สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การจัดเก็บภาษีแอมเพิลริช

บทความนี้เคยเขียนไว้นานแล้วตั้งแต่ 11/03/06 ภายหลังได้ส่งให้ทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งตอนนี้ยังคงมีให้อ่านอยู่ใน รายงานพิเศษ เรื่องจับตาทักษิณทิ้งหุ้นแสนล้าน (เข้าใจว่าน่าจะใช่) ที่เอามาลงในที่นี้ ไม่ใช่อะไรอยากให้ใช้ศึกษาด้านภาษีอากร ที่เขียนไว้เป็นมุมมอง ในการจัดเก็บภาษี แต่เชื่อไหมครับว่า ถ้าเป็นมุมมองในการต่อสู้ทางคดี อดีตนายกอาจหลุดหรือเสียไม่มากถ้าเหตุการณ์เป็นเช่นนั้นจริง อย่าโทษว่า ค.ต.ส. ไร้น้ำยา เพราะเป็นการต่อสู้กันทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ระเบียบปฎิบัติที่ผ่านมา รวมถึงการตีความตามกฎหมาย และ กรณีนี้มีทางรอดเนื่องจากกฎหมายมีรูโหว่พอประมาณ อยู่ทีใครจะเห็นและไวกว่าระหว่าง คนมุดกับคนอุด ถ้าถามผม ผมว่าคนมุดได้ เปรียบนิดๆเนื่องจากเป็นคนแก้ซึ่งจะเห็นประเด็นที่ตั้งไว้ก่อน แต่ทั้งหมดคงต้องขึ้นอยู่กับการตีความกฎหมายว่าจะให้เป็นคุณต่อประเทศ โดยรวมหรือไม่ และคงต้องขึ้นกับคำวินิจฉัยของขบวนการยุติธรรมเป็นหลัก
        ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผมเรียนตามตรงว่า ไม่เข้าใจในการกระทำ คนที่เกี่ยวข้องทั้ง ค.ต.ส. และ สรรพากร ส่วนใหญ่ถ้าไม่ใช่ อาจารย์ที่ผมเคารพ ก็เป็นคนที่รู้จักมักคุ้น หรือบางท่านเป็นทั้งสองกรณีรู้ว่าเป็นคนดีมีฝีมือ มีอนาคต ถ้้าอ่านบทความนี้ผมได้เขียน ไว้ชัดเจนพอสมควรในบางที่ ว่า เจ้าหน้าที่ทั้งหมดมีสิทธิ์รอด ผมไม่รู้ว่ารู้หรือไม่รู้ ถ้าไม่รู้ก็น่ามีคนบอกบ้าง ที่บอกว่าไม่เข้าใจในการกระทำคือ ทำไม่มีทางออกได้แต่ไม่ออก (ทำกันอย่างนี้กระทรวงการคลังก็เลยมีปัญหาเรื่องเจ้าหน้าที่ โตไม่ทันอย่างที่เห็น หรือ รู้แล้วแต่นิ่งไว้ไม่กระโตกกระตากเพราะเห็นกังวลกันน้อยกว่าที่ควรเป็น) ก็ดูเอาแล้วกันว่าผลจะออกมาอย่างไร แต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร จะมีผลต่อการกระทำ กับ ระเบียบการดำเนินการและการจัดเก็บภาษี รวมถึงการปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างมาก คอยดูฝีมือ ของทีมทนายทั้งสองทีมว่ามีฝีมือแค่ไหนกันดีกว่า

*******************************************************************

จริงหรือเปล่าขายชินคอร์ปไม่สามารถเก็บภาษีได้แม้แต่บาทเดียว กรมสรรพากรไร้น้ำยาขนาดนั้นเชียวหรือ !!!!

ต้องอ่าน หากกรมสรรพากรมีเจตนาและกล้าพอในการเก็บภาษีให้เป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีทั้งประเทศ

    วิธีการวางแผนภาษีที่ดีเป็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายในการทำให้เสียภาษีลดลง หรือเป็นการทุเลาการเสียภาษีลงบ้าง ในแง่ของพ่อค้า ก็คงทำได้โดยไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ในแง่ของนักธุรกิจที่มีจริยธรรมจะต้องทำอย่างตะขิดตะขวงใจ เพราะการเสียภาษีเป็นหน้าที่ของ ประชาชนชาวไทยและใช้เป็นทุนของประเทศชาติและสังคม แต่เชื่อเถอะว่าไม่มีการวางแผนภาษีอะไรที่ทำให้ไม่เสียภาษีซักบาท นอกจากกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจนเป็น ลายลักษณ์อักษรว่าไม่ต้องเสีย เพราะการตีความตามกฎหมายของกรมสรรพากรจะตีเพื่อ เก็บภาษีเป็นส่วนใหญ่

    ปกติการวางแผนภาษีทั่วไปใช้องค์ประกอบ ๔ อย่าง คือ กฎหมาย บัญชี ภาษีอากร และการจัดการทางธุรกิจ แต่ ดีลชินคอร์ป เป็นมิติใหม่ของการวางแผนภาษี คือใช้ องค์ประกอบ ๗ อย่าง คือ กฎหมาย บัญชี ภาษีอากร การจัดการทางธุรกิจ อำนาจทางการเมือง ความขี้โกง และความหน้าด้านตีความกฎหมายแบบข้างๆคูๆ ใช้สีข้างเข้าถู การวางแผนภาษีในการขายชินคอร์ป เป็นวิธีเก่าๆที่ใช้กันมา แพร่หลายตั้งแต่ประมาณปี ๒๕๓๕ เรื่อยมาไม่ใช่ของใหม่แต่คนที่ทำได้มักเป็นบริษัทใหญ่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และมักจะเป็น คนรวย กรมสรรพากรจึงยังไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน การกระทำเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี ๒๕๔๐ และเป็นช่องทางในการผ่องถ่ายเงินที่ได้จากการคอร์รับชั่น เงินค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ และเงินที่ไม่ สุจริตออกนอกประเทศ ปัญหานี้ไม่ได้ เกิดในเฉพาะประเทศไทยแต่ปัญหานี้เกิดในหลายประเทศ มีหลายประเทศ ที่พยายามแก้ปัญหาดังกล่าวโดยการออกกฎหมายมาป้องกัน แต่ยังไม่ค่อยได้ผลนัก เช่นประเทศสหรัฐอเมริกา และในระยะเวลาอันใกล้คือ เกาหลีใต้ เพราะทุกประเทศคิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ หากไม่ได้แก้จะมีทั้ง ปัญหาการคอร์รับชั่น ปัญหาสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ และความยุติธรรมรวมถึงจริยธรรมของประชากรในสังคม ที่นับวัน จะแก้ยากขึ้นเรื่อยๆ แต่เชื่อไหมถ้ากรมสรรพากรมีความกล้าหาญพอ ประเทศไทยจะเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเรามีกฎหมาย การจัดเก็บภาษีที่ไม่เหมือนใคร ประมวลรัษฎากรไทยสามารถจัดเก็บภาษีอย่างเหวี่ยงแหหรือใช้กำปั้นทุบดินก็พอทำได้อย่างไม่ขัดเขิน ระบบกฎหมายเราเป็นระบบกล่าวหา (ตั้งข้อหาก่อนแล้วพิสูจน์ทีหลัง) ระบบภาษีอากรของเราเป็นระบบภาษีอากรประเมิน หากผู้เสียภาษี ประเมินไว้ไม่ถูกใจ กรมสรรพากรสามารถให้เจ้าหน้าที่ประเมินใหม่ให้ก็ได้ การเก็บภาษีของเราเก็บก่อนคืนที่หลังก็ยังได้ เวลาเก็บ ภาษีถ้าจ่ายช้าจะคิดดอกเบี้ยแต่เรียกว่า เงินเพิ่ม (เลยคิดได้ปีละ ๑๘% มากกว่าที่ประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์กำหนดไว้) แต่ถ้าเก็บ ไปก่อนไม่เคยให้ดอกเบี้ยทั้งๆที่ในกฎหมายก็มีเขียนให้คืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยแต่ก็ไม่ให้ เวลาฟ้องศาลแพ้ก็แก้กฎหมาย แบบนี้นักธุรกิจ ไทยเจอกันมาทั้งประเทศ ดังนั้นกฎหมายภาษีอากรไทยจึงมีการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เหมาะกันนิสัยคนไทยบางกลุ่มที่ พลิ้วไหวไร้จริยธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติดีเด่นของคนชั่วคนโกงทั่วโลก

        แล้วประเทศไทยมีดีแค่ที่กล่าวมาหรือ ? เปล่าเลย หลังวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ หลายประเทศพยายามให้ ไทยปรับปรุงระบบการ บัญชีและรายงานหลายอย่างมีการปรับปรุงแก้ไขโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทยและรัฐบาลสมัยนั้นพยายาม ปรับปรุงจนระบบบัญชีและรายงานมีความโปร่งใสที่ระดับหนึ่ง จนแทบจะกล่าวได้ว่าการวางแผนภาษีทำได้ยากขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่า ทำไม่ได้ และกฎหมายภาษีอากร ที่อาจมีปัญหาการตีความตามกฎหมาย ได้มีกฎหมายอื่นเข้ามาเสริมในส่วนที่ขาดให้ครบถ้วนขึ้น ทำให้การ วางแผนภาษีเดิมๆจะต้องมีการปรับเปลี่ยนแปลง การใช้วิธีเดิมๆไม่ง่ายอีกต่อไป ทำให้กรณีชินคอร์ป จึงเป็นการวางแผนภาษีแบบโบราณ ไม่บูรณาการ ไม่คิดใหม่ทำใหม่ ไม่มี CREATIVITY คำนี้นายกคงชอบ...(เอาใจน่าดู!)

        การหลบหลีกหรือหลีกเลี่ยงภาษีดังที่จะกล่าวต่อไปนี้  ไม่มีเจตนาในการเล่นงานการขายหุ้นของใคร คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องการใช้กรณีขายหุ้นชินคอร์ปเป็นกรณีศึกษาและเป็นเครื่องกระตุ้นให้กรมสรรพากร กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยความกล้าหาญในการจัดการการหลบภาษีอย่างจริงจังในทุกกรณีทั้งที่เกิดมาแล้ว ที่กำลังเกิด และเป็นการป้องกันกรณีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สมศักดิ์ศรีของการเป็นข้าราชการใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

        ดังนั้นกรมสรรพากร ต้องตามเก็บภาษีคนโกงมาให้หมด ไม่ว่าหน้าไหน

ต่อไปนี้จะเป็นส่วนที่คัดลอกหนังสือตอบคำหารือของกรมสรรพากร จากสมุดปกขาวที่จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ โดย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาทนายความ ในส่วนของข้อเท็จจริง ข้อ ๗. ดังนี้

“ ๗. วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๔๘ กรมสรรพากรตอบข้อหารือสรุปว่าการซื้อขายหุ้นรายนี้เป็นการซื้อขายสินค้า ตามปกติ ดังนี้
    ๗.๑ ตามข้อเท็จจริง การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป ฯ ในราคาหุ้นละ ๑ บาท ให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาว พินทองทา ชินวัตร กรณี เรื่องของการซื้อขายทรัพย์สินระหว่างบริษัท Ample Rich ซึ่งเป็นผู้ขายกับนายพานทองแท้ ชินวัตร และ นางสาวพินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ซื้ออันเป็นเรื่องปกติในทางการค้า ส่วนราคาที่ตกลงซื้อขายกันต่ำกว่าราคาตลาด ผู้ขายและผู้ซื้อมีสิทธิตกลงกันได้ โดยผู้ซื้อต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามที่ตกลงนั้น ตาม มาตรา ๔๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สำหรับประเด็นภาระภาษีการซื้อขายหุ้นดังกล่าว
    ๑).กรณีบริษัท ฯ ซึ่งเป็นผู้ขายผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินลงทุน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๔)ช แห่งประมวลรัษฎากร หากการขายหุ้นดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดในวันที่โอนหุ้นได้ตามมาตรา ๖๕ ทวิ(๔) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากตามข้อเท็จจริง บริษัทฯเป็นบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลใน British Virgins Islands ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย และไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ดังนั้น หากบริษัทฯมิได้เข้ามาในประเทศไทยเพื่อการขายหุ้นดังกล่าวหรือได้ขายหุ้นดังกล่าวผ่านลูกจ้าง หรือผู้กระทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย กรณียังถือไม่ได้ว่า บริษัทฯ กระทำกิจการในประเทศไทย ที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๖๖ วรรคสอง และมาตรา ๗๖ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อมีการจ่ายเงินค่าหุ้นดังกล่าวไปให้กับบริษัทฯ ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เนื่องจากเงินได้ที่ได้รับไม่เข้าลักษณะตามเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๒)(๓)(๔)(๕)หรือ(๖) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้ตามมาตรา ๗๐ แห่งประมวลรัษฎากร
    ๒).กรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ซื้อ การได้ซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด เป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูกซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายอันเป็นเรื่องปกติทั่วไป ของการซื้อขายตามมาตรา ๔๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนต่างของราคาซื้อกับราคาตลาด จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากร

    ๗.๒ กรณีของบริษัทฯ ได้ขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปฯ ที่บริษัทได้ถือไว้ให้กับนายพานทองแท้ ชินวัตร และ นางสาวพินทองทา ชินวัตร ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท ฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว หุ้นที่บริษัทฯได้ซื้อไว้เป็นทรัพย์สินหรือสินค้าของบริษัทฯมิใช่เป็นหุ้นของบริษัทเป็นผู้ออกเอง กรณีจึงไม่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ ๒๘/๒๕๓๘ เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้น  หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๘  ”จากการแถลงการณ์ของโฆษกตระกูลชินว่าได้ปรึกษากรมสรรพากรได้แล้วว่า กรณีของแอมเพิล ริช นั้น เป็นกรณีที่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศและไม่ได้ประกอบกิจการในไทยจึงต้องตีความว่า เป็นการเข้าตามมาตรา ๗๐ ปร. อาจถูกต้องเท่าที่มีข้อเท็จจริงที่ผู้ถามได้หารือกับกรมสรรพากร จะเห็นว่าเนื่องจาก บริษัทแอมเพิล ริชได้จดทะเบียนโดยมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การแถลงการณ์ในเวลาดังกล่าวของอธิบดีเป็นการยืนยันจดหมายตอบคำหารือที่เคยได้ให้กับปปช.ไว้ตั้งแต่ปี ๔๓ และตามคำหารือของนายสุวรรณ เมื่อวันที่ ๒๑ ก.ย. ๔๘ ซึ่งข้อเท็จจริงที่ให้กับกรมสรรพากรไม่ครบถ้วน เท่ากับหลังจากที่ได้แถลงการณ์แล้ว กรมสรรพากรจึงมีการวินิจฉัยและตอบคำหารือไปตามข้อเท็จจริง ที่ได้รับเท่าที่ผู้หารือได้ทำหนังสือหารือไปยังกรมสรรพากร  แต่หากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมตามที่นายสุวรรณแถลง วันที่ ๑ ม.ค. ๔๙ และข้อมูลที่ให้กับหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งคำชี้แจงของนายกรัฐมนตรีที่ได้ออกทางสื่อมวลชน หลายแขนงแล้ว คำวินิจฉัยของกรมสรรพากรอาจมีการเปลี่ยนแปลง(ยกเว้นจะหลับหูหลับตาจนไม่เห็นความจริง) และจะมีผลกับการเสียภาษีอย่างมาก กล่าวคือ

๑.บริษัท แอมเพิล ริช อินเวสเมนท์ จำกัด ประกอบกิจการในประเทศไทยหรือเปล่า ?

      อย่างไรจึงเรียกว่าประกอบกิจการ กรณีดังกล่าวในประมวลรัษฎากรไม่มีการระบุไว้ชัดเจน แต่ได้มีระบุไว้ใน มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ ๔๒ เรื่องการบัญชีสำหรับกิจการที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุน ซึ่งได้เริ่มมีการบังคับใช้ตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๔๓ ได้ระบุไว้ในคำนิยามว่า   
    กิจการลงทุน    หมายถึง    กิจการทุกประเภทที่ดำเนินธุรกิจเฉพาะด้านการลงทุน
    เงินลงทุน        หมายถึง    สินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งให้กับกิจการลงทุนไม่ว่าจะอยู่ในรูปผลประโยชน์ที่จะได้รับ(เช่น ดอกเบี้ย ค่าสิทธิ เงินปันผลและค่าเช่า) หรือในรูปของราคาที่เพิ่มขึ้น ....
    ฝ่ายบริหาร      หมายถึง    บุคคลที่รับผิดชอบในการจัดการกิจการลงทุน บุคคลดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย หรือตัดสิน ใจเพื่อให้กิจการลงทุนบรรลุวัตถุประสงค์โดยทั่วไปที่วางไว้ ฝ่ายบริหารของกิจการลงทุน รวมถึง
            ก)กรรมการของกิจการลงทุนหรือของกิจการที่รับผิดชอบในการลงทุนของกิจการลงทุน
            ข)ผู้บริหารที่มีอำนาจควบคุมสายงานหลักของกิจการลงทุนหรือของกิจการที่รับผิดชอบในการลงทุน ทั้งนี้สายงานหลัก ได้แก่ สายงานด้านการขาย การลงทุน การเงิน และการบริหารทั่วไป เป็นต้น
            ค)บุคคลอื่นที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายของสายงานหลักไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีตำแหน่งเป็นทางการหรือไม่ก็ตาม

    ดังนั้น บริษัทแอมเพิล ริช ถือได้ว่ามีการประกอบกิจการเนื่องจากวัตถุประสงค์คือการเข้าลงทุน การลงทุนจะลงทุนในตลาดแนสแด็ก หรือตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย ก็คือการลงทุนตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ของบริษัท จึงมีการประกอบกิจการตามปกติ เพราะมีการรับ เงินปันผลจากชินคอร์ปแล้วทุกปี

    แล้วมาตรฐานการบัญชีไปเกี่ยวอะไรกับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากร หากกล่าวย้อนหลังไปเมื่อประเทศประสบวิกฤตปี ๒๕๔๐ ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีใหม่ให้ทันสมัยไม่ถูกต่างชาติดูหมิ่นดูแคลน โดยธนาคารโลกได้ให้เงินช่วยเหลือ จำนวนเงินถึง ๘๐ ล้านบาท(เข้าใจว่าจำไม่ผิด) เพื่อให้ประเทศไทยปรับปรุงมาตรฐานการบัญชีและการรายงานให้มีความถูกต้องโปร่งใส และหลังจากนั้น ได้มีการตรากฎหมายพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยได้บังคับใช้ ๙๐ วันนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓) โดยพระราชบัญญติตังกล่าวได้ระบุไว้ในมาตรา ๔๓ ว่า “ระหว่างที่ยังไม่มีมาตรฐานการบัญชีที่กฎหมายกำหนด ให้ถือว่ามาตรฐานการบัญชีที่กำหนดโดยสมาคมนักบัญชีและผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการควบคุมการประกอบ วิชาชีพบัญชีได้มีมติให้ประกาศใช้แล้ว เป็นมาตราฐานการบัญชีตามพระราชบัญญัตินี้”   ส่วนที่เกี่ยวพันกับกรมสรรพากรที่เจ้าหน้าที่ สรรพากรต้องใช้ปฎิบัติด้วยเนื่องจากตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. ๑๒๒/๒๕๔๕ ได้กล่าวไว้ในข้อ ๒.๑.๓ ว่าการปฎิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี ให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเน้นการทดสอบความถูกต้องของงบการเงินและบัญชีว่าถูกต้องเป็น จริงตามควรตรงตามเอกสารประกอบการลงบัญชี และบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่ .....รวมถึงการตรวจสอบ ความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร...” การออกคำสั่งของกรมสรรพากรดังกล่าวเท่ากับว่า เป็นการกำหนดให้กิจการจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี โดยหากมีการระบุไว้เป็นเงื่อนไขตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา ๖๕ ทวิ , ๖๕ตรี ให้ทำการปรับปรุงเพื่อเสียภาษีอากรเมื่อจะทำการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี เพราะฉะนั้นหาพิจารณาตามมาตรฐานการบัญชี แล้วไม่สามารถที่จะกล่าวได้เลยว่า บริษัท แอมเพิล ริช ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งมีผลต่อการจัดเก็บภาษีอย่างยิ่งดังที่จะ กล่าวต่อไป

๒. บริษัท แอมเพิล ริช ต้องเสียภาษีหรือไม่ มีตรงไหนบ้างที่พอจะอ้างอิงใช้ในการเก็บภาษีได้ ?

เท่าที่เห็นอย่างน้อย ๓ วิธี ที่เรียกเก็บจาก บริษัท แอมเพิล ริช ได้ คือ
    วิธีที่ ๑ มีกฎหมายหลักอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง ๑ มาตรา คือ
        มาตรา ๖๖ ระบุว่า “บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและ กระทำกิจการในประเทศไทย ต้องเสียภาษีตามบทบัญญติในส่วนนี้
        บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและกระทำกิจการในที่อื่น รวมทั้งในประเทศไทย ให้เสียภาษี ในกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้กระทำในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญขี และการคำนวณกำไรสุทธิ ให้ปฎิบัติเช่น เดียวกับมาตรา ๖๕ และ มาตรา ๖๕ ทวิ ...”

ความเห็น การจัดเก็บภาษีตามมาตราดังกล่าวที่ระบุเหมือนเหวี่ยงแห โดยใช้หลักแหล่งเงินได้ ถ้ามีเงินได้จากประเทศไทยต้องเสียภาษี ให้ประเทศไทย แล้ว บริษัท แอมเพิล ริช เป็นสัญชาติ British Virgins Islands  ซึ่งไม่มีสนธิสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย ถ้าคิดจะ เก็บภาษีอย่างไรก็เก็บได้

    วิธีที่ ๒ มีกฎหมายหลักอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง ๑ มาตรา คือ
        มาตรา ๗๖ ทวิ ระบุว่า “ บริษัท...ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมีลูกจ้าง หรือผู้กระทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ ในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่ากิจการนั้นประกอบกิจการ ในประเทศไทย และให้ถือว่าบุคคลผู้เป็นลูกจ้าง หรือผู้กระทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อเช่นว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เป็นตัวแทนของบริษัท...”

ความเห็น กรณี บริษัทแอมเพิล ริช มีผู้ถือหุ้นเป็นนายพานทองแท้ และนส. พินทองทา โดยได้ขายหุ้นให้กับนายพานทองแท้ และนส พินทองทา ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเมื่อวันที่ ๒๐ ม.ค. ๔๙ แสดงว่า นายพานทองแท้ และนส.พินทองทา เป็นผู้กระทำการแทนบริษัทแอมเพิล ริชไปโดยปริยาย ส่งผลให้บริษัทแอมเพิล ริช เป็นผู้มีเงินได้ในประเทศไทย และเนื่องจากหุ้นของบ.ชินคอร์ป เป็นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย การขายหุ้นจากบริษัท แอมเพิล ริช ให้บุคคลอื่น จะต้องให้กรรมการเซ็นต์ในแบบแสดงการขายหุ้นหรือในใบสำคัญบริษัท ดังนั้น นายพานทองแท้จะมีฐานะอีกฐานะหนึ่งคือกรรมการบริษัท แอมเพิล ริช (จากการแถลงข่าวของ กลต ระบุชัดเจนว่านายพานทองแท้ และ นส.พินทองทา เป็นกรรมการของบริษัท แอมเพิล ริช) หรือ หากดูในคำนิยามคำว่า ผู้บริหารของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ ๔๒ ข้อ ค) น่าสนใจว่าการที่นายพานทองแท้ กล่าวว่า การขายหุ้นเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่คนนั้นจะมีสถานะเป็นฝ่ายบริหารของบริษัท แอมเพิล ริช ตามมาตรฐานการบัญชี หรือไม่

    ดังนั้น บริษัท แอมเพิล ริช จะมีผู้กระทำการแทน หรือผู้ทำการติดต่อ และเป็นผู้ที่มีเงินได้จากการประกอบกิจการในประเทศไทย จึงถือว่า ครบองค์ประกอบ บริษัทแอมเพิล ริช จะต้องยื่นรายการและเสียภาษีตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยนายพานทองแท้และนส.พินทองทา จะต้องมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการยื่นรายการภาษีแทน ตามมาตรา ๗๖ ทวิ

    วิธีที่ ๓ มีกฎหมายหลักอ้างอิงที่เกี่ยวข้อง ๖ มาตรา คือ
        มาตรา ๓๙ ระบุว่า “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
            เงินได้พึงประเมิน หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้    เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ตามมาตรา ๔๐ และเครดิตภาษีตามมาตรา ๔๗ ทวิ ด้วย ...”
            คำว่า หมวดนี้ คือหมวดที่๓ เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ซึ่งประกอบด้วย ๓ ส่วน (ส่วน ๑เกี่ยวกับเรื่องทั่วไป , ส่วน ๒ เกี่ยวกับ การเก็บภาษี จากบุคคลธรรมดา , ส่วน ๓ เกี่ยวกับ การเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล)
        มาตรา ๔๐(๔)ช ระบุว่า ”(ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดง สิทธิในหนี้ที่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน”
        มาตรา ๕๔ ระบุว่า“ ถ้าผู้จ่ายเงินได้... มิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินได้ต้อง รับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไปแล้วแต่กรณี … ”
        มาตรา ๖๕  ระบุว่า “เงินได้ที่ต้องเสียภาษีตามความในส่วนนี้(ส่วนที่๓)คือกำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้ของกิจการ หรือเนื่องจาก กิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญขี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา ๖๕ ทวิ และมาตรา ๖๕ ตรี ... ”
        มาตรา ๖๕ (ทวิ) (๔) ระบุว่า “กรณีการโอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ย หรือมีค่า ตอบแทน ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยนั่นตาม ราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน”
                หุ้นถือเป็นทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประเภทหนึ่ง
        มาตรา ๗๐ ระบุว่า “บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๒),(๓),(๓),(๕)หรือ(๖)ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เสียภาษีโดยให้ผู้จ่ายหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนำส่งอำเภอ ... ภายใน๗วันนับแต่วันสิ้นเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ทั้งนี้ให้นำมาตรา ๕๔ มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

ความเห็น


    ๑.จากการแถลงของนายสุวรรณและอธิบดีกรมสรรพากรได้กล่าวว่า บริษัท แอมเพิล ริช เป็นบริษัทต่างประเทศไม่มีเงินได้จากการ ประกอบกิจการในประเทศไทยนั้นเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เนื่องจากในประมวลรัษฎากรไม่มีระบุไว้เป็น กรณีที่ชัดเจนเท่ากับที่กล่าวในมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป ดังที่ได้กล่าวไว้ในข้อ ๑ จึงกล่าวได้ว่าบริษัท แอมเพิล ริช มีการประกอบ กิจการและมีรายได้ในประเทศไทย
    ๒.หากจะดันทุรังตีความว่าไม่มีการประกอบกิจการในประเทศไทยให้ได้  ก็ยังมีช่องทางสามารถเก็บภาษีได้ เนื่องจาก หากยังคงจำ กันได้ในวันที่หน่วยงานราชการแถลงการณ์ได้มีการโต้เถียงถึง คำว่าเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่ได้อ่านบรรทัดแรกของมาตรา ๓๙ ที่ว่าในหมวด นิ้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น ซึ่งการแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่นมีไว้ในหลายที่ โดย ในส่วน ๒ เกี่ยวกับการเก็บภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาได้แสดงไว้ ๒ แห่ง แห่งหนึ่งเป็นแห่งที่มีปัญหาคือ มาตรา ๔๐(๔)ช การกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นการกล่าวอ้างการจัดเก็บภาษี ในส่วน ๒.ที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้จากบุคคลธรรมดา
    ๓.โดยที่บริษัท แอมเพิล ริช ที่ขายหุ้นให้นายพานทองแท้และน.ส.พินทองทา เป็นนิติบุคคล จึงไม่ได้เสียภาษีตามส่วน ๒  แต่ต้องใช้ ตามส่วน ๓ ซึ่งเกี่ยวกับการเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เป็นเกณท์ในการพิจารณาจัดเก็บภาษี
    ๔.การพิจารณาเก็บภาษีจากบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องพิจารณาเก็บภาษี ตามมาตรา ๖๕ กรณีดังกล่าวมาตรา ๖๕ จึงสามารถถือได้ว่า เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่นดังที่ได้เว้นไว้ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๙
    ๕.เงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๔) ที่กล่าวไว้ในมาตรา ๗๐ ต้องนำมาคำนวณภาษีตามฐานเงินได้พึงประเมิน แต่ต้องปรับตามเงื่อนไข ที่ได้ระบุไว้ในมาตรา ๖๕ เนื่องจากมาตรา ๗๐ อยู่ในส่วนที่ ๓ เรื่องของการจัดเก็บภาษีจากนิติบุคคล
    ๖.ในการจัดเก็บภาษีตามส่วนที่ ๓ เกี่ยวกับการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา ๖๕ ที่ได้กล่าวถึงมาตรา ๖๕ ทวิ นั้น ได้กำหนด เงื่อนไขในการคำนวนกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิ ไว้หลายข้อ แต่สำหรับกรณีดังกล่าวมีข้อที่น่าสนใจคือ มาตรา ๖๕ ทวิ(๔)  ซึ่งกล่าวถึงการ โอนทรัพย์สิน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน โดยไม่มีค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ย หรือมีค่าตอบแทน ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผล อันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทน ค่าบริการหรือดอกเบี้ยนั่นตามราคาตลาดในวันที่โอน ให้บริการ หรือให้กู้ยืมเงิน
    ๗.จากการตรวจสอบกรณีขายหุ้นของชินคอร์ปลักษณะการขายหุ้นดังกล่าวไม่มีในคำอธิบายคำว่าเหตุผลอันสมควรที่ประกาศโดย กรมสรรพากรที่ได้เคยประกาศไว้
    ๘.เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมิน ดังนั้นจึงสามารถประเมินโดยใช้ราคาตามราคาตลาดในวันที่มีการโอนทรัพย์สินได้ ตามมาตรา ๖๕ทวิ(๔) ได้
    ๙.การที่เงินค่าหุ้นที่บริษัท แอมเพิล ริช จะขายในราคา ๑ บาททางบัญชีสามารถบันทึกได้ (หากคิดว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง) แต่ในการ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีจะต้องปรับใช้ราคาตลาด ณ.วันที่ ๒๐ ม.ค. ๔๙ ในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามเงื่อนไขของ มาตรา ๖๕ แห่งประมวลรัษฎากร


๓.กรมสรรพากรยุคก่อนกับยุคปัจจุบันความเหมือนที่แตกต่าง คำวินิจฉัยบนกฎหมายคนละฉบับเดียวกัน

    ก่อนอื่นต้องตั้งคำถามก่อนว่าศักดิ์ศรีของกรมสรรพากรยุคปัจจุบันยังเหลืออยู่หรือไม่ เรื่องต่อไปนี้ให้อ่านและพิจารณาทำความเข้าใจว่า วิธีการปฎิบัติที่ผ่านมาของกรมสรรพากรเป็นเช่นไร

    ๑.คำพิพากษาฎีกา ที่ ๓๗๙๖-๓๗๙๗/๒๕๒๕ “ โจทก์ได้โอนขายหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดจริง โดยอ้างว่าเหตุที่ขายหุ้นต่ำกว่าราคาตลาด ก็เพราะขายเป็นจำนวนมาก คือ ๑๒,๐๐๐ หุ้น ทั้งที่ผู้ที่ซื้อหุ้นของโจทก์ก็คือบริษัทซึ่งโจทก์เองก็เป็นผู้ถือหุ้นด้วย และการซื้อขายนี้ไม่ต้อง เสียค่านายหน้า เห็นว่าข้ออ้างของโจทก์ถือไม่ได้ว่าไม่มีเหตุอันสมควร โดยเฉพาะในข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผู้ซื้อหุ้นนั้น เป็น เหตุผลอันสมควรยิ่งกว่าขายให้กับผู้ซื้อคนอื่นที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน ”

    ๒.คำพิพากษาฎีกา ที่ ๒๗๒๒/๒๕๓๐ “ โจทก์ขายหุ้นต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร กรมสรรพากรได้นำทรัพย์สินของ บริษัทที่เสนอขายกิจการตามงบดุลมาเป็นหลักในการคำนวณหามูลค่าของหุ้น โดยนำหนี้สินทั้งหมดของบริษัทในงบดุลมาหักออก จากทรัพย์สินที่มีอยู่แล้ว คงเหลือทรัพย์สินสุทธิแล้วนำมาเฉลี่ยจากจำนวนหุ้นของบริษัททั้งหมดจะมีมูลค่าของหุ้นเป็นเงินหุ้นละ .... บาท เป็นวิธีการที่ชอบด้วยเหตุผล ซึ่งการที่โจทก์นำราคาที่ผู้เสนอขอซื้อกิจการของบริษัทมาเป็นหลักในการคำนวณหามูลค่าของหุ้นนั้น ยังเป็นราคาที่ไม่แน่นอน  ”

    ๓.หนังสือตอบคำหารือ ของกรมสรรพากร ที่ กค.๐๘๐๒/๒๕๑๘ ลว. ๗ มีนาคม ๒๕๓๑ “ กรณีที่บริษัทซื้อหุ้นโดยลงบัญชีเป็นหลักทรัพย์ ที่มีไว้เพื่อขาย ย่อมถือได้ว่าหุ้นนั้นเป็นสินค้าของบริษัทเมื่อบริษัทขายหุ้นซึ่งเป็นสินค้าของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้กับผู้ถือหุ้น บริษัทจะขายไปในราคาทุนหรือราคาตลาดที่ต่ำกว่าไม่ได้ เพราะกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการตีราคาสินค้าคงเหลือ ณ วันสุดท้าย ของรอบระยะเวลาบัญชี ฉะนั้นในกรณีดังกล่าวบริษัทจึงต้องขายหุ้นในราคาตลาดและกรณีที่บริษัทขายหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาตลาด โดย ไม่มีเหตุอันสมควรเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนตามราคาตลาดได้ ทั้งนี้ตาม มาตรา ๖๕ ทวิ(๔)  ”

    แล้วลองเปรียบเทียบกับหนังสือตอบคำหารือที่ตอบสำหรับกรณี บริษัท แอมเพิล ริช แล้วลองดูว่า ศักดิ์ศรีของข้าราชการกรมสรรพากร ยุคก่อนที่กฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยยังไม่แก้ไขเท่ากับปัจจุบันมีความพยายามในการเก็บภาษีเพียงใด และศาลสถิตยุติธรรม พยายามให้ ความยุติธรรมกับสังคมเพียงใด แม้ไม่มีราคาตลาดในการอ้างอิงยังอุตส่าห์หาวิธีทางการบัญชีการเงินเพื่อประเมินมูลค่าของกิจการมาใช้ เมื่อเปรียบเทียบกับข้าราชการกรมสรรพากรยุคใหม่บางคนที่ยอมรับใช้อำนาจการเมืองแล้ว แตกต่างกันเพียงใด

ความเห็น  
น่าละอาย

๔. แล้วบริษัท แอมเพิล ริช จะต้องเสียภาษีอย่างไร ?

      จากการที่บริษัทแอมเพิลริชต้องมีหน้าที่ในการยื่นรายการภาษี ดังนั้น บริษัท แอมเพิล ริชจะต้องมีการจัดทำบัญชี ตาม มาตรา ๑๗ และ มาตรา ๖๘ ทวิ จึงต้องอยู่ในข่ายของการจัดทำบัญชีและเสียภาษีตาม มาตรา ๖๕ (จะใช้มาตรา ๗๑ โดยประเมินภาษีจากร้อยละ ๕ ของ รายรับก่อนหักรายจ่ายไม่ได้เนื่องจากบริษัท แอมเพิล ริช มีเอกสารและรายการทางบัญชีน้อยมาก และหลักฐานต่างๆจะมีชัดเจน เนื่องจาก มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หลักฐานทางบัญชี สามารถหาและจัดทำบัญชีให้ครบถ้วนถูกต้องและการประเมินให้ถูกต้องตามที่เห็น สมควรของเจ้าพนักงานประเมินทำได้ง่าย) ดังนั้นในกรณีดังกล่าวบริษัทแอมเพิล ริชจะต้องเสียภาษีในอัตรา ๓๐ %

    ๓.๑ เงินค่าหุ้นกำไรที่ต้องเสียภาษี
        ราคาที่ขายได้ตามสัญญาหุ้นละ ๑ บาท ราคาที่ต้องตีราคาใหม่และต้องปรับปรุงในแบบแสดงรายการภาษี หุ้นละ ๔๗.๒๕ บาท (ราคาปิดณ.วันที่ ๒๐/๑/๔๙)
        ดังนั้น บริษัท แอมเพิล ริช จะต้องมีกำไรหุ้นละ ๔๖.๒๕ บาท ต้องปรับรายได้ = ๑๕,๒๒๕.๕ ล้านบาท ต้องจ่ายภาษี = ๔,๕๖๗.๖๕ ล้านบาท

    ๓.๒ เงินปันผลที่ต้องจ่ายภาษี ในแต่ละปี
 
 ปีพ.ศ.        ปีที่ได้หุ้น      จำนวนหุ้น    เงินปันผลต่อหุ้น   เงินปันผลที่ได้รับ  ภาษีที่ต้องเสีย
                    (ล้านหุ้น)      (บาท)        (ล้านบาท)            (ล้านบาท)
๒๕๔๘        ๔๗             ๓๒๙.๒๐         ๑.๓๕              ๔๔๓.๔๒         ๑๓๓.๐๒
๒๕๔๗        ๔๗             ๓๒๙.๒๐         ๒.๓๓              ๗๖๗.๐๔          ๒๓๐.๑๑
๒๕๔๖        ๔๔                ๓๒.๙๒        ๑.๘๒               ๕๙.๙๑              ๑๗.๙๗
๒๕๔๕        ๔๔               ๓๒.๙๒         ๑.๒๕               ๔๑.๑๕              ๑๒.๓๕
                          รวม    ๓๗๕.๔๘

๕. แล้วถ้าไม่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีแล้วจะเป็นอะไร ?

    ในกรณีดังกล่าวการไม่คำนวณภาษีและไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีตามกฎหมาย ให้พิจารณาข้อกฎหมายมาตรา ๗๑ (๒) ซึ่งกล่าวโดยสรุปว่า บริษัทที่ไม่ลงรายการ , ลงรายการไม่ครบ หรือไม่ตรงความจริงในบัญชีเป็นเหตุให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยลง เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีที่ขาด และอาจสั่งให้ผู้เสียภาษี เสียเงินเพิ่มขึ้น อีก ๒เท่าของภาษีที่ขาดก็ได้ เนื่องจากบริษัท แอมเพิล ริช ไม่ได้ยื่นภาษีเลย ดังนั้นกรณีดังกล่าว บริษัท แอมเพิล ริช จะต้องนำส่งภาษีพร้อมค่าปรับ เท่ากับ เงินภาษี ๓๐% บวกกับเงินค่าปรับอีก ๒เท่า รวม แล้ว เท่ากับ ๙๐% ( ๓๐% + ๖๐%) ของรายได้ที่ต้องเสียจากกรณีขายหุ้นดังกล่าว ทั้งนี้ไม่รวมเงินเพิ่ม ที่ต้องจ่ายให้กรมสรรพากรอีก ร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนหรือ ร้อยละ ๑๘ ต่อปี

    เนื่องจากบริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ที่ประกอบกิจการในประเทศ และมีรายได้จากประเทศไทยและต้องยื่นภาษีให้กับรัฐบาลและ ประเทศไทย ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นต้องตรวจสอบว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัท แอมเพิล ริช ได้รับเงินปันผลที่มีการจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ชินคอร์ป มีการยื่นและนำส่งภาษีให้กับประเทศไทยหรือไม่ ถ้าไม่ได้นำส่งให้กลับไปดู วรรคข้างต้นและ ข้อ ๒ และ ข้อ ๔ เนื่องจาก นิติบุคคลเลือกยื่นแบบบุคคลธรรมดาไม่ได้ ต้องบันทึกบัญชีทุกรายการและนำมาคำนวณภาษีเพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ (หากดูรวมๆทั้งหมดแล้วผมว่าอาจจะไม่ใช่การประหยัดภาษีโดยไม่เสียภาษีซักบาทแต่อาจเป็นไม่ได้เงินจากการทำการขายหุ้นโดยผ่านบริษัท แอมเพิล ริช ซักบาท แถมอาจโดนประเมินจนต้องจ่ายเงินเพื่อเสียภาษีเพิ่มอีกต่างหาก เหมือนกับคนทำธุรกิจทั่วไปที่เขาโดนกันทั้งประเทศ โดยใช้เงื่อนไขตามมาตรา ๖๕ ทวิ ที่กรมสรรพากรใช้มาตลอด )

  ปีพ.ศ.        ภาษีที่ต้องเสีย    เบี้ยปรับ        เงินเพิ่ม        รวม            หมายเหตุ
(ล้านบาท)       (ล้านบาท)      (ล้านบาท)     (ล้านบาท)           
๒๕๔๙        ๔,๕๖๗.๖๕                        ๔,๕๖๗.๖๕    **ถ้ากำไรขายหุ้นปี ๔๙ ไม่
๒๕๔๘           ๑๓๓.๐๒       ๒๖๖.๐๔            ๒๗.๙๓        ๔๒๖.๙๙    ยื่นแบบแสดงรายการ ต้อง
๒๕๔๗           ๒๓๐.๑๑       ๔๖๐.๒๒           ๑๓๑.๑๖        ๘๒๑.๔๙    ปรับเพิ่มอีก ๒ เท่าเป็นเงิน
๒๕๔๖              ๑๗.๙๗        ๓๕.๙๔              ๘.๓๖          ๖๒.๒๗    ๙,๑๓๕.๓ ล้านบาท**
๒๕๔๕              ๑๒.๓๕        ๒๔.๗๐            ๑๕.๙๓         ๕๒.๙๘          
รวม             ๔,๙๖๑.๑๐       ๗๘๖.๙๐         ๑๘๓.๓๘     ๕,๙๓๑.๓๘

๖. แล้วงานนี้ต้องเสียภาษีอะไรอีกไหม ?

    กฎหมายที่ใช้ในการพิจารณา
        มาตรา ๙(ทวิ) ระบุว่า“ เว้นแต่จะมีบทบัญญติไว้เป็นอย่างอื่น ถ้าจะต้องตีราคาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเป็นเงิน ให้ถือราคา หรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น  ”
        มาตรา ๓๙ ระบุว่า
            “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
            เงินได้พึงประเมิน หมายความว่า เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษีในหมวดนี้ เงินได้ที่กล่าวนี้ให้หมายความรวมตลอดถึง ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน เงินค่าภาษีอากรที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อื่นออกแทนให้สำหรับเงินได้ประเภทต่างๆ ตามมาตรา ๔๐ และเครดิตภาษีตามมาตรา ๔๗ ทวิ ด้วย”
        มาตรา ๔๐(๔)ช ระบุว่า”(ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดง สิทธิในหนี้ที่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ”

    คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ ๒๘/๒๕๒๘ เรื่อง พนักงานรับแจกหรือซื้อหุ้นในราคาต่ำ ได้มีคำวินิจฉัยว่า  “ กรณีที ่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำหุ้นไปแจกให้กับพนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ลักษณะทำนองเดียวกัน หรือนำหุ้นไปขายให้กับบุคคลดังกล่าวตามข้อตกลงพิเศษในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด กรณีย่อมถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวได้รับงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา ๓๙ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว จึงต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีที่ได้รับกรรมสิทธิในหุ้น ไม่ว่าหุ้นนั้นจะมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไขกับ การจำหน่ายจ่ายโอน และไม่ว่าหุ้นนั้นจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่ง ประเทศไทยหรือนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย .... ”

        กฎกระทรวงฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ.๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ระบุว่า “  ...
            (๒๓) เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลัก ทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร  ”

ความเห็น

    ๖.๑ หากจะตีความกฎหมายตามตัวอักษรเหมือนกับที่กรมสรรพากรตีความแบบข้างๆคูๆเอาสีข้างเข้าถู ในกรณี นายพานทองแท้และ นางสาวพินทองทา ซื้อหุ้นจาก บริษัท แอมเพิล ริช ว่าเป็นการซื้อทรัพย์สินราคาถูกเป็นเรื่องปกติทั่วไปของการซื้อขายตามมาตรา ๔๕๓ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว กรมสรรพากรจะตีความคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรว่า เป็นการใช้ในกรณี เป็นหุ้นของบริษัทฯเป็นผู้ออกเอง เป็นการเข้าใจเอาเองของกรมสรรพากรนั้นดูจะไม่เข้าท่านัก เนื่องจาก ในคำวินิจฉัยไม่มีการระบุแม้แต่ แห่งเดียวว่า ต้องเป็นหุ้นของบริษัทฯเป็นผู้ออกเอง แต่ใช้คำว่า “หุ้น” โดยที่ไม่ระบุว่า บริษัทเป็นผู้ออกเอง หรือ ผู้อื่นออก
    จากการวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรดังกล่าวทำให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ต้องมีรายได้ตามมาตรา ๔๐(๒) เนื่องจากเป็นเงินได้เนื่องจากหน้าที่การงานที่ทำไม่ใช่การขายหุ้นซึ่งเป็นเงินได้ตาม มาตรา ๔๐(๔)ช ส่วนราคาที่ใช้ในการคำนวณภาษี คำวินิจฉัยให้ใช้ ราคาตามราคาตลาดหลักทรัพย์ที่มีไว้ขายให้กับประชาชนทั่วไป

    ๖.๒ แต่หากจะมองด้วยความเป็นเหตุเป็นผลไม่ใช้วิธีข้างๆคูๆแบบสีข้างเข้าถูแบบวรรคก่อนแล้ว กรณีที่กรมสรรพากรได้ชี้แจงว่า “หลักวิธีวินิจฉัยเงินได้พึงประเมินต้องดู มาตรา ๓๙ กับ มาตรา ๔๐ ประกอบกันและได้อธิบายว่าถ้าเข้า มาตรา ๓๙ แต่ไม่เข้า มาตรา ๔๐ ก็จะไม่เป็นเงินได้พึงประเมิน และกรณีนี้ส่วนต่างของราคาหุ้นที่ผู้ซื้อหุ้นมาในราคาต่ำกว่าราคาตลาดได้รับ(ผลประโยชน์ที่ได้จากการรับ โอนหุ้น)ไม่ปรากฎว่า มีระบุไว้ในมาตรา ๔๐ จะมีอยู่ในเรื่องที่ใกล้เคียงก็ใน มาตรา ๔๐ (๔) ช     ซึ่งก็เป็นการพูดถึงการขาย(การโอน) ไม่ได้พูดถึงการซื้อหุ้นราคาถูก(การรับโอน)ทำให้กำไรจากการซื้อหุ้นราคาถูกไม่ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา ๓๙” การชี้แจงดังกล่าวดูจะง่ายไป กล่าวคือ หากดูในมาตรา ๔๐ (๔) ช ใช้คำว่า ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน มีที่ใดในมาตราดังกล่าว ที่กล่าวว่า ให้เป็นเฉพาะด้านการขายตามการตีความของกรมสรรพากรเท่านั้น แต่การโอนการเป็นหุ้นส่วนนั้นมีทั้งผู้โอนและผู้รับโอน ผู้โอน มีผลประโยชน์จากการที่ขายหุ้นได้มากกว่าราคาทุน ในขณะที่ผู้รับโอนก็สามารถมีผลประโยชน์จากการซื้อหุ้นต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งจะต้องพิจารณา มาตรา ๓๙ ประกอบตามที่กรมสรรพากรได้กล่าวไว้ว่าให้พิจารณาคู่กัน โดยในมาตรา ๓๙ ได้ กล่าวไว้ว่า     เงินได้ พึงประเมินหมายความรวมตลอดถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ดังนั้น การที่ผู้ซื้อซื้อหุ้น ราคาต่ำกว่าราคาตลาด ย่อมมีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐

    ๖.๓ ถ้าพิจารณาเจตนารมย์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาและหนังสือตอบคำหารือดังที่ได้กล่าวไว้ใน ข้อ ๓ ประกอบกับตามมาตรา ๔๐(๔)ช ซึ่งใช้คำว่า “ทั้งนี้เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน ” จะเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ได้ระบุว่าเป็นส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายกับราคาทุน ที่ซื้อมาดังที่กรมสรรพากรพยายามอธิบายให้เป็น แต่กฎหมายระบุให้เมื่อมีการขายและตีราคาทรัพย์สิน หากราคาที่ตีได้ไม่เกินกว่าทุนที่ลง ไปก็ไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน กฎหมายไม่ได้ให้ใช้ราคาตามการซื้อขายจริงแต่ให้ใช้การตีราคา ซึ่งการตีราคาในประมวลรัษฎากร จะต้อง ใช้มาตรา ๙ ทวิ ในการพิจารณา เนื่องจากการตีราคาตามมาตรา ๔๐(๔) ช นี้ ประมวลรัษฎากรไม่มีการบัญญัติไว้เป็นพิเศษ จึงควรถือราคา หรือค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้น ตามที่มาตรา ๙ ทวิ กำหนดไว้ ราคานั้นก็จะเป็นราคาตามตลาดหลักทรัพย์ที่มีไว้ขาย ให้กับประชาชนทั่วไปเหมือนเช่นกับวรรคก่อน

        ขณะเดียวกันได้มีข้อมูลจากทาง กลต. ว่าการขายหุ้นครั้งนี้เป็นการขายนอกตลาด ดังนั้นจึงเป็นเงินได้ที่ไม่ได้รับการยกเว้นภาษี

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการตีความอย่างใดก็ตาม นายพานทองแท้และนส.พินทองทา จึงต้องมีรายได้เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๓๙ และมาตรา ๔๐แห่งประมวลรัษฎากร และจะต้องเสียภาษีให้กับรัฐบาลไทย โดยการตีราคาหุ้นเท่ากับที่เป็นผลต่างของราคาหุ้นที่ได้ใน ราคาต่ำกว่าตลาด เท่ากับ ๔,๕๖๗.๖๕ ล้านบาทต้องเสียภาษี ๓๗% =  ๑,๖๙๐.๐๓ ล้านบาท

        อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นการเสียภาษีในกรณีเกี่ยวข้องกับ บริษัท แอมเพิลริช เท่านั้น หากแต่ว่าอาจจะมีภาษีที่เก็บได้จากกรรมการ บริษัท ชินคอร์ป เนื่องจากมีการโอนหุ้นระหว่างกันในลักษณะดังกล่าวอีกต่างหาก ซึ่งต้องมีการพิจารณาแยกออกไปและอาจมีการเสียภาษี เพิ่มเติมอีกจากส่วนนี้

        รวมแล้วดีลนี้มีการอธิบายขั้นตอนและการวางแผนภาษีได้อย่างแยบยลยอดเยี่ยมจนมีคนขุดคุ้ยข้อมูลที่มีผู้รู้ในวงแคบ เป็นข้อมูลที ่รู้กันในวงกว้างทั่วประเทศ จึงต้องเสียภาษีรวม ๗,๑๒๑.๔๑ ล้านบาท และถ้า บริษัท แอมเพิลริช ยังไม่ทำบัญชีและไม่ยื่นแบบแสดงรายการ จะต้องเสียรวม ๑๖,๒๕๖.๗๑ ล้านบาท หมอภาษีตายเพราะภาษีจริงๆ

๗.พฤติกรรมเลวเยี่ยงนี้จะทำอย่างไร ?

    รางวัลสำหรับคนหัวหมอ ด้วยบทกำหนดโทษ
        มาตรา ๓๗ ที่ว่า“ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วหรือจงใจแจ้งความเท็จหรือถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยง ภาษีอากร หรือโดยความเท็จโดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุก สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่ สองพันบาทถึงสองแสนบาท”
        ให้สังเกตุว่าการกำหนดโทษดังกล่าวให้ลงโทษทั้งสองอย่าง ไม่ได้ให้เลือกเนื่องจากใช้คำว่า และเท่ากับว่าเจตนารมณ์ในการกำหนด โทษดังกล่าวถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงไม่สมควรนำเป็นเยี่ยงอย่าง หากเป็นเช่นนั้นนายกรัฐมนตรีควรจะจัดการกับกรรมการบริษัท แอมเพิล ริช อย่างเด็ดขาดสูงสุดตามบทกำหนดโทษตามกฎหมาย เนื่องจากมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและ ยังท้าทายสังคม เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่ประชาชน และเยาวชนทั่วไป

๘.ถ้าอธิบดีกรมสรรพกรจะใช้สิทธิลดหรืองดเบี้ยปรับเงินเพิ่มหรือจะไม่ประเมินเก็บภาษี แล้วใครจะมีปัญหา ?

    การเสียภาษี ตามข้อ ๔ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ประเมินนั้นมีสิทธิในการลดหรืองดค่าปรับได้(วงเงินขนาดนี้น่าจะต้องเป็นอำนาจของอธิบดี     กรมสรรพากรอนุมัติ ) แต่จากพฤติกรรมที่ผ่านมาถ้าพิจารณาตั้งแต่คดีซุกหุ้นซึ่งก็เป็นบริษัท แอมเพิล ริช ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการซุก จะเห็น ว่ามีเจตนาชัดเจนในการหลบเลี่ยงภาษี ไม่ใช่การบกพร่องโดยสุจริต และเนื่องจากตอนให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะบอกว่า อิจฉาละซิ! นายกได้ บอกว่าผมตัวใหญ่เบ่อเร่อเท่อจะไปทำอย่างนั้นได้อย่างไร แถมยังยิ้มไม่ได้บีบน้ำตาเพราะคิดว่าคนไทยโง่ทั้งประเทศ ฉะนั้นไม่ใช่บกพร่อง โดยสุจริตแน่นอน

        ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะมีเหตุในการลดหย่อนผ่อนโทษ ครั้นจะอ้างว่าการทำการไปโดยไม่มีเจตนาและจะให้ลงโทษในสถานเบา ก็มิอาจ ทำได้เนื่องจากการทำการในครั้งนี้ถึงแม้ผู้ที่กระทำผิดมีความรู้ ภาษีอากรไม่ดีพอ แต่มีที่ปรึกษาที่มีความรู้ภาษีในขั้นดีมากและดำเนินการ เป็นขั้นเป็นตอนและยังคงยืนยันว่าทำถูกต้องตลอดเวลา หากอธิบดีกรมสรรพากรจะลดโทษให้ ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ไปในทาง มิชอบ แต่หากไม่ทำการจัดเก็บและประเมินภาษี ก็ถือได้ว่าละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ นอกจากจะโดนใบสั่งโดยใช้อำนาจทางการเมืองให้ ลด หรืองดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม

        ลองพิจารณากฎหมายอาญาข้างล่างนี้ดู แล้วคิดให้รอบคอบก่อนที่จะไม่ทำอะไรเลย
            ในกฎหมายอาญา ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด ๒ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
                มาตรา ๑๕๔ ระบุว่า “  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่หรือแสดงว่าตนมีหน้าที่ เรียก เก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากรค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร ค่าธรรมเนียมหรือเงินนั้นหรือกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด เพื่อให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสียหรือเสียน้อยไปกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท  ”
                มาตรา ๑๕๖ ระบุว่า “  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีตามกฎหมาย โดยทุจริตแนะนำ หรือกระทำการหรือไม่ กระทำการอย่างใดเพื่อให้มีการละเว้น การลงรายการในบัญชี ลงรายการเท็จในบัญชี แก้ไขบัญชีหรือซ่อนเร้น หรือทำหลักฐานในการลง บัญชี อันจะเป็นผลให้การเสียภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมนั้นมิต้องเสียหรือเสียน้อยกว่าที่จะต้องเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ ห้าปี ถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท  ”
                มาตรา ๑๕๗ ระบุว่า “  ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ  ”

                กรณีนี้ผู้เสียหายคือ รัฐบาลไทย เจ้านายท่าน ครับ

ความเห็น    เห็นแล้วถูกใจทั้งนั้น เลือกไม่ถูกเลย

๙.นายกรัฐมนตรีชี้แจงผิดตรงไหน ไม่รู้ หรือ แกล้งโง่ ?

กรณีการขายหุ้นดังกล่าวเขียนผังเพื่อให้ดูง่ายๆ

             ๑.แอมเพิลริช -----------> ๒.พานทองแท้+พินทองทา --------------> ๓.เทมาเส็ก

นายกรัฐมนตรีอ้างว่าไม่พูดเท็จ แต่บอกไม่หมดในประเด็นที่ทำให้คนเข้าใจผิดในสาระสำคัญโดยเจตนา การพูดเท็จคือโกหกพูดไม่จริงเป็น สิ่งเลว แต่การชี้แจงแบบพูดเท็จปนพูดจริงนอกจากจะเป็นการกล่าวเท็จยังทำให้ผู้ฟังเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องเท่ากับเลวกว่าเข้าข่ายเXX โดยสันดาน (เซ็นเซอร์คำหยาบจ๊ะ) เพราะที่พูดถึงคือการขายหุ้นจาก นายพานทองแท้และน.ส.พินทองทาให้เทมาเส็กคือ ขายจาก ๒ ไป ๓ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีจริงตามที่กล่าวอ้าง  แต่พูดถึงการขายจากบริษัท แอมเพิล ริช ให้ กับนายพานทองแท้และนส.พินทองทาคือขายจาก ๑ ไป ๒ อ้างว่าขายไม่มีกำไรเป็นการพูดความเท็จ จนจิตคิดว่าเป็นความจริง ทั้งที่การเสียภาษีใน Block 2 ต้องเสียภาษีตามที่อธิบายไว้ข้อ ๖ การเสียภาษีตาม Block 1 เสียตามข้อ ๒ & ๓ ส่วนการลงโทษจะเป็นไปตาม ข้อ ๕ และ ๗ ซึ่งการทำชั่วดังกล่าวสำเร็จโดยการช่วยเหลือ เพราะความไร้ศักดิ์ศรีของข้าราชการระดับสูงบางคน ที่กลัวเสียตำแหน่งโดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเองและชื่อเสียงของ วงค์ตระกูล ส่วนคนที่ซื้อ ศักดิ์ศรีคนด้วยเงินย่อมเป็นคนที่ขาดจริยธรรม , ชอบทำชั่ว , หาความน่าเชื่อถือและความสง่างามไม่ได้ ดังเช่นที่ พระพุทธศาสนสุภาษิตที่กล่าวว่า

“ผู้ที่พูดเท็จได้ย่อมทำความชั่วได้ทุกอย่าง”
“ชื่อว่าที่ลับของผู้ทำบาปกรรมไม่มีในโลก”



CPA_THAILAND@thaimail.com
ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย

Tags : การจัดเก็บภาษี แอมเพิลริช บัญชี ฝึกอบรม สำนักงานบัญชี ทุจริต ทำบัญชี ที่ปรึกษา สอบบัญชี การจัดการ เศรษฐกิจการลงทุน

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view