซื้อมาขายไป ไม่มีระเบียบวิธีการที่ใช้เป็นเพียงแนวปฏิบัติที่ยึดถือต่อๆ กันมา
4.5 วิธีการคัดเลือกบริษัทจำหน่ายยาดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ให้บริษัทผู้จำหน่ายที่คุ้นเคยมาเสนอราคา มิได้ดำเนินการโดยแต่งตั้งคณะกรรมการ และไม่ประชาสัมพันธ์ ทำให้บริษัทอื่นไม่มีโอกาสแข่งขัน
5. ไม่มีการกำหนดเกณฑ์ชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการรักษาประโยชน์ของรัฐและประชาชน จึงเป็นเหตุให้พนักงาน อภ.พยายามทำทุกทางเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน
6. ยาที่ อภ. ผลิตไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย มีสาเหตุมาจากการวางแผนการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพประกอบกับศักยภาพในการผลิตยาของ อภ. ไม่เพียงพอเครื่องจักรมีประสิทธิภาพต่ำ
7. ยาที่ อภ. ผลิตจำหน่ายให้แก่หน่วยงานภาครัฐมีราคาสูง มีสาเหตุมาจากการกำหนดราคาขายยามีจุดประสงค์เพื่อแสวงหากำไรสูงสุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ข้อเสนอแนะ
เพื่อให้การดำเนินกิจการเป็นไปตามเจตนารมย์ในการจัดตั้งองค์การเภสัชกรรม ต้องดำเนินการดังนี้
คณะกรรมการบริหาร อภ.
1. กำหนดบทบาทในการดำเนินกิจการของ อภ. ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดตั้ง
ผู้อำนวยการ อภ. และผู้บริหารระดับสูง
2. กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่น และการขายยาให้แก่หน่วยงานภาครัฐให้เป็นระบบ และจัดทำเป็นคู่มือการปฏิบัติงาน
3. ต้องกำหนดแผนงานและกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกับบทบาทของ อภ. ในการรักษาประโยชน์ของรัฐและประชาชน
4. ยกเลิกระเบียบ อภ. ว่าด้วยการให้ส่วนลด และเงินสนับสนุนการจำหน่าย แต่หาก อภ. เห็นว่าควรให้เงินสนับสนุนการจำหน่ายตอบแทนหน่วยงานที่เป็นลูกค้าเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจให้นำเงินดังกล่าวไปลดราคายาที่ อภ. ผลิตลงอีก 5% ทุกรายการทันทีที่สั่งซื้อ
5. ทบทวนการกำหนดราคาขายยาผู้ผลิตอื่น
6. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่น (การจัดซื้อยาลักษณะซื้อมาขายไป) โดยดำเนินการดังนี้
การกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกบริษัทผู้จำหน่ายยา และวิธีการจัดซื้อยาผู้ผลิตอื่นต้องทำอย่างเป็นทางการ
กำหนดช่วงระยะเวลาทำการจัดซื้อให้ชัดเจน เพื่อให้มีการรวบรวมรายการยาผู้ผลิตอื่นที่ต้องจัดซื้อให้มีปริมาณมากพอควร แล้วจึงจัดซื้อครั้งหนึ่ง
การคัดเลือกบริษัทผู้จำหน่ายต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบอย่างเปิดเผยทั่วถึง
7. คณะกรรมการประเมินผล อภ. ร่วมกับผู้บริหาร อภ. กำหนดเกณฑ์ชี้วัดผลการดำเนินงานด้านบทบาทในการรักษาประโยชน์ของรัฐ และให้น้ำหนักเป็นอันดับแรก

อ่านฉบับเต็ม    


view