สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

การตรวจสอบดำเนินงานระบบการ บริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ผู้ว่า CEO)

การตรวจสอบดำเนินงานระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ

    ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา รัฐบาลได้มีนโยบายในการปฏิรูประบบราชการมาโดยตลอด เพื่อให้การบริหารงาน ภาครัฐมีประสิทธิภาพสืบเนื่องมาจากการบริหารราชการแผ่นดินในรูปแบบเดิมไม่สามารถตอบสนองและรองรับกับ สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมในปัจจุบัน สมควรมีการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดิน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้นำ “ระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ” มาบังคับใช้ใน 75 จังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร โดยปรับให้จังหวัดมีฐานะเปรียบเสมือนหน่วยงานเชิงยุทธศาสตร์ภาครัฐในระดับพื้นที่ (Strategic Government Unit : SGU) ที่สามารถวินิจฉัยข้อมูล ปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัด ตลอดจนกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและการดำเนินการให้เป็นไปตามที่ตัดสินใจได้อย่างครบวงจรภายในจังหวัด โดยปรับเปลี่ยนบทบาทและอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด (Chief Executive Officer : CEO) พร้อมทั้งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 (งบกลาง) “รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ” วงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ นอกจากนั้นได้มีมติอนุมัติงบประมาณ (งบกลาง) เพิ่มเติมอีกคราวละ 350 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 750 ล้านบาท ทำให้ปีงบประมาณ 2547 มีงบประมาณสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งสิ้น 3,750 ล้านบาท โดยมีการจัดสรรงบประมาณใน 2 ลักษณะ คือ งบโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด (วงเงินไม่เกิน 2,250 ล้านบาท) และงบบริหารจัดการของจังหวัด (จังหวัดละ 20 ล้านบาท)
  
        สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารราชการ แผ่นดิน ดังกล่าว ทั้งในเรื่องของการปรับเปลี่ยนวิธีการงบประมาณ โดยทดลองให้จังหวัดสามารถขอรับ การสนับสนุนงบประมาณ (งบกลาง) เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาตามความคิดริเริ่มของจังหวัด เพื่อให้ทราบถึง ความพร้อม ปัญหาอุปสรรค หรือข้อจำกัดในการดำเนินงาน และเสนอแนวทางการดำเนินงานต่อไปในอนาคต เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเช่นเดียวกับการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น ซึ่งในปัจจุบันปรากฏว่า องค์การ บริหารส่วนตำบลโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไป โดยประหยัด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ นอกจากนี้ยังเกิดปัญหา การทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
    จากการตรวจสอบการดำเนินงานระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ทั้งในเรื่องความพร้อมในการ บริหารจัดการและความพร้อมในการริเริ่มจัดทำและดำเนินโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยการศึกษาและตรวจสอบเอกสาร/หลักฐาน สัมภาษณ์และสอบถามบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการบริหารงาน จังหวัดแบบบูรณาการ ทั้งนี้ได้สุ่มตรวจสอบทั้งหมด 30 จังหวัด ครอบคลุม 18 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ชัยนาท นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อุดรธานี หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ภูเก็ต สงขลา และสตูล ในระหว่างวันที่ 19 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นว่าระบบการบริหารงานจังหวัดแบบ บูรณาการ เป็นหลักการที่ดีและจะเป็นกลไกในการสนับสนุนให้การปฏิบัติราชการในส่วนภูมิภาคเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารราชการในรูปแบบเดิม เนื่องจากสนับสนุนให้จังหวัด สามารถริเริ่มพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามความต้องการในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง โดยทุกภาคส่วน ในจังหวัดมีส่วนร่วมในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด จึงช่วยลดความซ้ำซ้อน ทำให้มีทิศทาง และเป้าหมายในการปฏิบัติงานร่วมกันที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการติดตามและ ประเมินผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐเกิดความรวดเร็วและลดขั้นตอนในการปฏิบัติงาน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางแต่อย่างไรก็ดีในปีงบประมาณ 2547 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้ระบบการบริหารงาน จังหวัดแบบบูรณาการและเป็นไปอย่างเร่งด่วนนั้น ปรากฏมีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดบางประการ ในการปฏิบัติราชการตามระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการทั้งหมด 2 ข้อตรวจพบ ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ 1    ความพร้อมในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
    ข้อตรวจพบที่ 1.1 บุคลากรและองค์กรในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
    ข้อตรวจพบที่ 1.2 งบประมาณในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
    ข้อตรวจพบที่ 1.3 การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
    ข้อตรวจพบที่ 1.4 การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจังหวัด
    ข้อตรวจพบที่ 1.5 ระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัด
    ข้อตรวจพบที่ 1.6 การมอบอำนาจจากส่วนกลาง
ข้อตรวจพบที่ 2    การริเริ่มจัดทำและดำเนินโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดตามหลักการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ

ผลการตรวจสอบ

ข้อตรวจพบที่ 1 ความพร้อมในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บริหารสูงสุดของจังหวัด (CEO) ควรมีการเตรียมความพร้อมและได้รับการสนับสนุนในการเข้าสู่ระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ โดยมีปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ทั้งหมด 6 ประการ ดังนี้
    มีบุคลากรและองค์กรที่เหมาะสมในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
    มีระบบงบประมาณสนับสนุนที่ชัดเจนและสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
     มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
    จัดให้มีระบบข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศของจังหวัดที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล
    มีระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนส่วนกลาง
    มีการมอบอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเพียงพอเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินภายในจังหวัดเกิดความรวดเร็ว ประหยัด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
 แต่จากการตรวจสอบ พบว่า ทุกจังหวัดมีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดบางประการในการบริหารราชการตามระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ และควรมีการปรับปรุงความพร้อมในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการในด้านต่าง ๆ โดยสามารถพิจารณาได้ 6 ประเด็น ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1.1 บุคลากรและองค์กรในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
จากการตรวจสอบความพร้อมของบุคลากรและองค์กรในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พบว่า
1) ผู้ว่าราชการจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดมีบทบาทที่สำคัญ คือ เป็น เจ้าภาพในการบริหารงานของจังหวัด โดยเป็นหัวหน้าทีมประสานการทำงานของทุกภาคส่วนในจังหวัดให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่กำหนดไว้ รวมทั้งเป็น ประธานคณะผู้บริหารของจังหวัด โดยต้องสามารถกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันแสดงความคิดเห็นกัน อย่างกว้างขวางในเชิงสร้างสรรค์ แต่จากการตรวจสอบ พบว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดใน 30 จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ ยังมีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดบางประการซึ่งสามารถสรุปได้ทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้
- ผู้ว่าราชการจังหวัดมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการที่แตกต่างกันการอบรม เพื่อเตรียมความพร้อมเพียง 1 – 2 ครั้งยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ได้อย่างสมบูรณ์ และปัจจุบันยังคงใช้แนวทางในการบริหารงานจังหวัดในรูปแบบเดิม
- ระบบทีมของผู้ว่าราชการจังหวัด คาดว่ายังไม่สามารถสนับสนุนและปฏิบัติงานร่วมกันเป็นทีม (Team Work) กับผู้ว่าราชการจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากรองยังไม่ได้รับการพัฒนาสมรรถนะและขีดความสามารถ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดเท่าที่ควร รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่สามารถ คัดเลือกได้อย่างอิสระ ตลอดจนสำนักงานจังหวัดซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการปฏิบัติงานของ ผู้ว่าราชการจังหวัด ยังไม่มีความพร้อมและต้องมีการยกระดับประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของสำนักงาน จังหวัดอย่างเร่งด่วน
- ผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคีการพัฒนาในจังหวัดเท่าที่ควร เนื่องจากขาดความรู้ความ เข้าใจเกี่ยวกับระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ รวมทั้งยังมีทัศนคติเน้นความสำคัญกับพันธกิจ ที่ได้รับมอบหมายจากหน่วยงานต้นสังกัดในส่วนกลางมากกว่าการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดยังไม่สามารถบริหารงานหรือบังคับบัญชาได้อย่างเต็มที่
2) สำนักงานจังหวัด
    จากการตรวจสอบ พบว่า ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ โดยมีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดที่สำคัญสรุปได้ 2 ประเด็น ดังนี้
    - ขาดความพร้อมในเรื่องโครงสร้างและอัตรากำลังที่เหมาะสม กล่าวคือ อัตรากำลังในการปฏิบัติงานจริงไม่เป็น ไปตามโครงสร้างและอัตรากำลังที่กำหนดไว้ในแต่ละจังหวัดนอกจากนี้ยังพบจังหวัดที่ไม่มีหัวหน้ากลุ่มงานยุทธ- ศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและหัวหน้ากลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารจังหวัดรวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของกลุ่ม งานยุทธศาสตร์ฯ และกลุ่มงานข้อมูลฯ ไม่ครบถ้วนตามกรอบโครงสร้างและอัตรากำลังที่กำหนดไว้ ตลอดจนขาดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือมีพื้นฐานความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับอำนาจหน้าที่ ที่ได้กำหนดไว้
    - ยังไม่ได้ดำเนินการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานในจังหวัดอย่างเต็มรูปแบบ
3) คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.)
จากการตรวจสอบ พบว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการ กบจ. และแนวทางในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ กบจ. มีความแตกต่างกัน โดยมีข้อสังเกตทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้
- องค์ประกอบของคณะกรรมการ กบจ. พบว่ามีจังหวัดที่ไม่ได้แต่งตั้งผู้แทนจากภาคประชาชนเข้าร่วมเป็น คณะกรรมการ กบจ. จำนวนถึง 10 จังหวัด นอกจากนี้มีบางจังหวัดได้แต่งตั้งผู้แทนจากหน่วยงานในส่วนกลาง แต่ปรากฏว่า กรรมการที่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานในส่วนกลางที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการ กบจ. เกือบทั้งหมดไม่มาร่วมประชุมอย่างสม่ำเสมอหรือไม่มาร่วมประชุมเลย
- การประชุมคณะกรรมการ กบจ. พบว่า มีตัวแทนเข้าประชุมแทนกรรมการ โดยเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 12 – 41 ของจำนวนคณะกรรมการ กบจ. ในแต่ละจังหวัด และกรรมการไม่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง โดยกรรมการส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ประธานในที่ประชุมไม่ได้กระตุ้นหรือเปิดโอกาสให้กรรมการแสดงความคิดเห็น หรือกรรมการไม่ต้องการอภิปรายขัดแย้งกับผู้นำเสนอ หรือกรรมการไม่มีความรู้ในเรื่องที่อภิปราย เป็นต้น ทั้งนี้จากการพิจารณารายงานการประชุมของคณะกรรมการ กบจ. ปรากฏว่า มีบางจังหวัดประชุมน้อยมาก และมีบางจังหวัดไม่ได้กำหนดความถี่ในการประชุมไว้อย่างแน่นอน
- คณะกรรมการ กบจ. กับบทบาทตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีพบว่า มีกรรมการจำนวนร้อยละ 20 - 30 ในแต่ละจังหวัด ที่ไม่สามารถบอกถึงอำนาจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการ กบจ. ได้
4) คณะอนุกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
จากการตรวจสอบ พบว่า
- การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ พบว่า มีจังหวัดที่ยังไม่ได้แต่งตั้ง จำนวน 6 จังหวัด สำหรับจังหวัดที่แต่งตั้งแล้ว ปรากฏว่ามีจังหวัดที่แต่งตั้งล่าช้า
- การปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ พบว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ โดยส่วนใหญ่ยังไม่มี การปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม แต่อย่างไรก็ดีการจัดทำรายงานดังกล่าวเป็นเพียงการรวบรวมรายงาน โดยเอกสารในลักษณะทางเดียวซึ่งให้หน่วย งานที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงานเป็นผู้จัดทำรายงานผล การดำเนินงานเท่านั้น โดยไม่มีการสอบทานข้อมูล นพื้นที่ดำเนินการจริง
5) คณะกรรมการอื่น ๆ ในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
จากการตรวจสอบ พบว่า
- การแต่งตั้งคณะกรรมการฯ พบว่า มีจังหวัดที่ยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการฯ ให้ครบถ้วน จำนวน 4 จังหวัด
- การปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ พบว่า คณะกรรมการฯ โดยส่วนใหญ่ยังไม่มีการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะคณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลการใช้จ่ายงบประมาณของจังหวัด คณะกรรมการควบคุม กำกับ ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของจังหวัด

ข้อตรวจพบที่ 1.2 งบประมาณในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
จากการตรวจสอบ พบว่า การจัดสรรงบประมาณมีข้อสังเกตที่อาจส่งผลกระทบต่อการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้
1) การจัดสรรงบประมาณไม่ได้กำหนดวงเงินที่ชัดเจนและมีลักษณะแบ่งเฉลี่ยให้เท่ากันทุกจังหวัด
- การจัดทำโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 (งบกลาง) รัฐบาลไม่ได้กำหนดกรอบวงเงินงบประมาณที่แต่ละจังหวัดจะ ได้รับอย่างชัดเจน ทำให้จังหวัดไม่มีกรอบในการจัดทำโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณที่มีอยู่อย่าง จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- การจัดสรรงบประมาณมีลักษณะแบ่งเฉลี่ยให้ใกล้เคียงกันทุกจังหวัดประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การจัดสรรงบประมาณไม่ได้ให้ความสำคัญกับศักยภาพ สภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละจังหวัด ที่แตกต่างกัน ไม่สามารถขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากมีโครงการที่จังหวัดไม่ได้รับอนุมัติเป็นจำนวนมาก หรือมีบางโครงการที่ถูกตัดงบประมาณ
2) การจัดสรรงบประมาณมีลักษณะไม่สอดคล้องกับข้อเสนอโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
จากการตรวจสอบพบว่า การจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดบางโครงการ มีลักษณะไม่สอดคล้องกับ งบประมาณ และ ระยะเวลาดำเนินการ โดยสามารถพิจารณาได้ 2 ประเด็น ดังนี้
- การจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามระยะเวลาดำเนินการตามข้อเสนอโครงการ
- การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับงบประมาณตามข้อเสนอโครงการ โดยมีบางโครงการได้รับการจัดสรรงบประมาณมากหรือน้อยกว่าที่ขอรับการสนับสนุน
3) การจัดสรรงบประมาณมีความล่าช้าและไม่สอดคล้องกับระยะเวลาการปฏิบัติงานตามปีงบประมาณ
จากการตรวจสอบระยะเวลาในการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2547 (งบกลาง) พบว่า การจัดสรรงบประมาณมีความล่าช้าโดยเหลือระยะเวลาในการปฏิบัติงานตามปีงบประมาณอีกเพียง 4 เดือน และ 1 เดือนเท่านั้น
ข้อตรวจพบที่ 1.3 การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
จากการตรวจสอบ พบว่า แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่จัดทำในปีงบประมาณ 2547 โดยส่วนใหญ่ยังขาดความสมบูรณ์และไม่เป็นไปตามหลักการที่ดีในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด โดยสามารถพิจารณาได้ 2 ประเด็น ดังนี้
1) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดยังไม่มีลักษณะของการบูรณาการ กล่าวคือ งบโครงการซึ่งควรเกิดจากกระบวนการร่วมคิดของภาคีการพัฒนาในจังหวัด ปรากฏว่า การจัดทำโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีความเป็นบูรณาการที่เกิดจากการร่วมคิดของภาคีการพัฒนาในจังหวัดอย่างแท้จริง แต่เป็นไปในลักษณะที่หน่วยงานภาครัฐนำแผนงาน/งาน/โครงการที่เคยดำเนินการในอดีตมากำหนด โดยขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน
2) การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดขาดความพร้อมของข้อมูลพื้นฐาน ซึ่งอาจทำให้การวิเคราะห์ เพื่อประเมินศักยภาพและข้อจำกัดการพัฒนาจังหวัดในปัจจุบัน ไม่สามารถบอกถึงศักยภาพและข้อจำกัด การพัฒนาจังหวัดได้อย่างแท้จริง
ข้อตรวจพบที่ 1.4 การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจังหวัด
จากการตรวจสอบการดำเนินงานการพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ พบปัญหาที่อาจทำให้การพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ 2 ประเด็น ดังนี้
1) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจังหวัด
การพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ ควรกำหนดให้มีรูปแบบที่เหมาะสมโดยเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงข้อมูล และทำให้ประหยัดและคุ้มค่าต่อการลงทุน แต่จากการตรวจสอบ พบว่า
1.1) การพัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลจังหวัดมีลักษณะต่างฝ่ายต่างทำกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร ยังไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม พบว่า มีจังหวัดที่ยังไม่ได้พัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูล จังหวัดแต่จัดเก็บข้อมูลในลักษณะตาราง Excel และจังหวัดที่พัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลจังหวัดแล้วก็เป็น การดำเนินการในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ โดยสามารถจำแนกวิธีการพัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลจังหวัดได้ 3 ลักษณะ คือ ดำเนินการโดยการว่าจ้างสถาบันการศึกษา , จ้างบริษัทเอกชน และดำเนินการโดยบุคลากรของจังหวัด นอกจากนี้ยังพบข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลจังหวัดอีก 3 ประเด็น ดังนี้
- กระทรวงมหาดไทยโดยส่วนพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาระบบฐาน ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย (MOC)และฐานข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด (POC) โดยมีจังหวัดที่นำโปรแกรมระบบฐานข้อมูลจังหวัดซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาแล้วไปใช้ และเป็นจังหวัดที่ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ ไปแล้วรวมอยู่ด้วย  โดยที่จังหวัดดังกล่าวใช้ งบประมาณสำหรับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ ไปแล้ว รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 75,425,800 บาท
- มีบางบริษัทรับจ้างเป็นที่ปรึกษาให้กับหลายจังหวัดในช่วงเวลาที่แตกต่างกันโดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เท่ากัน
- มีจังหวัดที่พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการจัดการ (MIS) พร้อมกับพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ด้วยซึ่งทำให้จังหวัดมีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ ที่เพิ่มขึ้นมาก
1.2) งบประมาณในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของจังหวัด จากการตรวจสอบงบประมาณในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ พบว่า การพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ มีลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ โดยไม่มีการกำหนดกรอบในการพัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ ที่ชัดเจน โดยมีค่าใช้จ่าย แตกต่างกันตามกรอบแนวคิดและศักยภาพของบุคลากรในจังหวัดนอกจากนี้หากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการ พัฒนาระบบเทคโนโลยีฯ ของจังหวัดซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ในเชิงประจักษ์ตามวัตถุประสงค์ ของการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด (POC) ปรากฏว่า มีค่าใช้จ่ายเพียง 440,000 บาท 3,669,100 บาท และ 3,799,000 บาท ตามลำดับเท่านั้น ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า หากจังหวัดสามารถบูรณาการบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับ ระบบเทคโนโลยีฯ ในจังหวัดในลักษณะการทำงานร่วมกันเป็นทีม จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโปรแกรมระบบ ฐานข้อมูลจังหวัดที่ไม่สูงมาก
2) การเชื่อมโยงข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด (POC)
จากการตรวจสอบ พบว่า
2.1) การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด (POC) กับหน่วยงานในจังหวัด จากการสังเกตการณ์การเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลจังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า
- มีจังหวัดที่ยังไม่ได้ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบการเชื่อมโยงข้อมูลภายในจังหวัด จำนวน 7 จังหวัด
- มีจังหวัดที่ดำเนินการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสามารถใช้ประโยชน์ได้ จำนวน 3 จังหวัด
- มีจังหวัดที่อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบฐานข้อมูล จำนวน 20 จังหวัด
2.2) การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด (POC) กับศูนย์ปฏิบัติการกระทรวง (MOC) จากการสังเกตการณ์พบว่า ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงมหาดไทย (MOC) สามารถเข้าถึงระบบฐานข้อมูลของจังหวัด ได้ทั้ง 75 จังหวัด แต่ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลในภาพรวมของประเทศเพื่อการตัดสินใจแก้ไขปัญหา การวินิจฉัย สั่งการและการวางแผนได้
ข้อตรวจพบที่ 1.5 การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัด
จากการตรวจสอบ พบว่า ปีงบประมาณ 2547 ระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัดยังขาดความพร้อมบางประการในการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือควบคุมและกำกับการปฏิบัติราชการ โดยสามารถพิจารณาได้ 2 ประเด็น ดังนี้
1) การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัดซึ่งดำเนินการโดยจังหวัด พบว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบ และกำกับดูแลการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับ ให้คำแนะนำ และติดตามผลการ ดำเนินงานในจังหวัด โดยส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้มีบางจังหวัดที่ยังไม่ได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ และสำหรับจังหวัดที่มีการแต่งตั้งแล้ว ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบฯ โดยส่วนใหญ่ยังไม่มีการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่อย่างเป็นรูปธรรม
2) การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัดซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล พบว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนา ระบบราชการ และบริษัท ไทย เรทติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิสเซส จำกัด (Thai Rating and Information Services co.,Ltd : TRIS) ซึ่งรับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัด จะดำเนินการโดย ให้จังหวัดจัดทำรายงานการประเมินผลตนเอง (Self-Assessment Report) เพื่อวิเคราะห์และประเมินผลการ ปฏิบัติงานของจังหวัด ดังนั้นหากระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัดขาดการกำกับและ ควบคุมอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งให้หน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบรายงานผลการดำเนินงานในลักษณะเอกสาร ทางเดียวโดยไม่มีการสอบทานข้อมูลแล้ว รายงานการประเมินผลตนเอง (Self-Assessment Report) ที่จังหวัดเป็นผู้จัดทำให้กับสำนักงาน ก.พ.ร. และบริษัท ทริสฯ อาจมีข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และทำให้การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานจังหวัด โดยรัฐบาลไม่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงาน ของจังหวัดได้อย่างแท้จริง
ข้อตรวจพบที่ 1.6 การมอบอำนาจจากส่วนกลาง
จากการตรวจสอบผลการมอบอำนาจ  พบว่า ราชการบริหารส่วนกลางยังมอบอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์หรือมีเงื่อนไขในการ มอบอำนาจ แม้จะมีการติดตามเร่งรัดและกำหนดโทษจากคณะรัฐมนตรีให้กับส่วนราชการบริหารส่วนกลาง ที่ยังไม่ได้มอบอำนาจให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดมาโดยตลอด รวม 11 เดือน ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมดให้ความเห็นว่า การมอบอำนาจจากราชการบริหารส่วนกลางยังไม่สามารถสนับสนุน การบริหารราชการได้อย่างเต็มที่ สำหรับกรณีที่มีการมอบอำนาจแล้ว ปรากฏว่า การมอบอำนาจยังไม่เบ็ดเสร็จ หรือมีเงื่อนไขในการใช้อำนาจ

ข้อตรวจพบที่ 2 การริเริ่มจัดทำและดำเนินโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดตามหลักการบริหารงานจังหวัด แบบบูรณาการ
จากการตรวจสอบการริเริ่มจัดทำและดำเนินโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด จำนวน 105 โครงการ ใน 15 จังหวัด พบว่า จังหวัดโดยส่วนใหญ่ยังไม่มีความพร้อมและยังไม่สามารถริเริ่มจัดทำและ ดำเนินโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามความคาดหวังหรือหลักการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ โดยพบปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดที่สำคัญรวม 3 ประเด็น ดังนี้
1) การจัดทำและดำเนินโครงการยังไม่มีลักษณะของการบูรณาการเท่าที่ควร
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด จำนวน 105 โครงการ ใน 15 จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า มีเพียง 5 โครงการเท่านั้น  ที่มีการริเริ่มจัดทำและดำเนินโครงการในลักษณะของ การบูรณาการ โดยมีการร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบอย่างชัดเจน สำหรับโครงการที่ยังไม่มีลักษณะ ของการบูรณาการ จำนวน 100 โครงการ ของโครงการที่สุ่มตรวจสอบ เป็นในลักษณะที่ภาคราชการนำ โครงการที่เป็นแผนงาน/งาน/โครงการจากส่วนกลางหรืองานประจำมากำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาในลักษณะ การบริหารราชการใน รูปแบบเดิม หรือเป็นการทำงานในลักษณะต่างฝ่ายต่างทำซึ่งไม่มีทิศทาง และเป้าหมายร่วมกัน หรือโครงการที่ไม่ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการดำเนินโครงการที่ชัดเจน
2) การดำเนินโครงการมีความเสี่ยงต่อการบรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการหรือคาดว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได ้อย่างยั่งยืน
จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด จำนวน 105 โครงการ ใน 15 จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า โครงการโดยส่วนใหญ่มีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดในการดำเนินงานโดยยัง ไม่ได้รับการปรับปรุง แก้ไขอย่างเหมาะสมโดยพบโครงการที่มีแนวทางในการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาที่ ไม่เหมาะสมหรือคาดว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน จำนวน 28 โครงการ และโครงการที่มีลักษณะ การดำเนินงานเสี่ยงต่อการบรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการ จำนวน 17 โครงการ โดยโครงการที่พบว่ามีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดในการดำเนินงานค่อนข้างมาก 2 ประเภท คือ “โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อวิจัย ศึกษาความ เหมาะสม หรือจัดทำผังเมือง” และ “โครงการด้านเกษตรกรรม” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1) โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อวิจัย ศึกษาความเหมาะสม หรือจัดทำผังเมือง
จากการสุ่มตรวจสอบพบว่า โครงการจ้างที่ปรึกษาฯ เกือบทั้งหมด อาจมีความเสี่ยงที่จะได้ใช้ประโยชน์ ตามวัตถุประสงค์ของโครงการอย่างคุ้มค่า โดยสามารถสรุปปัญหาที่สำคัญได้ทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้
- ปัญหาความล่าช้าและความไม่ทันกาลของงานวิจัย พบว่า การดำเนินการศึกษา/วิจัยมีความล่าช้าและอาจไม่แล้ว เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
- ขาดงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีบางโครงการจ้างที่ปรึกษาฯเพื่อศึกษาความเหมาะสม ในการจัดทำ โครงการขนาดใหญ่ (Mega Project)ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการสูง โดยยังไม่มีความชัดเจน ในเรื่องการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล
- ปัญหาในการเขียนข้อกำหนดโครงการ (Term of Reference : TOR) พบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบ โครงการจ้างที่ปรึกษาฯ โดยส่วนใหญ่ยังขาดประสบการณ์ในการจ้างที่ปรึกษาฯ ทำให้ไม่สามารถเขียนข้อกำหนด โครงการ (TOR) ได้อย่างครอบคลุม ครบถ้วนและสอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง
2.2) โครงการด้านเกษตรกรรม
จากการสุ่มตรวจสอบโครงการด้านเกษตรกรรม จำนวน 36 โครงการ งบประมาณ 152,880,000 บาท ใน 15 จังหวัดที่สุ่มตรวจสอบ พบข้อสังเกตสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการด้านเกษตรกรรม ทั้งหมด 3 ประเด็น ดังนี้
1) หน่วยงานภาครัฐไม่มีการบริหารจัดการทะเบียนประวัติเกษตรกรอย่างเป็นระบบและเป็นไปอย่างครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นปัจจุบัน
2) มุ่งเน้นส่งเสริมในเรื่องการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กับเกษตรกรโดยขาดการพิจารณาด้านต้นทุนและด้าน การตลาด
3) มุ่งเน้นการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสม หรือคาดว่าจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน
3) ปัญหาในการจัดทำข้อเสนอโครงการ
การจัดทำข้อเสนอโครงการตามหลักการจัดทำและบริหารโครงการโดยทั่วไป มีส่วนประกอบที่สำคัญประมาณ 8 หัวข้อ ดังนี้ ความเป็นมาหรือหลักการและเหตุผลของโครงการ , วัตถุประสงค์/เป้าหมาย , กิจกรรมและวิธีการดำเนินโครงการ , ตัวชี้วัดทั้งในระดับผลผลิต (Output)  , ผลลัพธ์ (Outcome) หน่วยงานที่รับผิดชอบ , ระยะเวลาในการดำเนินการ ,  งบประมาณ  , ผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ จากการตรวจสอบ พบว่า แบบฟอร์มเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่ออกแบบโดย สำนักงบประมาณขาดส่วนประกอบที่สำคัญ 2 หัวข้อ คือ ความเป็นมาหรือหลักการและเหตุผลของโครงการ และผลที่คาดว่าจะได้รับของโครงการ นอกจากนี้จากการพิจารณาข้อเสนอโครงการ พบว่า จังหวัดโดยส่วนใหญ่ยังมีปัญหาบางประการในการจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยมีเพียง 11 โครงการเท่านั้น ที่สามารถจัดทำข้อเสนอโครงการอย่างชัดเจน สามารถใช้ในการบริหารงานและการประเมินผลได้ในระดับหนึ่ง โดยพิจารณาจากข้อเสนอโครงการที่มีการกำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมาย รวมทั้งตัวชี้วัดที่มีความชัดเจน
ผลกระทบ
1. กรณีรัฐบาลอนุมัติและจัดสรรงบประมาณล่าช้า ส่งผลให้จังหวัดต้องขอกันเงินเหลื่อมปี คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 851,478,874.22 บาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบงบประมาณของประเทศและวินัยในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ
2. การใช้จ่ายงบประมาณไม่เป็นไปโดยประหยัด ไม่เกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ ตลอดจนอาจเกิดการสูญเปล่า จากการตรวจสอบการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนา จังหวัด พบว่า โครงการโดยส่วนใหญ่มีปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดในการดำเนินงานโดยยังไม่ได้รับการปรับปรุง แก้ไขอย่างเหมาะสม โดยพบโครงการที่มีแนวทางในการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสมหรือคาดว่าจะไม่ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน จำนวน 33 โครงการ และโครงการที่มีลักษณะการดำเนินงานเสี่ยงต่อการ บรรลุถึงผลสำเร็จของโครงการ จำนวน 24 โครงการ
3. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ในเขตจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองความต้องการของ ประชาชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด ตลอดจนไม่เกิดผลลัพธ์ตามหลักการของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

ความเห็นและข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

    เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเป็นไปอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดความคุ้มค่า ตลอดจนเกิดประโยชน์สุขกับประชาชน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีความเห็นว่า ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการที่ควรได้รับการปรับปรุงอย่างเร่งด่วน 3 ประการ คือ
     (1) บุคลากร ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบ
     (2) ระบบข้อมูล ซึ่งใช้สำหรับการวางแผน การบริหารงาน และการติดตาม ประเมินผล และ
    (3) ระบบการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นกลไกที่จะช่วยสนับสนุนให้ผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ทราบถึงความก้าวหน้า ปัญหา อุปสรรค หรือข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน จึงขอให้สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ว่าราชการจังหวัด และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลและข้อเสนอแนะของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของบุคลากรในจังหวัดจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากร ในจังหวัด โดย
- สำรวจอัตรากำลังและความรู้ความสามารถของบุคลากรเพื่อจัดทำฐานข้อมูลบุคลากรจังหวัด
- อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนในจังหวัด
- อบรมให้ความรู้กับบุคลากรที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการและ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
- สร้างระบบการให้รางวัลตอบแทนแก่จังหวัด/หน่วยงาน/บุคคลที่ผ่านการประเมินอย่างเป็นธรรม
2) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงบประมาณในการสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการให้ดำเนินการเกี่ยวกับ การจัดสรรงบประมาณ โดย
- เสนอให้คณะรัฐมนตรีกำหนดกรอบหรือวงเงินงบประมาณเพื่อสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ให้ชัดเจน
- กำหนดรูปแบบข้อเสนอโครงการที่ใช้สำหรับขอรับการสนับสนุนงบประมาณให้ครบถ้วนตามหลักการบริหาร โครงการ
- กรณีที่การจัดสรรงบประมาณไม่เป็นไปตามข้อเสนอโครงการ สำนักงบประมาณควรปรับข้อเสนอโครงการใหม่ และนำมาพิจารณาอีกครั้ง
3) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสำนักงานจังหวัด
ให้วางแผนและดำเนินการยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของสำนักงานจังหวัด โดย
- อบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร จังหวัด
- สรรหาบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางให้ดำรงตำแหน่งในกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด และกลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสารจังหวัด
- จัดโครงสร้างและอัตรากำลังของสำนักงานจังหวัดให้ครบถ้วนตามกรอบอัตรากำลังที่กำหนดไว้ในแต่ละจังหวัด
- มุ่งเน้นให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานในจังหวัดอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะแผนงาน/งาน/โครงการซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของจังหวัด
4) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ให้วางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดย
- กำหนดกรอบ/วิธีการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
- การพัฒนาโปรแกรม (Software) ระบบงานฐานข้อมูล ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ (MIS) ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ควรดำเนินการพัฒนาโปรแกรมดังกล่าวโดยหน่วยงานในส่วนกลาง เพื่อให้ จังหวัดสามารถนำไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ
- สนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐทั้งหมด มีการยกระดับประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อมูลให้เป็น ไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน
5) ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับคณะกรรมการจังหวัดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดแบบ บูรณาการ พ.ศ. 2546 ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่งตั้งคณะกรรมการให้ครบถ้วน ตลอดจนมีการรายงานผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการบริหารงาน จังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) ผู้ว่าราชการจังหวัดควรดำเนินการ ดังนี้
- พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการ กบจ. ให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับภารกิจและเกิดความสะดวกต่อการปฏิบัติงาน รวมทั้งมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนในจังหวัด
- สร้างบรรยากาศที่ดีในการประชุม รวมทั้งต้องเปิดโอกาสและกระตุ้นให้กรรมการแสดงความคิดเห็นกันอย่าง กว้างขวางในเชิงสร้างสรรค์
- มอบนโยบายให้กรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองทุกครั้ง หรือกรณีที่ไม่สามารถเข้าร่วม ประชุมด้วยตนเอง รวมทั้งไม่ควรเปลี่ยนตัวแทนบ่อย ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง
6) ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานในส่วนกลางที่มีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการบริหารงานจังหวัดแบบ บูรณาการ
- ให้วางแผนส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการให้เป็นระบบและมีความชัดเจน โดยร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมทั้งกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในการ ปฏิบัติงานให้มีความชัดเจน และดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนไปพร้อม ๆ กัน
- ให้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติในด้านที่ต้องมีลักษณะการปฏิบัติงานสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกัน หรือจำเป็นต้องมีมาตรฐานการปฏิบัติงานเหมือนกันทั้งประเทศให้มีความชัดเจน ควรดำเนินการให้เป็นมาตรฐาน เดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้จังหวัดใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้โดยสะดวก มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มีทิศทางและเป้าหมายในการทำงานร่วมกัน ไม่เป็นลักษณะต่างฝ่ายต่างทำ โดยให้ความสำคัญกับจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัดเท่านั้น
- ให้กระทรวงและกรมต่าง ๆ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถบูรณาการสรรพกำลัง งบประมาณ และตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจรภายในจังหวัด เช่น การมอบอำนาจ หรือการมอบนโยบาย ให้หน่วยงาน ภายในสังกัด ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเต็มที่ เป็นต้น

อ่านฉบับเต็มที่นี่  
view