สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เปิดคำพิพากษา!ยกฟ้อง พจมาน

เปิดคำพิพากษา!ยกฟ้อง'พจมาน'

---------

ย้อนรอยคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำคุก”พจมาน -บรรณพจน์”3ปี  http://j.mp/pX6hMP


ย้อนรอยคำพิพากษาจำคุก”พจมาน -บรรณพจน์”3ปี คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้น738ล้าน

จาก ประสงค์ดอทคอม

หมายเหตุ-วันที่ 24 สิงหาคม 2554 เวลา 9.30 น.ศาลอาญา นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร(การโอนหุ้น บริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด(มหาชน)หรือชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสีย(รวมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม) จำนวน 546 ล้านบาท)ซึ่งมีนายบรรณพจน์  ดามาพงศ์ อดีตประธานคณะกรรมการบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน),คุณหญิงพจมาน  ณ ป้อมเพชร  อดีตภรรยา พ.๖.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน เป็นจำเลย

(ศาลอุทธรณ์ชี้ชะตาคุก3ปี ? “พจมาน – บรรณพจน์” 24ส.ค. คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้น738ล้าน)

เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีสำคัญที่อาจส่งผลกระทบในทางการเมืองและอาจทำ ให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางต่อผลการตัดสินคดีดังกล่าว จึงขอนำคำพิพากษาของศาลอาญาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ให้จำคุกนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ 2 คนละ 3 ปี และจำคุก นางกาญจนาภา หงษ์เหิน หรือหงส์เหิน ที่ 3 จำนวน 2 ปีมาให้ผู้อ่านได้ศึกษาอย่างละเอียดดังต่อไปนี้

@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@

Oข้อหาตามคำฟ้องของอัยการแบ่งออกเป็น 2 ข้อหา

ข้อหาที่ 1 เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยใช้อุบายว่า จำเลยที่ 2(คุณหญิงพจมาน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ฯหรือบริษัท ชิน คอร์ป สั่งขายหุ้นบริษัทดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อของนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี หรือนางดวงตา ประมูลเรือง เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียนถือการครอบครองแทนรวมมูลค่าหุ้น 738,000,000 บาท ให้กับจำเลยที่ 1 (นายบรรณพจน์)ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2

โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าได้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ใน ตลาดหลักทรัพย์มารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อประเมินเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา

ความจริงแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เป็นการโอนหุ้นให้กับจำเลยที่ 1  เป็นการอำพรางการให้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้รับการให้จะต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ ประมาณ 738,000,000 บาท มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี ประจำปี 2540 เป็นเงินจำนวน 273,060,000 บาท

ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2540 โดยมิได้นำค่าหุ้นดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย หรือวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เป็นเหตุให้รัฐเสียหายขายรายได้

ข้อหาที่ 2 ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2544 ถึงวันที่ 30 ส.ค. 2544 จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรู้อยู่แล้ว จงใจได้บังอาจร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน

โดยจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำและตอบคำถามว่า การซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 เป็นกรณีจำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้ โดยโอนหุ้นให้บุคคลอื่นถือแทนในตลาดหลักทรัพย์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายเงินซื้อ และให้ถ้อยคำเพิ่มเติมว่า เป็นพี่บุญธรรมของจำเลยที่ 2 ได้ช่วยเหลือกิจการของจำเลยที่ 2 จนมีความเจริญก้าวหน้า จำเลยที่ 2 ได้มอบของขวัญให้แก่ครอบครัวและบุตรชายของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้น จำนวน 4.5 ล้านหุ้นดังกล่าว โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงเข้าใจโดยสุจริตว่า เป็นการให้โดยเสน่หา ตามธรรมเนียมประเพณีและธรรมจรรยาของสังคมไทย ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำมีสาระสำคัญว่าตนตั้งใจที่จะมอบหุ้นให้จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่งในวันแต่งงาน แต่มอบให้ไม่ทันเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานในทางการเมือง เมื่อจัดการเรื่องบริหารงานเสร็จสิ้นจึงได้ยกหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นเป็นของขวัญให้แก่ครอบครัวและบุตรชายจำเลยที่ 1 โดยหุ้นที่โอนให้เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งนางดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ถือหุ้นแทนและอยู่ในพอร์ทที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำนั้นเป็นเท็จ เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้พนักงานสรรพากรเชื่อว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจาก การให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งได้รับ การยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ความจริงแล้วเป็นการให้เพื่อตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ทำงานให้ครอบครัวของจำเลยที่ 2 แต่ทำอุบายอำพรางว่าเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเพื่อจะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงหรือ พยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ และโดยการฉ้อโกงโดยอุบายของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายต้องขาดรายได้อันควรได้เป็นเงินภาษีอากร จำนวน 273,060,000 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 273,060,000 บาท รวมเป็นเงิน 546,120,000 บาท

@ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานโจทก์และจำเลย

พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบมาโดยตลอดแล้วข้อเท็จ จริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาจำเลยที่ 2  จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ส่วน จำเลยที่ 3 เป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 2 มีหุ้นในบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยที่ 2 ให้นางสาวดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้มีชื่อถือครองแทนจำนวนหนึ่ง

จำเลยที่ 2 มีเจตนาจะยกหุ้นของจำเลยที่ 2 ในบริษัทดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 จำนวน 4,500,000 หุ้น

แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีคำสั่งให้ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการซื้อขายหุ้นดังกล่าวให้แก่กัน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 4,500,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 164 บาท รวมเป็นเงิน 738,000,000 บาท แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคาแทนจำเลยที่ 1

โดยจำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายเช็ค ธนาคารไทยพาณิชย์  สำนักรัชโยธิน ชำระราคาค่าหุ้นจำนวนดังกล่าวผ่านบริษัท หลักทรัพย์ภัทร และเมื่อบริษัท หลักทรัพย์ภัทร หักค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ได้สั่งจ่ายเช็คขีดคร่อมเฉพาะชำระราคาค่าหุ้นให้แก่นางสาวดวงตาผู้มีชื่อทาง ทะเบียนนั้น และเช็คดังกล่าวก็ถูกนำเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่ธนาคารเดิม ทั้งนี้ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายทุกขั้นตอนแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนางสาว ดวงตา

ต่อมาในการยื่นรายการเพื่อเสียภาษีอากรปีภาษี 2540 ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้นำมูลค่าหุ้นที่ได้รับยกให้จำนวน 738,000,000 บาทดังกล่าว ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

ส่วนจำเลยที่ 2 ก็มิได้นำค่าหุ้นจำนวน 734,310,000 บาท ที่ได้รับจากบริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และเป็นเงินได้พึงประเมินไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เนื่องจากเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

หลังจากนั้น ในปีพ.ศ. 2543  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินของพันตำรวจ โททักษิณ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการป.ป.ช.

ในการนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการป.ป.ช. ว่าหุ้นจำนวน 4,500,000 หุ้นดังกล่าว จำเลยที่ 2 แบ่งให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 มิได้ซื้อแต่อย่างใด

ต่อมาคณะกรรมการป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยว่า พันตำรวจโททักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอัน เป็นเท็จ กรมสรรพากรจึงมีหนังสือเขอข้อมูลเรื่องนี้จากคณะกรรมการป.ป.ช. ไปประกอบการพิจารณาจัดเก็บภาษีจากบุคคลดังกล่าวให้ถูกต้อง

ในการนี้ จำเลยที่ 1 เข้าให้การต่อนาย ช. นันท์ เพ็ชญ์ไพศิษฐ์ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2544 ว่า ความจริงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ยกหุ้นดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 และในวันที่ 16 และ 30 กรกฎาคม 2544 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ ได้ให้การต่อนางเบญจา หลุยเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 มีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 มีครอบครัวและมีฐานะที่มั่นคงทัดเทียมกับพี่น้อง จึงสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 แต่งงานกับจะให้หุ้นคดีนี้เป็นของขวัญ

แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่พันตำรวจโททักษิณเข้าทำงานทางการเมือง จำเป็นต้องจัดการเรื่องการบริหารให้เสร็จเสียก่อน จึงมาให้หุ้นดังกล่าวภายหลังเมื่อจำเลยที่ 1 มีบุตรและบุตรมีอายุจะครบ 1 ปี เป็นการให้เป็นของขวัญแก่ครอบครัวและบุตรของจำเลยที่ 1

 

ในที่สุดกรมสรรพากรพิจารณาแล้วสรุปว่า การรับโอนหุ้นของจำเลยที่ 1 จากจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 จำนวน 4,500,000 หุ้นมูลค่า 738,000,000 บาท เป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวนเพื่อเสียภาษี เงินได้ ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎรกร แล้วให้ยุติเรื่อง

 

ต่อมาเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหา กษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 แล้ว ได้มีประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบหรือ คตส. มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบรวมทั้งการหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

 

คณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาการโอนหุ้นดังกล่าวแล้วเห็นว่า หุ้นที่จำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 1 ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ มิใช่การให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จึงแจ้งให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้จากจำเลยที่ 1 และเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 546,120,000 บาท

ส่วนคดีอาญาคณะกรรมการตรวจสอบมีมติให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการ ฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ โดยถือเอาผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ตามประกาศค คปค. ฉบับที่ 30 ข้อ 9 วรรคสอง

@ปัญหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือไม่

เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติข้างต้น จำเลยที่ 2 เจตนาจะยกหุ้นของจำเลยที่ 2 ในบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯที่มีชื่อนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ถือครองแทน จำนวน 4,500,000 หุ้นมูลค่า 738,000,000 บาทตาม

แต่ได้ทำเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระราคาค่าหุ้นทั้งหมดแทนจำเลยที่ 1 และในที่สุดเงินค่าหุ้นจำนวนนั้นก็กลับไปเข้าบัญชีของจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนางสาวดวงตาโดยตลอด นั้น

 

ในเบื้องต้น แม้การให้ผู้อื่นเป็นผู้ถือครองหุ้นแทนในตลาดหลักทรัพย์จะกระทำได้และเจ้า ของหุ้นที่แท้จริงสามารถขายหุ้นนั้นได้เองด้วยก็ตาม

 

แต่คดีนี้ เห็นได้ชัดแจ้งว่า พฤติการณ์การซื้อขายหุ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมิได้ซื้อขายกันจริง แต่เป็นการกระทำโดยลวงเพื่ออำพรางการให้ตามเจตนาที่แท้จริง จึงเป็นการกระทำโดยความเท็จ

@ ปัญหาว่าการกระทำโดยความเท็จนั้นเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่

เห็นว่า การซื้อขายหุ้นตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่เป็นการกระทำโดยความเท็จดังวินิจฉัยได้กระทำในตลาดหลักทรัพย์ จึงมีผลทำให้จำเลยที่ 2 ผู้ขายได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมูลหุ้นที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงิน ได้ประจำปีภาษี 2540 ตามข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติ

ส่วนมูลค่าหุ้นจำนวน 738,000,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ได้รับยกให้จากจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับว่า เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร เพียงแต่โต้แย้งกันว่าเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่เท่านั้น

แต่โจทก์นำสืบว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการให้ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) และมิได้เป็นเงินได้ประเภทหนึ่งประเภทใดตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องนำมูลค่าหุ้นจำนวนที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี ภาษี 2540

และด้วยเหตุนี้ จำเลยทั้งสามจึงได้อำพรางการให้ที่เป็นเจตนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 ด้วยการทำเป็นซื้อขายอันเป็นความเท็จแทน เป็นอุบายเพื่อจะไม่มีภาระภาษีจากการซื้อและขาย ทั้งไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับจากการให้ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ดังกล่าวอีกด้วย จึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากร

ส่วนจำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 รับให้มานั้นเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) และเป็นเงินได้ประเภทที่เข้าข้อยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากร

กล่าวคือเป็นเงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จำเลยที่ 1 ไม่ต้องนำมูลค่าหุ้นที่ได้รับจากจำเลยที่ 2 ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540 จึงไม่เป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร

@ กรณีจึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับ เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่จำเลยที่ 1 ผู้รับการให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี 2540 หรือไม่ เพราะหากได้รับยกเว้นเช่นเดียวกับการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่อีกต่อ ไป

ปัญหานี้ แม้ในเบื้องต้นโจทก์และจำเลยทั้งสามจะโต้แย้งกันว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาตามฟ้องถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(2) หรือมาตรา 40(8) ก็ตาม

แต่เห็นว่า ตามคำฟ้อง โจทก์บรรยายในตอนท้ายของฟ้องข้อ 2 ก.ว่า “…จำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ประจำปีภาษี 2540 พร้อมนางบุษบา ดามาพงษ์ ภรรยา ต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรว่า ในปีภาษี 2540 จำเลยที่ 1 มีเงินได้จากการจ้างแรงงานและจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำ งานและมีเงินได้ที่เป็นเงินปันผล เครดิตเงินปันผล รวมเป็นเงินได้สุทธิที่ต้องคำนวณภาษีเพียง 23,318,411.53 บาท อัตราภาษีร้อยละ 37 รวมเงินภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเป็นเงิน 8,129,812.27 บาท โดยมิได้นำค่าหุ้นดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์สินหรือเงินได้จำนวน 738,000,000 บาทมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีบุคคลธรรมดา…” อันเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ไม่นำมูลค่าหุ้นที่ได้รับให้ไปรวมกับเงินได้ประเภทอื่นๆ ของจำเลยที่ 1 ที่กฎหมายถือว่าเป็นเงินได้ของจำเลยที่ 1 และที่เป็นเงินได้ของภรรยา เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรเท่านั้น

คำฟ้องมิได้ระบุว่าเป็นภาษีอากรจากเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 ประเภทหรือวงเล็บใด ดังนั้น แม้จะปรากฏตามทางพิจารณาว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบว่า การรับให้ เป็นเงินได้พึงประเมินต่างประเภทกัน ก็เป็นการแตกต่างของความเห็นในประเภทของเงินได้พึงประเมินที่จำต้องพิจารณา ในชั้นจัดเก็บภาษี ทั้งผลของการแตกต่างที่มีตามกฎหมายก็มิได้ผลต่อการวินิจฉัยปัญหาข้อนี้

เพราะไม่ว่า จะเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทใด ก็ยังคงเป็นเงินได้อันพึงต้องเสียภาษีตาม มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรเช่นเดียวกัน ในชั้นนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยข้อโต้แย้งนี้

@ คงมีปัญหาว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการให้มิได้เป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำ ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้หรือไม่

โจทก์มีนายกล้านรงค์ จันทิก  (กรรมการ  คตส. )มาเบิกความยืนยันว่า ขณะพยานเป็นเลขาธิการคณะ ป.ป.ช. พยานได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ยื่นไว้ต่อสำนักงาน ป.ป.ช. พยานกับคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ร่วมกันสอบปากคำจำเลยที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับหุ้นตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ช่วยเหลือและร่วมดำเนินธุรกิจของพันตำรวจโททักษิณกับจำเลยที่ 2 มาตลอดตั้งแต่ต้น รวมทั้งเป็นผู้กู้และผู้ค้ำประกันให้ด้วย โดยมีบันทึกคำให้การของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ให้การ มาเป็นหลักฐานสนับสนุน เอกสารดังกล่าวมีสาระสำคัญสอดคล้องกับคำเบิกความของพยาน

เห็นว่า พันตำรวจโททักษิณ ถูกตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 295 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งอาจมีผลทำให้พ้นตำรวจโททักษิณต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องห้ามมิให้ดำรง ตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี จึงเป็นเรื่องสำคัญ จำเลยที่ 1 ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพันตำรวจโททักษิณอย่างมาก ย่อมต้องเตรียมการและระมัดระวังในเรื่องที่จะให้การ ทั้งเป็นการให้การในครั้งแรกๆ ขณะที่ยังมิได้มีปัญหาการตรวจสอบเรื่องภาระภาษีและดำเนินคดีนี้ น่าที่จำเลยที่ 1 จะให้การไปตามความจริง

ประกอบกับ คำให้การดังกล่าวมีข้อเท็จจริงโดยละเอียดตั้งแต่ประวัติความสัมพันธ์ระหว่าง ครอบครัวของจำเลยที่ 1 กับครอบครัวของจำเลยที่ 2 การช่วยเหลืออุปการะกันมาโดยตลอด ตั้งแต่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังเป็นเด็กๆ

เมื่อจำเลยที่ 2 กับพันตำรวจโททักษิณไปศึกษาที่ต่างประเทศ จำเลยที่ 1 ก็ลางานตามไปดูแลช่วยเหลือพร้อมกับศึกษาต่อ และเมื่อกลับมาก็ช่วยเหลือและสนับสนุนในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนิน กิจการค้าขายต่างๆ ของจำเลยที่ 2 กับพันตำรวจโททักษิณ จนต่างมีฐานะมั่นคง

ในส่วนที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งหุ้นต่างๆ นั้น จำเลยที่ 1 ได้ให้การไว้โดยละเอียดโดยเฉพาะหุ้นจำนวนมากๆ เช่นหุ้นตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า จำเลยที่ 2 แบ่งให้โดยมิได้มีการซื้อมา แม้การสอบถามในครั้งนั้นจะไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการให้หุ้นคดีนี้ก็ตาม แต่หากเป็นการรับให้เนื่องในโอกาสสำคัญของจำเลยที่ 1 ดังที่อ้าง เป็นหุ้นที่มีมูลค่าจำนวนมาก ทั้งเป็นการรับให้จากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของพันตำรวจโททักษิณกำลังถูกตั้งข้อระแวงสงสัยและถูกตรวจสอบ เกี่ยวกับการถือครองหุ้น จำเลยที่ 1 น่าจะให้การถึงเหตุผลที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้เป็นหลักฐานด้วย

แต่จำเลยที่ 1 นอกจากจะมิได้ให้การถึงเหตุผลการให้ว่าเป็นการให้เนื่องในโอกาสใดแล้ว ยังให้การชัดเจนว่า เป็นการแบ่งให้โดยมิได้มีการซื้อมา ดังที่ปรากฏ ทั้งๆ ที่ได้ให้การในเรื่องอื่นๆ ไว้โดยละเอียด จึงเชื่อว่า ที่จำเลยที่ 2 ให้หุ้นคดีนี้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการแบ่งให้ดังที่จำเลยที่ 1 ให้การ ซึ่งคำว่า “แบ่งให้” ดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่า เป็นการให้ที่มิใช่การให้เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสอย่างใด

ส่วนที่ได้ความจากคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญและให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี กรมสรรพากรตามลำดับ แตกต่างไปจากคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัย ทำนองว่า จำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้จำเลยที่1 ตามธรรมจรรยาในฐานะที่ได้ร่วมก่อการและดำเนินธุรกิจร่วมกัน รวมทั้งเป็นของขวัญที่จำเลยที่ 1 มีภริยาและบุตรนั้น ก็เป็นคำให้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การภายหลังจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีคำวินิจฉัยว่า พันตำรวจโททักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินและเอกสารประกอบถ้อยคำอันเป็นเท็จและกรมสรรพากร ได้เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปตรวจสอบเพื่อจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายอันเป็นเท็จแล้ว

คำให้การที่ให้เหตุผลของการให้หุ้นของจำเลยที่ 2 แตกต่างไปจากที่จำเลยที่ 1 เคยให้การไว้ในชั้นแรก จึงน่าจะเป็นการยกข้ออ้างขึ้นใหม่ให้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (10) ที่จะไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามที่กรมสรรพากรจะเรียกเก็บ

คำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่ทำให้พยานหลักฐานโจทก์ดังวินิจฉัยไม่น่าเชื่อถือ

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า เพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน จำเลยที่ 2 มีเจตนาจะยกให้หุ้นตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 เมื่อต้นปี พ.ศ.2539 ในโอกาสที่จำเลยที่ 1 แต่งงาน แต่ในช่วงนั้นพันตำรวจโททักษิณกำลังยุ่ง เนื่องจากจะเข้าสู่การเมืองและตั้งพรรคการเมืองใหม่ จำเป็นต้องจัดการเรื่องการบริหารงานให้เสร็จสิ้นก่อน จึงมาให้ในภายหลังขณะบุตรจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 1 ปีนั้น

ประการแรกเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ที่รับฟังได้ดังวินิจฉัยว่า เป็นการแบ่งให้

ประการต่อมาที่อ้างว่า ไม่สามารถโอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 1 ในโอกาสที่จำเลยที่ 1 แต่งงานได้เพราะพันตำรวจโททักษิณจำเป็นต้องจัดการเรื่องการบริหารงานให้ เสร็จสิ้นก่อนนั้น

เห็นว่า ได้ความจากทางนำสืบของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า หุ้นตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ 2 อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ในชื่อของนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี และจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ให้คำแนะนำและดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 รวมทั้งหุ้นแทนโดยตลอด ดังนี้การโอนหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อนางสาวดวงตาถือครองแทนจึงสามารถทำได้โดยจำเลยที่ 3 คนเดียว

ดังนั้นหากจำเลยที่ 2 จะโอนหุ้นนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ในโอกาสที่จำเลยที่ 1 แต่งงานจริง ก็สามารถกระทำได้ในโอกาสนั้นโดยจำเลยที่ 2 เพียงแจ้งให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการเท่านั้น ซึ่งมิได้เป็นภาระหรือเกี่ยวข้องกับพันตำรวจโททักษิณและการจัดการเรื่องการ บริหารงานตามที่อ้างแต่อย่างใด

แม้ในเรื่องนี้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีพลตำรวจเอกเพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่จำเลยที่ 2 นางสมทรง เครือไชย อาจำเลยที่ 2 และนางบุษบา ดามาพงศ์ ภริยาจำเลยที่ 1 มาเบิกความเป็นประจักษ์พยานสนับสนุนว่า ร่วมรู้เห็นและได้ยินจำเลยที่ 2 พูดขณะจำเลยที่ 1 กับนางบุษบาเข้าไปอวยพรวันเกิดของจำเลยที่ 2 ว่า จะให้หุ้นแก่จำเลยที่ 1 เป็นของขวัญแต่งงาน ก็ตาม

แต่คำเบิกความดังกล่าว นอกจากจะขัดกับข้อเท็จจริงตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแล้ว พยานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้างต้นเป็นพี่และญาติมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างมาก คำเบิกความน่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีน้ำหนักน้อย

พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในปัญหานี้ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ดังวินิจฉัยได้  โดยไม่จำต้องวินิจฉัยเรื่องมูลค่าหุ้นที่ให้และให้ตรงกับวันแต่งงานของจำเลย ที่ 1 หรือไม่อีกต่อไป

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ให้หุ้นตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 โดยการแบ่งให้ มิได้เป็นการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ตามมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากรตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้าง

@ ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1 รับแบ่งให้หุ้นตามฟ้องจากจำเลยที่ 2 ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ จะถือว่า เป็นเงินได้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา ตามมาตรา 42(10) ข้างต้นหรือไม่

เห็นว่า ประมวลรัษฎากรมิได้ให้คำนิยามของคำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” ไว้ จึงต้องพิจารณาความหมายของถ้อยคำดังกล่าวตามพจนานุกรม ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 นิยามความหมายไว้ดังนี้

อุปการะ หมายความว่า ช่วยเหลือเกื้อกูล อุดหนุน
หน้าที่ หมายความว่า กิจที่จะต้องทำด้วยความรับผิดชอบ
ธรรมจรรยา หมายความว่า การประพฤติถูกธรรม

ดังนั้นคำว่า “อุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา” จึงมีความหมายตามตัวอักษรว่า การช่วยเหลือเกื้อกูล อุดหนุน ที่พึงกระทำโดยธรรม อันเป็นบทบัญญัติที่ใช้ถ้อยคำที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว ไม่จำต้องพิเคราะห์หาเจตนารมณ์จากที่ใดอีก ทั้งเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้นภาระภาษีอันเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคน จึงต้องตีความตามถ้อยคำโดยเคร่งครัด

แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะมิได้มีความหมายที่จะจำกัดความสัมพันธ์ ระหว่าง”ผู้ให้”กับ”ผู้รับการให้”และจำนวนที่ให้ก็ตาม แต่ตามถ้อยคำแล้ว ผู้รับการให้จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในสภาพหรือสถานะที่ควรได้รับการช่วยเหลือ เกื้อกูล อุดหนุนอยู่ด้วย ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ผู้ให้จึงมีหน้าที่โดยธรรมจรรยาที่จะอุปการะ

แต่จำเลยที่ 1 นอกจากจะมิได้นำสืบให้เห็นว่าตนอยู่ในสภาพหรือสถานะเช่นว่าแล้ว ยังปรากฏจากบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่าในขณะรับการให้นั้นจำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ ฯ และเป็นกรรมการในบริษัทกลุ่มชิน ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่มีกิจการและฐานะมั่นคง

นอกจากนี้ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2540 ของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 แจ้งว่า มีเงินได้พึงประเมินก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ในปี พ.ศ.2540 จำนวน23,554,503.53 บาท ซึ่งถือได้ว่า เป็นจำนวนที่สูง อีกทั้งปรากฏจากบันทึกคำให้การที่จำเลยที่ 1 ให้การต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.และคำให้การที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีสำนักตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร ว่า ในปีเดียวกันนั้น ก่อนได้รับให้หุ้นคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีหลักทรัพย์เฉพาะที่เป็นหุ้นจำนวนมาก ที่สำคัญๆ คือหุ้นใน บริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ ฯ  2,347,395 หุ้น หุ้นในบริษัท เอส ซี แอสเสท จำกัด 23,000,000 หุ้น และในบริษัท ชินวัตร อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง จำกัด 6,000,001 หุ้น แม้ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ที่จำเลย  1 ได้รับหุ้นตามฟ้อง

หลังจากนั้นต่อมา จำเลยที่ 1 ยังมีหุ้นในบริษัทต่างๆ เพิ่มอีกจำนวนมาก สถานภาพดังกล่าววิญญูชนย่อมเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ที่อยู่ในสภาพหรือสถานะที่ต้องการความช่วยเหลือเกื้อกูล อุดหนุน ตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้นแต่อย่างใด แม้ฐานะจะยังไม่ทัดเทียมกับพี่น้องก็ตาม จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ธรรมจรรยาที่จะต้องอุปการะจำเลยที่ 1

ดังนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะมีทรัพย์สินมากเพียงใดและให้หุ้นคดีนี้เพียงต้องการให้จำเลยที่ 1 มีฐานะทัดเทียมพี่น้องหรือจะให้ด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่า เป็นการให้ที่เป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา

คำพิพากษาศาลฎีกาและแนววินิจฉัยของกรมสรรพากรที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบมานั้น ผู้รับการให้ล้วนอยู่ในฐานะหรือสภาพหรือสถานะที่ควรได้รับการช่วยเหลือ เกื้อกูล อุดหนุนทั้งสิ้น เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้

โดยสรุป คดีฟังไม่ได้ว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับการให้จากจำเลยที่ 2 เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(10) แห่งประมวลรัษฎากร

@เมื่อคดีรับฟังได้ว่า มูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้รับการให้จากจำเลยที่ 2 เป็นเงินได้พึงประเมินที่จำเลยที่ 1 จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษาเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2540 คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรนั้นหรือไม่

เห็นว่า ตามรูปคดีแล้ว การโอนหุ้นตามฟ้องมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งค่าภาษีอากรแทนจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ซึ่งปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ภาษีจากมูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 1 ได้จากการรับให้มีจำนวนมากถึง 273,060,000 บาท

การที่จำเลยที่ 2 มิได้ดำเนินการโอนให้หุ้นตามฟ้องแก่จำเลยที่ 1 ตามเจตนาที่แท้จริง ทั้งๆ ที่การโอนให้หุ้นในตลาดหลักทรัพย์สามารถจะทำได้ โดยทั้งผู้ให้และผู้รับการให้ ไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างใด กล่าวคือไม่ต้องเสียทั้งค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทที่ดำเนิน การ ดังที่นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ภัทร ผู้ดำเนินการโอนหุ้นได้ให้การยืนยันชัดเจนต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนฯและชั้น พิจารณามิได้เบิกความปฏิเสธเอกสารฉบับนี้

แต่จำเลยที่ 2 กลับกระทำโดยความเท็จเป็นการซื้อขายลวงในตลาดหลักทรัพย์อำพรางการให้ที่เป็น เจตนาที่แท้จริงนั้นและยอมเสียค่านายหน้ากับภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งฝ่ายผู้ซื้อ และผู้ขายรวม 7,380,000 บาท ดังข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติ

@ศาลระบุกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา-จงใจหลีกเลี่ยงภาษี

ศาลพิจารณาพฤติการณ์ดังกล่าว และเปรียบเทียบจำนวนเงินค่านายหน้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่จำเลยที่ 2 เสียไปกับจำนวนเงินค่าภาษีอาการจากการรับให้ที่ถูกอำพรางไว้ดังกล่าวแล้ว กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยที่ 2 ว่า จงใจหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรเงินได้จากการรับให้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำนวนมากและจำเลยที่ 2 ต้องเป็นผู้ชำระแทน จึงกระทำโดยวิธีมิให้จำเลยที่ 1 มีเงินได้พึงประเมินจากการรับให้หุ้นตามฟ้อง ด้วยการทำเป็นการซื้อขายอำพรางการให้นั้น ดังที่ปรากฏตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2540 ของจำเลยที่ 1

สำหรับจำเลยที่ 3 ผู้ดำเนินการโอนหุ้นตามฟ้อง เป็นเลขานุการส่วนตัวของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลแนะนำและดำเนินการเกี่ยวกับหุ้นของจำเลยที่ 2 กับบุตรซึ่งมีจำนวนมากมานานประมาณ 10 ปีก่อนเกิดเหตุ ทั้งมี สามีเป็นพนักงานในบริษัท หลักทรัพย์ภัทร ที่ทำการโอนหุ้นคดีนี้ด้วย ดังนี้จำเลยที่ 3 ย่อมต้องมีความรู้ในเรื่องหุ้นและการโอนหุ้นเป็นอย่างดี อีกทั้งโดยหน้าที่ย่อมทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของจำเลยที่ 2

ประกอบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เบิกความรับว่า ก่อนโอนหุ้นตามฟ้องได้ปรึกษาและให้คำแนะนำกันก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 รู้กันกับจำเลยที่ 2 และร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรดังวินิจฉัย

ส่วนจำเลยที่ 1 ได้ทราบมาแต่แรกแล้วว่า จำเลยที่ 2 จะให้หุ้นตามฟ้องตามบันทึกคำให้การ ดังวินิจฉัย แต่เมื่อจำเลยที่ 3 มาขอเลขที่บัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ แจ้งว่า จะไปทำการซื้อขายหุ้นที่จะให้ดังกล่าว ซึ่งไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 2 เคยบอก แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้ไปโดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ ได้ทักท้วงหรือสอบถามถึงเหตุผลในเรื่องนี้ รวมทั้งเรื่องการชำระค่าหุ้นจำนวนมากด้วย ผิดวิสัยผู้กระทำโดยสุจริต และต่อมาเมื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2540 จำเลยที่ 1 ก็มิได้แสดงรายการเงินได้ส่วนนี้แต่อย่างใด

พิเคราะห์ พฤติการณ์ดังกล่าวประกอบความสัมพันธ์ระหว่าง จำเลยที่ 1 กับที่ 2 ตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ร่วมก่อตั้งและร่วมบริหารกิจการต่างๆ ของจำเลยที่ 2 กับพันตำรวจโททักษิณมาโดยตลอดและขณะที่รับการให้หุ้นคดีนี้ จำเลยที่ 1 มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯนั้นเองด้วยแล้ว

ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมรู้เห็นและร่วมกระทำการดังกล่าวข้างต้นกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกัน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยื่นแบบ ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินได้พึงประเมินจากรับให้หุ้นนั้นเป็นผลโดยตรงจากการร่วมกันกระทำโดย ความเท็จของจำเลยทั้งสามดังวินิจฉัย ทั้งตามกฎหมายการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก็เป็นเรื่องเฉพาะ ตัวของจำเลยที่ 1 ผู้มีเงินได้เท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมไม่อาจเข้าไปเกี่ยวข้องได้อยู่แล้ว การที่มิได้เกี่ยวข้องกับการยื่นแบบฯ จึงมิใช่ข้อแก้ตัว

ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ยื่นแบบฯ โดยมิได้แสดงรายการหุ้นที่ได้รับมา เพราะเข้าใจว่า เป็นของขวัญแต่งงานได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีก็ดี

จำเลยที่ 2 นำสืบว่าใช้วิธีซื้อขายและดำเนินการซื้อขายตามคำแนะนำของจำเลยที่ 3 ก็ดี และจำเลยที่ 3 นำสืบว่า เข้าใจว่า เมื่อหุ้นอยู่ในชื่อของบุคคลอื่นในตลาดหลักทรัพย์ การโอนให้ต้องทำในรูปการซื้อขายเท่านั้นก็ดี ล้วนเป็นข้ออ้างที่ขัดต่อเหตุผลและพฤติกรรมของจำเลยทั้งสามดังที่วินิจฉัย จึงฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า หากจำเลยทั้งสามวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอากรจริง ก็สามารถจะกระทำได้โดยวิธีที่ง่ายกว่า เช่น โอนเงินเข้าบัญชีของจำเลยที่ 1 แล้วให้จำเลยที่ 1 ออกเช็คชำระค่าหุ้นตามฟ้องโดยตรงนั้น

เห็นว่า วิธีการดังกล่าวก็คงจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการหลีกเลี่ยงภาษีอากร แต่การที่จำเลยทั้งสามมิได้เลือกใช้วิธีดังกล่าวก็มิได้เป็นพิรุธถึงกับทำ ให้ไม่น่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามฟ้อง ซึ่งตามรูปคดี จำเลยทั้งสามคงจะกระทำไปโดยไม่คาดคิดว่า สามีของจำเลยที่ 2 จะมีปัญหาและถูกตรวจสอบทรัพย์สินในเวลาต่อมา โดยเฉพาะในเรื่องการถือครองหุ้นแล้วถูกตรวจสอบต่อเนื่องมาถึงการโอนหุ้นตาม ฟ้อง

ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 เคยโอนหุ้นจากนางสาวดวงตาไปยังนางสาวบุญชู เหรียญประดับ ซึ่งเป็นผู้ถือครองหุ้นแทนจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน และด้วยวิธีซื้อขายเช่นเดียวกันกับคดีนี้ แต่คณะกรรมการตรวจสอบก็มิได้หยิบยกมาดำเนินคดีนั้น

เห็นว่า เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการตรวจสอบที่จะตรวจสอบกรณีใด แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามยกขึ้นอ้างข้างต้นไม่ปรากฏว่า การซื้อขายระหว่างผู้ถือครองหุ้นแทนจำเลยที่ 2 นั้นเป็นการกระทำโดยความเท็จหรืออุบายอำพรางการให้ระหว่างกันเพื่อหลีก เลี่ยงการเสียภาษีอากรดังเช่นคดีนี้หรือไม่ จึงไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกันได้

@ ที่นำสืบว่าคณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนั้นคณะกรรมการตรวจสอบจึงต้องเป็นบุคคลที่เป็นกลางเช่นเดียวกับคณะ กรรมการ ป.ป.ช. แต่กรรมการตรวจสอบบางคนไม่มีความเป็นกลาง เคยมีพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อพันตำรวจโททักษิณมาก่อนนั้น

เห็นว่า จากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามประกาศ  คปค. ฉบับที่ 30 ควรที่คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องเป็นผู้ที่มีความเป็นกลาง และพฤติกรรมของคณะกรรมการตรวจสอบบางคนตามเอกสารและภาพถ่ายพยานจำเลยทั้งสาม ก็มีเหตุผลให้เข้าใจไปได้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบบางคนเหล่านั้นอาจจะไม่เป็นกลาง แต่เนื่องจากไมมีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดคุณสมบัติคณะกรรมการตรวจสอบไว้เช่น คุณสมบัติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งการทำหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบตามที่ปรากฏในสำนวนก็ไม่ได้ความว่าคณะ กรรมการตรวจสอบคนใดกระทำอย่างใดที่ส่อไปในทางที่ไม่เป็นกลางหรือกลั่นแกล้ง ปรักปรำจำเลยทั้งสาม

คณะกรรมการตรวจสอบมีจำนวนมากถึง 12 คน ทุกคนล้วนมี คุณวุฒิ วัยวุฒิ ประสบการณ์และตำแหน่งหน้าที่การงานสูง ไม่น่าที่คณะกรรมการตรวจสอบบางคนจะสามารถโน้มน้าวครอบงำให้คณะกรรมการตรวจ สอบทั้งหมดมาร่วมกันกระทำการใดที่ไม่เป็นกลางในการตรวจสอบคดีนี้ เพราะจะกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงาน ความเชื่อถือที่บุคคลเหล่านั้นมีอยู่ รวมทั้งเสี่ยงต่อการที่จะมีความผิดตามกฎหมายได้

ที่สำคัญพยานหลักฐานการกระทำผิดตามฟ้องที่คณะกรรมการตรวจสอบนำมาตรวจสอบ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและมีอยู่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจ สอบ ทั้งเป็นพยานหลักฐานที่จัดทำโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ศาลรัฐธรรมนูญ และกรมสรรพากร เกือบทั้งหมด ซึ่งจำเลยทั้งสามก็มิได้ปฏิเสธความมีอยู่ของพยานหลักฐานเหล่านั้น

คณะกรรมการตรวจสอบเพียงรวบรวมพยานหลักฐานดังกล่าวมาตรวจสอบแล้ว ทำความเห็นส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาอีกชั้นหนึ่งเท่านั้น คดีฟังไม่ได้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบทำหน้าที่ในคดีนี้โดยไม่เป็นกลาง

@ที่จำเลยทั้งสามนำสืบว่า การที่คณะกรรมการตรวจสอบมีคำสั่งให้กรมสรรพากรประเมินภาษีจำเลยที่ 1 ใหม่ตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นการมุ่งที่จะเรียกเก็บภาษีจากจำเลยที่ 1 ให้ได้ โดยหาได้คำนึงถึงความถูกต้อง ชอบธรรมตามประมวลรัษฎากรไม่ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนการประเมินภาา จำเลยที่ 1 ดังกล่าวและคดีถึงที่สุด จำเลยที่ 1 จึงไม่มีภาระภาษีแล้วนั้น

เห็นว่า เอกสารพยานจำเลยดังกล่าวเป็นเพียงภาพถ่ายจากเว็บไซต์ อ้างข่าวจากแหล่งข่าวกรมสรรพากร ทั้งยังเป็นประเด็นเรื่องขาดอายุความประเมินภาษี ที่เจ้าพนักงานประเมินกระทำในภายหลังเหตุการณ์ตามฟ้อง มิใช่เรื่องการกระทำของคณะกรรมการตรวจสอบที่เกี่ยวกับภาระภาษีของจำเลยที่ 1 ที่ยังมีอยู่ ขณะมีการกระทำผิดตามฟ้อง

@ที่นำสืบว่า การที่คณะกรรมการตรวจสอบอายัดเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปซึ่งรวมหุ้นตามฟ้องด้วย ว่า เป็นของพันตำรวจโททักษิณ แสดงถึงความไม่สุจริตของคณะกรรมการตรวจสอบในการดำเนินคดี เนื่องจากหุ้นตามฟ้องจะเป็นของจำเลยที่ 1 และของพันตำรวจโททักษิณในเวลาเดียวกันไม่ได้ ข้อกล่าวหาคดีนี้จึงไม่อาจรับฟังเป็นโทษแก่จำเลยทั้งสามได้นั้น

เห็นว่า ในชั้นนี้ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยุติ แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบมาในคดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยืนยันรับข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของหุ้นตามฟ้องและมีเจตนาจะให้หุ้นนั้นแก่จำเลยที่ 1 แต่ได้ทำเป็นซื้อขายแทนและชำระค่าหุ้นให้ด้วยเงินของจำเลยที่ 2 เอง

ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ยืนยันสอดคล้องต่อเนื่องกันว่า รับให้หุ้นตามฟ้องจากจำเลยที่ 2 ด้วยเจตนาที่จะถือครองเป็นของตนเอง ทั้งได้ไปแจ้งการถือครองหุ้นกับขอออกใบหลักทรัพย์มาเก็บรักษาไว้เป็นหลักฐาน ด้วย

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความเช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงมีภาระภาษีสำหรับมูลค่าหุ้นที่ได้รับการให้มานั้น แต่จำเลยทั้งสามกลับทำการซื้อขายหุ้นอันเป็นความเท็จแทนเพื่ออำพรางการให้ จึงเป็นการร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร การกล่าวหาและดำเนินคดีนี้ของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นไปตามข้อเท็จจริงดัง กล่าวจึงชอบแล้ว มิได้ไม่สุจริตดังที่จำเลยทั้งสามอ้างสำหรับข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามนอกจาก นี้ ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัย

โดยสรุป พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักมั่นคง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามไม่สามารถหักล้างได้ ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามฟ้อง

@ ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือไม่

เห็นว่า จากข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าวข้างต้นว่า ภายหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำวินิจฉัยว่าพันตำรวจโททักษิณ จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอัน เป็นเท็จแล้ว กรมสรรพากร ได้มีหนังสือเชิญจำเลยที่ 1 แจ้งว่า ประสงค์จะขอทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคดีนี้ ให้จำเลยที่ 1 ไปพบที่สำนักตรวจสอบภาษี กรมสรรพากร และนำหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อหุ้นการชำระเงินค่าหุ้นและอื่นๆ ไปประกอบการพิจารณาด้วย

จำเลยที่ 1 จึงไปพบและให้การต่อ นาย ช. นันท์ เพ็ชญไพศิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีและนางเบญจา หลุยเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 ตามบันทึกคำให้การ

หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ไปพบและให้การต่อนางเบญจา หลุยเจริญ ตามบันทึกคำให้การนั้น เป็นกรณีกรมสรรพากรเห็นว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรเชื่อว่า การซื้อขายหุ้นตามฟ้องหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจึงหยิบยกการเสียภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ขึ้นมาพิจารณาจรวจสอบอีกครั้งหนึ่งขณะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความเรียกเอาค่า ภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/31 จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่และชอบด้วยกฎหมาย

จากข้อความในหนังสือเชิญดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมทราบดีว่าเป็นการเรียกตรวจสอบการเสียภาษีอากรจึงไปพบและให้การต่อเจ้า หน้าที่ตรวจสอบภาษี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามกฎหมาย ปรากฏถ้อยคำตามบันทึกคำให้การ มีสาระสำคัญทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ต้องการให้จำเลยที่ 1 มีครอบครัวและมีฐานะที่มั่นคงทัดเทียมกับพี่น้อง จึงสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 แต่งงานกับจะให้หุ้นแก่จำเลยที่ 1 เป็นของขวัญวันแต่งงาน

แต่เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่พันตำรวจโททักษิณเข้าทำงานทางการเมือง จึงมาให้ภายหลังเมื่อบุตรของจำเลยที่ 1 จะมีอายุครบ 1 ปี เป็นการให้เป็นของขวัญแก่ครอบครัวและบุตรของจำเลยที่ 1 ขณะนั้นจำเลยที่ 2 กับครอบครัวมีทรัพย์สินมากกว่า 20,000,000,000 บาท (2หมื่นล้านบาท)จึงอยู่ในฐานะและวิสัยที่จะให้แก่บุคคลในครอบครัวได้ ทำนองว่า เป็นการให้ที่เป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งหากคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ข้างต้นเป็นความจริง มูลค่าหุ้นที่ได้รับจากการให้จะเป็นเงินได้ประเภทที่จำเลยที่ 1 ผู้รับให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(10)

แต่ปรากฏว่าคำให้การนั้นไม่เป็นความจริงดังที่วินิจฉัยมาข้างต้น แม้คำให้การดังกล่าวจะสอดคล้องตรงกันกับคำให้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็เป็นการร่วมกันยกข้อที่ไม่เป็นความจริงขึ้นมาอ้างเพื่อให้เข้าข้อยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีอากรตามที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีกำลังตรวจสอบ เป็นเหตุให้กรมสรรพากรหลงเชื่อไม่เรียกเก็บภาษีอากรจากจำเลยที่ 1 และให้ยุติเรื่อง

@ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า กรณีข้างต้นเป็นการประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19 อีกกรณีหนึ่ง จึงต้องมีการออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 ผู้ยื่นรายการมาไต่สวนก่อน แต่กรณีนี้ไม่ได้ออกหมายเรียก เป็นเพียงออกหนังสือเชิญเท่านั้น ทำนองว่าการประเมินของเข้าหน้าตรวจสอบไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากคำให้การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้ไว้จะไม่เป็นความจริง ก็ไม่เป็นความผิดนั้น

เห็นว่า แม้หากจะเป็นการประเมินตามมาตรา 19 ดังที่อ้าง แต่บทมาตราดังกล่าวมีเจตนารมณ์ว่า จะต้องมีการไต่สวนผู้ยื่นรายการก่อนที่จะทำการประเมินเท่านั้น ส่วนการออกหมายเรียกเป็นเพียงวิธีการที่จะได้ตัวผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน รวมทั้งหมายเรียกพยานกับสั่งให้ผู้ยื่นรายการหรือพยานนั้นนำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงได้ จึงได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียกในกรณีต่างๆ ไว้ในมาตรา 19

สำหรับคดีนี้ สำนักตรวจสอบภาษีได้มีหนังสือเชิญจำเลยที่ 1 ไปพบพร้อมนำหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไปพบเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีตามหนังสือนั้นโดยมิได้โต้แย้งว่าไม่ได้ออก หมายเรียก ทั้งยังได้ให้การในประเด็นการซื้อขายหุ้นตามฟ้องตามที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ภาษีสอบถาม กรณีถือได้ว่า มีการไต่สวนตามมาตรา 19 ข้างต้นแล้ว แม้จะไม่มีการออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 ก็ตาม การสอบคำให้การจำเลยที่ 1 และที่ 2 ของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีจึงไม่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด

พยานหลักฐานโจทก์ในปัญหานี้มั่นคง พยานหลักฐานจำเลยทั้งสามไม่สามารถหักล้างได้เช่นเดียวกัน ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจแจ้งข้อความเท็จหรือให้ถ้อยคำเท็จหรือตอบคำถาม ด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามฟ้อง

จำเลยทั้งสามเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะกระทำผิดฐานให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการ เสียภาษี จำเลยที่ 2 เป็นภริยาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับผู้บริหารประเทศ จำเลยทั้งสามจึงนอกจากมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตนเยี่ยงพลเมืองดีทั่วๆ ไปแล้ว ยังควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีสมฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย

แต่จำเลยทั้งสามกลับร่วมกันกระทำการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อสังคมและระบบภาษี ทั้งๆ ที่จำนวนค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ชำระแทนในที่สุดนั้นเทียบไม่ได้กับจำนวนทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 และครอบครัวมีอยู่ในขณะนั้น การที่จำเลยที่ 1 จะชำระภาษีอากรไปตามกฎหมายเช่นพลเมืองทุกคน จึงมิได้มีผลกระทบต่อฐานะของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามจึงร้ายแรง

พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอายา มาตรา 91 ฐานร่วมกันโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี

ฐานโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คน


ศาลอุทธรณ์ชี้ชะตาคุก3ปี ? “พจมาน – บรรณพจน์” 24ส.ค. คดีเลี่ยงภาษีโอนหุ้น738ล้าน

จาก ประสงค์ดอทคอม

หลังจากเวลาผ่านไปกว่า 3 ปีที่ศาลอาญาศาลอาญามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 ให้จำคุกนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ อดีตประธานคณะกรรมการบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่ 1 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร อดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ 2 คนละ 3 ปี และจำคุก นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการคุณหญิงพจมาน ที่ 3 จำนวน 2 ปี ในข้อหา ร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย และร่วมกันแจ้งข้อความเท็จให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ โดยจงใจเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร 546 ล้านบาทจากการโอนหุ้นบริษัทชินวัตร คอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นชินคอร์ป) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท และจำเลย ได้อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์นั้น

ล่าสุด นายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ เวลา 09.30 น. ศาลอาญาได้นัดจำเลยทั้ง 3 ประกอบไปด้วยนายบรรณพจน์ คุณหญิงพจมาน และนางกาญจนาภา ฟังคำพิพากษา ซึ่งจำเลยทั้ง 3 จะต้องเดินทางมารับฟังคำพิพากษาด้วยตัวเอง ซึ่งในคดีดังกล่าวทีมทนายความมีความพยายามอย่างเต็มที่ ส่วนคำพิพากษาจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับวินิจฉัยของศาล (มติชนออนไลน์ วันที่ 18 สิงหาคม 2554)

ในการอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าว ย่อมได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างกว้างขวางเพราะนอกจากตัวจำเลยซึ่งเป็น ถึงอดีตภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณและพี่ชายบุญธรรมจะเป็นบุคคลสำคัญแล้ว

ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีกระแสข่าวว่า คุณหญิงพจมาน แม้จะหย่าขาดจากพ.ต.ท.ทักษิณ(ในทางกฎหมาย)แล้ว แต่ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยด้วย

ดังนั้นผลไม่ว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จะออกมาเช่นไร ย่อมถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นในทางการเมืองอย่างแน่นอน

กรณีแรก ถ้าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง ต้องจับตาดูว่า พนักงายอัยการจะยื่นฎีกาต่อศาลฎีกาหรือไม่ซึ่งเรื่องนี้ ซึ่งถ้าเป็นไปตามขั้นตอนปกติพนักงานอัยการน่าจะต้องหารือกับคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ในฐานะที่รับไม้ต่อจากคณะ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)ที่สิ้นสภาพไป แล้ว

ถ้าพนักงานอัยการไม่ฎีกาย่อมต้องมีเสียงวิพากษ์อย่างกว้างขวางว่า มีอำนาจทางการเมืองเข้าแทรกแซงเช่นเดียวกับกรณีที่กรมสรรพากรไม่อุทธรณ์คดี การเก็บภาษีโอนหุ้นชินคอร์ จากนายพานทองแท้ และน.ส.พิณทองทา ชินวัตร มูลค่ากว่า 11,000ล้านบาทต่อศาลฎีกาหลังจากที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้นายพานทองแท้ ชนะคดี

กรณีที่สอง ถ้าศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุกคุณหญิงพจมานและพวก อาจจะมีคนโวยวายว่า เป็นการกลั่นแกล้งหรือทำลายครอบครัวชินวัตรและพ.ต.ท.ทักษิณที่กำลังมีอำนาจ ในทางการเมืองอยู่ในขณะนี้

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นโดยโทษจำคุกของคุณหญิงพจมานไม่เกิน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ห้ามฎีกาต่อศาลฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง (มาตรา 218)เว้นแต่

1.ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาคดีดังกล่าว หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์เห็นว่า ข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา

หรือ 2. อธิบดีกรมอัยการ(อัยการสูงสุด)ลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย (มาตรา 221)

จากกรณีดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงมีความสำคัญมากโดยเฉพาะถ้ามีคำพิพากษายืน จะทำให้การฎีกาต่อศาลฎีกาทำได้ไม่ง่ายนัก นอกจากนั้น แม้จะยื่นฎีกาได้ แต่ถ้าศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกานั้นไม่มีสาระสำคัญหรือจะมีผลในการเปลี่ยนแปลงผลคดีก็อาจไม่รับฎีกาก็ ได้

สำหรับรายละเอียดของคดีดังกล่าว ตามคำฟ้องของอัยการแบ่งออกเป็น 2 ข้อหา

ข้อหาที่ 1 เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 จำเลยทั้งสามได้บังอาจร่วมกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรโดยใช้อุบายว่า จำเลยที่ 2(คุณหญิงพจมาน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ ฯหรือบริษัท ชิน คอร์ป สั่งขายหุ้นบริษัทดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อของนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี หรือนางดวงตา ประมูลเรือง เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียนถือการครอบครองแทนรวมมูลค่าหุ้น 738,000,000 บาท ให้กับจำเลยที่ 1 (นายบรรณพจน์)ซึ่งเป็นญาติของจำเลยที่ 2

โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงเจตนาลวงว่าได้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่าน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ที่ได้จากการขายหลักทรัพย์ใน ตลาดหลักทรัพย์มารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อประเมินเสียภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา

ความจริงแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ได้ขายหุ้นจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แต่เป็นการโอนหุ้นให้กับจำเลยที่ 1  เป็นการอำพรางการให้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ผู้รับการให้จะต้องนำมูลค่าหลักทรัพย์ ประมาณ 738,000,000 บาท มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี ประจำปี 2540 เป็นเงินจำนวน 273,060,000 บาท

ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปี 2540 โดยมิได้นำค่าหุ้นดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย หรือวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน เป็นเหตุให้รัฐเสียหายขายรายได้

ข้อหาที่ 2 ต่อมาวันที่ 18 พ.ค. 2544 ถึงวันที่ 30 ส.ค. 2544 จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรู้อยู่แล้ว จงใจได้บังอาจร่วมกันแจ้งข้อความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีอากร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน

โดยจำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำและตอบคำถามว่า การซื้อหุ้นเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 เป็นกรณีจำเลยที่ 2 ยกหุ้นให้ โดยโอนหุ้นให้บุคคลอื่นถือแทนในตลาดหลักทรัพย์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ่ายเงินซื้อ และให้ถ้อยคำเพิ่มเติมว่า เป็นพี่บุญธรรมของจำเลยที่ 2 ได้ช่วยเหลือกิจการของจำเลยที่ 2 จนมีความเจริญก้าวหน้า จำเลยที่ 2 ได้มอบของขวัญให้แก่ครอบครัวและบุตรชายของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้น จำนวน 4.5 ล้านหุ้นดังกล่าว โดยไม่มีค่าตอบแทนจึงเข้าใจโดยสุจริตว่า เป็นการให้โดยเสน่หา ตามธรรมเนียมประเพณีและธรรมจรรยาของสังคมไทย ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร

ส่วนจำเลยที่ 2 ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำมีสาระสำคัญว่าตนตั้งใจที่จะมอบหุ้นให้จำเลยที่ 1 จำนวนหนึ่งในวันแต่งงาน แต่มอบให้ไม่ทันเนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานในทางการเมือง เมื่อจัดการเรื่องบริหารงานเสร็จสิ้นจึงได้ยกหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้นเป็นของขวัญให้แก่ครอบครัวและบุตรชายจำเลยที่ 1 โดยหุ้นที่โอนให้เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งนางดวงตา วงศ์ภักดี เป็นผู้ถือหุ้นแทนและอยู่ในพอร์ทที่ทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว

จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่ให้ถ้อยคำ ตอบถ้อยคำนั้นเป็นเท็จ เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้พนักงานสรรพากรเชื่อว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจาก การให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งได้รับ การยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ความจริงแล้วเป็นการให้เพื่อตอบแทนที่จำเลยที่ 1 ทำงานให้ครอบครัวของจำเลยที่ 2 แต่ทำอุบายอำพรางว่าเป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเพื่อจะหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงหรือ พยายามหลีกเลี่ยงภาษีอากรตามลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ และโดยการฉ้อโกงโดยอุบายของจำเลยทั้งสอง เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายต้องขาดรายได้อันควรได้เป็นเงินภาษีอากร จำนวน 273,060,000 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 273,060,000 บาท รวมเป็นเงิน 546,120,000 บาท

ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ตรวจสอบมูลคดีแล้ว จึงแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง และคณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อกล่าวหาให้แก่จำเลยทั้ง 3 ทราบโดยชอบแล้ว จำเลยทั้ง 3 ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาโดยให้การปฏิเสธ คตส.จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล

Tags : เปิดคำพิพากษา ยกฟ้อง พจมาน

view