สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปรับเปลี่ยนปรัชญาในการดำรงชีวิต โดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล

ปรับเปลี่ยนปรัชญาในการดำรงชีวิต

**************************************************************************************

ดร.สุเมธ   ตันติเวชกุล

อดีตเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สมาชิกวุฒิสภา  และเลขาธิการสำนักงาน  คณะกรรมการพิเศษเพื่อ
ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  (สำนักงาน  กปร.)
  
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งเมื่อวันที่  4  ธันวาคม  2540  แต่ถ้าหากใครติดตาม ความคิดแนวพระราชดำริ  แนวพระราชกระแสมาตลอดจะเห็นว่า ทรงยึดเรื่องนี้มาตลอด 53  ปี   ที่ทรงครองราชย์มา ไม่ว่างานอะไรก็ตามจุดหมายปลายทางจะอยู่ตรงนี้   จะเห็นได้ว่าพระองค์ ท่านทรงเดินเส้นทางสายกลางไม่เคยมุ่งเพื่อเกิดความร่ำรวยหรืออะไรต่ออะไรเลย  เพราะว่าได้ทรง เห็นตลอดเวลาว่าความร่ำรวยต้องเกิดจากความพร้อม แต่การที่เราไม่มีกินเป็นเรื่องอันตรายมากกว่า  จะเห็นว่าทรงใช้คำว่า  การพัฒนาชนบทต้องระเบิดจากข้างใน
            คำว่าระเบิดจากข้างในหมายความว่าให้คนข้างในพร้อมก่อน  ไม่ใช่ทำจากข้างบนลงมา  การนำโครงการต่างๆ  ไปใส่ให้โดยที่ชาวบ้านไม่พร้อมที่จะรับ   ผลสุดท้ายคนที่พร้อมกว่าก็มา ฉกฉวยโอกาสเอาผลประโยชน์ต่างๆ  ไปหมด

            ยกตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ  เช่น  การตัดถนนเข้าหมู่บ้านห่างไกลนักพัฒนาก็ชื่นชมว่า  หมู่บ้านนี้เจริญแล้ว   เดินทางเข้าเมืองได้แล้ว  แต่คนที่ได้ใช้ถนนคนแรกคือคนมีรถยนต์   ชาวบ้านที่ไหนจะเอาเกวียนมาใช้บนถนน  วัวมันก็ร้อง  เพราะมันร้อนเท้า  ทางเกวียนคือทางเกวียน  ทางรถคือทางรถเพราะฉะนั้นคนที่มีความพร้อมกว่า  มีอะไรมากกว่าก็จะเข้าไปสูบฉีด  ผลสุดท้ายชาวบ้านดูเสมือนว่าจะมีสถานะดีขึ้น  แต่กลับกลายว่าเป็นหนี้สินทั้งนั้น

            “ผมทำงานในชนบทมาตลอด 30 ปี  ไปถามได้เลยทุกหมู่บ้านชาวบ้านเป็นหนี้เป็นสินเขาหมด  เพราะความต้องการใหม่ๆ  ถูกอัดฉีดขึ้นไปด้วยเกิดความหลงระเริง  กู้เงินมาลงทุน  จะได้รวยเอาความรวยเป็นที่ตั้ง”
 
การปรับวิถีชีวิต

            สิ่งที่ในหลวงพูดมา   คนก็ไม่ฟังมาโดยตลอด  หลงระเริงกับฟองสบู่  เป่ากันเล่น  สนุกสนาน  แตกแล้วแตกอีกก็ยังไม่รู้สึก   ผลสุดท้ายท่านก็มาเน้นย้ำในวันที่ 4 ธันวาคม  2540  อีกทีหนึ่งซึ่งสถานการณ์รอบด้านเอื้อให้คนฟังแล้วตอนนี้

            จากกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 4  ธันวาคม  2540  ผมจับความที่ทรงสั่งสอนในวันนั้นได้  2  ประการด้วยกัน  ประการแรกคือ  ให้เปลี่ยนวิถีชีวิตมายึดเอาระบบเศรษฐกิจพอเพียง   ซึ่งตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจการค้า  (trade   economy)  ซึ่งพระองค์ท่านรับสั่งเองว่าการค้าขาย   การลงทุนต้องกู้เงิน   ต้องทำอะไรต่ออะไรอีก  ให้กลับมาสู่เศรษฐกิจพอเพียง   นั่นเป็นคำแรกที่พระองค์ท่านสอน

            คำที่ 2  คือต้องอยู่อย่างเฉลียวฉลาด   คือการทำอะไรต้องมีสติปัญญา   อย่าหลงกระแสไปเรื่อยๆ  เวลานี้เราบ้าประชาธิปไตย  บ้าสิทธิมนุษยชน  บ้าสิ่งแวดล้อม  จนกระทั่งไม่รู้ว่าประโยชน์อยู่ตรงไหน  ตรงไหนมีประโยชน์  ตรงไหนไม่มีประโยชน์  ไม่รู้  มันดี  พูดกันอย่างนี้แล้วสนุกดี  ก็ต้องไปอย่างนี้   พระองค์ท่านจึงต้องให้มีความเฉลียวฉลาด  ให้รู้ว่าประโยชน์ของตัวเองอยู่ตรงไหน  ยังไง  แล้วก็รู้สึกว่ามีระบบจัดการ   ไม่ใช่หลงกระแสแล้วไม่ทำอะไรเลย   ลองสังเกตดูจะเห็นชัด  พวกหลงกระแสว่าเป็นพวกสิ่งแวดล้อม  ก็จะตีความว่าไม่ทำอะไรเลย   อย่าไปแตะต้อง  ซึ่งเป็นไปไม่ได้   เพราะต้องมีการจัดการ   แต่จะจัดการอย่างไรให้มีของใช้หรือมีทรัพยากรใช้อย่างต่อเนื่อง   ตรงกับคำว่าการพัฒนาแบบยั่งยืนต่างหาก

            คำที่  3  ที่พระองค์ท่านให้ไว้  คือว่า   ต้องอยู่ในความสามัคคีธรรมต้องขจัดความขัดแย้งในสังคมที่มีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

            เพราะฉะนั้นทั้ง 3 อย่าง  เศรษฐกิจพอเพียง  ความเฉลียวฉลาด  หรือสติปัญญา   แล้วก็อยู่ด้วยความสามัคคีธรรม  นั่นคือสิ่งที่พระองค์ท่านให้ไว้

            ความนี้ลองดูลงไปในรายละเอียดไล่ตั้งแต่คำแรก

            เศรษฐกิจพอเพียง

            เมื่อเราย้อนหลังกลับมาตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 นับตั้งแต่วันที่เราย่างก้าวสู่สิ่งที่เรียกว่า   ยุคใหม่แห่งการพัฒนานั้น   เราก้ทำตามค่านิยมตะวันตกเอา  Growth  หรือความเจริญเติบโตเป็นตัวตั้ง  มีแนวคิดที่เน้นการขยายออกไป   สร้างความเจริญอย่างรวดเร็ว   มีการก่อสร้างทาง   สร้างเขื่อนสร้างสิ่งต่างๆ   มากมายตามรูปแบบของตะวันตก   ทิ้งคุณธรรมความเป็นอย่างพอดีตามหลักพุทธศาสนา   มุ่งไปสู่วัตถุนิยม   ยึดถือตัวเงินเป็นที่ตั้ง

            เห็นชัดเจนว่าแผนฉบับที่ 3 กำหนดเลย   เราต้องลดการเกษตร  ทั้งที่การเกษตรเป็นจิตวิญญาณของคนไทย  คนไทยเป็นเกษตรโดยชีวิตจิตใจโดยธรรมชาติ  สภาพสิ่งแวดล้อม  ในแผนนี้กำหนดไว้เลย   แต่เดิมสินค้าส่งออก   รายได้ของคนไทยมาจากภาคเกษตรทั้งนั้น   ไม่เคยมีอุตสาหกรรมเราบอกว่ารวยไม่เร็ว   พยายามตัดทองสิ่งที่เราถนัดแต่รายช้า   ไปสู่สิ่งที่เราไม่ถนัดแต่คิดว่ารวยเร็ว  และดำเนินการได้อย่างสำเร็จหลายประการด้วยกัน

            ที่ว่าสำเร็จคือ  อันดับแรกพอเปิดตัวเลขอัตราความเจริญเติบโต (Growth)  ขึ้นมา  มีอัตราสูงมาก  บางครั้งเป็นเลข 2 ตัว 10%   11%   8%    9%  มาตลอด  เรียกว่าทำสำเร็จ   ผู้บริหารก็ดีอกดีใจคุยไปทั่วโลกว่าการพัฒนาของไทยเป็นตัวอย่างของเอเชียเลยนะ   พยายามจะเป็นเสือตัวที่ 5  เป็นคนไม่ชอบ   อยากเป็นสัตว์เดรัจฉาน   เอาตัวอย่าง ไต้หวัน  เกาหลี  ญี่ปุ่น  สิงคโปร์  เราจะเป็นเสือตัวที่ 5  แล้วดีอกดีใจ

            อันดับที่ 2  เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความสำเร็จ  คือวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป  Thai  Way  of  Life  หรือวิถีชีวิตไทยทั้งหลายกลายเป็นชีวิตตะวันตก  แย่งชิงกันเพื่อจะได้เงินเดือนสูง ๆ  แข่งกันลงทุน  ระบบประเพณีที่ดีหลายอย่างในชนบทหายไป  ประเพณีลงแขกเราไม่มีแล้ว   ต้องใช้วิธีว่าจ้างคนมาขุดดิน  ขุดสระ   ตัวเองขุดไม่เป็น   ต้องไปจ้างรถขุดมา  มันผ่านไปสู่ยุคของการใช้เงินตราเป็นที่ตั้ง

            อันดับที่ 3  คือความไม่พร้อม   ความไม่พร้อมทางด้านบริหาร  ระบบราชการที่เคยเป็นตัวนำมาตลอดก็นำไม่ได้ไม่สามารถวิวัฒนาการตัวเองให้ทันกับการพัฒนา ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา   การเข้าสู่ยุคข่าวสารข้อมูลช่วยกระตุ้นสิ่งต่างๆ   ให้วิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว   ขณะที่โครงสร้างการบริหาร  การเงิน  การคลัง   โครงการการบริหารในเชิงการพัฒนาและบริการทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ  ล้าหลังหมดเลย   ปัญหาทุกวันนี้เกิดขึ้นจากระบบบริหารทั้งสิ้น   คงต้องพูดตรงๆ อย่างนี้   มันไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย  ตัวบทกฎหมายก็ล้าหลัง   การเปิดเสรีการเงินการคลังโดยที่ตัวบทกฎหมาย  พ.ร.บ. ต่างๆ  เพิ่งมาออกหลังจากเกิดวิกฤติการณ์นี้เองโครงสร้างการบริหารไม่มีความพร้อมแม้แต่น้อย

            การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากจนกระทั่งหลงไปสู่จุดหนึ่ง  ผลสุดท้ายระบบที่สร้างขึ้นมาหลอกๆ  บนพื้นฐานความไม่พร้อมก็พังครืนลงมาทับตัวเองเราผลิตคนของเราไม่ทัน   ข้างบนก็เป็นคนต่างชาติเข้ามา   ในระยะช่วงฟองสบู่เราพองเต็มที่   เราต้องซื้อคนนักบริหารบ้านเมืองมีอยู่กระหยิบมือเดียว   บริษัทนั้นก็ชอบบริษัทนี้ก็ต้องการ   เงินเดือนก็แพงขึ้น   แพงขึ้นมีเงินเดือนก็ซื้อของ   ซื้อๆๆๆ รถเบนซ์   ซื้อกันหมด   เพราะต้องการรวยเร็วผลสุดท้ายพระองค์ท่านบอกมันไม่ใช่  พระองค์ท่านไม่ได้ปฏิเสธความร่ำรวยแต่รวยอย่างมั่นคงได้ไหม  ทีละขั้น  ทีละขั้น  ค่อยเป็นค่อยไป  สร้างพื้นฐานให้เกิดความพร้อมขึ้นก่อน

            เรื่องนี้พระองค์ท่านเตือนและได้สั่งมาเป็นระยะเวลาสิบๆ ปี  หลายสิบปีมาแล้ว  แต่ว่าไม่มีใครฟัง  หลงระเริงอยู่กับเรื่องกิเลสทั้งหมด  ข้าวของบางชิ้นซื้อกันมา  นาฬิกาเรือนละล้าน   กระเป๋าถือใบละ 2 – 3 หมื่น เนคไทเส้นละ 2 หมื่น  สูทชุดละ 7 – 8 หมื่น  ซื้อใส่กัน  รถยนต์คันละ 12 ล้านขายพรึ่บเดียวหมด

            สิ่งเหล่านี้ทำให้วิถีชีวิตไทยถูกทำลายจนสิ้น   พระองค์ท่านถึงได้เตือนสติ   ทีนี้มาถึงจุดที่ทุกอย่างพังทลายหมด   ถามว่าจะฟื้นกลับมาไหมทุกคนพยายามพูดให้เป็นอย่างนั้น  แต่ในขณะที่รอบตัวพังหมด  อันที่จริงไม่อยากพูดเดี๋ยวจะเสียกำลังใจกันหมด   แต่สรุปว่าชีวิตทุกข์ยาก  ทีแรกบอกว่าหนึ่งปี  ปีครึ่งจะฟื้น  ตอนนี้พูดกันถึงระยะ 5 ปี  คุณศิวพร(ทรรทรานนท์) บอก 30 ปี          

            อย่างที่บอกว่าไม่อยากพูดให้เสียขวัญไปกว่านี้   แต่เป็นเรื่องยากที่จะฟื้นกลับคืนมาเหมือนเดิม  เพราะเราสร้างบ้านใหญ่เหลือเกิน   โดยที่ไม่ได้วางเสาเข็มให้รับน้ำหนัก  และภาวะอย่างนี้ไม่ใช่เราคนเดียว  รอบ ๆ  เราก็พังไปด้วย   อเมริกาก็มีวิกฤติ  ญี่ปุ่นที่เคยผงาดก็เจอปัญหา  จึงต้องกลับมายืนบนพื้นฐานของความเป็นจริงว่า   ไม่มีอะไรสำคัญเท่ากับการพออยู่พอกิน  คือคำที่ 2 ที่พระองค์ท่านให้  ให้อยู่แต่พออยู่  พอกิน  เมื่อวันก่อนอ่านข่าวยังมีคนอดอยากอยู่มากจนต้องปล้นสะดมแม้กระทั่งอาหารนี่เองที่สะท้อนให้เห็น ชัดเจนว่าสิ่งสำคัญของมนุษย์คือมีอาหารเพียงพอ

            ผลสุดท้ายต้องกลับมาหลักพุทธปัจจัย 4  ตามหลักปัจจัย  4  ไม่ได้บอกให้อยู่บ้านละ  20  ล้าน  30  ล้าน   แต่บอกให้มีที่พักพิงอาศัยที่พอสมควรมีเสื้อผ้าใส่พอสมควร  มียารักษาโรค  มีสุขภาพ  อนามัย  มีอาหารพอเพียง

            ผลสุดท้ายก็ต้องมาสู่ปรัชญาเบื้องต้นคือการรู้จัก “พออยู่พอกิน”  เพราะฉะนั้นเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงเบื้องต้น  อยากจะอรรถาธิบายตามความเข้าใจของผมโดยส่วนตัวว่า   พระองค์ท่านกำลังสอนเราว่าควรจะปรับเปลี่ยนวิธีชีวิตตัวเองเสียใหม่   ปรับเปลี่ยนปรัชญาในการดำรงชีวิตเสียใหม่คือให้อยู่แบบปรัชญาไทยที่มีมาแต่ก่อน  ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่พึงกระทำ   แต่เราหลงทางอยู่เป็นระยะเวลานาน   ตอนนี้ให้เลี้ยวกลับมาสู่พื้นฐานเดิมที่เรามีอยู่และมีความสุขมาโดยตลอด   โดยมีแนวความคิดหลักว่าอยู่อย่าให้เกินตัว

ทฤษฎีใหม่ในเศรษฐกิจพอเพียง

            เศรษฐกิจพอเพียงใช้ได้ทั้งสำหรับคนกรุงและคนชนบทหมายความว่ากำหนความพอดีให้กับตัวเอง ของแต่ละคน  คือไม่ใช่ว่าทุกคนถูกลดให้จนลงไปหมด  ถ้าคุณมีเสื้อผ้าพอจะใส่ได้ก็ใส่แล้วกัน  ไม่ต้องไปขวนขวาย  ไม่ต้องไปกู้เงินหาความร่ำรวยจนเลอะเทอะ  ถ้าคุณเป็นเกษตรกรคุณทำเกษตรไปก็แล้วกัน   พระองค์ท่านยังสนใจต่อเกษตรกรเพราะเป็นส่วนที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยที่สุด   เลยแนะนำเรื่องทฤษฎีใหม่ให้

            เพราะฉะนั้นต้องแยกให้ดี   ประเด็นแรกหลายคนพูดจนกระทั่งปนเปกันไป   ระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่  คือเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเรื่องปรัชญา   วิถีชีวิตในการดำรงของคนทุกหมู่ทุกเหล่า   ส่วนทฤษฎีใหม่นั้นเป็นวิธีการสำหรับเกษตรกรรายย่อยเป็นวิธีที่สอนให้รู้จักการทรัพยากรธรรมชาติ ของเขา  คือดิน  น้ำ  ต้นไม้  พืชผลต่างๆ  การเลี้ยงสัตว์เพื่อให้หลุดพ้นจากคำว่าไม่มี

            นอกจากความเฉลียวฉลาด   เราต้องมีสติปัญญาด้วย  คือคนที่อยากอยู่อย่างเศรษฐกิจพอเพียงแต่ขาดสติปัญญา  ก็เป็นปัญหา  ยกตัวอย่างคน  2  คนปลูกยูคาลิปตัส  ปลูกพร้อมๆ กัน  พอปีที่ 7 คนหนึ่งก็ตัดไม่ได้ใช้สติปัญญาเท่าไร  พอโตก็ตัดต้นขายกิโลละบาท  ต้นหนึ่งอาจขายได้ 400-500  บาท  อีกคนหนึ่งคุณสุทธินันท์   อยู่ที่บุรีรัมย์เริ่มตั้งแต่ศึกษาพันธุ์  เลือกที่เหมาะสมกับพื้นที่มาปลูก  พอโตได้ 3 – 4 ปีแรกตัดกิ่งมาเผาถ่าน  ใส่กระสอบขายก็ได้แค่ 70-80 บาท  ก็เลยเอามาเรียงห่อเป็นถุงเล็กถุงละ 2 กิโล เป็นถ่านบาร์บีคิว  ขายในราคาที่ไม่แพงมาก   พอกิ่งก้านโตหน่อยก็ตัวลงมาไปทำของเล่นไม้  พอถึงปีที่ 7  จึงจัดต้นลงมาผึ่งให้แห้ง  แล้วส่งไปทำเฟอร์นิเจอร์ไม้

            จะเห็นได้ว่าต้นไม้ต้นเดียวกัน  ชนิดเดียวกัน ขณะที่คนหนึ่งขายได้ 500  บาท  คุณสุทธินันท์เบ็ดเสร็จได้ประมาณ  12,000  บาท  ต่างกัน  25  เท่าตัว  อันนี้คือการใช้สติปัญญาความเฉลียวฉลาด  ต้องดูทรัพยากรรอบข้างว่าจะใช้เป็นประโยชน์อย่างยั่งยืนอย่างไร  ไม่ใช่อย่างที่ผ่านมาใช้แบบฟองสบู่เห็นป่าไม้ก็ตัดหมด

            คำที่ 3 สามัคคีธรรม  แน่นอนที่สุดเรื่องความสามัคคีค้อการที่จะต้องกลับไปใช้  หลักการของไทยแบบเดิมๆ  เราต้องอยู่ด้วยความประนีประนอม  เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งเอื้ออาทรต่อกันและกันซึ่งในเวลานี้สังคมประชาธิปไตยไม่มีสิ่ง เหล่านี้แล้ว  มีแต่เอาชนะคะคานต่างฝ่ายต่างมุ่งเอาประโยชน์ของตนของกลุ่ม  ของเหล่า  จนกระทั่งเกิดทะเลาะเบาะแว้งความขัดแย้งในสังคมเริ่มมีมากขึ้นจนถึงในจุดที่น่าเป็นห่วง

            หลัก  3  ประการที่พระองค์ท่านให้มาผมคิดว่าถึงเวลาที่เราต้องคิดพระองค์ท่านรับสั่งไว้ว่า  ถ้าทำได้  แม้กระทั่งเศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศประเทศชาติก็รอดแล้ว   ผมคิดว่าท่านหมายถึงคนเศษหนึ่งส่วนสี่ที่อยู่ในสภาพที่ยากจน   และไม่มีขีดความสามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้  อย่างน้อยให้เขาขึ้นมาสู่ระดับพออยู่พอกิน   ปัญหาสังคมจะไม่เกิดขึ้น  เขาก็ไม่ต้องมานอนหน้าทำเนียบอยู่ตลอดเวลา

            เวลาเราพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง  เรามักพูดควบคู่ไปกับทฤษฎีใหม่อยากให้คำอรรถาธิบายในส่วนนี้สักนิดหนึ่ง  ในส่วนของเกษตรกรก็ทรงแนะทฤษฎีใหม่ซึ่งคือวิธีการที่เขาควรจะจัดการกับพื้นที่ของเขาอย่างไร และทรงออกสูตรมาว่า  30:30:30:10  ปัจจัยแรกที่สุดในการทำเกษตรคือน้ำ  ถ้าไม่มีน้ำเรื่องเกษตรก็ไม่มีทางทำได้หรอก  เพราะฉะนั้นประการแรกต้องมีน้ำ

            ประการที่สอง  ต้องคิดว่าให้ตัวเองเป็นเมืองขึ้นกับระบบนอกประเทศขึ้นกับไอเอ็มเอฟ  ขึ้นกับระบบเงินตรา  อัตราแลกเปลี่ยนจะทำอย่างไรให้เราหลุดจากบ่วงนี้ได้  ทางออกก็คือต้องอยู่ด้วยพื้นที่ตัวเอง  พระองค์ท่านบอกว่า  30 %  นั้นควรปลูกข้าว  ไม่ใช่สำหรับขาย  แต่ปลูกไว้เพื่อบริโภค  ส่วนอีก 30%  ควรปลูกไม้ผล  พืชพันธุ์ผัก  และอีก 10% ต้องปลูกบ้าน  ทำโรงเก็บอะไรต่างๆ  เพิ่มเติม  ถนนหนทาง  สร้างเล้าไก่อะไรบนนั้น  เมื่อมีระบบการจัดการนี้แล้ว  สิ่งที่เกิดขึ้นคือครอบครัวเกษตรกรเป็นอิสระ  มีเสรีภาพชีวิตของตนเองขึ้นกับที่ดินของตัวเอง  ทรัพยากรที่ตัวเองเป็นเจ้าของภายใต้ระบบการจัดการของตัวเอง  เพราะมีครบหมด  มีข้าวกิน  มีไก่กิน  มีปลามีโปรตีนราคาถูกกิน  มีพืชผัก  คราวนี้เงินบาทลอยไปเท่าไรก็ไม่สนใจ  ส่งออกจะไดหรือไม่ได้ก็ไม่สนใจ   หลุดออกจากเงื่อนไข  พันธนาการของระบบเศรษฐกิจใหม่

            พระองค์ท่านทรงยกตัวอย่างที่ดิน  15  ไร่  ทุกคนก็บอกว่าถ้าไม่ใช่  15  ไร่ทำไม่ได้  มันไม่ใช่  ท่านอุตส่าห์ตีมาเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วเปอร์เซ็นต์นั้นก็ปรับยืดหยุ่น  ท่านต้องการให้คนเฉลียวฉลาด  บางคนอยู่ใกล้แหล่งน้ำอยู่ใกล้คลองชลประทาน  อยู่ใกล้แม่น้ำ  ก็ไม่จำเป็นต้องไปขุดบ่อใหญ่โตเปลืองพื้นที่ถึง 30% ได้  อาจจะขุดเหลือแค่ 10% ก็ได้  เพราะเติมน้ำได้ตลอดเวลา  อยากฝากข่าวนี้ไปบอกให้ปรับเปลี่ยนความเข้าใจด้วย

            ข้าราชการที่ไปแนะนำชาวบ้านก็บอกอย่างนั้นด้วยความเคร่งครัดว่าต้องมีที่ดิน 15 ไร่นะไม่งั้นไม่ใช่ทฤษฎีใหม่  แสดงว่าตีไม่แตก  พระองค์ท่านอุตส่าห์แตกเป็นเปอร์เซ็นต์ให้ดูจะยืดหดจะมีที่ 50 ไร่  มากกว่านั้นหรือน้อยกว่านั้นก็เอาสัดส่วนนั้น  พระองค์ท่านคำนวณเรื่องน้ำ  เรื่องอื่นๆ  มาให้อย่างละเอียด  ที่ไหนแล้วน้ำก็ต้องขยายมากขึ้น  เราควรใช้ประโยชน์ในสระนั้นเป็นที่เลี่ยงปลาเลี้ยงเป็ดก็ได้  ก็เอาสัดส่วนนี้แหละ  ความจริงหลักใหญ่ ๆ ก็มีอยู่แค่นี้ที่พูดสั้นนิดเดียว  ชัดเจนมาก  พระองค์ท่านรับสั่งอะไรคนไม่ค่อยแปล  รับไปเลย   อย่างเมื่อสองสามวันมานี้  ชาวบ้านบอกว่ามีที่ดินอยู่ 17 ไร่  ไปปรึกษาเกษตร  เกษตรบอกว่าทำไม่ได้หรอกมี 17 ไร่  ต้องติดทั้งไป 2 ไร  ฟังแล้วก็กลุ้มใจนะ  แต่ะพระองค์ท่านก็ชี้แจงอยู่เรื่อยๆ

สูตรปฏิบัติของคนเมือง

            พอพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง  คนนึกภาพว่าต้องกลับไปทำเกษตร  แล้วก็มีคำถามตามมาว่าคนในอาชีพอื่น ๆ  จะทำอย่างไร

            ผมเรียนให้ทราบในต้อนต้นแล้วว่า  คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี้เป็น Philosophy  สำหรับทุกคน  คงเป็นไปไม่ได้ถ้าคนทั้งประเทศนี้จะต้องกลับไปทำเกษตรหมด  นี่คือวิถีชีวิตต้องปรับวิถีชีวิตใหม่  คนอยู่ในกรุง  คุณอาจจะกังวลว่าฉันไม่มีที่ดิน  ฉันจะทำอย่างไร  ที่เป็นเช่นนี้เพราะไปผูกเศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ว่าเป็นเรื่องเดียวกัน  ทั้งที่ท่านชี้แนะสำหรับเกษตรกรเท่านั้น

            ส่วนในกรุงก็อย่างที่บอกคือหลงระเริงไปกับค่านิยมใหม่  จนกระทั่งกิน อยู่ฟุ่มเฟือย  จนกระทั่งละทิ้งข้าวแกงไปกินแฮมเบอร์เกอร์  หลายสิ่งเปลี่ยนไปหมดแล้ว  สรุปว่าสำหรับคนในกรุงในเมืองไม่ว่าอาชีพอะไรก็ให้ปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวิตที่พอดีและอยู่อย่างพอดี  มีขีดความสามารถที่จะนั่งรถคันเล็กๆ  ก็นั่ง  ไม่ใช่ซื้อคันใหญ่ๆ มาแล้วผ่อนไม่ไหว  ต้องให้  ปรส.ยึดไปขายทอดตลาดอย่างนี้เป็นต้น  สมควรอยู่บ้านหลังแค่นี้  แต่ไปผ่อนบ้านเป็นร้อยตารางวาเพราะหลงระเริงว่าเงินเดือนเยอะแยะเหลือเกิน  นี่คืออยู่ไม่พอดีตัว

            เพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้ทุกคนหันไปทำการเกษตรหมด  กิจกรรมอื่นก็ต้องทำ  ถ้าไปทำเกษตรหมดก็หมายความต้องเปลี่ยนประเทศทั้งประเทศเป็นยุคก่อน  ตื่นเช้าขึ้นมาก็ต้องตามไปจับตัวอะไรต่ออะไรมากินเป็นอาหารซึ่งคงไม่ใช่  จึงต้องย้ำว่าอย่านำไปปนกัน  เศรษฐกิจพอเพียงคือวิธีชีวิต  คือเราต้องกำหนดปรัชญาชีวิตเสียใหม่ให้อยู่อย่างพอดี  พอมีพอกิน  อย่าไปหลงระเริงเอาเงินเดือนแพงๆ  ซึ่งคนที่ได้รับเงินเดือนเป็นแสนเวลานี้ให้  2  หมื่นก็เอาแล้ว  คุณค่าจริงๆ อาจมีเท่านั้นก็ได้  ที่แล้วมาเป็นค่าหลอก ๆ  เหมือนเล่นการพนัน

            ที่แล้วมา  ต้องบอกว่าประเทศของเรา  ตัวผมเองมองว่าเหมือนเราเล่นการพนัน  ประกอบธุรกิจการพนันกัน  ใครมีที่ดินก็สร้าง  สร้าง  สร้าง  ขึ้นมาเต็มไปหมด  ตอนแรกก็ร่ำรวยกันเหมือนแชร์แม่ชม้อย  คนเล่นตอนแรกก็รวยกันเป็นแถว  พอถึงจุดหนึ่งสร้างกันอย่างไม่มีเหตุไม่มีผล  สร้างกันเกินความต้องการ  อยากรวยกันอย่างเดียว  ผลสุดท้ายก็เหลือแต่ซากขึ้นไปครึ่งเดียวจบ  อย่างนี้เป็นต้น

            เพราะฉะนั้นขอเรียนให้ทราบอีกทีหนึ่งว่า  ไม่ใช่ให้ทุกคนกลับไปทำเกษตร  แต่คนไหนพอที่จะกลับไปทำได้  หรือมีความจำเป็นก็กลับไป  กลับไปถ้าทำได้พัฒนาตัวเองไปก็ดี  เป็นเรื่องดีคนไหนทำไม่ได้  สิ่งสำคัญคือต้องปรับชีวิตมากกว่า  อย่าให้หลงระเริง  เพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลยทั้งสิ้น  มันทำลายตัวเองทำลายทุกสิ่ง  ทั้งระบบ

            แม้กระทั้งการลงทุน  เวลานี้นักลงทุนอยากกลับมาขายแซนด์วิชถามว่ากิจกรรมอันไหน  คือกิจกรรมที่เขาคิดว่าร่ำรวยที่แท้จริง  การลงทุนสมัยก่อนทำเป็นแฟชั่น  นักเศรษฐศาสตร์ลงความเห็นว่าต้องลงทุนธุรกิจประเภทนี้  ต้องไปอย่างนี้  ต้องกู้เงินอย่างนี้  บัดนี้คือของจริง  ขายแซนด์วิชได้กำไรกว่ากันเยอะเลย  ทั้งที่แต่ละวันเราอาจจะได้น้อย  แต่ได้ตลอดไป  สำคัญที่สุดคือเลี้ยงดูครอบครัวได้  ตอนั้นว่ากันว่าสิ่งทอกำลังบูมตรงนี้ก็กำลังดี  ก็ขยายโรงงานใหญ่  เมื่อวันก่อนไปโรงงานรถยนต์  ตอนนี้ยุบเหลือแค่โรงเดียว  คือไม่ใช่ให้ปฏิเสธการลงทุน  แต่ต้องไม่ทำแบบการพนันหวังรวยเร็ว  คนผลิตรถยนต์ก็ไม่มีทางจะกลับไปทำเกษตรได้  ก็ให้กลับไปสู่ความพอดี  รถเก๋งขายไม่ออก  แสดงว่าความต้องการบริโภคไม่มี  แสดงว่าผลิตเกินความต้องการ

            อย่างไรก็ตาม  สุดท้ายหลังจากชำนาญแล้วเข้าไปเรียนรู้ระบบตลาดได้เองแล้ว  มีพลังต่อรองกับบริษัทใหญ่ได้แล้ว  ตอนนั้นท่านบอกให้ไปร่วมมือกับธนาคาร  กู้มาบ้างก็ยังได้  แต่ว่าตอนนั้นต้องแข็งแรงเพียงพอแล้ว

            ช่วงที่ผ่านมา  มีการพูดขยายความเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  พอเพียงกันออกไปอย่างสับสน  เท่าที่สัมผัสมาเป็นการลงมือที่ตรงปลาย  แต่ก็จำเป็นต้องทำ  สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือทำอย่างไรจะให้เกิดความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกระแสของเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นมา ในจิตใจคนได้  ตรงนี้ต่างหากที่ไม่มีใครทำ  กระทรวงกี่กระทรวงก็รวมกันทำแต่เรื่องเกษตร

            เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทฤษฏีใหม่  ผมบอกแล้ว่าคนมักพูดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับเรื่องทฤษฎีใหม่เรื่องเดี่ยวกัน  ด้านเกษตรกรรมก็ต้องลุยกันไป  ต้องสร้างความพอมีพอกินให้เกิดขึ้นมาบนแผ่นดินให้ได้แต่ที่เหนือกว่านั้นก็คือ  ปรัชญา  อย่างเรื่องประหยัด  เศรษฐกิจพอเพียงต้องประหยัด  ผมถามว่ามีใครสร้างกระแสนี้ในบ้านในเมืองไหม  ขณะที่เราไปสู่ความจนเข้าทุกทีๆ  ตั้งแต่ข้างบนยันข้างล่าง  มีใครแสดงออกมาสร้างกระแสอย่างจริงจังไหม

            ตรงนี้ต่างหากที่อยากเห็นเหลือเกิน  ให้รัฐบาลออกมารณรงค์การประหยัด  เริ่มตั้งแต่การแต่งกายของข้าราชการ  ไม่มีบังคับให้ประหยัดหรือสร้างกระแสเหมือนสมัยพลเอกเปรม   ติณสูลานนท์เลย  เมืองไทยต้องยอมรับว่ายังเชื่อผู้นำอยู่  ผู้นำนำอย่างไหนอย่างน้อยพวกผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้องจะตาม  ก็จะตามมาเป็นลำดับเลย  ตอนนี้ทุกคนก็ยังขี่รถคันโตๆ  อยู่  ข้าราชการต่างคิดว่าผม ซี 11  รถผมต้องราคา 1 ล้าน 5 แสน  ซี 10 ต้อง 1 ล้าน 2 แสน  ซี 9 ต้อง 9 แสนกว่า  หรือ  8 แสนกว่า  คนขับรถราคา 1 ล้าน 2 แสนก็อยากเปลี่ยนมาเป็น 1 ล้าน 5 แสน  คนขับรถราคาล้านห้า  ก็อยากเปลี่ยนต่อไปอีก  เป็นความอยากที่ไม่มีวันจบสิ้น

            อย่างตอนนี้  ยกตัวอย่างผมเองไม่เห็นจำเป็นจะต้องนุ่งผ้าม่อฮ่อมให้แปลกไปจากคนอื่น  เรามีอะไรก็ใส่อย่างนั้น  คือตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดี  เราก็ไม่ต้องซื้อใหม่  เพราะของเดิมมีเต็มตู้อยู่แล้ว  ก็ใช้เท่าที่มีอยู่ก่อน  ต้องหยุดความฟุ่มเฟือยให้ได้เสียก่อนแล้วต้องสร้างกระแสรณรงค์ขึ้นมา

            การที่เราไม่สร้างกระแส  ถึงได้มีการคอรัปชั่น  ถึงได้โกงกัน  เพราะยึดถือเงินเป็นที่ตั้ง  เล่นการเมืองก็ต้องเงิน  หาเสียงก็ต้องเงิน  ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมก็ต้องเงิน  เงินเป็นเกียรติยศ  เป็นทุกอย่าง  ต้องลบล้างภาพตรงจุดนี้ออกไปได้ไหม

            เพราะฉะนั้นผมบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงต้องสร้างขึ้นมาด้วยความรู้สึกในจิตใจขึ้นมาให้ได้  แต่จุดนี้ผมยังเห็นว่าหลังจากพระราชกระแสรับส่งแล้ว  ไม่มีใครทำ  ผมพยายามยกตัวอย่างพระเจ้าอยู่หัวว่า  ฉลองพระองค์ที่ทรงสวมเวลาไปชนบทกับฉลองพระบาทที่ทรงสวมต่าง ๆ  กี่สิบฤดูท่านก็ใส่อย่างนั้น  ตัวเดิม  รองเท้าก็ไม่เปลี่ยนเลย  จนเวลานี้เราไม่ใส่กันแล้วด้วยซ้ำไปยี่ห้อนั้น  ดินสอท่านก็ใช้จนสั้น  ประหยัดหมด  ทุกคนดูด้วยความประทับใจ  แต่ไม่มีใครทำตาม  ผมว่ากระบวนการที่เหลือต้องทำตรงนี้  ตอนพลเอกเปรมทำก็ซาบซึ้งเห็นคุณค่ากัน  แต่ก็ไม่เห็นมีใครทำต่อ  เชียงใหม่ก็มีวันจันทร์หรือวันอะไรแต่งชุดพื้นเมือง  นั่นก็สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้วย  ประหยัดก็ประหยัด

            ผู้นำต้องแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน  ผมพยายามพูดหลายที่ต่อหน้าผู้ใหญ่หลายคนแล้วว่า  ขยับกันบ้าง  ควรจะทำกระแสดให้เป็นที่ยอมรับพร้อมกันหมดทั้งประเทศ  ว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่เราควรจะเคารพ  เป็นสิ่งที่มีเกียรติไม่งั้นก็เป็นอย่างนี้  นายแต่งตัวโก้หรูมา  ฉันก็ต้องแต่งตัวตามวันที่ประชุมวุฒิสภา  ผมก็แต่งตัวใส่สูท  วันไหนไม่มีอะไร  ผมก็ใส่ธรรมดา  บางทีผมใส่ซาฟารีเข้าไปคนมองหน้า  เราก็ไม่อยากฝืนโลกให้มากเกินไป  เสื้อตัวนี้ใส่ตั้งแต่อยู่  วปอ. 11 ปีแล้ว  มีหลักฐานอยู่วันที่  1  เดือนสองปี 2529  11 ปีมาแล้วก็แค่นั้น  เราควรเดินทางสายกลางพอไม่ต้องถึงขนาดปรุงแต่งจนกระทั่งไม่ใช่ของจริง  มันกลายเป็นเรื่องหลอกไปอีก  มีอะไรก็ใส่อย่างนั้น

            ในช่วงที่บ้านเมืองเป็นหนี้สินเยอะแยะต้องจ่ายดอกเบี้ยมากมายหลายคนสงสัยว่าเศรษฐกิจ  พอเพียงจะช่วยให้เราเห็นแสงสว่างได้หรือขอยืนยันว่า  ถ้าเราปฏิบัติกันจริงจัง  อย่างน้อยเราก็จะได้เห็นแสงสว่างซีกประชาชนต้องแยกแยะกันให้ดี  ประการแรกชีวิตประจำวันของประชาชน  ถ้าทุกคนมุ่งไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงเราลดความทุกข์ของเราไปได้เยอะ  จะเห็นว่าความทุกข์ของเรานั้นครึ่งหนึ่งมาจากความอยากของเรา  ซึ่งไม่ใช่ความอยากจริงหรอก  เพราะทุกคนเคยอยู่อย่างนี้แล้ววันหนึ่งลงมาอยู่อย่างนี้  เกิดทุกข์ก็จริง  แต่ไม่ใช่ทุกข์จริงหรอก ทุกข์จริงคืออดตาย  ถ้าใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง  อย่างน้อยในส่วนของประชาชนจะช่วยปลดเปลื้องไปได้มากทีเดียว

            ในส่วนหนี้สินของชาติเป็นอีกเรื่องหนึ่ง  อันนี้เราก็ต้องสร้างเงินตราเป็นลูกหนี้เขาก็ต้องหาเงินมาผ่อนใช้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการสิ่งไหนที่จำเป็นต้องทำก็ต้องทำ  แล้วต้องอย่าตามใจคนอื่นเขา  ควรจะยึดถือผลประโยชน์ของประเทศที่แท้จริงเป็นที่ตั้ง  ต้องแยกแยะให้ถูก

            เรื่องที่ว่าทำอย่างไรจะให้ประชาชนอยู่ได้  ก็ต้องให้กระทรวง ทบวงกรมร่วมมือร่วมใจกันทำให้มากกว่านี้  ไม่ใช่วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่งอย่างที่เป็นอย่างทุกวันนี้  ถ้าทำอย่างนั้นได้ในแง่ของประชาชนเชื่อมั่นว่าจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้  เรื่องหนี้สินไม่อยากคิด  มันท่วมจนกระทั่งพูดไม่ออกแล้ว

            ผมมักจะยกตัวอย่างตัวเองเป็นที่ตั้ง  ผมมีชีวิตที่ราบเรียบอยู่ตลอดเวลา  ตั้งแต่ยุคฟองสบู่  ก่อนแตกหรือแตกแล้ว  รถส่วนตัวผมมีอยู่คันเดียวคือรถโฟล์คเต่า  เสาร์อาทิตย์ผมก็ขับเล่นของผม  ผมอยู่ของผมง่ายๆ  บ้านช่องผมอยู่สมฐานะ  ไม่มีประเภทใหญ่โดไปทั้งบ้าน  บ้านผมไม่มีห้องรับแขกใครมาผมก็รับแขกที่ระเบียง  แต่ผมไม่ทุกข์ร้อนอะไร  ฟองสบู่แตกหรือไม่แตกผมก็ไม่ทุกข์ร้อนอะไรเลย  ตกเย็นเราก็น้ำพริกปลาทู  ปลาทูแพงนะตอนนี้ไม่ใช่ถูก  มีอะไรเราก็กินอย่างนั้น  ไม่ใช่ไปกินของแพงหรูหรา  ผมก็ไม่เห็นเดือนร้อน  ผมก็เลยคิดว่าถ้ากลับไปยึดหลักพอเพียง  ถ้าทุกคนทำอย่างนี้ก็ดี  ถ้าคนไหนอยากขี่รถคันละล้าน  เขามีเงินเหลือเฟือก็ว่าไป  แต่ไม่ควรจะเกินนั้น

            นอกจากนี้  สิ่งที่สำคัญที่สุดและอันนี้เป็นพระราชกระแสฝากไว้  ถึงเวลาแล้วที่คนที่อยู่ข้างบน  จะต้องลงไปช่วยคนที่อยู่ข้างล้าง  ท่านบอกปิรามิดพวกศักดินาอยู่ข้างบน  หมายความว่าพวกนายทุน  พวกนายธนาคารพวกเศรษฐี  ถึงเวลาแล้วที่จะต้องกลับมาแบกฐานปิรามิดแล้ว  ฐานปิรามิดจะต้องคว่ำแล้วคือเดิมคนอยู่ข้างบนเติบโตขึ้นมาเพราะอาศัยฐานล่างแต่เวลานี้ฐานล่าง เขาลำบากแล้ว  ก็ต้องกลับมาช่วยเหลือเขา  จะยากดีมีจนอย่างไรก็ยังมีมากกว่า  ถึงเวลาแล้วที่คนเหล่านี้จะต้องมาแบกภาระช่วยเหลือ  ถึงคราวจะต้องเจือจานไปแล้วเปลี่ยนบทบาทกันบ้าง  อันนี้จะต้องช่วยกันและลงมือทำ

            อย่างเมื่อไม่กี่วันนี้ท่านเสด็จฯ  ไปที่ที่ดินย่านพระรามเก้า  ความหมายสำคัญคือท่านต้องการสื่อข่าวให้เห็นว่าแม้กระทั่งกรุงเทพฯ  คนที่ซื้อที่ดินไว้  หวังว่าราคาจะขึ้น  ขายได้ร่ำรวยแล้วเวลานี้ก็ขายไม่ออก  ราคาตกอยู่ทำอะไรได้ไหม  อย่าทิ้งให้มันว่างเปล่าอย่างนั้น

            ที่ดินตรงพระรามเก้าเป็นที่ที่ไม่ดีเลย  เป็นที่ทิ้งวัสดุก่อสร้าง  ท่านก็อุตส่าห์เก็บออกมา  เอาดินใส่หน่อยปลูกผักก็ขึ้น  ชาวบ้านแถวนั้นเขามาช่วยบรรจุหีบห่อ  เขาก็มีรายได้  ตกเย็น  ก็หิ้วผักกลับไปด้วย  เท่ากับเราได้แบกภาระสังคมส่วนหนึ่งแล้ว  ถ้าเศรษฐีทุกคนทำอย่างนี้  เศรษฐีจนนั่นหมายถึงเขารวยน้อยลงหน่อย  ต่ไม่ใช่หมดตัว  พอที่จะควักมาเจือจานและแบกภาระเลี้ยงดูคนที่อยู่ตรงฐานปิรามิดได้ไหม  เพราะเวลาที่ร่ำรวยเราก็อาศัยเขา  ก็ควรถึงเวลาที่เราช่วยเขาบ้าง

            มีอีกราย  เจ้าของบริษัทเจโมโพลิส  มีที่ดินพันไร่ที่เชียงรายเป็นเศรษฐีค้าขายเพชรนิลจินดาบอกว่าอาจารย์ครับผมมีที่ดินพันไร่จะทำอะไร ดีก็เลยบอกว่าให้ซอยเป็นไร่ๆ  ชิ้นเล็ก ๆ  พวกที่ตกงานมาก็จะได้ให้เขาเช่าไปเช่าไปถูกๆ ก่อน  ถ้าคุณมีเงินลงทุน  คุณสร้างโรงงาน  ผลิตเกษตรแบบใหม่ออกมาขาย  มีคนติดต่อเรื่องตลาดให้  ช่วยกันคนละไม้คนละมืออย่างนี้ก็พอแล้ว  ก็คงจะพอช่วยให้ประเทศชาติคงอยู่ได้  ไปรอด  แต่ถ้าทุกคนรวยแล้วหนี  รวยแล้วหนีอย่างหลายคนที่เป็นอยู่ในขณะนี้  บ้านเมืองตายพระองค์ท่านก็แสดงให้ดูหมด  อย่างที่พระองค์ท่านเสด็จตรงพระรามเก้าเห็นชัดเจนว่าทรงต้องการให้สื่ออะไรบางอย่างออกไป  สื่อข่าวว่าที่ส่วนพระองค์ทำแล้ว

            ที่ดุสิตธานีก็รู้สึกทำแล้ว  คุณหญิงชนัตถ์(ปิยะอุย)  ท่านก็พูดว่าหลังจากปลดคนงานแล้วก็เอาคนงานปลดไปทำเกษตรในพื้นที่ดินว่าง   เพราะรอบนี้น้ำเยอะ  ฝนดีมาก  เมื่อไม่ทำอะไรน้ำก็ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาหมด  ไม่มีประโยชน์  ที่ดินที่มีเหลืออยู่ก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์  คนที่ว่างงานอยู่ก็จะได้มีอาชีพต่อ  แล้ววิญญาณเกษตรนี้ไม่ต้องฝึกกันนานหรอก  อบรมนิดเดียวก็เป็นกันหมดแล้วเพราะเป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในจิตใจของคนไทย

            นี่แหละเป็นตัวอย่างของความสามัคคีซึ่งตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสามัคคี  เอื้ออาทรต่อกัน  ช่วยเหลือกัน  ถามว่าคุณเสียประโยชน์อะไรหรือไม่  คุณทิ้งที่ดินไว้เปล่าๆ  ต่อไปก็จะต้องเสียภาษี  ทำไมไม่เอาออกมาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  คุณก็ไม่ต้องเสียอะไร  คุณอาจจะให้เขาเช่า  หักผลประโยชน์กลับมา  ทุกคนก็ได้ประโยชน์หมด  ทำกันได้มั้ยไม่ใช่ได้โฉนดแล้วนั่งรอ  ซื้อมาร้อยแล้วนั่งรอให้เป็นพัน  ซื้อพันขายหมื่นเหมือนเล่นแชร์  เรื่องที่ดิน  เรื่องเรียบเอสเตท  เล่นเหมือนการพนัน  การลงทุนอย่างคนเล่นหุ้น  ครึ่งหนึ่งก็เล่นแบบการพนัน  อีกครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่เล่นแบบลงทุน  แต่พวกที่นั่งอยู่ตามห้องเหมือนแทงล็อตเตอรี่  ฮือกันขึ้นมา  พอขึ้นก็รีบขาย  เพราะฉะนั้นทุกจุดของธุรกิจนั้นมันไม่ได้ตั้งอยู่พื้นฐานที่ควรเป็นที่อื่นที่เขาเจริญแล้วนั้นเขาจะเล่นแบบ มีข้อมูล  แต่ของเราเล่นหุ้นแบบแทงหวย  ได้กำไรบาทสองบาทรีบขาย  ราคาตกมารีบซื้อไว้  เพราะเล่นกันอย่างนี้  ตอนนี้เลยต้องปิดห้องหุ้นไปเป็นแถว

            ในขณะที่พยายามวางฐานภาคประชาชนให้เข้มแข็ง  แต่เราก็มีปัญหาเฉพาะหน้ามากมาย  ดูเหมือนว่าผู้นำก็พยายามจะแก้ปัญหา  แล้ววาดความหวังว่าจะสามารถกลับไปสู่ยุคความรุ่งเรือง ในสมัยฟองสบู่  สิ่งที่ออกมาขัดแย้งกันหรือไม่

            ไม่ใช่                                                                                ใช่          

ซื้อนาฬิกาเรือนละล้าน                                                      มีเสื้อผ้าใส่พอสมควร

ใช้กระเป๋าถือใบละ 2-3 หมื่น                                              มียารักษาโรค        

ผูกเนคไทเส้นละ 2 หมื่น                                                    มีสุขภาพอนามัย

สวมสูทชุดละ 7-8 หมื่น                                                     มีอาหารพอเพียง

ขับรถยนต์คันละ 12 ล้าน                                                   ใช้ได้ทั้งสำหรับคนกรุงและคนชนบท

อยู่บ้านหลังละ 20-30 ล้าน                                                เป็นเกษตรกรก็ทำเกษตรไป

ทุกคนถูกลดให้จนลงไปหมด                                             มีที่ดิน 1 ไร่ก็ทำได้

กู้เงินหาความร่ำรวยจนเลอะเทอะ                                       ทำได้ทุกอาชีพ

มีที่ดินน้อยน้อยกว่า 15 ไร่ทำไม่ได้                                     คนขายก๋วยเตี๋ยวก็ปฏิบัติได้

             เวลาที่ลงไปข้างล่างนั้น  เราต้องช่วยตัวเราเอง  เพราะฉะนั้นผมพูดตามตรง  ผมไม่ค่อยสนใจเท่าไหร่ข้างบน  เพราะถ้าขืนสนใจ  เราก็จะห่วงหน้าพะวงหลัง  ตกลงไม่มีอะไรเกิดขึ้นสักที  ส่วนล่างก็ไม่มีอะไรเกิด  ข้างก็ไม่เกิด  ข้างบนจะคิดอะไรก็ช่างก็อย่างที่เราพูดกัน  เป็นสองส่วน  มีเมืองไทยที่อยู่ในโลกใหม่  กับเมืองไทยกี่ล้านคนไม่รู้อยู่ในโลกเก่า  ขณะนี้ผมลงไปทำโลกเก่าให้หลุดขึ้นมา  ให้เขาไม่ทุกข์  อย่าให้เขาต้องได้รับความทุกข์จากส่วนบนเติมความทุกข์ลงไปให้เขาด้วย  ตัดตอนตรงนี้เสีย  ผมไม่ห่วงพะวงหน้าพะวงหลัง  โดยพื้นฐานหลักการนั้น  ประชาชนต้องเป็นที่พึ่งของตนเองเพราะหมดยุคหมดสมัยที่จะไปรอคนอื่นมาช่วย  รอคนโน้นมาช่วยรอกระทรวงนี้มาช่วย  รอรัฐบาลจะต้องกำหนดมา  อาจจะต้องตายก่อน เพราะฉะนั้นผมว่าส่วนนี้เราขีดเส้นปฏิบัติการค่อนข้างชัดเจนเราไม่ขัดข้างบนแต่จะทำอะไร  เราก็ยกปัญหาขึ้นมา  แต่คณะกรรมการสังคมก็จะส่งปัญหานี้ขึ้นไป  แต่ก็ต้องยอมรับว่า การแก้ไขโดยระบบราชการนั้นค่อนข้างอุ้ยอ้ายเพราะฉะนั้นอย่าไปหวังผลว่าอะไรจะเกิดขึ้น  หรือจะปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว  แต่ถ้าถอยหลังกลับมาดูจะเห็นว่าการตื่นตัวของประชาชนนั้นเยอะ  เพราะฉะนั้นเวลานี้  ยุคสมัยนี้ใครทำอะไรผิด  ผลจะออกมาอย่างรวดเร็ว  จะออกมาไม่เอา  ตรงนี้ไม่ยอมไม่เหมือนสมัยก่อน  ไม่มีใครรู้แล้วก็หายไป

            ยกตัวอย่างบางทีกลางคืนเราไปเที่ยวนาซีซัส  ไปสนุกกับเพื่อน  สิ่งนั่นเป็นแค่ความสนุก  มันไม่ใช่ความสุข  นักเรียนอาชีวะยกพวกไปตีกัน  ฆ่ากันตาย  เด็กโดดตึกตาย  นี่ไม่ใช่สังคมที่เราต้องการ  สังคมใหม่ต้องให้เข้มแข็งต้องสู้แบบที่เป็นอยู่เป็นวัฒนธรรมตะวันตก  ญี่ปุ่นเด็กฆ่าตัวตายเป็นว่าเล่น  เครียดมาก  ต้องต่อสู้กันตลอด

            เราไม่ได้สอนว่าไม่ให้คนต่อสู้  แต่ให้ต่อสู้อยู่ในเหตุในผลไม่ใช่ถึงขนาดว่าเคยได้เกรด A คราวหลังไม่ได้ A  แล้วฆ่าตัวตาย  การแข่งกินเกินเลยเสียจนกระทั่งสอบเข้าอนุบาลยังต้องแข่งกัน  แข่งขันไปหมดมันเรื่องอะไรไปรับวัฒนธรรมจากต่างประเทศ  วัฒนธรรมไทยก็เริ่มสูญสิ้นแล้ว

            ผมว่าสังคมไทยจะต้องมีโครงสร้างใหม่  อาจดูเหมือนสายเกินไปแต่ผมว่ายังทำได้  ผมบอกก่อนว่าผมโตเมืองนอก  ไปอยู่ตั้งแต่ 10  กว่าขวบ  กลับมา 30  ขวบ  ผมไม่เห็นว่าอะไรมีค่าสำคัญเท่ากับคำว่าวิถีชีวิตไทย ปรัชญาไทย  อยู่เมืองนอกผมก็ไม่ประพฤติตัวอย่างนี้  แต่เมื่อกลับมาเมืองไทย  ความเป็นไทยก็กลับมา  เพราะฉะนั้นวิถีชีวิตไทยและอื่นๆ  ที่เกิดขึ้น  ผมคิดว่าเราหลงกระแส  ต้องเลือกดู

            หลายสิ่งเป็นของดี  ต้องน้ำมาใช้  แต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม  เวลาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปไหนจะพระราชทานแนวความคิดอะไร   ท่านคิดข้อนี้อยู่ตลอดเวลา  ท่านเคยใช้คำว่าภูมิสังคม  คือหนึ่งคุณต้องดูสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์  คนอยู่บนเขาไม่อยู่บนพื้นที่ราบมีวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน  อีกอย่างทางด้านวัฒนธรรม  วัฒนธรรมของเขาอย่างภาคใต้และทางภาคเหนือคิดไม่เหมือนกัน  ทำไม่เหมือนกัน  ต่างกันแม้กระทั่งอาหาร

            ผมว่าหลง  คือว่าไม่ได้รู้ว่าสาระจริงๆ  ในเรื่องต่างๆ  ว่าคืออะไร  ดูอย่างนี้แล้วโก้ดี  พูดอย่างนี้แล้วคนเขาชอบ  อย่างการเดินข้ามถนนอย่างสะเปะสะปะ  นั่นเป็นการขัดฝืนประชาธิปไตยอย่างแรง  ไม่เคารพกฎระเบียบของสังคม  มีการสอนกันไหม  เวลาอยู่ต่างประเทศเขาสอนประชาธิปไตย  เขาไม่เคยสอนเรื่องต่างๆ  เหล่านี้  เขาสอนให้อยู่ร่วมกันในสังคม  โดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมได้อย่างไร  แต่นี่เราเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแล้วอ้างคำว่าประชาธิปไตย


            เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่เราจะนำหลักปรัชญาการดำเนินชีวิตที่รู้จัก “พอเพียง”  มาใช้อย่างจริงจัง  แล้วเราจะเห็นแสงสว่างอย่างแท้จริง

ความคิดเห็น

  1. 1
    11/01/2012 15:23
  2. 2
    Dusita
    Dusita dusita-s@hotmail.com 09/01/2012 23:04
    ดร.สุเมธ  ท่านคือยอดคนค่ะ
  3. 3
    แท๊ป
    แท๊ป dsru18@yahoo.com 21/07/2011 11:17

    รบกวนช่วยส่งตัวบทความให้ที่ครับอยากเอาไปให้เพื่อนๆ อ่านเป็นอะไรที่ดีมากครับ

  4. 4
    แท๊ป
    แท๊ป dsru18@yahoo.com 21/07/2011 11:16

    รบกวนช่วยส่งตัวบทความให้ที่ครับอยากเอาไปให้เพื่อนๆ อ่าน

  5. 5
    wic
    wic 04/04/2011 11:32
  6. 6
    bee
    bee bee_body@hotmail.com 15/01/2011 13:44

    อยากได้ข้อความบทนี้ไปให้เพื่อน ๆ อ่าน กัน ครับ ขอกอปหน่อยครับ

  7. 7
    สิริพงศ์
    สิริพงศ์ uripong_13@hotmail.com 13/06/2010 12:05

    ชอบมากมาก ขอบคุงคับบบบบบ

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view