สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทยจมน้ำสำลักถึงเศรษฐกิจโลก ฐานการผลิตพัง-ซ้ำอาหารแพง

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ถือเป็นเรื่องที่ต้องลุ้นระทึกแบบนาทีต่อนาทีทีเดียวสำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยขณะนี้

ลุ้นว่ามวลน้ำมหาศาลที่ไหลมาจากทางเหนือนั้น จะสามารถฝ่าด่านกำแพงกั้นน้ำเข้าท่วมกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือไม่

ลุ้นว่าหากน้ำทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯศูนย์กลางธุรกิจของไทย ซึ่งเป็นแหล่งรับผิดชอบผลิตสินค้าและบริการที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 41% ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของประเทศจะได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด

และลุ้นต่อไปว่ารัฐบาลไทยภายใต้การบริหารงานของรัฐมนตรีชุดใหม่ที่เพิ่ง จะมีอายุงานได้เพียง 2 เดือน จะสามารถฟื้นฟูบรรเทา ซับเหงื่อและน้ำตาของผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งคนไทยและต่างชาติได้ดีสมความคาดหวังแค่ไหน

เพราะลำพังกระแสน้ำเชี่ยวกรากที่ท่วมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางของประเทศในขณะนี้ก็เล่นเอาทั้งไทยและเทศย่ำแย่จนไปแทบไม่เป็น

นิคมอุตสาหกรรม 6 แห่งปิดตายชั่วคราว พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายเป็นล้านๆ ไร่ และประชาชนนับพันๆ คนไร้ที่อยู่อาศัย หรือบางคนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว

น้ำท่วมในครั้งนี้ของประเทศไทยจึงเป็นความเสียหายมากมายที่ไม่อาจประเมินค่าได้ครบถ้วนหมดสิ้น

นอกจากนี้ ภัยพิบัติทางธรรมชาติในครั้งนี้ยังส่งผลให้ทั่วโลกต้องสำลักน้ำตามประเทศไทยไปด้วย

ผลกระทบแรกสุดจากภัยน้ำท่วมของประเทศไทยที่ทั่วโลกกังวลกันมากที่สุดก็คือสถานการณ์ข้าวทั่วโลก

ในฐานะประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวหมายเลขหนึ่ง มวลน้ำมหาศาลที่เข้าทำลายพื้นที่ปลูกข้าวในไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น กัมพูชา และเวียดนาม ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ได้อย่างไม่ยากเย็นว่าราคาข้าวในตลาดโลกภายในปลาย ปีนี้ จนถึงช่วงต้นปีหน้ามีสิทธิพุ่งสูงขึ้น 19%

ศมาเรนทุ โมฮันติ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ในลอส บานอส ของฟิลิปปินส์ ระบุว่า ท่ามกลางประเทศที่ประสบกับภัยน้ำท่วม ประเทศไทยดูจะได้รับความเสียหายหนักมากที่สุด

เพราะน้ำท่วมคราวนี้ ทำให้ผลผลิตข้าวเปลือกของประเทศลดลงไปถึง 3.5 ล้านตัน ปริมาณที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กคำนวณว่า คิดเป็น 10% ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดเมื่อปี 2553ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดภัยน้ำท่วมในไทย ราคาข้าวสารในตลาดชิคาโกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 17% มาอยู่ที่ 16.325 เหรียญสหรัฐต่อ 100 ปอนด์ (ราว 489.75 ต่อ 45.36 กิโลกรัม) ขณะที่ข้าวขาวเกรดบีของไทยมีราคาขายเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 619 เหรียญสหรัฐต่อตัน (ราว 1.86 หมื่นบาทต่อ 1,000 กิโลกรัม)

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น นโยบายรับประกันราคาข้าวที่ตันละ 1.5 หมื่นบาท สำหรับข้าวขาว และ 2 หมื่นบาท สำหรับข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าท้องตลาดยังส่งผลผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้นไป อีก เพราะปริมาณผลผลิตข้าวลดลงไปจนไม่พอต่อความต้องการของตลาด

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐคาดการณ์ว่าข้าวส่งออกของไทยจะลดลงเหลือเพียง 8 ล้านตันในปี 2555 เมื่อเทียบกับปีนี้อยู่ที่ 10.5 ล้านตัน โดยอาศัยจำนวนข้าวที่เก็บไว้ในคลัง

สิ่งที่นักวิเคราะห์กังวลกันมากที่สุดก็คือ ราคาข้าวที่แพงขึ้นจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อของโลกให้ปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เช่นเดียวกับที่ลดความสามารถทางการแข่งขันของไทยในสภาวะที่ต้องผลักดัน เศรษฐกิจของประเทศเพื่อให้ฟื้นจากอาการบวมน้ำ

นอกจากปัญหาเรื่องปริมาณข้าวในตลาดแล้ว สิ่งที่โลกได้รับผลกระทบจากหายนะภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ก็คือผลกระทบต่อการ ผลิตของบรรดาโรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมจำพวกชิ้น ส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ และชิปคอมพิวเตอร์

ทั้งนี้ บริษัทวิจัยตลาด ไอเอชเอสไอซัพพลาย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในไทยน่าจะส่งผลให้ตลาดขาดแคลนอุปกรณ์จำพวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (เอชดีดี) ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ยาวนานไปจนถึงต้นปี 2555 ซึ่งจากของมูลของไอเอชเอสระบุว่าไทยมีส่วนในการผลิตอุปกรณ์พีซี จำพวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ คิดเป็นสัดส่วน 25% ของทั้งโลก

เวสเทิร์น ดิจิทัล ผู้ผลิตอุปกรณ์พีซีรายใหญ่ของโลกจากแคลิฟอร์เนีย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 33% และโตชิบา คอร์ป ได้ประกาศปิดโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำหรับเวสเทิร์น ดิจิทัล โรงงานในประเทศไทยรับผิดชอบผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ถึง 60% ของกำลังการผลิตของโรงงานทั้งหมด โดยทางบริษัทได้ออกมาประเมินความเสียหายเบื้องต้นจากน้ำท่วมในไทยที่ทำให้ ต้องปิดโรงงาน 2 แห่งแล้วว่า จะทำให้ยอดส่งออกในปีนี้ของบริษัทลดลงมากถึง 40% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 120 ล้านบาท และอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อกลับมาผลิตได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

ขณะที่ โตชิบา ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และการผลิตของโรงงานในไทยคิดเป็น 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ยังไม่ได้ประเมินความเสียหายแต่อย่างใด แต่คาดว่าน่าจะมีมูลค่าสูงกว่าหลายร้อยล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ทางผู้ผลิตรถรายใหญ่จากญี่ปุ่นอย่างฮอนด้า ต้องปิดโรงงานอย่างไม่มีกำหนด ด้านโตโยต้า แม้โรงงานจะไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่ก็ต้องปิดโรงงาน เนื่องจากซัพพลายเออร์ไม่สามารถส่งวัตถุดิบมาให้โตโยต้าได้

แน่นอนว่า การหยุดชะงักที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตย่อมส่งผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ทั่ว โลก ซึ่งยังไม่นับรวมอุตสาหกรรมการผลิตจำพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทั้งของบริษัท โซนี่นิคคอน หรือนาฬิกาชั้นนำอย่างคาสิโอ

สำหรับผลกระทบประการท้ายสุดที่ทำเอาทั่วโลกต้องตื่นตัวและรู้สึกสะดุ้ง อยู่ไม่น้อยก็คือว่า ประเทศไทยนับเป็นตัวอย่างอันดีของประเทศที่มีระบบบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะภัยน้ำท่วมที่สุดย่ำแย่

เจอร์รี เวลาสเกวซ ผู้ประสานงานอาวุโสในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ประเทศไทยมีหน่วยงานส่วนกลางที่รับผิดชอบดูแลเรื่องน้ำถึง 8 แห่ง แต่น้ำก็ยังท่วมทุกปี เพราะไทยไม่มีกรอบการทำงานที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพพอที่จะลงมือจัดการ ปัญหาน้ำอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ ไม่เฉพาะแต่ไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่มีปัญหาดังกล่าว แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ประสบปัญหาแบบเดียวกัน เพียงแต่ไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่เต็มไปด้วยอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกอย่างไทย จะยังไม่สามารถจัดการปัญหาน้ำได้อย่างเป็นระบบ

ขณะเดียวกัน เวลาสเกวซ ได้ระบุเพิ่มเติมอีกว่า เหตุน้ำท่วมร้ายแรงครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของไทย เป็นเสมือนสัญญาณแดงเตือน ที่นักวิเคราะห์ด้านภัยพิบัติของสหประชาชาติกล่าวตรงกันว่า อาจจะเป็นโหมโรงเริ่มต้นของมหันตภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

ด้วยสมมติฐานที่ว่าหายนะน้ำท่วมครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในทุกๆ 200 ปี และจากสถิติของหน่วยงานด้านบรรเทาสาธารณะภัยต่างๆ ในสังกัดของยูเอ็นก็ระบุว่า มีความเป็นไปได้อย่างมากที่เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่รุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ใน ปัจจุบันกำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานับต่อจากนี้

เท่ากับว่า สัญญาณเตือนภัยได้ผ่านไปแล้ว และของจริงกำลังจะมาถึง ซึ่งถ้าหากไม่มีการเตรียมการที่ดีพอก็ไม่แคล้วต้องเจอหายนะ

ส่วนจะต้องเตรียมการรับมืออย่างไรนั้นยูเอ็นได้บอกเป็นนัยแล้วว่าอย่าเพียงแค่รุมตำหนิไทย

แต่ให้ใช้ความบกพร่องของไทยนั้นเป็นบทเรียน!


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ไทย จมน้ำสำลัก เศรษฐกิจโลก ฐานการผลิตพัง ซ้ำอาหารแพง

view