สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ลดหย่อนภาษีบ้านเศรษฐีรัฐบาลอุ้มผิดฝาผิดตัว

จาก โพสต์ทูเดย์

มาตรการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก 5 แสนบาท

โดย...ทีมข่าวการเงิน

มาตรการลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรก 5 แสนบาท ถือว่าคลอดออกมาได้รวดเร็วทันใจตามที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้ว่า “ทำได้แน่ ทำได้จริง”

แต่หากพิจารณาเงื่อนไขของมาตรการแจกภาษีที่กำหนดออกมา จะพบความพิลึกพิลั่น อาจถึงขั้นรันทดหดหู่แก่ประชาชนผู้เสียภาษีไม่น้อย

หนึ่ง เพราะรัฐบาลจะให้สิทธิกับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกในราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้นำ 10% ของราคาบ้าน มาเป็นรายจ่ายเพื่อหักลดหย่อนภาษีได้ 5 ปี

สอง ยังมีเงื่อนไขล็อกคอเอาไว้ว่าต้องเป็นการซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม ห้องแถว กับผู้ประกอบการจัดสรรมาก่อนเท่านั้น ทำให้บ้านเก่า บ้านมือสอง บ้านสร้างเอง จะไม่ได้สิทธิจากมาตรการนี้

สาม มาตรการนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.-31 ธ.ค. 2555 ซึ่งดูผิวเผินน่าจะเป็น 15 เดือนแห่งโอกาสทองของผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ตามที่รัฐบาลหาเสียงไว้

แต่ปรากฏว่าเมื่อพิเคราะห์เจาะลึกลงไปในมาตรการ จะพบว่าผู้มีรายได้น้อยแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้เลย หรือได้ก็เป็นจำนวนน้อย ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำอย่างที่รัฐบาลได้โปรยหว่านสร้างความหวังให้คนที่ต้อง การบ้านหลังแรกไว้ว่า...

คืนภาษีบ้านหลังแรกให้ 5 แสนบาท

คนที่เคยฝันหวานจากการประโคมข่าวของรัฐบาลว่าซื้อบ้านหลังแรกได้คืนภาษี 5 แสนบาท ในกรณีที่ซื้อบ้านราคาสูงสุด ได้ถูกแปรสภาพมาเป็นเทคนิคในการหาเสียง เป็นผลิตผลมาร์เก็ตติงทางการเมืองไปเท่านั้น

เพราะเมื่อมาตรการคลอดออกมาจริงๆ พบว่าไม่ได้เป็นการคืนภาษีตรงๆ เหมือนกับมาตรการซื้อรถคันแรกที่เสียภาษีสรรพสามิตเท่าไรคืนเงินเท่านั้น แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท

แต่มาตรการนี้ให้นำค่าซื้อบ้านที่ได้รับสิทธิทางภาษี 10% ของราคาที่ซื้อ แต่ไม่เกิน 5 แสนบาท มาเป็นรายจ่ายหักลดหย่อนภาษี

 

หมายความว่าผู้ซื้อบ้านหลังแรกจะได้ลดภาษีมากหรือลด ภาษีน้อยก็ขึ้นอยู่กับฐานภาษีที่แต่ละคนเสียอยู่ ซึ่งก็มีตั้งแต่ต่ำสุด 10% ไปจนถึงสูงสุด 37%

เท่ากับว่า คนมีรายได้มากเสียภาษีอัตราสูงจะได้ประโยชน์มากกว่าคนมีรายได้น้อยและเสียภาษีต่ำ

ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท สามารถนำค่าบ้านมาหักลดหย่อนภาษีได้ 5 แสนบาท เป็นเวลา 5 ปี หรือปีละ 1 แสนบาท ก็จะทำให้คนที่ฐานภาษี 10% ได้ลดภาษีจำนวน 1 หมื่นบาทต่อปี รวม 5 ปีได้ลดภาษีไป 5 หมื่นบาท

ส่วนคนที่ฐานภาษี 37% ได้ลดภาษี 3.7 หมื่นบาทต่อปี รวม 5 ปีก็จะลดภาษีไป 1.85 แสนบาท สูงกว่าเกือบ 4 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่เสียภาษีที่ฐาน 10%

นอกจากนี้ ในความเป็นจริงพบว่าคนที่มีรายได้เสียภาษีในฐาน 10% จะมีปัญหาซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาทหรือไม่ ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย

เพราะเมื่อดูจากกรอบการพิจารณาให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารของรัฐ จะเห็นได้ชัดว่าคนที่จะกู้เงินซื้อบ้านราคา 1 ล้านบาท จะต้องมีรายได้ 2 หมื่นบาทต่อเดือน คนที่ซื้อบ้าน 2 ล้านบาท จะต้องมีรายได้ร่วม 4 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนคนที่จะกู้ซื้อบ้าน 5 ล้านบาท ต้องมีรายได้ 1 แสนบาทต่อเดือนขึ้นไป

จากข้อมูลการให้สินเชื่อก็ฟ้องเข้าไปอีกว่า คนรายได้สูงมีกำลังกู้มาก ก็ได้รับลดหย่อนภาษีมาก แต่ขณะที่คนรายได้น้อยกู้ซื้อบ้านถูกๆ สักหลัง กลับได้ลดภาษีน้อยกว่าคนมีรายได้มาก

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าคนที่จบปริญญาตรีเงินเดือน 1 หมื่นบาทต้นๆ กว่าจะไต่เต้าขึ้นไปให้ได้ 2 หมื่นบาท เพื่อจะซื้อบ้านหลังแรกได้ไม่เกิน 2 ล้านบาทนั้น เขาจะต้องใช้ความพยายามในการทำงานไม่น้อยกว่า 56 ปี

มากไปกว่านั้น หากจะซื้อบ้าน 4 ล้านบาท ก็ลองคิดดูแล้วกันว่าพวกเขาเหล่าประชาไทยจะต้องทำงานไปอีกกี่ปี เพื่อให้เงินเดือนขึ้นไปถึง 4 หมื่นบาท

นี่ยังไม่รวมถึงคนที่รายได้ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อเดือน ที่เมื่อคิดแล้วคนกลุ่มนี้ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ เท่ากับว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้เลย แม้ว่าจะซื้อบ้านถูกก็ตาม

ซึ่งข้อมูลจากฐานการเสียภาษีบุคคลธรรมดา พบว่า มีการยื่นแบบภาษีบุคคลธรรมดาอยู่ที่ประมาณ 9.8 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 2 ล้านคนเท่านั้นที่เสียภาษีให้กับกรมสรรพากร

ในจำนวนดังกล่าวมีข้อมูลพิลึกพิลั่นและแอบรันทดอยู่ว่า มีผู้เสียภาษีในอัตราสูงสุด 37% ทั้งประเทศอยู่ประมาณ 5-6 หมื่นคนเท่านั้น

แอ่น แอ๋น แอ๊น เท่ากับว่ามาตรการที่รัฐบาลปูยิ่งลักษณ์ รักยิ่ง ออกมาตรการทางนโยบายให้คนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ มีคนเข้าข่ายได้รับประโยชน์ 2 ล้านคนเท่านั้น

และคนที่ได้รับประโยชน์สูงสุดกลายเป็นคนรวยที่เสียภาษีในอัตราสูงสุดแค่ 5-6 หมื่นคนเท่านั้นเอง

คนที่เสียภาษีในพิกัดอัตรา 37% ซึ่งต้องมีรายได้ปีละ 4 ล้านบาทขึ้นไปนั้น จำเป็นแค่ไหนที่รัฐบาลจะไปโอบอุ้มมิให้เขาต้องเสียภาษีให้หลวง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการล็อกว่าบ้านหลังแรกต้องเป็นบ้านในโครงการจัดสรรเท่า นั้น ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่ต่างจังหวัดไม่ได้รับสิทธิจากมาตรการนี้ เพราะไม่มีโครงการบ้านจัดสรรให้ซื้อ และวัฒนธรรมของคนต่างจังหวัดก็นิยมซื้อที่ดินปลูกบ้านเอง แต่ปรากฏว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ได้สิทธิจากรัฐบาลที่พวกเขารักยิ่ง

แม้กรมสรรพากรออกมาแก้ต่างว่า การไม่ให้สิทธิบ้านสร้างเอง เพราะกลัวคนหัวหมอซื้อที่ดินไปปลูกบ้านเท่าศาลพระภูมิ และมาขอลดหย่อนภาษี ก็ถือว่าเป็นการตัดช่องน้อยแต่พอตัว

ในประเด็นนี้ถือว่าทำให้รัฐบาลเสียคะแนนจากการออกมาตรการนี้ไปไม่ใช่น้อย

เพราะพรรคเพื่อไทยสัญญากับพี่น้องไว้ว่าช่วยคนรายได้น้อยให้มีโอกาส แต่คนรวยกลับรับไปเนื้อๆ เกือบหมด

นอกจากคนรวยแล้ว คนที่รับไปเต็มๆ เห็นจะหนีไม่พ้นผู้ประกอบการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ห้องแถวการค้าต่างๆ เพราะว่ามีบ้านค้างอยู่ในสต๊อกถึง 1 แสนยูนิต ก็จะได้ล้างโละให้หมด ได้กำไร ได้เงินไปหมุนทำโครงการใหม่ต่อไป

ต้องยอมรับว่าการขยับเงื่อนไขราคาบ้านจาก 3-4 ล้านบาท มาเป็นไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นการเอื้อผู้ประกอบการบ้านที่มีสินค้าอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด ตามมาด้วยคนมีเงินที่ต้องการซื้อบ้านแพงที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการรอบนี้ ไปเต็มๆ

ส่วนคนรายได้น้อยไม่ต้องพูดถึง เอื้อมอย่างไรก็ไปไม่ถึงบ้าน 5 ล้านบาทอย่างแน่นอน ลำพังบ้านราคา 1-2 ล้านบาท อาจพอมีกำลัง บ้าน 3-4 ล้านบาทก็แทบจะอ้วกแล้ว

พิเคราะห์จากฐานภาษีจะพบว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์เต็มจำนวนจากการใช้สิทธิ ลดหย่อนภาษีซื้อบ้านหลังแรก จะต้องเป็นผู้มีเงินได้ 23,333 บาทต่อเดือนขึ้นไป ภายใต้เงื่อนไขผู้มีรายได้สุทธิไม่เกิน 1.5 แสนบาทต่อปี จะได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี

ขณะที่ผู้มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องชำระภาษีจะไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการ นี้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการซื้อที่อยู่อาศัยจะลดลงมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับ ราคาที่อยู่อาศัยที่ซื้อ ระดับรายได้ของผู้ซื้อบ้าน ฐานอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของผู้ซื้อบ้าน

เมื่อคำนวณความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยจากระดับรายได้ในแต่ละเดือน ภายใต้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อที่อยู่อาศัย 7.25% และผ่อนระยะเวลา 30 ปี จำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนประมาณ 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน

ภายใต้สมมติฐานรายได้ทั้งปี ไม่รวมโบนัส หักค่าใช้จ่ายส่วนตัว 6 หมื่นบาท รายการลดหย่อนยกเว้นหลังการหักค่าใช้จ่าย 3 หมื่นบาท หักลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม 9,000 บาท

ผู้ที่จะได้รับการลดหย่อนภาษีต่ำสุด คือ ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีในอัตรา 10% หรือมีรายได้ประมาณ 21,000-51,580 บาทต่อเดือน และซื้อบ้านระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท จะลดค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านโดยรวมไม่เกิน 1 หมื่นบาท ตลอดระยะเวลา 5 ปี

ส่วนผู้ที่จะได้รับการลดหย่อนภาษีสูงสุด คือ ผู้ที่ต้องจ่ายภาษีในอัตรา 37% หรือมีรายได้สูงกว่า 341,585 บาทต่อเดือน และซื้อบ้านราคา 5 ล้านบาท จะลดค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้านลงได้ตั้งแต่ 1.5 แสนบาท ไปจนสูงสุดได้ถึง 1.85 แสนบาท คิดจากตั้งแต่ 30-37% ของวงเงินที่สามารถหักค่าลดหย่อนได้ในแต่ละปี

นี่น่าจะเป็นจุดอ่อนของมาตรการ ทำให้ฝ่ายค้านโจมตีรัฐบาลว่ามาตรการนี้ออกมาเพื่อเอื้อผู้ประกอบการ อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะบริษัทของครอบครัวนายกรัฐมนตรีที่มีบ้านในระดับราคาขายอยู่จำนวนไม่ น้อย ถือเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะขว้างงูให้พ้นคอ

นอกจากนี้ คนรายได้น้อยยังผิดหวังกับมาตรการบ้านหลังแรก ที่ตอนรัฐบาลหาเสียงมีการพ่วงสินเชื่อ 0% 5 ปีให้ด้วย โดยทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ไปหาเสียงในเวทีต่างๆ ได้สัญญาว่าจะให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ทำสินเชื่อบ้าน 0% 5 ปี ให้กับผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรก

แต่พอเข้าใจได้ว่าในช่วงนั้นพรรคการเมืองต้องการเกทับรัฐบาลเก่าที่ออก มาตรการสินเชื่อ 0% 2 ปี เพื่อแย่งชิงฐานเสียงคนมีรายได้น้อยถึงปานกลาง

แต่พอมาเป็นรัฐบาลจริงกลับพลิ้วว่าไม่ได้เป็นนโยบายหาเสียง ไปดูได้จากป้ายหาเสียงก็ไม่มีบอกเรื่องสินเชื่อบ้าน 0% 5 ปี มีแต่บอกว่าลดหย่อนภาษีบ้านหลังแรกเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ผู้ซื้อบ้านได้แต่ทำใจว่า สุดท้ายมาตรการบ้านหลังแรกเทกระจาดให้บรรดาเศรษฐี ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ส่วนคนมีรายได้น้อยกลายเป็นเหมือนไม้ประดับให้รัฐบาลอ้างว่า ทำแล้วนะ

ผลของมาตรการที่มาผิดที่ผิดทาง มาครึ่งตัวสุกๆ ดิบๆ ไม่ครบร่างตามที่โหมโรงหาเสียงไว้ ทำให้มาตรการที่ดูจะเป็นเหมือนดอกไม้ช่อใหญ่ของรัฐบาล ได้กลายเป็นก้อนหินกองโตโยนใส่รัฐบาลให้เจ็บตัวไปอีกนาน

Tags : ลดหย่อนภาษี บ้านเศรษฐี รัฐบาลอุ้ม ผิดฝาผิดตัว

view