สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ใช้กองทุนหมู่บ้านสะสางหนี้ ระบบการเงินชุมชนเสี่ยง ล่มสลาย

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเงิน

หลัง ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง เรียกผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (สทบ.) เข้าหารือในนโยบายการเพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท 7.92 หมื่นกองทุน แถมขายพ่วงด้วยนโยบายให้กองทุนหมู่บ้านเป็นผู้แก้ปัญหา “หนี้นอกระบบ”

นโยบายเงินกำลังจะหมุนไปในชุมชนแบบนี้ เรียกเสียงซู้ดปากจากบรรดานักวิชาการและคนในระดับฐานรากไม่น้อย

นักวิชาการอาจมองว่านี่คือการแจกเงินลงไปที่ส่อแววว่าเข้าข่ายละลายแม่น้ำ และอาจทะเลาะกันในชุมชนได้

แต่คนในหมู่บ้านที่เป็นฐานรากอาจเห็นเป็นโอกาส

ไม่ว่าธีระชัยจะเข้าใจวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านหรือไม่ แต่ต้องตระหนักในเรื่องนี้ให้มากขึ้น

“ตรรกะ” ของความคิดอาจจะมองว่าน่าจะเป็นไปได้ แต่ความเป็นจริงในพื้นที่ไม่เป็นเช่นนั้น

“ถ้าให้กองทุนหมู่บ้านไปช่วยแก้หนี้นอกระบบทางอ้อม เช่น การส่งเสริมอาชีพให้คนมีงานทำมีรายได้ โดยการเข้าถึงแหล่งทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยถูก หรือ 1% ต่อปี เราทำได้แต่ถ้าจะให้เราไปแก้ปัญหาหนี้นอกระบบโดยตรง โดยการเข้าไปซื้อหนี้ โจทย์นี้เป็นไปไม่ได้” เอกศิษฐ์ ศรวิเศษฐนนท์ ประธานเครือข่ายกองหมู่บ้านและชุมชนเมือง จ.นนทบุรี แสดงความคิดเห็น

หากเป้าหมายที่แท้จริงของ ธีระชัย คือการคาดหวังให้กองทุนหมู่บ้านไปซื้อหนี้นอกระบบมาบริหารเอง แสดงว่า ธีระชัยกำลังตั้ง “โจทย์” ที่คำตอบก็คือการผลักดันให้กองทุนหมู่บ้านที่หลายแห่งได้ยกระดับขึ้นเป็น สถาบันการเงินในชุมชน เป็นแหล่งที่พึ่งของคนระดับล่างต้องเดิน “ลงเหว”

เดินลงเหวเพราะเมื่อพิจารณาจากเงินทุนหมุนเวียนกองทุนหมู่บ้านในปัจจุบัน พบว่า มีวงเงินร่วม 1.44 แสนล้านบาท และเงินเกือบทั้งหมดนำไปปล่อยกู้ให้สมาชิกในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และผ่อนรายเดือน

หากกองทุนหมู่บ้านต้อง “กันเงิน” ส่วนหนึ่งมาซื้อหนี้นอกระบบ แล้วสภาพคล่องกองทุนหมู่บ้านจะเป็นอย่างไร

เงินที่รัฐเพิ่มทุนให้กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท หรือร่วม 8 หมื่นล้านบาท ก็คงไม่เพียงพอกับจำนวนปริมาณหนี้นอกระบบที่มีอยู่หลายแสนล้านบาทของคนราก หญ้า

ขณะที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายแก้ปัญหาลูกหนี้นอกระบบ 4.12 แสนราย ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 1 แสนบาท โดยใช้กลไกของสถาบันการเงิน เช่น ธนาคารออมสิน แต่ก็เป็นเพียงการ “โยกหนี้” จากที่หนึ่งไปที่หนึ่งเท่านั้น

แต่ลูกหนี้ก็ยังเป็นหนี้เป็นสินเหมือนเดิม ซ้ำร้ายคนกลุ่มนี้ถูกตัดสิทธิในการกู้เงินจากธนาคารอีกด้วย ตัดหนทางลูกหนี้ที่จะเข้าถึง “แหล่งทุน” ในการประกอบอาชีพ

เมื่อธนาคารออมสินที่มีกลไกบริหารความเสี่ยงทางการเงินยังไม่สามารถแก้ ปัญหาหนี้นอกระบบได้ บรรดากองทุนหมู่บ้านที่แทบไม่มีประสบการณ์ หรือมีกลไกในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอยู่เลยจะทำได้หรือ ถึงทำได้โอกาสที่หนี้นอกระบบที่โอนมาจึงเสี่ยงที่จะกลายเป็น “หนี้สูญ” สูงมาก

ถ้ายังดันทุรังใช้กองทุนหมู่บ้านไปทำงานในสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่แน่กองทุนหมู่บ้านที่จัดตั้งมาครบรอบ 10 ปี ในเดือน ก.ค. 2554 ที่ผ่านมา อาจถึงคราว “ล่มสลาย” ในวันครบรอบปีที่ 11 ก็เป็นได้

แม้แต่ นที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีกองทุนหมู่บ้านบางแห่งเข้าไปช่วยเหลือสมาชิกในการแก้ปัญหานี้นอก ระบบ โดยการซื้อหนี้มาบริหารแต่ไม่อยากให้รัฐบาลไปบังคับให้ทุกกองทุนต้องทำ เพราะทำให้กองทุนหมู่บ้านเสี่ยงแบกรับภาระหนี้

“ธีระชัยมอบหมายให้ผมไปหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ว่า มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด แต่ส่วนตัวผมคงต้องไปอธิบายให้เขาทราบว่า การให้กองทุนหมู่บ้านไปซื้อหนี้นอกระบบไม่ใช่ทางออก แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้คนมีอาชีพ มีรายได้เพื่อไปชำระหนี้ ถ้าอย่างนี้กองทุนหมู่บ้านพร้อมหนุนเต็มที่” นที ระบุ

ประเด็นถัดมาปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านมีระเบียบที่กำหนดให้สมาชิก แต่ละรายกู้ยืมเงินได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อครั้ง และให้ชำระหนี้ภายใน 2 ปี ดังนั้น วงเงินที่กองทุนหมู่บ้านจะใช้ในการซื้อหนี้นอกระบบก็ต้องถูกจำกัดที่ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อราย

นั่นหมายถึงว่าหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ของลูกหนี้ก็ยังต้องเสียอัตราดอกเบี้ย สูงๆ เช่นเดิมเพราะขีดความสามารถในการล้างหนี้ของกองทุนหมู่บ้านนั้นจำกัดเหลือ เกิน

และถ้าใช้เต็มวงเงิน 1 ล้านบาท ให้ต่อราย 2 หมื่นบาท ก็ช่วยล้างหนี้คนในหมู่บ้านได้แค่ 50 คนเท่านั้น จากคนในหมู่บ้านร่วมพันสองพันคน

การให้กองทุนหมู่บ้านไปซื้อหนี้นอกระบบมาบริหาร จึงไม่สามารถแก้หนี้นอกระบบได้เบ็ดเสร็จ แถมยังทำให้กองทุนหมู่บ้านมีความเสี่ยง “ล่มลลาย”

นอกจากนี้ หากมองในมิติสังคมก็ต้องยอมรับว่ากองทุนหมู่บ้าน 8 หมื่นแห่ง มีกองทุนที่อยู่ในสภาวะย่ำแย่อย่างน้อย 10% และจากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่การโอนเงินให้กองทุนหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2544 มีผู้บริการกองทุนและสมาชิกถูกฟ้องร้องในคดีแพ่งอาญากว่า 1,000 คดี เช่น ไม่ชำระหนี้หรือกรรมการกองทุนฉ้อโกง

หากกองทุนหมู่บ้านต้องมารับภาระในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีความเสี่ยง สูง เมื่อสมาชิกที่ไม่มีเงินมาชำระหนี้ การเพิ่มขึ้นของการฟ้องร้องคดีแพ่งจะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย

ท้ายที่สุดก็ส่งผลกระทบให้เกิดความ “บาดหมาง” ในกลุ่มสมาชิกและผู้บริหารกองทุน

“ทุกวันนี้ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เราก็ไม่อยากฟ้องร้องสมาชิก เพราะมันไม่เกิดผลดีมีแต่สร้างความบาดหมางกันในชุมชนเปล่าๆ ถ้าไม่ถึงที่สุดจริงๆ เราก็จะไม่ฟ้อง” พ.ท.ชัยยงค์ เวงสูงเนิน ประธานเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านภาคกลางชี้ปมปัญหา

ไม่เพียงเท่านั้น จากข้อมูลของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ชี้อยู่แล้วว่า สาเหตุหนึ่งที่กองทุนหมู่บ้านบางแห่งมีสถานะ “เงินขาดบัญชี” เพราะมีหนี้ค้างชำระในอัตราที่สูงและมีการฉ้อโกงของประธานและกรรมการกองทุนฯ

นโยบายแก้หนี้นอกระบบจึง “เปิดช่อง” ให้มีการฉ้อโกงเงินกองทุนได้ เช่น สมาชิก “อุปโลกน์” หนี้ขึ้นมา และสมคบคิดกับประธานและกรรมการกองทุนดึงเงินกองทุนไปใช้จะทำอย่างไร

เพราะต้องยอมรับว่ากระบวนการตรวจสอบ “ความมีอยู่จริง” ของหนี้สินไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบให้รัดกุมได้

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การใช้กองทุนหมู่บ้านเป็นเครื่องมือในการล้างหนี้ของรัฐบาล จึงอาจเป็นการทำลายสถาบันการเงินชุมชนลงได้

เป็นไปได้หรือไม่ที่ธีระชัยจะทบทวนนโยบายให้กองทุนหมู่บ้านเข้าไปแก้ ปัญหาหนี้นอกระบบ หากจะให้มีการดำเนินการจริงๆ ก็ต้องให้กองทุนนั้นๆ เป็นคนตัดสินใจ ไม่ใช่ถูกบังคับจากนโยบายรัฐ

ที่สำคัญไม่ควรสร้างเงื่อนไขให้กองทุนหมู่บ้านที่ต้องการเพิ่มทุน 1 ล้านบาท ต้องมาพ่วงนโยบาย “แก้หนี้นอกระบบ” มาด้วย

เนื่องจากกองทุนหมู่บ้านในขณะนี้ยังไม่มีศักยภาพพอในการแก้ปัญหาหนี้นอก ระบบ แต่ทว่ากองทุนหมู่บ้านถือเป็นกลไกที่สร้างความสามัคคีให้กับคนในชุมชนหมู่ บ้าน นอกจากการเป็นแหล่งทุนอัตราต่ำ

เพราะจุดแข็งของกองทุนหมู่บ้านวันนี้คือ การนำรายได้จากดอกผลที่สมาชิกกู้ยืมมาใช้ในการจัดสวัสดิการให้คนในชุมชน ตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้คนในชุมชนรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของกองทุน และพร้อมใจกับการสร้างกองทุนให้มีพัฒนาการในทางที่ดีและเข้มแข็งขึ้น ก่อนจะก้าวสู่เป้าหมายการเป็น “สถาบันการเงินชุมชน”

ตอนนี้ยังมีเวลาที่ธีระชัยจะปรับเปลี่ยนนโยบายและเลิกส่ง “สัญญาณ” ที่จะสร้างความเสี่ยงให้กับระบบสถาบันการเงินในชุมชนของประเทศที่กำลังก่อ ร่างขึ้นจนกลายเป็นที่พึ่งของคนระดับฐานราก

ไม่เช่นนั้นมีแต่พังกับพัง

Tags : กองทุนหมู่บ้าน สะสางหนี้ ระบบการเงินชุมชน เสี่ยง ล่มสลาย บัญชี สอบบัญชี สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล. สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี

view