Full Version ปลาใหญ่ หรือ ปลาเล็ก ในอาเซียน นักกฎหมายไทยเลือกได้เอง

สำนักงานสอบบัญชี พี แอนด์ อี,สำนักงานบัญชี พี.เอ็ม.เอส.,คณะบุคคลที่ปรึกษา พี.เอ.ที.,#สำนักงานบัญชี,#ผู้สอบบัญชี,#ผู้ทำบัญชี,#สำนักงานบัญชี,#ที่ปรึกษาบัญชี,#ที่ปรึกษาภาษี,#สอบบัญชี,#ผู้สอบบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#สำนักงานบัญชี > Article

ปลาใหญ่ หรือ ปลาเล็ก ในอาเซียน นักกฎหมายไทยเลือกได้เอง Date : 2012-11-22 01:43:38

จากประชาชาติธุรกิจ

โดย กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์



ประชาคมอาเซียน (AC) ประกอบด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) + ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) + ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) แต่เรามักพูดถึงเศรษฐกิจ ด้วยความเป็นห่วงด้านปากท้องของประชากรในภูมิภาค

ประเด็นที่นักเรียนนักศึกษาให้ความสนใจมากเป็นพิเศษคือ การเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรีในประชาคม ประกอบด้วย 8 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์, ทันตแพทย์, นักบัญชี, วิศวกร, สถาปนิก, พยาบาล และนักสำรวจ เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการเพิ่มอีกวิชาชีพ คือ วิชาชีพด้านการโรงแรมและการท่องเที่ยว เพราะเป็นอีก 1 เหตุผลสำคัญในการเลือกศึกษาต่อ

ทว่ายังไม่มีการพูดถึงวิชาชีพกฎหมายแต่อย่างใด

คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดการเสวนาวิชาการ เรื่อง "เปิดเสรีอาเซียน : โอกาสและความท้าทายทางวิชาชีพกฎหมาย" เพื่อเป็นแนวทางบุคลากรในวิชาชีพ นิสิตนักศึกษาวิชากฎหมาย และคนทั่วไปที่สนใจความเป็นไปในสังคม

ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นว่า หากมีการเปิดเสรีในวิชาชีพกฎหมายจริง บอกตามตรงว่าใจหนึ่งก็กลัวว่านักกฎหมายต่างชาติจะมาแย่งงานนักกฎหมายไทย แต่อีกใจก็คิดอยากออกไปหารายได้ในอาเซียนเหมือนกัน

สำนักงานกฎหมายต่างชาติเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยนานแล้วโดยเฉพาะจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่และให้บริการธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มีความซับซ้อนทางกฎหมายได้ดีกว่าสำนักกฎหมายไทยบางสำนัก นอกจากให้บริการกฎหมายที่ซับซ้อนได้ดีกว่า กฎหมายอังกฤษและกฎหมายอเมริกันยังกลายเป็นมาตรฐานโลกไปแล้ว เช่น คดีพิพาทของพิซซ่า ฮัท ต้องขึ้นศาลที่นิวยอร์กเท่านั้น เพื่อให้การตัดสินและการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน

"แต่เป็นการให้บริการในลักษณะไม่ผูกพันคือไม่สามารถกำกับดูแลได้ เราจึงต้องแก้ พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว หรือแก้ พ.ร.บ.ทนายความของเราเอง"

คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ บอกเหตุผลที่ควรกีดกันนักกฎหมายต่างชาติว่า เพราะต้องคุ้มครองแรงงานวิชาชีพกฎหมายไทยไม่ให้ตกงาน

"หากนักกฎหมายต่างชาติเข้ามาหากินในไทย สามารถทำงานในภาคเอกชนเท่านั้น เช่น ให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การแก้ต่างในศาล แต่ไม่สามารถทำงานในส่วนราชการได้ เช่น ผู้พิพากษา อัยการ กรมราชทัณฑ์ หรือข้าราชการในกฤษฎีกา เราจึงมีสิทธิร้อยเปอร์เซ็นต์ในการกีดกันตำแหน่งทางกฎหมายในส่วนราชการจากนักกฎหมายชาวต่างชาติ"

การปกป้องตลาดของตัวเองและเปิดตลาดให้น้อยที่สุด จึงเป็นหนทางที่เหมาะสมในตอนนี้



ในกรณีที่นักกฎหมายต่างชาติสามารถเข้าตลาดได้แล้ว ศ.ดร.ศักดา ธนิตกุล แนะว่า ต้องใช้มาตรการ National treatment รองรับ อันเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน เช่น ต้องรู้กฎหมายไทย หรือกฎหมายของประเทศอื่นเพื่อให้บริการองค์กรต่างชาติ เช่น ประเทศญี่ปุ่น อนุญาตให้นักกฎหมายอเมริกันเข้าไปทำงานได้ แต่สามารถให้คำปรึกษาเฉพาะกฎหมายอเมริกันเท่านั้น ห้ามให้คำปรึกษากฎหมายญี่ปุ่น หรือชาติอื่น

"แม้ไม่มีการเปิดเสรีทางวิชาชีพกฎหมายเหมือนอีก 8 สาขาวิชาชีพ ทว่าสายวิชาชีพกฎหมายจะเข้าไปในประเทศสมาชิกอาเซียนพร้อมกับการลงทุนเสมอ ซึ่งนักกฎหมายจากชาติผู้ลงทุนอย่างสิงคโปร์ มาเลเซียและไทย จะนำพาไป

ส่วนประเทศที่มีความเจริญแต่เป็นชาติที่รองรับการลงทุนอย่างเดียว คือ อินโดนีเซีย และนักลงทุน ต้องการบริการที่มีคุณภาพ"



(จากซ้าย) กิติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์, บุญมา เตชะวาณิช, ศักดา ธนิตกุล


ในส่วนของนักกฎหมายสายวิชาชีพอย่าง ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี จำกัด เริ่มด้วยคำถามว่า "เราพร้อมหรือยัง?"

เพราะเออีซีเป็นโอกาสที่ทำให้นักกฎหมายไทยก้าวไปสู่เวทีระดับนานาชาติ แต่ก่อนอื่น ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ แนะว่า ต้องแก้กฎหมายครั้งใหญ่ให้เอื้อต่อการประกอบวิชาชีพ รวมถึงปฏิรูประบบภาษี สังคม และหลักสูตรเนติบัณฑิตไทย ซึ่งเป็นเรื่องยาก ขนาดมีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่มี "คณิต ณ นคร" เป็นประธาน ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

"นักกฎหมายไทยจึงต้องสู้ด้วยตัวเอง ต้องมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษและจีนด้วย อย่ากลัว เพราะการทำงานกับต่างประเทศนั้นได้กำไรมหาศาล สิ่งสำคัญคือ นอกจากรู้กฎหมายไทยแล้วต้องรู้กฎหมายต่างประเทศให้เขารับรอง (Confirm) เราได้"

นอกจากนี้ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี จำกัด มองว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การควบรวมของนักกฎหมายท้องถิ่น เนื่องจากสามารถให้บริการในราคาถูกกว่ารายใหญ่ได้ ตลาดใหญ่ตอนนี้คือ พม่า นักกฎหมายไทยจึงต้องมีความรู้กฎหมายอังกฤษและกฎหมายอเมริกัน ซึ่งเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนและทำกิจกรรมในพม่ามากขณะนี้

ศักยภาพเราไม่แพ้ ไม่มีการแย่งงาน ทั้งนี้ เราต้องปรับตัวเอง ส่วนนักกฎหมายต่างชาติ ควรเข้ามาในรูปของหุ้นส่วนหรือตั้งสำนักเดี่ยวๆ เพื่อให้คำปรึกษากฎหมายต่างชาติ

อีกหนึ่งนักกฎหมายแนวหน้าของไทย อย่าง ศ.(พิเศษ) สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล อดีตเลขาธิการสำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา บอกว่า โอกาสของนักกฎหมายไทยในเออีซี คือ มีงานเข้ามามากขึ้นจากการลงทุนและการเคลื่อนย้ายทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุนในไทยจะปรึกษานักกฎหมายเพื่อให้การดำเนินกิจการถูกต้อง, นักกฎหมายไทยมีโอกาสร่วมทุนหรือร่วมจัดเป็นกลุ่มสำนักงานกับสำนักงานกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เป็นหุ้นส่วนกับสำนักกฎหมายในพม่า เพื่อให้คำปรึกษานักลงทุนไทยที่ลงทุนในพม่า, นักกฎหมายไทยมีโอกาสเรียนรู้แนวทางกฎหมายและแนวปฏิบัติงานซึ่งกันและกัน, และอาจมีความจำเป็นต้องว่าจ้างนักกฎหมายชาวต่างชาติเข้ามาทำงาน เพื่อให้ความเห็นทางกฎหมายในประเทศที่คนไทยเข้าไปลงทุนมากขึ้น

ส่วนความท้าทายที่นักกฎหมายไทยไม่ควรมองข้ามศ.(พิเศษ) สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล ตอบว่า เป็นความท้าทายด้านภาษา, อุปสรรคด้านความแตกต่างของกฎหมาย เนื่องจากความล่าช้าในการปรับกฎหมายของภาครัฐให้สอดคล้องกัน และนักกฎหมายไทย ยังให้ความสนใจกับกฎหมายอาเซียนน้อย

ด้าน ศาสตราภิชาน บุญมา เตชะวณิช อุปนายกฝ่ายวิชาการ สภาทนายความ กล่าวว่า มาตรฐานในวิชาชีพกฎหมาย เป็นเครื่องมือกำกับและควบคุมมาตรฐานนักกฎหมายในไทย หนึ่งคือ ใบอนุญาตทนายความ สองคือใบอนุญาตที่ปรึกษากฎหมายไทยแก่ชาวต่างชาติ ทั้งยังสามารถใช้ควบคุมนักกฎหมายต่างชาติ ทั้งเรื่องการแย่งงานและมารยาทในการประกอบวิชาชีพได้อีกด้วย

"นักกฎหมายไทยจึงไม่ควรตกงาน เพราะการเปิดเสรีทางการค้านี้ จะนำพา ′โอกาส′ มาให้ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มพูนความรู้ และควบคุมตลาดวิชาชีพกฎหมายได้ดีขึ้น ไม่ควรกังวลเรื่องตกงาน"


ที่มา มติชนรายวัน


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน


ความคิดเห็น