สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบดำเนินงานการ จัดหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้

การตรวจสอบดำเนินงานการจัดหาแหล่งน้ำกินน้ำใช้
หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กระทรวงกลาโหม
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2543 - 2545


       งานจัดหาน้ำกินน้ำใช้ถือเป็นภารกิจสำคัญอย่างหนึ่งของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่และชุมชนในพื้นที่เป้าหมายการพัฒนาตามแนวชายแดนและพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงภายในให้มีความมั่นคงปลอดภัยและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนให้พึ่งตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ตรวจสอบการจัดสรรแหล่งน้ำของ นทพ. เพื่อให้ทราบว่ามีการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำตามวัตถุประสงค์ของงานมีการจัดสรรแหล่งน้ำในพื้นที่ไม่ขาดแคลนหรือไม่ เพื่อให้ทราบปัญหาอุปสรรค สำหรับเสนอแนะแนวทางแก้ไข ได้ตรวจสอบผลการดำเนินงานจัดสรรแหล่งน้ำของปีงบประมาณ 2543 – 2545 ในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 23 จังหวัด โดยตรวจสอบแหล่งน้ำประเภทระบบประปา บ่อบาดาล ขุดสระเก็บน้ำ หรือขุดคลองสระน้ำ ถังเก็บน้ำฝน (ฝ.99) และถังไฟเบอร์กลาส ยกเว้นการก่อสร้างบ่อน้ำตื้น สรุปผลการตรวจสอบได้ ดังนี้

ข้อตรวจพบ การใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำ
ระบบประปา
การจัดสรรระบบประปาให้แก่หมู่บ้านมีหลักเกณฑ์ว่าต้องเป็นหมู่บ้านเป้าหมายของ นทพ.ที่มีความพร้อมด้านไฟฟ้า แต่ยังขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค และมีความพร้อมด้านการบริหารจัดการระบบประปา จากการสุ่มตรวจสอบการจัดสรรระบบประปาในหมู่บ้านเป้าหมายจำนวน 163 แห่ง พบว่า
● ระบบประปามีการใช้ประโยชน์ จำนวน 81 แห่ง ของจำนวนที่ตรวจสอบ โดยเป็นการจัดสรรในพื้นที่ที่ขาดแคลนแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำผิวดิน
● ระบบประปาที่ใช้ประโยชน์น้อยหรือใช้ได้ไม่เต็มที่ จำนวน 34 แห่ง
● ระบบประปาที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 48 แห่ง
สำหรับระบบประปาที่มีการใช้ประโยชน์น้อยหรือใช้ได้ไม่เต็มที่และที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็นการก่อสร้างระบบประปาไม่เสร็จสมบูรณ์ หรือไม่พร้อมใช้ประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 23.64 ก่อสร้างระบบประปาในพื้นที่ไม่ขาดแคลนแหล่งน้ำ คิดเป็นร้อยละ 17.27 ระบบประปามีน้ำน้อยไม่เพียงพอ คิดเป็นร้อยละ 15.45 ระบบประปามีคุณภาพน้ำที่ไม่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค คิดเป็นร้อยละ 11.82 กลุ่มผู้ใช้น้ำขาดความพร้อมด้านการเงิน คิดเป็นร้อยละ 7.27 ระบบประปาชำรุด คิดเป็นร้อยละ 6.37 และปัญหาอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 18.18
บ่อบาดาล
การจัดสรรบ่อบาดาลต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับจำนวนประชากรในหมู่บ้านโดยกำหนดหมู่บ้านละ 1 บ่อ ต่อจำนวนประชากร 20-50 ครัวเรือน จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากบ่อบาดาล จำนวน 199 แห่ง พบว่า
• บ่อบาดาลมีการใช้ประโยชน์ จำนวน 111 แห่ง
• บ่อบาดาลที่ใช้ประโยชน์น้อยหรือใช้ได้ไม่เต็มที่ จำนวน 41 แห่ง
• บ่อบาดาลไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 47 แห่ง
สำหรับบ่อบาดาลที่ใช้ประโยชน์น้อยหรือใช้ได้ไม่เต็มที่และที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำแนกสภาพปัญหาเป็นการจัดสรรบ่อบาดาลในพื้นที่ไม่ขาดแคลน , แหล่งน้ำมีคุณภาพไม่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภค , บ่อบาดาลชำรุด , สร้างในพื้นที่ห่างไกลชุมชน , บ่อบาดาลมีน้ำน้อยไม่พอใช้ , การจัดสรรบ่อบาดาลที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าต้องใช้กระแสไฟฟ้าจากบ้านที่อยู่ใกล้บ่อบาดาลแล้วมาเฉลี่ยเรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำซึ่งไม่สามารถแยกหน่วยการใช้ได้ จึงทำให้ผู้ใช้น้ำรายอื่นเลิกใช้ , มีการก่อสร้างบ่อบาดาลที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า และปัญหาอื่นๆ
สระเก็บน้ำ
การคัดเลือกพื้นที่เป้าหมายของงานขุดสระเก็บน้ำต้องพิจารณาถึงทิศทางการไหลของน้ำและความสูงของพื้นที่ซึ่งไม่ควรเป็นพื้นที่สูงหรือเนินเขา จากการตรวจสอบการใช้ประโยชน์จากสระเก็บน้ำ จำนวน 111 แห่ง พบว่า
• สระเก็บน้ำที่มีการใช้ประโยชน์ จำนวน 75 แห่ง
• สระเก็บน้ำที่ได้ใช้ประโยชน์น้อยหรือใช้ได้ไม่เต็มที่ จำนวน 24 แห่ง
• สระเก็บน้ำที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำนวน 12 แห่ง
สำหรับสระเก็บน้ำที่ใช้ประโยชน์น้อยและไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำแนกสภาพปัญหา เป็นการก่อสร้างสระเก็บน้ำในพื้นที่เนินเขาหรือพื้นที่ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ในฤดูแล้ง , ก่อสร้างสระเก็บน้ำในพื้นที่ไม่ขาดแคลน ,  ก่อสร้างสระเก็บน้ำในพื้นที่ห่างไกลชุมชนจึงมีผู้ใช้น้อยราย , และปัญหาอื่นๆ
ถังเก็บน้ำฝน (ฝ.99) และถังไฟเบอร์กลาส
งานก่อสร้างถังเก็บน้ำฝน (ฝ.99) ต้องสร้างในพื้นที่ขาดแคลนน้ำและไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปขุดเจาะบ่อบาดาลหรือบ่อน้ำตื้น หรือเป็นหมู่บ้านภัยแล้งที่ไม่มีระบบประปาหมู่บ้าน สำหรับงานก่อสร้างถังไฟเบอร์กลาส พื้นที่คอนกรีตรองรับถังต้องแข็งแรง ถังต้องมีสภาพพร้อมใช้งาน จากการตรวจสอบถังเก็บน้ำฝน (ฝ.99) และถังไฟเบอร์กลาส จำนวน 241 แห่ง พบว่า
• ถังมีการใช้ประโยชน์จำนวน 149 แห่ง
• ถังที่ใช้ประโยชน์น้อยหรือใช้ได้ไม่เต็มที่จำนวน 40 แห่ง
• ถังที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวน 52 แห่ง
สำหรับถังที่มีการใช้ประโยชน์น้อยหรือใช้ได้ไม่เต็มที่และที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ จำแนกสภาพปัญหาเป็น ถังเก็บน้ำฝนและถังไฟเบอร์กลาสที่มีสภาพชำรุดรั่วซึม , ก่อสร้างถังในพื้นที่ไม่ขาดแคลนน้ำ , ในพื้นที่ไม่มีแหล่งรองรับน้ำ , ถังสกปรกและอุปกรณ์ไม่ครบ , สภาพปัญหาอื่นๆ
ผลกระทบ
1. พื้นที่ตามเป้าหมายที่แหล่งน้ำไม่มีการใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ จำนวน 298 แห่ง เพราะจัดสรรแหล่งน้ำในพื้นที่ไม่ขาดแคลนน้ำ แหล่งน้ำมีคุณภาพไม่เหมาะสมต่อการอุปโภคบริโภคแหล่งน้ำแห้งไม่มีน้ำหรือชำรุดไม่สามารถจัดเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง บางแห่งก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามแผน
2. หากแหล่งน้ำที่ก่อสร้างเป็นการสร้างในพื้นที่ที่ยังไม่มีความพร้อมในระดับที่จะได้รับการสนับสนุน เช่น ก่อสร้างระบบประปาในพื้นที่ไม่ได้ขยายเขตไฟฟ้า หรือก่อสร้างในพื้นที่ไม่ขาดแคลน แหล่งน้ำที่ นทพ. ก่อสร้างไม่มีการใช้ประโยชน์ ใช้น้อยหรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ส่งผลให้การดำเนินงานจัดหาน้ำกินน้ำใช้ในพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถสร้างจิตสำนึกในการพัฒนาและมวลชนสัมพันธ์
3. ผลกระทบต่องบประมาณ การจัดสรรแหล่งน้ำในอดีตและปัจจุบันยังขาดการประสานข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งน้ำ การวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาที่แท้จริง ทำให้เกิดการจัดสรรแหล่งน้ำในพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว รวมทั้งขาดการพิจารณาจัดสรรประเภทแหล่งน้ำให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ หรือแหล่งน้ำบางแห่งก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามแผน น้ำแห้งหรือแหล่งน้ำชำรุดรั่วซึม ได้ผลไม่คุ้มค่าซึ่งงบประมาณดังกล่าวสามารถนำไปใช้พัฒนาประเทศในส่วนที่จำเป็นมากกว่าได้

สาเหตุ แหล่งน้ำที่ใช้ได้ไม่เต็มที่หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจาก
1. การแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำไม่เป็นเอกภาพ มีหลายหน่วยราชการดำเนินการ และการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดด้านแหล่งน้ำ
2. การสำรวจถึงความขาดแคลนแหล่งน้ำไม่ได้นำข้อมูลด้านแหล่งน้ำที่เป็นปัจจุบันมาร่วมพิจารณา
3. การแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำไม่ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง ไม่ได้วิเคราะห์ถึงสภาพปัญหาด้านแหล่งน้ำที่แท้จริง จึงทำให้การแก้ปัญหาไม่สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพแต่ละพื้นที่ จะเห็นได้จากในหลายหมู่บ้านมีบ่อบาดาลหลายแห่ง แต่มีสภาพชำรุดจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซม แต่ อบต.ไม่ได้ดำเนินการซ่อมแซม และจากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่บริหารของ อบต.ไม่ได้ตั้งประมาณไว้สำหรับการซ่อมแซมแหล่งน้ำ จึงทำให้มีบ่อบาดาลไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมาก ดังนั้นการจัดสรรบ่อบาดาลให้กับหมู่บ้านดังกล่าวจึงมิใช่แนวทางแก้ปัญหาที่แท้จริง
4. การจัดสรรแหล่งน้ำไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ แหล่งน้ำใต้ดินมีคุณภาพไม่เหมาะสมเป็นสนิมเหล็ก เมื่อจัดสรรบ่อบาดาลชาวบ้านจะใช้ระบบประปาและบ่อบาดาลเพียงระยะเวลาหนึ่งและเลิกใช้นอกจากนี้การจัดสรรแหล่งน้ำไม่ได้พิจารณาถึงสภาพปัญหาด้านแหล่งน้ำในพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรน้ำใต้ดินมีปริมาณน้อย
5. การเสนอโครงการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคัดเลือกพื้นที่โดยจัดสรรแหล่งน้ำให้ในพื้นที่ไม่มีความพร้อมด้านไฟฟ้า ส่วนถังไฟเบอร์กลาส และถังเก็บน้ำฝน บางแห่งก่อสร้างโดยไม่มีหลังคารองรับน้ำฝน
6. พื้นที่ขาดความพร้อมในการบริหารจัดการแหล่งน้ำ เมื่อมีการส่งมอบแหล่งน้ำให้ อบต.แล้ว การซ่อมแซมบำรุงรักษาจะเป็นหน้าที่ของ อบต.แต่เนื่องจากในบางพื้นที่กลุ่มผู้ใช้น้ำจากระบบประปาขาดความพร้อมชาวบ้านไม่ต้องการเสียค่าน้ำประปาประกอบกับมีแหล่งน้ำอื่นหรือชาวบ้านมีบ่อน้ำตื้นส่วนตัวนอกจากนี้บ่อบาดาลที่ใช้ไฟฟ้า แต่มีปัญหาเรื่องการเก็บค่ากระแสไฟฟ้าเหลือผู้ใช้ประโยชน์เฉพาะบ้านเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า
7. ขาดการดูแลบำรุงรักษาแหล่งน้ำ เมื่อ อบต.ได้รับมอบแหล่งน้ำจากส่วนราชการแล้ว อบต. และกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่จะต้องซ่อมแซมดูแลบำรุงรักษาส่วนใหญ่จะไม่มีการดูแลรักษาทำความสะอาดถังกรองหรือเปลี่ยนวัสดุกรอง ทำให้ระบบกรองดังกล่าวไม่สามารถกรองสนิมเหล็กได้ กลุ่มผู้ใช้น้ำไม่ทราบวิธีการทำความสะอาดและไม่มีคู่มือแนะนำวิธีดูแลบำรุงรักษา
8. การก่อสร้างแหล่งน้ำและอุปกรณ์ประกอบแหล่งน้ำไม่ได้มาตรฐาน  ถังส่วนใหญ่มีการรั่วซึม การควบคุมงานของหน่วยงานเป็นการติดตามความก้าวหน้าของเนื้องาน โดยขาดการประเมินผลงานก่อนการส่งมอบงานไม่มีการตรวจสอบความพร้อมการใช้งานของถังเก็บน้ำฝน และถังพักน้ำของบ่อบาดาล และงานระบบประปาอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้าไม่ทำงานอัตโนมัติ

ข้อสังเกตุ การใช้จ่ายเงินงบประมาณก่อสร้างระบบประปาของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาสูงกว่าหน่วยงานท้องถิ่น
การใช้เงินงบประมาณในการก่อสร้างระบบประปาของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาทั้ง 3 ระบบคือ ระบบประปาขนาดใหญ่ ระบบประปาขนาด ก และ ข พบว่าการใช้เงินงบประมาณในการก่อสร้างระบบประปามาตรฐาน ก. ของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 26 (นพค.26) กับขององค์การบริหารส่วนตำบล พบว่าระบบประปาของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่มีราคาสูงกว่าระบบประปาของ อบต.ดังนี้
1. การใช้เงินงบประมาณการก่อสร้างระบบประปามาตรฐาน ก.ของ นพค.26 สูงกว่าค่าใช้จ่ายระบบประปาของ อบต.บ้านไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นจำนวนเงิน 13,069 บาท
2. การใช้เงินงบประมาณการก่อสร้างระบบประปามาตรฐาน ข.ของ นพค.23 สูงกว่าค่าใช้จ่ายระบบประปาของ อบต.น้ำสวย อ.เมือง จ.เลย จำนวน 70,421 บาท
จากการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของงานก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้านของ นทพ. กับระบบประปาของ อบต.บ้านไร่ และ อบต.น้ำสวย จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างของระบบประปาของ นทพ.สูงกว่าของ อบต.ทั้ง 2 แห่ง เนื่องจาก นทพ.ได้เบิกจ่ายเงินก่อสร้างระบบประปาเท่ากับวงเงินตามประมาณการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง ทำให้มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณโดยไม่ประหยัดเท่าที่ควร
ข้อเสนอแนะ
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอเสนอแนะให้ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาพิจารณาดำเนินการตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
1. ประสานแผนงานพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบแบบบูรณาการกับกรมทรัพยากรน้ำ ควรทบทวนแผนงานการจัดสรรแหล่งน้ำโดยจัดสรรแหล่งน้ำให้เฉพาะพื้นที่ที่มีความขาดแคลนน้ำที่แท้จริง สำหรับแหล่งน้ำที่มีอยู่แล้วควรประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมแหล่งน้ำที่ชำรุดให้ใช้งานได้หรือมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อทดแทนการสร้างใหม่
2. การสำรวจสภาพปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำต้องสำรวจถึงจำนวนแหล่งน้ำแต่ละประเภททั้งของส่วนราชการ และแหล่งน้ำส่วนตัวของชาวบ้าน รวมทั้งสภาพของแหล่งน้ำรวมทั้งวิเคราะห์คุณภาพน้ำแหล่งน้ำใต้ดิน และผิวดิน และจัดทำเป็นทะเบียนแหล่งน้ำของหมู่บ้าน
3. การคัดเลือกพื้นที่เพื่อจัดสรรแหล่งน้ำต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะการจัดสรร ระบบประปา หากพื้นที่ใดยังไม่ได้ขยายเขตไฟฟ้าไม่ควรจัดสรรให้ นอกจากนี้หากหมู่บ้านพื้นที่ใดมีระบบประปา แล้วแต่ระบบประปามีน้ำไม่เพียงพอ การขอระบบประปาเพิ่มควรสำรวจถึงจำนวนแหล่งน้ำสาธารณะอื่นๆ แหล่งน้ำส่วนตัวและปริมาณน้ำของแหล่งน้ำในฤดูแล้ง และควรพิจารณาถึงความพร้อมของชุมชนในการ บริหารจัดการแหล่งน้ำและพิจารณาถึงระดับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในพื้นที่ที่ขอรับการจัดสรรแหล่งน้ำเพื่อทราบถึงความพร้อมด้านการเงินสำหรับการจัดสรรสระเก็บน้ำต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์โดยไม่จัดสรรในพื้นที่เนินเขา นอกจากนี้ควรพิจารณายืดหยุ่นขนาดความลึกของสระเก็บน้ำให้มากกว่า 3 เมตร
4. การส่งมอบงานระบบประปาต้องตรวจสอบความเรียบร้อยของงานว่าได้ดำเนินการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยมีการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าแล้วหรือไม่ และงานติดตั้งถังไฟเบอร์กลาสให้ตรวจสอบสถานที่ว่า มีหลังคารองรับน้ำหรือไม่ด้วยเช่นกัน
5. การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างระบบประปาต้องสำรวจสภาพพื้นที่จริงว่าจำเป็นต้องใช้วัสดุอุปกรณ์เท่าไร ให้ความสำคัญกับคุณภาพของระบบควบคุมไฟฟ้าของระบบประปาให้ได้มาตรฐาน
6. การก่อสร้างถังเก็บน้ำฝน (ฝ.99) และฐานรองรับถังไฟเบอร์กลาส ต้องควบคุมการก่อสร้างให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งผู้ตรวจงานต้องทดสอบคุณภาพงานเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง
7. สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของแหล่งน้ำเพื่อร่วมกันดูแลบำรุงรักษา สำหรับระบบประปาควรแจกคู่มือการใช้และชี้แจงทำความเข้าใจถึงวิธีการใช้
8. จัดทำเครื่องมือชี้วัดการพัฒนาของหมู่บ้านเพื่อเป็นเครื่องมือวัดความพร้อมของชุมชนในหมู่บ้านเป้าหมาย
9. จัดให้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ รวมทั้งประเมินผลการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อทราบถึงระดับการพัฒนาของพื้นที่เป้าหมายในการจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังการพัฒนาของพื้นที่

่อ่านฉบับเต็มที่นี่    
view