สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รมว.คลังเขียนบทความแจงประเด็น กองทุนมั่งคั่ง เชื่อช่วยแก้ปัญหาแบงค์ชาติขาดทุน 4 แสนล้านบาท

รมว.คลังเขียนบทความแจงประเด็น "กองทุนมั่งคั่ง" เชื่อช่วยแก้ปัญหาแบงค์ชาติขาดทุน 4 แสนล้านบาท

จาก ประชาชาติธุรกิจ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ได้เขียนบทความในลักษณะถาม-ตอบชื่อ "ตอบคำถามบางเรื่องเกี่ยวกับกองทุนมั่งคั่งแห่งชาติ" ในหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้


1  การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติจะมีความเสี่ยงหรือไม่


ต้องยอมรับว่าการลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยงทั้งนั้น เช่นสมมุติให้กู้แก่โครงการรถไฟความเร็วสูงในเอเชีย ลักษณะความเสี่ยงก็อาจเกิดจากจำนวนผู้โดยสารมีน้อยกว่าที่คาดไว้ แต่ก็น่าจะเป็นความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เนื่องจากเอเชียเป็นประเทศกำลังพัฒนา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่สูง ดังนั้น โครงการใดที่สนองความจำเป็นพื้นฐานถึงแม้หากจะบังเอิญมีปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็จะมีโอกาสฟื้นได้แน่นอน


แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการที่ ธปท. นำเงินทุนสำรองไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและยุโรปดังที่ปฏิบัติอยู่ขณะ นี้ไม่มีความเสี่ยงนะครับ เพราะที่แท้จริงมีความเสี่ยงทั้งในด้านราคาที่ขึ้นๆลงๆ และในด้านค่าเงินต่างประเทศที่อ่อนตัวเพราะมีการพิมพ์เงินออกมามากเกินไป


ทั้งนี้ ท่านทราบหรือไม่ว่าปี 2553 ธปท. มีผลขาดทุนจากดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนสูงถึง 117,473 ล้านบาท และยังมีขาดทุนจากการตีราคาหลักทรัพย์อีก 260,211 ล้านบาท จำนวนเงินที่สูงมหาศาลเช่นนี้คือปัญหาที่ควรจะต้องแก้ไขครับ


2  การนำเงินทุนสำรองไปลงทุนแบบกองทุนมั่งคั่งของชาติเป็นการแทรกแซง ธปท. หรือไม่


ไม่เป็นการแทรกแซง ธปท. ครับ แต่เป็นการช่วยกันคิดเพื่อแก้ปัญหา เพราะ ณ สิ้นปี 2553 ธปท. มีส่วนของทุนติดลบเป็นจำนวนเงินมหาศาล สูงถึง ติดลบ 431,829 ล้านบาท ถ้าเป็นธุรกิจเอกชนก็จะต้องปิดกิจการไปแล้ว นี่ไม่ใช่สี่แสนบาทนะครับ แต่เป็นสี่แสนล้านบาท


ถึงแม้ ธปท. ไม่ได้ขอให้รัฐบาลช่วยตั้งงบประมาณมาช่วยแก้ไขขาดทุนของ ธปท. แต่ทรัพย์สินของ ธปท. ก็เป็นทรัพย์สินของชาติ ซึ่งควรมีการบริหารจัดการให้ดีที่สุด นอกจากนี้ การที่ ธปท. ขาดทุนจำนวนมหาศาลเช่นนี้ ก็ทำให้ ธปท. ไม่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูซึ่งมีอยู่กว่าหนึ่งล้านล้านบาท ได้ ทำให้รัฐบาลมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อกองทุนฟื้นฟูแต่ละปี 50-60,000 ล้านบาท และขณะนี้ ธปท. ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยไปอยู่ในระดับสูง ทำให้ภาระดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายให้แก่กองทุนฟื้นฟูต้องสูงขึ้นไปด้วยทุก วัน จึงเป็นภาระต่อนโยบายทางการคลังอย่างมากครับ


3  จำนวนที่จะกันไปเป็นกองทุนมั่งคั่งของชาติควรจะมาจากบัญชีใดใน ธปท.


ผมได้ให้ ธปท. ไปศึกษา โดยในหลักการ จะไม่แตะต้องทองคำและเงินบริจาคของหลวงตา และจะไม่แตะต้องจำนวนที่ต้องใช้หนุนหลังการออกธนบัตร


4  ธปท. จำเป็นต้องกันทุนสำรองสภาพคล่องเอาไว้เท่ากับเงินที่ต่างชาติได้นำมาซื้อ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์และพันธบัตรหรือไม่ เพื่อรองรับในกรณีที่ต่างชาติอาจจะขายและนำเงินกลับออกไป


ไม่จำเป็นครับ ต่างชาติที่หากจะรุมกันขายหุ้น ก็จะทำให้ราคาหุ้นลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง ก็จะทำให้ต่างชาติชะลอการขายกันเอง ส่วนคนไทยก็ไม่ต้องไปตื่นเต้นกับเขาและคอยรอรับซื้อเมื่อราคาลงต่ำก็พอ


นอกจากนี้ หากต่างชาติรุมกันนำเงินกลับออกไป เงินบาทก็จะอ่อนตัวลงอย่างรวดเร็ว ธปท. ก็ไม่ควรจะไปฝืนสภาพตลาด ธปท. ควรจะปล่อยให้ค่าเงินปรับลดลงตามธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินทุนสำรองเข้าไปรองรับเอาไว้ดังเช่นในปี 2540

 


 

"ประสาร" ตอบโจทย์ขุนคลัง ส่งสัญญาณ "ประสานนโยบาย"

จาก ประชาชาติธุรกิจ

 


การ หารือนัดแรก ขุนคลัง "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล" กับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่า การแบงก์ชาติ ได้ข้อสรุปออกมาด้วย การ "ฝากการบ้าน" ให้ผู้ว่าการ แบงก์ชาติไปทำ 4 ข้อ คือ 1.หา แนวทางการแก้ไขหนี้สินกองทุนเพื่อ การฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบัน การเงิน (FIDF) 2.หาแนวทางการกำกับดูแลการออกตั๋วแลกเงิน (บี/อี) 3.ศึกษาหาแนวทางการตั้งกองทุนความมั่งคั่ง (SWF) และ 4.พิจารณากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ทั้งหมดนี้กำลังถูกมองว่า "ขุนคลัง" กำลังเดินเกมรุก แต่ถ้าพิจารณาให้ดี จะเห็นว่า ท่าทีของ "ธีระชัย" เริ่ม อ่อนลง โดยนายธีระชัยกล่าวว่า "ถ้าแบงก์ชาติมองว่าขอบบนของเงินเฟ้อไม่เป็นอุปสรรค ยังเหมาะสมยืนตามเดิม ก็พร้อมจะรับฟัง"

แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ "น้ำเสียง" ของ "ประสาร" ก็มิได้ดูแข็งกร้าว เหมือนก่อนเช่นกัน นายประสารกล่าวว่า "ไม่คิดว่านี่เป็นการแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ ปกติแบงก์ชาติต้องให้ความร่วมมือกับกระทรวงการคลัง โดยมองที่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก"

"ประสาร" กล่าวถึงแนวทางหลัง รับโจทย์มาว่า เรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะต้องหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่กรอบเงินเฟ้อไม่ควรปรับบ่อย เพื่อให้ผู้ออมเงินวางแผนการลงทุนได้ และยังเป็นการ ให้เวลา กนง.ได้ติดตามสถานการณ์ ถ้าสร้างข้อจำกัดมากเกินไปจะทำให้เสียความยืดหยุ่น

ส่วนกรณีตั้ง SWF นายประสาร กล่าวว่า ตามขั้นตอนต้องไปหารือกับคณะกรรมการแบงก์ชาติ ในประเด็น ที่ว่าทุนสำรองมีมากเพียงพอที่จะแบ่งออก ไปตั้ง SWF ได้หรือไม่ ปกติทุน สำรอง ส่วนหนึ่งเกิดจากการไหลเข้าของ เงินทุนต่างชาติ และถ้ารวมหนี้ต่างประเทศเข้าไปจะมีมูลค่า 1 แสนล้านเหรียญ เท่ากับว่าเงินส่วนนี้มีเจ้าหนี้ทั้งหมดแล้ว

แต่ก็มีบางประเทศที่ทุนสำรองไม่มีเจ้าหนี้ เช่น นอร์เวย์ที่มีเงินสำรองมาจากการขายน้ำมัน

กรณี หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ "ประสาร" ชี้แจงว่า จริง ๆ หนี้ก้อนนี้ไม่ใช่หนี้ แบงก์ชาติ แต่เป็นหนี้ที่ตกลงกับคลังว่าให้แบงก์ชาติรับผิดชอบส่วนของเงินต้น ซึ่งตอนที่ทำข้อตกลงกันนั้น ตลาดการเงินระหว่างประเทศไม่มีปัญหา แบงก์ชาติสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกเกิดวิกฤตเงินสกุลสำคัญในทุนสำรอง อ่อนค่าลง ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อต้องตีมูลค่าสินทรัพย์ทุนสำรองกลับมาเป็นเงินบาท เกิดผลขาดทุน จึงไม่มีกำไรไปชำระหนี้ให้ได้

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาในส่วนนี้ จะดำเนินการหารือกับกับคณะกรรมการ ธปท. ที่มีหน้าที่การบริหารงบดุลแล้วค่อยเสนอกระทรวงการคลังเช่นกัน

"ส่วน ไหนที่เราทำได้ก็จะทำอย่าง เต็มที่ ก่อนหน้านี้เรามีหนังสือแจ้งไปที่ คลังว่า สามารถโอนทรัพย์สินของ กองทุนฟื้นฟูฯไปให้กระทรวงการคลังได้ โดย ไม่จำเป็นต้องรอให้กองทุนฟื้นฟูฯปิดตัว" นายประสารกล่าว

มีทีท่าว่ายอมอ่อนให้กันทั้ง 2 ฝ่ายแบบนี้ คงเริ่มมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าต่อไปนี้นโยบายการเงินและการคลังจะไม่วิ่งสวนทางกัน

 


 

กรณ์ อัด'ธีระชัย'เอาเวลาช่วยชาวบ้านดีกว่าไล่บี้ธปท.

 

'กรณ์'เขียนบทความอัด'กิตติรัตน์'สับสนบริหารงบประมาณ โต้'ธีระชัย'ลุยช่วยเหลือปชช.ดีกว่าเหตุเดือดร้อนน้ำท่วมอีกมากอย่ายุ่งทุนสำรองแบงก์ชาติ
นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เขียนบทความแสดงความคิดเห็นถึงแนวทางจัดทำงบประมาณ 2555 ของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า...

รัฐบาลกำลังเตรียมที่จะออกงบประมาณขาดดุลครั้งใหญ่พูดง่ายๆคือกำลังเตรียม "กู้" เงินมหาศาลทำให้อดคิดไม่ได้ว่า "เงินในอากาศ"ที่พูดถึงหรือการกล่าวหารัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า "เก่งแต่กู้" นั้นสุดท้ายก็คือเพียงแค่วลีทำลายล้างหาได้มีหลักการรองรับแต่อย่างใด

พอเริ่มรู้ว่าจะต้องกลืนคำพูดตัวเองรัฐบาลก็จะเริ่มพล่านและพาลการช่วยชดเชยน้ำท่วมให้ชาวบ้าน พอช้าก็หาว่างบหมดทั้งๆที่มีเหลืออยู่กว่าสามพันล้านบาท และวิธีการจะช่วยเพิ่มเติมก็มีอยู่แล้ว

ที่น่าเป็นห่วงก็คือที่รองนายกๆเศรษฐกิจ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ออกมาพูดทำนองว่า รัฐบาลต้องกู้เพิ่มเพราะต้องชดเชยการใช้เงินคงคลังโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี "ผมต้องขอบอกคุณกิตติรัตน์นะครับว่าการชดเชยเงินคงคลังเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องทำตามรัฐธรรมนูญ" ที่สำคัญคือแต่ละรัฐบาลเหลือเงินไว้ให้รัฐบาลใหม่เท่าไหร่

มีเงินคงคลังเหลือให้ใช้ 3 แสนล้าน

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังระบุต่อไปว่า...พวกผมเหลือเงินคงคลังไว้ให้ท่านถึง 301,044 ล้านบาทครับ ส่วนตอนผมมาเป็นรัฐบาลเหลือเงินไว้ให้ผมเพียง 52,878 ล้านบาททั้งๆที่ช่วงนั้นเพิ่งเริ่มปีงบประมาณ

ที่คุณกิตติรัตน์ไม่ได้พูดคือรัฐบาลกำหนดกรอบงบรายจ่าย 2555เพิ่มจากที่เราทำไว้อีกหนึ่งแสนหนึ่งหมื่นล้านบาทมากกว่าที่ต้องชดเชยเงินคงคลังกว่าเท่าตัวและที่คุณกิตติรัตน์ไม่ได้พูดถึงอีกก็คือรัฐบาลจะต้องเก็บภาษีจากพี่น้องประชาชนอีกเท่าไหร่

เพราะนอกจากจะเพิ่มรายจ่ายของรัฐบาลแล้วรัฐบาลก็ยังได้ลดภาษีให้กับนายทุนลงอีกปีละกว่าแสนล้านบาทและที่จะพยายามเอาเงินจากเงินสำรองที่แบงก์ชาติดูแลอยู่ก็ขอให้คิดให้ดีครับ ถ้าเงินเหลือจริงจะตั้งกองทุนก็ตั้งได้

แต่ลำพังเงินงบประมาณชาวบ้านเขาก็ไม่มั่นใจอยู่แล้วว่า(ทุกๆ)รัฐบาลโปร่งใสจริงเพราะฉะนั้นกับเงินสำรองนี้ขออย่าให้รัฐบาลเข้าไปยุ่งเลยครับตอนนี้ดูเหมือนรัฐบาลยังสับสนเรื่องการบริหารเงินงบประมาณ


"ผมคิดว่าประชาชนที่เดือดร้อน บ้านและที่นาที่จมน้ำอยู่รวมไปถึงราคาสินค้าที่แพงขึ้นอยู่ทุกวัน น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าถ้าคุณธีระชัยทำหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านแทนการตั้งกระทู้กล่าวหาแบงก์ชาติครับ"


รัฐมนตรีเฟซบุ๊ค:กับการขาดทุนของแบงก์ชาติ

Tags : รมว.คลัง เขียนบทความ แจงประเด็น กองทุนมั่งคั่ง เชื่อช่วย แก้ปัญหาแบงค์ชาติขาดทุน ล้านบาท

view