สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โครงการรับจำนำข้าวชาวนาร้องโรงสียิ้ม

จาก โพสต์ทูเดย์

"เรื่องความอันตรายเวลาลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้วจะเจอตอหรือไม่ ตรงนี้ไม่กลัวแล้ว ผมเป็นคนที่ไม่ยอมให้ใครมาสั่งซ้ายหัน ขวาหัน"

โดย....นิติพันธุ์ สุขอรุณ  

นโยบายรับจำนำข้าวเปลือก 15,000 บาทต่อตัน นอกจากจะสร้างความพอใจให้ชาวนาได้ลืมตาอ้าปากแล้ว ขณะเดียวกัน ปัญหาการทุจริตในโครงการ ก็เป็นเงาควบคู่ตามมาติดๆ

สรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย

ทว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้เริ่มจากชาวนาเพียงสาเหตุเดียว แต่มีปัจจัยผสมปนเป อาทิ โรงสีข้าวกดราคา หรือ นำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์ เลยไปจนถึงข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับเงินใต้โต๊ะออกใบประทวนทั้งๆที่ รู้ว่า ข้าวที่ถูกนำมาขายให้รัฐบาลไม่มีคุณภาพตามมาตรฐาน

บุคคลหนึ่งที่มีประสบการณ์ และมองเห็นถึงปัญหาคือ “สรรเสริญ ปาลวัฒน์วิไชย” รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าว หนึ่งในคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าวจาก 6 คณะอนุกรรมการฯที่ก.พาณิชย์ ตั้งขึ้น โดยมีนายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ รองอธิบดีดีเอสไอ และพ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินทรขาว ปฏิบัติหน้าที่ผู้บัญชาการสำนักคดีความมั่นคง เป็นกรรมการฯ ร่วมมือกันทำงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นประโยชน์ต่อชาวนามากที่สุด

ก่อนหน้าที่ สรรเสริญ จะมาดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ กรมบังคับคดี ฝ่าเรื่องร้อนๆหนาวๆถึงขั้นถูกข่มขู่เมื่อเข้าไปตรวจสอบกรณีปุกรุกป่าไม้

 

“เรื่องความอันตรายเวลาลง พื้นที่ไปตรวจสอบแล้วจะเจอตอหรือไม่ ตรงนี้ไม่กลัวแล้ว ผมเป็นคนที่ไม่ยอมให้ใครมาสั่งซ้ายหัน ขวาหัน ในเรื่องไม่ถูกต้อง ผมทำไม่ได้ เพราะมีประสบการณ์ตรวจสอบกรณีบุกรุกป่าแห่งหนึ่งมีการวิ่งเต้นเล่นงานผม ขู่ผมว่าเป็นตำรวจใหญ่ในพื้นที่ เขาพยายามวิ่งเต้นให้ผมทำงานไม่ได้ ผมก็บอกเลยว่าผมอยู่กรมบังคับคดีคุณจะมาทำอะไรผมไม่ได้หรอก เขาก็เงียบไป แม้ตอนนี้จะจับเขาไม่ได้ สุดท้ายแล้วไม่ว่าอย่างไร ผมเชื่อเรื่องกรรมตามสนอง ใครทำอะไรไม่ดีไว้ ก็ต้องได้รับผลกรรมนั้น” สรรเสริญ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้นี้ถ่ายทอดถึงความยากลำบากของอาชีพชาวนา เนื่องจากในสมัยยังเด็กๆ ครอบครัวเคยทำธุรกิจโรงสีข้าวที่จ.ลพบุรี เรียนรู้เป็นประสบการณ์ว่า ครอบครัวไม่เคยเอารัดเอาเปรียบชาวนาเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งยังเข้าใจความรู้สึกถึงความยากจน หากมีชาวนาไม่มีที่ดินไว้ปลูกข้าว เขาก็จะให้ชาวนาเข้าไปทำนาบนที่ดินที่มีอยู่ได้ก่อน จนเมื่อมีเงินเก็บพอที่จะซื้อที่นาไว้เป็นของตัวเองได้ ครอบครัวก็ยินดีขายให้ในราคากันเอง

สรรเสริญ ขยายภาพว่า การดำรงอยู่ของอาชีพชาวนา เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนที่ชาวนามีเงินทองมากกว่าในปัจจุบัน เพราะมียุ้งข้าวไว้เก็บข้าวก่อนนำออกมาขายเมื่อได้ราคาดี ผิดกับสมัยนี้ที่ชาวนาไม่มีเงินจำใจต้องขายที่นา เพื่อให้ได้ต้นทุนการเพาะปลูก กลายเป็นผู้เช่าพื้นที่เสียเอง ทุกวันนี้ชาวนามีหน้าที่เกี่ยวข้าวและเป็นคนเฝ้าที่เท่านั้น วันดีคืนดีฝนตกพายุเข้าผลผลิตก็เสียหายหมด จมอยู่ในวังวนหนี้สินท่วมตัวไม่พ้น ปัจจัยทุกอย่างส่งผลให้โครงการรับจำนำข้าวมีโอกาสเกิดการทุจริตมากขึ้นใน ทุกกระบวนการ

ดังนั้น รูปแบบการตรวจสอบของดีเอสไอจึงต้องเข้มข้น โดยจะเริ่มตั้งแต่กระบวนการแรกไปจนถึงการส่งออกข้าว เช่น ตรวจเช็คจำนวนข้าวในสต็อกที่มีอยู่แต่ละแห่ง ว่า คุณภาพของข้าวเป็นอย่างไร ข้าวเป็นชนิดใด การขึ้นทะเบียนชาวนาถูกต้องหรือไม่ เพื่อหาว่าเกษตรกรสามารถทำผลผลิตออกมาได้จำนวนเท่าใด ตรงตามความเป็นจริงกับจำนวนพื้นที่เพาะปลูกหรือไม่ เพราะเคยเกิดกรณี เกษตรกรทำนาจริงเพียง 50 ไร่ แต่มาแจ้งขึ้นทะเบียนว่าทำนา 100 ไร่ จะเป็นปัญหาเรื่องของการแจ้งเกินจริง

ทั้งนี้ ยังมีเรื่องคุณภาพของข้าว เดิมทีคลังสินค้า หรือโรงสีจะมี “เซอเวเยอร์” หรือ ผู้ตรวจคุณภาพข้าว ซึ่งเป็นลูกจ้างของโรงสี ที่จะต้องส่งรายงานคุณภาพของข้าวในสต็อกกลับไปยังโรงสีนั้นๆ เพื่อให้โรงสีได้

ประโยชน์มากที่สุด ทางดีเอสไอจึงเสนอก.พาณิชย์ ว่า ควรจะต้องมี เซอเวเยอร์กลาง ที่เป็นคณะทำงานของก.พาณิชย์เข้าไปตรวจสอบ จึงจะโปร่งใส

อย่างไรก็ตาม กลโกงที่โรงสีอาจนำมาใช้คือ จะนำข้าวที่มีอยู่ในสต็อกเดิมเข้ามาสวมสิทธิ์ ใช้รูปแบบการนำข้าวคุณภาพดี มีความชื่นน้อยออกจากสต็อกแล้วแจ้งว่าเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ต้องนำออกไปเป็นอาหารสัตว์ จากนั้นจะนำข้าวคุณภาพต่ำมาสวมสิทธิ์ชาวนาก่อนขายให้รัฐบาล 

ข้อสังเกตที่ต้องจับตาคือ นโยบายรับจำนำนั้นชาวบ้านที่ปลูกข้าวนาปีทั้งไว้กินและแบ่งขายบ้าง อาจจะไม่ได้ประโยชน์นักจากนโยบายรับจำนำ แม้ว่าจะมีการตั้งเกณฑ์รับซื้อไว้สูง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้าวที่ชาวนานำไปขายนั้นมีจำนวนไม่มากนัก และราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ก็จะถูกพ่อค้ากดราคารับซื้ออยู่แล้ว เช่น ข้าวหอมมะลิ ถ้าราคารับจำนำอยู่ที่ 15,000 บาท ราคาที่ชาวบ้านขายได้ในเวลานั้นก็จะอยู่ที่ 11,000-12,000 บาท ที่เป็นเช่นนี้เพราะโรงสีต้องการให้เกิดส่วนต่างราคา  ผลประโยชน์ของการรับจำนำจึงตกอยู่กับโรงสีมากกว่า

ท้ายที่สุด มาตรการเด็ดขาดที่จะใช้กับโรงสีทุจริตเอารัดเอาเปรียบชาวนา จะต้องถึงขั้นรุนแรง คือ แฉผ่านออกมาว่า กระบวนการที่โรงสีแห่งนี้กระทำเป็นอย่างไร ใครอยู่เบื้องหลัง และใครจะต้องรับผิดชอบ แฉออกมาให้หมดเปลือก พร้อมกับขึ้นบัญชีดำห้ามค้าขายกับรัฐบาลอีกต่อไป

สรรเสริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนจะมีกระบวนการรับจำนำข้าวครั้งแรกในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เสียด้วยซ้ำ ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐบาลตามไม่ทัน ทำได้มากที่สุด คือ ลดโอกาสที่ใครก็ตามมุ่งหวังจะทุจริตกอบโกยผลประโยชน์ไว้ แล้วโยนบาปให้ประชาชนที่ต้องบริโภคข้าวเป็นผู้รับผิดชอบ


ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : โครงการรับจำนำข้าว ชาวนาร้อง โรงสียิ้ม

view