สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ช่วยด้วย !!! ศปภ. จมน้ำ

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

การทำงานของศปภ. 11 วันผ่านมาโครงสร้างบริหารสับสน ข้อมูลขัดแย้งกันเอง ทะเลาะกับกทม. สื่อสารล้าช้า ส่งผลความน่าเชื่อถือตกต่ำ จมไปกับน้ำเช่นกั

     การเปิดศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เมื่อเกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่
    ศปภ.ที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็น ผอ.ศูนย์ฯตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ที่ระดมทุกหน่วยราชการตั้งแต่ระดับกระทรวง จนถึงกรม กองต่างๆรวมทั้งเหล่ากองทัพไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)เพื่อมาร่วมวงแก้สถานการณ์น้ำท่วม ได้ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

   เพราะนอกจากการบริหารจัดการน้ำและการประเมินสถานการณ์น้ำที่ผิดพลาดแล้ว ยังทำงานอย่างเอกเทศ ไม่ฟังใคร รวมทั้งยังขัดแย้งกับกทม.ที่มีคนพรรคประชาธิปัตย์ดูแลอยู่

       อย่างเมื่อตอนเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม ประชาชนบริเวณพื้นที่ตอนเหนือของกทม.เขตรอยต่อกับจ.ปทุมธานีต่างพากันตื่นตระหนกสุดขีดและอพยพกันจนโกลาหลอลหม่านทำให้การจราจรเป็นอัมพาตหลังจากที่อยู่ๆนายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย(ศปภ.)ของรัฐบาลออกมาแถลงข่าวด่วนเตือนว่า ประตูน้ำคลองบ้านพร้าว จ.ปทุมธานีแตกไม่สามารถต้านกระแสน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ได้ทำให้น้ำปริมาณมหาศาลไหลเข้ามาทางตอนเหนือของกทม.แล้ว จึงเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยรีบอพยพโดยด่วน

     โดยพื้นที่ซึ่งนายปลอดประสพ แถลงย้ำเตือนให้อพยพด่วนประกอบด้วย หมู่บ้านไวท์เฮาส์ หมู่บ้านรัตนโกสิทร์ในอ.คลองหลวงและอ.ลำลูกกา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต สถาบันเทคโนโลยีแห่งอาเซีย(ไอไอที) พื้นที่รังสิตตอนบน พื้นที่อ.ลำลูกกา สายไหม ดอนเมืองตอนบนเหนือถนนรังสิต-ปทุมธานี โดยขอให้อพยพมายังสนามบินดอนเมืองอันเป็นศูนย์บัญชาการศปภ. โดยด่วนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปเพราะน้ำจะท่วมสูงขี้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 1 เมตรภายใน 7 ชั่วโมง


    สิ้นคำแถลงเตือนอย่างจริงจังของ นายปลอดประสพ ปรากฏว่าเกิดความโกหลาหลไปทั่วทั้งจังหวัดปทุมธานีหรือแม้แต่ชาวกทม. โดยประชาชนที่พื้นที่ถูกระบุว่าเสี่ยงภัยต่างพากันขนข้าวของและอพยพกันด้วยความตื่นตระหนกสุดขีด จนการจราจรย่านปทุมธานี-รังสิตกลายเป็นอัมพาต ในเวลาอันรวดเร็ว ขณะที่เกิดข่าวลือตามาอีกมากมายว่าแนวกั้นน้ำในจ.ปทุมธานีแตกแล้วและกำลังจะทะลักเข้าท่วมกทม.ในไม่ช้า

 แต่หลังคำแถลงเตือนที่สร้างความตื่นตระหนกของนายปลอดประสพ ได้เพียงครึ่งชั่วโมง ปรากฏว่า ศปภ.นำโดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศปภ. ต้องออกมาแถลงแก้ข่าวเป็นการด่วนทางสถานีโทรทัศน์วงการเฉพาะกิจ

ขอให้ประชาชนหยุดตื่นตระหนกเพราะสถานการณ์ยังปกติสามารถควบคุมได้โดยประตูน้ำคลองบ้านลาดพร้าวก็กำลังซ่อมแซมอยู่ไม่ได้แตกแต่อย่างใด

ซึ่งการแถลงข่าวที่กลับไปกลับมาของศปภ.ในระยะเวลาห่างกันแค่ครึ่งชั่วโมงยิ่งสร้างความสับสนต่อสาธารณชน แต่ดูเหมือนจะสายเกินการณ์เพราะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยยังคงอพยพกันอย่างโกลาหลจนกลางดึก


 ต่อมาวันที่ 14 ต.ค ก็เกิดเหตุสับสนขึ้นอีก เมื่อนายวิบูลย์  สงวนพงศ์  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รองผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศอส.)  ออกมาประกาศให้หลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร

 โดยเฉพาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน  13 เขต และพื้นที่ฝั่งตะวันออก จำนวน 4 เขต รวม 17 เขต เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน  และจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีเร่งด่วน
 ประกอบด้วย เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร  เขตสัมพันธวงศ์ เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา  เขตคลองเตย   เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตราษฎร์บูรณะเขตคลองสามวา เขตมีนบุรี  เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง

  แต่กลับได้การปฏิเสธจาก ศปภ.โดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผ.อ.ศปภ. บอกว่าไม่รู้เรื่อง แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ซ้ำซ้อน ไม่มีการประสานกัน ทำให้ประชาชนสับสนไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดี

 นอกจากนี้การให้ข้อมูลข่าวสารต่อประชาชนของ ศปภ. ก็เป็นไปด้วยความล่าช้าเพราะมีขั้นตอนเยอะ กว่าเผยแพร่ได้ต้องให้ พล.ต.อ.ประชา อนุมัติเสียก่อนในขณะที่ Social Network ที่มีทั้งจากแหล่งซึ่งเชื่อถือได้จากสำนักข่าวต่างๆ และจากแหล่งของภาคประชาชนที่ร่วมสื่อสารให้เห็นสถานการณ์ในพื้นที่ต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วชนิดนาทีต่อนาที  ทำให้ประชาชนเลิกเชื่อ เลิกฟัง การให้ข่าวของ ศปภ.ไปแล้ว


 สะท้อนให้เห็นจาก"เอแบคโพลล์"  ที่ประชาชนให้คะแนนข้อมูลของ ศปภ. แค่ 3.36 จากคะแนนเต็ม 10 และเกือบ 90% สับสนในข้อมูลที่ได้จาก ศปภ.

โดยส่วนใหญ่หรือ 86.2%  ระบุว่า ข้อมูลจาก ศปภ. ไม่ชัดเจนว่าพื้นที่ของประชาชนจะถูกน้ำท่วมหรือไม่ และ 89.3%  สับสนกับข้อมูลข่าวน้ำท่วมที่ได้รับจาก ศปภ.   และ 87.2% ไม่วางใจ ไม่เชื่อถือต่อการให้ข้อมูลข่าวน้ำท่วมจาก ศปภ.

และ  73.4 % อยากฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมจากกลุ่มคน หรือหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่มากกว่าทีมงานโฆษกของ ศปภ. และ 75.1% ต้องการฟังข้อมูลจากคนทำงานที่ศูนย์พักพิงมากกว่า ทีมงานโฆษกของ ศปภ. รวมทั้งคะแนนพอใจเฉลี่ยต่อระบบการแจ้งเตือนประชาชนโดยรัฐบาลได้เพียง 3.08 คะแนนเท่านั้น

 ส่วนความขัดแย้งกับ กทม. ก็มีหลายเรื่องทั้งเรื่องการแจ้งเตือนประชาชน ซึ่ง ศปภ.อ้างว่า อำนาจทั้งหมด ภาพรวมอยู่ที่ ศปภ.แต่กลับโยนไปให้ กทม. เป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ กทม.ชั้นใน  โดย ศปภ.พยายามขีดเส้นให้ตัวเองรับผิดชอบเฉพาะกทม. เขตชั้นนอกเท่านั้น

 ขณะที่ในส่วนของ กทม.เอง ก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่า กทม.จะยอมตาม ศปภ.ที่ขีดเส้นให้ เพราะชาว กทม. เป็นคนเลือกมา จึงประกาศเสียงดังฟังชัดว่าในพื้นที่ กทม. ให้ฟังตัวเขาเป็นหลัก
 

ความขัดแย้งของ ศปภ.กับ กทม. ยังเห็นได้จากการประชุมในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ส่วนมากแล้วทาง กทม. จะส่งตัวแทนมาร่วมประชุมโดยที่ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ไม่ค่อยได้มาร่วมประชุมด้วย

 แม้กระทั่งเรื่องนิคมอุตสาหกรรมนวนคร  พล.ต.อ.ประชา ยังให้สัมภาษณ์อย่างมั่นอกมั่นใจว่า น้ำไม่ท่วมเข้าไปในนิคมฯแน่ จนทำให้ผู้บริหารนิคมฯบางคนถึงกับเปิดแชมเปญฉลองในตอนดึก แต่พอวันรุ่งขึ้นน้ำก็ทะลักเข้านิคมฯไปหมดแล้ว

 และไปๆมาๆสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องหันมาพึ่งทหาร โดยสั่งให้กองทัพเข้าไปช่วยกู้นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งดูเหมือนจะสายเกินแก้เสียแล้ว เพราะขณะนี้พื้นที่ 90 % ของนวนครฯ ได้ถูกน้ำท่วมไปหมดแล้ว เสียหายยับเยิน
  ซึ่งก่อนหน้านี้หากรัฐบาลยอมให้กองทัพ "นำหน้า"ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งยอมประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เพื่อให้ทหารมีอำนาจเต็มในการเข้าจัดการน้ำ ก็คงไม่เละถึงขนาดนี้ แต่เพราะรัฐบาลกลัวว่าทหารจะชิงการนำและรัฐบาลจะเสียหน้า จึงไม่ยอมทำตามเสียงเรียกร้อง 

 "รัฐบาลปู" ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศ ก็เจอเข้ากับ "การบ้านข้อใหญ่"เรื่องน้ำท่วม ซึ่งหากรัฐบาลโชว์ความสามารถให้เห็น บริหารจัดการน้ำให้ดี ก็จะกลายเป็น "ฮีโร่" ได้ไม่ยาก


 แต่นี่กลับล้มเหลว ถูกน้ำพัดจมสนิท

       
 ที่มา:สำนักข่าวเนชั่น


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ช่วยด้วย ศปภ. จมน้ำ

view