สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วาระแห่งชาติด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาล

พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการและ ประกาศ "วาระแห่งชาติด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาลและการป้องกัน การทุจริต และประพฤติมิชอบ ในภาคราชการ"
ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 8 ธันวาคม 2549 เวลา 9.00 น.
 
           โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการ "การขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้านจริยธรรม
ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในภาคราชการ"  พร้อมประกาศ "วาระแห่งชาติ
ด้านจริยธรรม ธรรมาภิบาลและการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในภาคราชการ" ในวันนี้ว่าถือเป็นเรื่อง
ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว และขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคม
ที่ดีงาม และมุ่งมั่นที่จะทำให้ประชาชนมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน    
            ที่ผ่านมารัฐบาลได้แสดงเจตจำนงว่า  จะมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ  รวมทั้งความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน  ซึ่งจำเป็นต้องมีการฟื้นฟูระบบคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเร่งด่วน  โดยใช้กลไกของรัฐที่มีอยู่ผลักดันให้เกิด การขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งระบบ  เพื่อก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน  ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วน จะต้องให้ความร่วมมือกับภาครัฐ
           การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องถอยกลับไปตั้งหลักใหม่นั้น เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบันขาดจริยธรรม
ธรรมาภิบาล และมีการทุจริตคอร์รัปชั่น  แต่การยอมถอยกลับไปก้าวหนึ่ง คือการที่จะพร้อมก้าวเดินต่อไป ในวันข้างหน้า  ดังนั้นเมื่อมีการถอยกลับมาก้าวหนึ่งแล้ว การจะก้าวเดินต่อไปโดยไม่พูดถึงเรื่องจริยธรรม ธรรมาภิบาล และการทุจริตและประพฤติมิชอบคงเป็นไปไม่ได้ เพราะหากต้นตอของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ในที่สุดเราอาจจะต้องกลับไปเริ่มต้นกันใหม่อีกครั้งหนึ่งในวันข้างหน้าได้
             นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ข้าราชการย่อมประสบปัญหาการทำงานไม่มากก็น้อย เหมือนเช่นที่นายกรัฐมนตรี ได้เคยประสบมาแล้วในอดีต ช่วงที่เข้ารับราชการทหารใหม่ ๆ แต่ก็สามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ มาได้ด้วยดี  เพราะยืนอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง  และหมั่นศึกษาหาความรู้ที่ใช้หลักของคุณธรรม จริยธรรม เป็นทางนำ ควบคู่กับการพิจารณาเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล รอบคอบ และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด  เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้บังคับบัญชาและบุคคลอื่น ๆ  ซึ่งสามารถนำไปสู่ความก้าวหน้าในชีวิตราชการ ได้สำเร็จ           
            เพราะฉะนั้น "ตัวบุคคล"  จึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างระบบราชการให้มีคุณธรรม
ซึ่งข้าราชการทุกคนจะต้องปฏิบัติตนให้มีคุณธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่  ไม่รับสินบน หรือแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ต้องมีจุดยืนที่พอเพียง กระทำแต่สิ่งที่ดีงาม อย่าห่วงเพียง ความก้าวหน้าของตัวเองจนลืมเรื่องความถูกต้อง  ข้าราชการต้องมีอุดมการณ์  และมุ่งทำงานอย่างเป็นระบบ  
           ปัจจุบัน "ระบบราชการ"  แม้จะมีความพยายามเพื่อจะพัฒนาการปฏิบัติงานกันมากขึ้น แต่ยังขาดอิสระและถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง จนทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่ขาดขวัญ กำลังใจ และทำให้ข้าราชการหลายคนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งเกิดวัฒนธรรม หรือค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง  ระบบอุปถัมภ์ จึงเติบโต และทำลายระบบคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ดีงาม และมีความสำคัญในการทำให้บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าและมั่นคงอย่างยั่งยืน
           การขาดคุณธรรมและจริยธรรมในระบบราชการมีผลกระทบต่อการทำงานของาราชการและการพัฒนา บ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง  เพราะข้าราชการคือบุคคลสำคัญในการนำนโยบายต่างๆ ไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ   และระบบราชการคือหัวขบวนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ หากข้าราชการส่วนใหญ่ขาดขวัญ  กำลังใจ มีความท้อแท้สิ้นหวัง การทำ   ราชการย่อมไม่ประสบผลสำเร็จ  ประชาชนและประเทศชาติ จะไม่ได้รับผลที่ดี จากการทำงานของข้าราชการ ส่งผลกระทบติดตามกันไปเป็นลูกโซ่
         รัฐบาลปัจจุบัน จึงมีแนวคิดที่จะทำให้ข้าราชการมีอิสระ และมีความมั่นคงปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น  สามารถทำงานในความรับผิดชอบของแต่ละคนโดยไม่ต้องวิตกกังวลหรือเกรงกลัวต่อคำสั่งการที่ผิดๆ  ส่วนรูปแบบการพัฒนาจะเป็นอย่างไรนั้น จะมีการปรึกษาหารือกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  โดยเฉพาะ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของ ทุกฝ่าย ถือมีความสำคัญและจำเป็นต่อการสร้างรูปแบบที่สมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับกันมากที่สุด
            อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำถึงความหมายของ "ข้าราชการ" ว่า  คือความ     ผูกพันที่จะต้องทำงาน สนองพระเดชพระคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ดีที่สุด เพราะราชการคืองานของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และต้องมองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นหลัก  ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ ๒ อย่าง คือประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยทุกคน   พร้อมหยิบยกหลักการทรงงาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ซึ่งได้แก่ "การให้" คือ ทำทุกอย่างเพื่อให้แก่ประเทศชาติและประชาชน "การทำงานอย่างมีความสุข" หมายถึง มีความสุขที่ได้ทำงานช่วยเหลือประชาชน และสร้างความเจริญก้าวหน้า ให้แก่ประเทศชาติ  "ความเพียร" หมายถึง ความมุ่งมั่นทำงานโดยไม่ย่อท้อต่อปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ เพื่อพัฒนา     บ้านเมืองให้ก้าวหน้ารุ่งเรืองต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และ"ความสามัคคี" หมายถึงความร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงาน เพื่อให้เกิดผลดีแก่ชาติบ้านเมือง  ข้าราชการต้องยึดหลักการทำงานเหล่านี้ไว้ และต้องปรับลดวิสัยทัศน์ของตนเอง และหน่วยงาน  ต้องร่วมมือกันทำงาน อย่ายึดติดการเป็นเจ้าของผลงานแต่เพียงผู้เดียว  เพื่อให้การทำงานมุ่ง ไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือการอำนวยประโยชน์ที่ทำให้เกิดความสุขแก่ประชาชน
           เรื่องการทุจริตและประพฤติมิชอบ ถือเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมานาน เพราะระบบราชการเป็นองค์กรที่มี
ขนาดใหญ่   ที่มีคนอยู่เป็นจำนวนมาก และต้องทำงานเกี่ยวข้องกับ งบประมาณของประเทศ  จึงย่อมมีทั้งคนที่ดี และไม่ดี  รัฐบาลจึงได้พยายามคิดและสร้างระบบต่างๆ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อป้องกันและตรวจสอบการทุจริต และประพฤติมิชอบ   ตรงข้ามหากไม่สามารถสร้างคุณธรรม จริยธรรมให้เกิดขึ้นในใจของข้าราชการได้ ระบบ หรือ  กลไกต่างๆ ที่ทุกคนได้พยายามสร้างขึ้นมา ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด
          คุณธรรมและจริยธรรมที่จะเกิดขึ้นในใจของข้าราชการได้นั้น ทุกคนจะต้องมี  หลักยึด มีเป้าหมาย ถ้าข้าราชการไม่สามารถสร้างสิ่งเหล่านี้ได้ ระบบหรือกลไกต่าง ๆ ที่ร่วมกันสร้างไว้จะไม่สามารถก่อให้เกิด ประโยชน์ต่อ ประเทศชาติแต่อย่างใด
         เรื่องงบประมาณ   หากผู้ใดคิดทุจริตหรือประพฤติมิชอบเบียดบังผลประโยชน์จากงบประมาณ ของทางราชการ ที่เป็นเงินของประชาชนทุกคน ย่อมถือว่าคนผู้นั้นมีความผิด วันนี้จึงถือว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ได้มีการประกาศวาระแห่งชาติเรื่อง การสร้างจริยธรรม  ธรรมาภิบาลและ การป้องกันการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ ในภาคราชการในวันนี้   เพื่อจะได้ร่วมกันสร้าง คุณภาพมาตรฐานการทำงานที่ดีขึ้น ของภาคราชการ 
            นายกรัฐมนตรีกล่าวยอมรับว่า ข้าราชการส่วนใหญ่มีรายได้ค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับภาคเอกชน ในบางสาขาอาชีพ  แต่ถ้าเทียบกับประชาชนจำนวนมากแล้ว   ข้าราชการยังมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า  เพราะฉะนั้น การอยู่ในสังคมอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีนั้น  ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่มีรายได้มากหรือน้อย  แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนและ ความพอเพียง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุล มีเหตุมีผล และไม่ประมาทฟุ้งเฟ้อเกินไป  หากข้าราชการสามารถ ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี
            ท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการประชุมเชิงปฎิบัติการและประกาศวาระแห่งชาติด้านจริยธรรม
ธรรมาภิบาล และการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในภาคราชการ ว่า   ข้าราชการทุกคนจะสามารถ นำแนวคิดหรือข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าว ไปปฏิบัติให้เป็น    วัฒนธรรมและค่านิยมอันดีงาม ซึ่งจะก่อให้เกิด ประโยชน์อย่างมหาศาลแก่สังคมไทย พี่น้องประชาชน  และการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
 
------------------------------

ที่มา : http://www.thaigov.go.th
view