สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ซื้อขายหุ้นถือเป็นทรัพย์สิน หรือ สินค้า (ต่อ)

ซื้อขายหุ้นถือเป็นทรัพย์สินหรือสินค้า (ต่อ)

5.ส่วนในแง่ของคำพิพากษาศาลฎีกา
    เนื้อหานี้ก็อยู่ในเวปไซต์กรมสรรพากรเหมือนกัน  ลองอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดูดีกว่าว่า  ศาลท่านตีความอย่างไร
  คำพิพากษาฎีกาที่ 1850/2531 เรื่อง หุ้นมิใช่สินค้าคงเหลือ ราคาหุ้นโจทก์จึงต้องถือตามราคาที่พึงซื้อทรัพย์สิน ได้ตามปกติ
( http://www.rd.go.th/publish/17612.0.html )
ความเห็น
    ดังนั้นในด้านภาษีอากรที่ต้องใช้อ้างอิงต้องพิจารณาว่าจะใช้ตามอะไร อะไรมีผลบังคับมากกว่าระหว่าง หนังสือตอบคำหารือของกรมสรรพากรกับคำพิพากษาศาลฎีกา  แต่ผมคิดว่าทั้งหมดทั้งปวงคงต้องยึดถือตาม พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 เป็นหลักซึ่งไม่ต้องตีความอะไรมาก คงจะมาตีความเอาตามใจชอบไม่ได้ (ยิ่งบริษัทมหาชนไม่ต้องพูดถึงใช่ตามมาตรฐานการบัญชีเป็นหลักและมากกว่าบริษัทจำกัดธรรมดาเสียอีก) และถ้าดูที่มาที่ไปของมาตรฐานการบัญชีที่ออกโดยสมาคมหรือสภานักบัญชีแล้ว การจัดทำมาตรฐาน ส่วนใหญ่อิงกับมาตรฐานการบัญชีของ IAS (International Accounting Standard) เท่ากับมีความเป็นสากล อยู่แล้ว ถ้าเรายังใช้การตีความตามประมวลรัษฎากรแบบเก่าๆอยู่ คิดหรือว่าสากลจะยอมรับมาตรฐานการบัญชี และภาษีอากรของไทย ดูเหมือนไม่มีอะไรไม่จำเป็นต้องตามฝรั่ง มันทุกเรื่องก็ได้ แต่ถ้าคิดเช่นนั้นจริง เราก็ไม่ควรออกมาดิ้นกันพราดๆกันมากนักตอนไปดูการพิจารณาให้คะแนนความสามารถในการแข่งขันระหว่าง ประเทศแล้วตำแหน่งของความสามารถการแข่งขันเรามีแต่เตี้ยลงเตี้ยลง เราควรต้องรู้เองว่าเราจะใช้ตาม สิ่งที่เห็นกันแบบจะๆ ไม่ต้องตีความหรือยังอยากจะโบราณตีความตามเดิมอยู่ (ผมไม่แน่ใจว่ากรมสรรพากรยังอยากตีความอยู่ด้วยหรือไม่)

6.ถ้าเป็นสินค้าคงเหลือกับเงินลงทุนต่างกันอย่างไร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 1)
เรื่อง    กำหนดให้ผู้ประกอบการค้าที่ต้องเสียภาษีการค้าหรือแม้ไม่ต้องเสียภาษีการค้าแต่ต้องเสียภาษีเงินได้ ปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีรายรับเป็นประจำวันและกำหนดแบบบัญชีคุมสินค้า
    อาศัยอำนาจตามความมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2524 มาตรา 83 และมาตรา 83 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่ทำบัญชีแสดงรายได้และรายรับ และกำหนดแบบบัญชีดังกล่าวรวมทั้งกำหนดแบบบัญชีคุมสินค้า ดังต่อไปนี้
                (1) ให้ผู้ประกอบการค้าที่ต้องเสียภาษีการค้าหรือแม้ไม่ต้องเสียภาษีการค้าแต่ต้องเสียภาษีเงินได้มีหน้าที่ทำบัญชี แสดงรายได้หรือรายรับเป็นประจำวัน บุคคลดังต่อไปนี้ไม่รวมถึง
                      (ก) ผู้ซึ่งมีหน้าที่ต้องทำบัญชีตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชีอยู่แล้ว
                      (ข) ผู้ประกอบการค้าของโรงงานยาสูบ ซึ่งโรงงานยาสูบได้ชำระภาษีเงินได้แทนให้แล้ว
                      (ค) ผู้ประกอบการค้าสุรา ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ผูกขาดการขายส่งได้ชำระภาษีเงินได้แทนให้แล้ว
    ....
- ประกาศกรมทะเบียนการค้า
เรื่องกำหนดชนิดของบัญชีที่ต้องจัดทำ ข้อความและรายการที่ต้องมีในบัญชีระยะเวลาที่ต้องลงรายการในบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี พ.ศ.2544
http://www.dbd.go.th/thai/law/acc2543_annouce_b07.pdf
ความเห็น
    ถ้าบอกว่าไม่ต่างคงไม่ได้ เพราะการเป็นเงินลงทุนโดยตัวของรายการก็ไม่ได้กระทบอะไรกับงบกำไรขาดทุน ยกเว้นเรื่องของการตีราคาทรัพย์สินตาม ม.65 ทวิ(3) ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีที่ต้องให้แสดงด้วยมูลค่ายุติธรรม แต่ถ้าเป็นสินค้าคงเหลือก็จะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับงบกำไรขาดทุน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากต้องมีสินค้าต้นงวด/ปลายงวด นี่จะไปกันใหญ่ เพราะการเป็นสินค้าคงเหลือจะต้องมีรายการที่ต้องทำเพิ่มเติมตาม ประกาศกรมทะเบียนการค้า (ออกตาม พ.ร.บ.การบัญชี 2543) และประมวลรัษฎากร คือ บัญชีคุมสินค้า จะบอกว่าไม่ต้องทำก็ไม่ได้เพราะหากหุ้นเป็นสินค้าคงเหลือก็ต้องทำตามกฎหมาย ไม่ได้มีข้อยกเว้นอะไร เพราะกรมสรรพากรให้ทำตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี (ประกาศอธิบดีฉบับนี้ออกเมื่อ พ.ศ.2505 แต่วิสัยทัศน์ทำให้ใช้ได้จน 2551 แค่ระบุว่า " ตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี " ดังนั้นไม่ว่ากฎหมายว่าด้วยการบัญชีจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรก็ไม่เคยล้าสมัย) จะอ้างว่าใช้รายการที่ทำตามตลาดหลักทรัพย์หรือโบรกเกอร์ก็คงไม่ได้เพราะเขากำหนดให้กิจการทำ (ดูอย่างบัญชีไม้ของกิจการขายไม้ หรือบัญชีควบคุมการซื้อทองรูปพรรณของร้านทอง ก็ต้องทำเองแต่บัญชีคุมเหล่านั้นสามารถใช้เป็นบัญชีพิเศษได้ ถ้ามีข้อมูลเป็นอย่างน้อยตามที่กฎหมายกำหนด)

7.บทกำหนดโทษถ้าไม่ทำตาม ข้อ 6.
    อันนี้ขอสรุปแล้วกันว่าใครจะซวย
บริษัท / ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
    ปรับไม่เกิน 30,000 บาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1,000 บาทจนกว่าจะปฎิบัติถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติการบัญชี
    ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามประมวลรัษฎากร
    แถมถ้าซวยหนักโดนตาม มาตรา 71 ประมวลรัษฎากรจะยิ่งไปกันใหญ่

8.มุมมองด้านการจัดการ
    ผมคิดว่าสมมุติถ้าผมเป็นนักธุรกิจแล้วต้องถามใครสักคนเรื่องเกี่ยวกับรายการในการดำเนินงานของบริษัท ผมไม่คิดว่าคำถามแรกที่ผมต้องการคำตอบจะถามกับ ผู้รู้ ว่ารายการที่เกิดขึ้นในบริษัทผมและผมอยากรู้จะเป็น รายการทางภาษี แต่ผมคงอยากจะรู้ว่ารายการที่เกิดขึ้นในบริษัทผมจะเกี่ยวพันในการดำเนินธุรกิจ หมายถึง งบการเงินทางบัญชีมากกว่าการอยากรู้ว่าต้องเสียภาษีอย่างไร ก็เพราะธุรกิจจะเดินไปได้หรือไม่ จะขึ้นกับข้อมูล หรือกำไรทางบัญชีมากกว่ากำไรที่มีการปรับปรุงตามเงื่อนไขทางภาษี ถ้าเราจะวิเคราะห์งบการเงินเราคงต้องใช้ งบการเงินที่มีการจัดทำตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปตามมาตรฐานการบัญชีมากกว่า เพราะรายการทางบัญชี เป็นรายการที่เกิดขึ้นจริงทางธุรกิจ ถ้าผมจะใช้งบการเงินที่มีการจัดทำโดยวัตถุประสงค์หลักที่จัดทำเพื่อภาษีแล้ว ผมคงเห็นบริษัทผมเหมือน SME ทั่วไปที่ส่งบัญชีไปให้สำนักงานบัญชีบางสำนักงาน ยำ ออกงบการเงิน เพื่อนำส่งให้กับกรมสรรพากร แล้วอย่าคิดว่าทางกรมสรรพากรอยากได้งบแบบนี้เพราะส่วนใหญ่มากกว่า 95 % มักยื่นรายได้ไม่ครบ แล้วจะเอางบการเงินเช่นนี้มาดูสถานะกิจการก็รอวันเจ๊งเท่านั้น ผมคิดว่า การที่มีพ.ร.บ.การบัญชี 2543 ออกมาคือเจตนาในการยกระดับการทำบัญชีของประเทศไทย เหมือนกับ ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2535 กรมสรรพากรได้มีการปรับระบบการจัดเก็บภาษีจากภาษีการค้ามาเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม วิธีการทำบัญชีแบบมั่วเขียนบิลตามนึกน่าจะหมดไปแล้ว แต่ด้วยความสัตย์จริง 2-3 วันก่อน ผมได้คุยกับกิจการบ้านเพื่อน ยังทำบัญชีเหมือนก่อน ปี 2535 ไม่มีผิด จนต้องรื้อทำให้ใหม่ทั้งหมด มันเหมือนอย่างไรหรือ ก็สำนักงานบัญชีเก็บเงินค่าทำบัญชี เก็บเงินค่า VAT ทุกเดือน แต่ไม่ทำอะไรเลย เป็น 10 ปี ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ประจำปี ไม่ส่งงบการเงินกรมพัฒนาธุรกิจ ไม่เคยส่งสมุดบัญชี หรือ เอกสารให้กับบริษัท เจ้าของก็ดีเหลือแสนไม่ขอไม่รับรู้ใดๆเกี่ยวกับบัญชีของตัวเองเลยเหตุผลง่ายๆสั้นๆคือ ผมไม่รู้เรื่องขายของอย่างเดียว แต่เมื่อมีปัญหาให้เจ้าของกิจการเข้าไปรับผิดชอบสำนักงานบัญชีหายหัว ไม่มาติดต่อ สำนักงานนี้เท่าที่สอบถามเป็นสำนักงานทนายความทำงานกฎหมายเป็นหลัก ส่งงานบัญชีให้ภายนอก สำนักงานนั้นกินหัวคิว มีลูกค้าบัญชีเป็นร้อย ชื่อสำนักงานผมฟังแล้วนึกว่าร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นน้ำใสของ ดาราชายคนหนึ่งที่ขาย francise เสียอีก ใครอ่านแล้วรู้ว่าชื่อเหมือนกับสำนักงานที่ให้บริการทำบัญชี ให้บริษัทตัวเองก็รู้แล้วกันว่า คุณกำลังจะเป็น NIC (Narok Is Coming)   กิจการบ้านเพื่อนผมโดนปรับภาษีถึงปี 2549 หลายแสน ยังไม่รู้ชะตากรรมกับกรมพัฒนาธุรกิจ และ งบการเงิน ปี2550 เรื่องค้างมา 2 ปียังไม่จบ บัญชียังไม่ได้ทำอะไร ผมว่าเจ้าของกิจการลักษณะนี้มีมาก ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรกับบัญชีกิจการตัวเอง
    ดังนั้นก็เป็นหน้าที่ของนักบัญชีพอสมควรในการเข้าช่วยปรับขบวนคิดของพ่อค้าเหล่านี้ให้เป็นนักธุรกิจที่สนใจในตัวเลขของกิจการตัวเอง สอนให้รู้ว่ากิจการควรต้องมีอะไรและใช้อย่างไร สอนวิธีการทำบัญชีอย่างไรให้ถูกและใช้งบการเงินให้เป็น มากกว่าที่จะสอนให้รู้ว่าทำบัญชีอย่างไรให้สรรพากรยอมรับ (ไม่ใช่แดกแต่ดันครับ เพราะต้องดันให้นักบัญชี มีส่วนในการพัฒนาวิชาชีพตัวเองและพัฒนาวิธีคิดของเจ้าของกิจการที่ยังโบราณให้มากขึ้น อีกทั้งหัวข้อสัมมนา นี้ผมเป็นคนออก IDEA ตั้งเองตั้งแต่ประมาณปี 2529 สมัยทำงานอยู่สำนักงานสอบบัญชีแห่งหนึ่งตอนนั้น อยู่แถวอุรุพงษ์ ก็ที่เดียวกับที่ท่านเจ้าของบทความประจำอยู่นั่นแหละครับ ... ที่เขียนเพราะอยากให้รู้ว่า มันนานมามากแล้ว ) ทั้งๆที่ยังไม่รู้ว่าสรรพากรตอนนี้จะยอมรับจริงหรือเปล่า เพราะอะไรต่ออะไรก็เปลี่ยนไป มากแล้ว ทั้ง กฎหมายบัญชี กฎหมายภาษี แนวคิดทางบัญชี  แนวคิดทางการบริหาร และแนวคิดการจัดเก็บภาษี ของกรมสรรพากร จะยังคงก็แต่นักบัญชีอีกหลายคนที่ยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดวิธีการทำงานของตัวเอง แต่ถ้าอยากทำบัญชีให้สรรพากรยอมรับมันก็ไม่ยาก ก็ทำให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริงทางธุรกิจ ไม่ใช่ซิกแซกไปซิกแซกมาซิครับ ง่ายจะตาย ...มันก็เท่านั้น

( อ่านบทความดังกล่าวที่นี่  http://www.manager.co.th/mgrWeekly/ViewNews.aspx?NewsID=9510000007991 )

cpa_thailand

Tags : ซื้อขายหุ้น ถือเป็นทรัพย์สิน สินค้า บัญชี ภาษี สอบบัญชี ที่ปรึกษา 

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view