สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เตือนภัย5ปีไทยซ้ำรอย กรีซ

เตือนภัย5ปีไทยซ้ำรอย'กรีซ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

นักวิชาการติงนโยบายมุ่งเป้าการเมืองมากเกิน ส่อทำเศรษฐกิจ เจ๊ง การคลังแย่ แถมรวมศูนย์อำนาจ หากยังไม่ปรับทิศทางอาจรอย‘กรีซ’ ภายใน 5-10 ปี
 สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ถดถอย และยังไม่มีทิศทางว่าจะหาทางออกกันอย่างไร เพราะวิกฤติครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดมาจากหนี้ของภาครัฐ การแก้ปัญหา หรือแนวทางรัดเข็มขัด แม้จะได้ผลแต่ต้องเผชิญแรงต่อต้านจากประชาชนภายในประเทศ การขึ้นภาษีก็ได้รับแรงคัดค้านจากคนรวย ตัวอย่างของกรีซ เป็นบทเรียนอย่างดี ทำให้นักวิชาการหวั่นการเดินหน้าโครงการประชานิยมของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะก่อปัญหาวิกฤติการคลังของชาติในอนาคตและจะซ้ำรอยกรีซ ภายใน 5-10 ปีนี้

ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายประชานิยมลักษณะปัจจุบันต่อเนื่อง อนาคตน่าเป็นห่วงไทยอาจเผชิญวิกฤติหนี้สาธารณะ เหมือนที่กรีซกำลังเผชิญอยู่ได้ เพราะว่านโยบายประชานิยมที่รัฐบาลชุดนี้ใช้อยู่ ไม่ได้เป็นการนำเงินจากคนรวยมาช่วยคนจน แต่เป็นการนำเงินในอนาคตมาช่วยคนในปัจจุบัน “ประชานิยมที่ใช้กันอยู่ต่างจากสังคมนิยม ที่เอาเงินคนรวยมาช่วยคนจน ถ้าไม่ปรับโครงสร้าง อาจกลายเป็นว่า การเอาเงินของคนจนหรือคนชั้นกลางกลุ่มหนึ่ง ไปช่วยคนจนหรือคนชั้นกลางอีกกลุ่มหนึ่ง ขณะที่คนรวยยังคงได้ประโยชน์ เพราะไม่ได้ไปเอาเงินภาษีเขามา” ดร.ตีรณ กล่าว

การดำเนินนโยบายลักษณะดังกล่าว คนที่ได้ประโยชน์แท้จริง ก็คือ คนรวย เพราะคนรวยได้สัมปทานด้านต่างๆ เช่น สัมปทานมือถือ สัมปทานการทำทรัพยากรธรรมชาติ หรือสัมปทานแทบเล็ต เป็นต้น ขณะที่รัฐบาลอาจมีฐานทุนที่ใหญ่ขึ้น มีอำนาจที่มากขึ้น แต่ประสิทธิภาพลดลง วิตกการดึงธุรกิจเข้าการเมือง เขากล่าวอีกว่า ยังเป็นการดึงนักธุรกิจเข้าสู่วงจรการเมืองมากขึ้น เพราะต่อไปใครอยากได้อะไรก็มาเล่นการเมือง ไม่ต้องคิดเรื่องกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่ต้องวางแผนอะไรมาก คิดแต่เรื่องการเมืองพอ เอาการเมืองเป็นตัวตั้งทำยังไงถึงจะล็อบบี้ให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

 “ภาพตอนนี้มันเหมือนวิ่งกลับไปสมัยจอมพล ป.(พิบูลสงคราม) ซึ่งเป็นภาพของ State Capitalism คือ การเมืองเป็นคนตัดสินใจเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคา ค่าจ้างแรงงาน ตัดสินว่าใครควรได้น้อย ใครควรได้มาก เมื่อถึงวันหนึ่งก็คงจะล่มสลาย เหมือนกับ กรีซ ซึ่งกรีซก็เป็น State Capitalism เหมือนกัน”

ดร.ตีรณ ยังเห็นด้วยว่า นโยบายต่างๆ ที่ออกมาของรัฐบาลชุดนี้ เป้าหลักไม่ได้อยู่ที่ผลทางเศรษฐกิจ แต่อยู่ที่ผลทางการเมือง โดยเป็นเครื่องมือที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง เพราะว่ารัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ต้องอาศัยคะแนนเสียงของประชาชน และความเข้มข้นของนโยบายคงจะอ่อนลงต่อเมื่อรัฐบาลได้ชัยชนะเด็ดขาด

“ตอนนี้ยังไม่เรียกว่าชนะแบบเบ็ดเสร็จ เพราะเสียงยังไม่ท่วมท้น จะให้ท่วมท้นต้องเรียกว่าแทบไม่มีฝ่ายค้านเลย เพียงแต่จะใช้เวลากี่ปีจนได้ชัยชนะแบบนั้นมายังบอกไม่ได้ และไม่รู้ว่าระหว่างทางจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เชื่อว่าจากนี้ไปการใช้นโยบายคงจะหนักขึ้น เพื่อจะได้อำนาจมาอย่างเบ็ดเสร็จ”

เขายังกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกปัจจุบันด้วยว่า มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่เศรษฐกิจโลกจะกลับไปเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจรอบสอง โดยอาจจะกลับเป็นช่วงขาลงได้ปลายปีนี้ เพราะการผลิตในหลายประเทศเริ่มชะลอตัวลงบ้างแล้ว ส่วนเศรษฐกิจเอเชียนั้นผลกระทบในเวลานี้อาจยังไม่มากนัก ยังมีส่วนผสมของสัญญาณบวกอยู่บ้าง

“ปัญหาของเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ คือ มีการปล่อยสภาพคล่องออกมาเยอะ โดยช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา มีการกระตุ้นการก่อหนี้สูงมาก เป็นลักษณะ Debt finance growth ทั่วโลก ส่วนจีนที่มองกันว่าอาจพลิกมาเป็นขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่นั้น ก็เป็นไปได้ เพียงแต่ก็ต้องระวัง เพราะจีนก็เติบโตด้วยหนี้เหมือนกัน ซึ่งการโตด้วยหนี้โอกาสจะเข้มแข็งระยะยาวยาก” ดร.ตีรณ กล่าว

ไทยรับมือไหวเก็บกระสุนใช้ยามจำเป็น

เขามองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีภูมิคุ้มกันดีอยู่ แต่อาจต้องลดแนวคิดทุนนิยมและบริโภคนิยมลง เพื่อป้องกันผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อาจระบาดมาไทย เพราะปัจจุบันความเชื่อมโยงเศรษฐกิจมีมากขึ้น อย่างกรณีวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ในสหรัฐ ก็ทำให้เกิดวิกฤติในยุโรปตามมา และวิกฤติในยุโรป ก็ทำให้สหรัฐยิ่งแย่ลง และปัญหาเหล่านี้ก็เริ่มลุกลามมายังเอเชียบ้างแล้ว

ดร.ตีรณ กล่าวด้วยว่า ไทยควรเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นเหมือนที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาเตือนบ่อยๆ รัฐบาลต้องลดการจ่ายกระสุนออกไป เพื่อเหลือไว้ใช้ยามจำเป็น ขณะที่ดอกเบี้ยแท้จริงซึ่งยังติดลบอยู่ ก็ควรทำให้ติดลบน้อยลง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการออมมากขึ้น

ไม่ปรับนโยบายตามรอยกรีซ แน่

ด้าน ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า หากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายประชานิยมลักษณะนี้ และไม่หาช่องทางเพิ่มรายได้หรือการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม ในอนาคตอีก 10-15 ปีข้างหน้า ก็มีความเป็นไปได้ 100% ที่ไทยจะเผชิญวิกฤติหนี้สาธารณะลักษณะเดียวกับที่กลุ่มประเทศยุโรปและกรีซกำลังเผชิญอยู่

 “ถ้ารัฐบาลไม่กล้าเก็บภาษีประเภทใหม่ๆ เช่น ภาษีจากความมั่งคั่ง ภาษีจากกำไรการลงทุนในหุ้น ขณะที่ยังดำเนินนโยบายเอาใจคนรากหญ้า ก็เป็นไปได้สูงที่เราจะเกิดวิกฤติแบบเดียวกับกรีซ”

เขายังกล่าวด้วยว่า ตัวเลขหนี้สาธารณะที่ดูไม่สูงเพราะมันซ่อนไว้ในหน่วยงานหลายแห่งที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาลต่างๆ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นได้เช่นกัน ถึงตอนนั้นรัฐบาลก็ต้องมาตามแก้ไขในลักษณะเดียวกับที่มีการตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ขึ้นมา ซึ่งยังกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ติงนโยบายไม่เผื่อวิกฤติ

ดร.พีระ เจริญพร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลนำมาใช้รัฐบาลหวังเพียงแค่หากเศรษฐกิจของประเทศเติบโตแล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ไม่ได้เผื่อกรณีว่าหากประเทศเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร เขายังอยากให้รัฐบาลนึกถึงนโยบายสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ที่ชูสโลแกน 4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง เพราะนโยบายที่ออกมาของรัฐบาลชุดนี้ ยังไม่เห็นนโยบายใดที่เป็นการสร้างเลย นโยบายซึ่งออกมาไม่ได้มองเผื่อปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเลย ถ้าเศรษฐกิจโลกเกิดปัญหาและกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจริง คนที่จะได้รับผลกระทบอย่างมากคือคนจนไม่ใช่คนรวย

“คงไม่ต้องรอถึง 10 ปี อาจจะแค่ 5 ปีก็ได้ หากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายลักษณะนี้ต่อเนื่อง แล้วเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น การส่งออกมีปัญหา แบงก์รัฐที่ทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐ อาจเกิดปัญหาเอ็นพีแอล ถึงเวลานั้นไทยต้องเผชิญปัญหาลักษณะเดียวกับที่กรีซเจออยู่ได้” ดร.พีระ กล่าว

Tags : เตือนภัย ไทย ซ้ำรอย กรีซ

view