สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ย้อนรอยน้ำท่วมกรุงเทพฯจากอดีตถึงปัจจุบัน...รัฐบาลอย่าตกใจ ประชาชนจะดูแลท่านเอง!!

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง

น้ำท่วมบริเวณพระรูปทรงม้า(23 ต.ค. 2485)
       ณ วันนี้เวลานี้ฉันเชื่อว่าชาวกทม.ส่วนใหญ่คงเตรียมอพยพ กั้นกระสอบทราย ก่อคันปูน ขนย้ายข้าวของหนีน้ำท่วม ที่ตอนนี้ได้เริ่มไหลบ่ามาท่วมถนนพระอาทิตย์หน้าออฟฟิศของฉันแล้ว
       
       งานนี้พิสูจน์ให้เห็นถึงกึ๋นของรัฐบาลที่บ้อท่าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกับศปภ.ที่มักจะออกมาให้ข่าวทำประชาชนสับสนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสุดท้ายแล้วประชาชนตาดำๆอย่างเราๆท่านๆคงต้องพึ่งตัวเองเป็นดีที่สุด ต้องมีสติ ตื่นตัว แต่ไม่ตื่นตระหนก เพราะวันนี้แม้จะอยู่ในกรุงเทพฯก็มีความเสี่ยงต่อน้ำท่วมไม่แพ้กัน

น้ำท่วมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย(12 ต.ค. 2485)
       อย่างไรก็ตามหากมองจากลักษณะทางกายภาพของกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มภาคกลางริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระ กอปรกับเป็นบริเวณที่ถูกน้ำทะเลหนุน เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในจุดที่มีร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้นับตั้งแต่ตั้งเมืองบางกอกหรือกรุงเทพมหานครขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งสยาม ประเทศเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้ว กรุงเทพฯได้ผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมาหลายครั้งหลายคราด้วยกัน
       
       แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในอดีตดูจะแตกต่างจากเหตุน้ำในวันนี้ อย่างสิ้นเชิง เพราะในอดีตกรุงเทพฯยังเป็นเมืองที่มากมายไปด้วยแม่น้ำลำคลอง วิถีชีวิตของผู้คนผูกพันกับสายน้ำทั้งการเกษตร การสัญจร มีการใช้เรือเป็นหลักในการสัญจรไปมาและติดต่อค้าขาย

น้ำท่วมบริเวณสนามหลวง(13 ต.ค. 2485)
       ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้กรุงเทพฯมีลักษณะของความเป็น“เมืองน้ำ” จนต่างชาติยกให้กรุงเทพฯเป็นดัง “เวนิสตะวันออก” แต่ เมื่อบ้านเมืองเจริญ(ทางวัตถุ)ขึ้น ผู้คนหันไปเดินตามวิถีตะวันตกมากขึ้น วิถีชีวิตของชาวกรุงเทพฯก็ค่อยๆเปลี่ยนไป เปลี่ยนจากวิถีเมืองน้ำมาเป็นวิถี“เมืองบก” ที่ยังคงอยู่ในพื้นที่รับน้ำเช่นเดิม นั่นจึงทำให้ให้บริบทของเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯมีความแตกต่างกันออกไปตามยุคสมัย
       
       สำหรับเหตุน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯนั้น จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่า ได้เกิดขึ้นในทุกรัชกาล โดยมีการบันทึกเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯครั้งแรกในสมัยพระปฐมบรมราชจักรี วงศ์ ได้แก่

น้ำท่วมบริเวณอนุสาวรีย์ชัย(14 ต.ค. 2485)
       สมัยรัชกาลที่ 1 : พ.ศ.2328 ระดับน้ำที่ท้องสนามหลวงสูงถึง 8 ศอก 10 นิ้ว วัดปริมาณน้ำภายในพระบรมมหาราชวังบริเวณพื้นท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิ พิมานได้ถึง 4 ศอก 8 นิ้ว
       สมัยรัชกาลที่ 2 : วันที่ 28 ต.ค. 2362 ส่งผลให้เกิดปัญหาข้าวยากหมากแพง
       สมัยรัชกาลที่ 3 : วันที่ 4 พ.ย. 2374 น้ำท่วมกรุงเทพทั่วพระนคร และมากกว่าปี 2328
       สมัยรัชกาลที่ 4 : เกิดน้ำท่วมใหญ่ 2 ครั้ง วันที่ 25 พ.ย. 2402 และ วันที่ 1 พ.ย. 2410
       สมัยรัชกาลที่ 5 : วันที่ 13 พ.ย. 2422 น้ำท่วมสูงถึงขอบประตูพิมานไชยศรี(ประตูทิศเหนือ พระบรมมหาราชวัง)
       สมัยรัชกาลที่ 6 : พ.ศ. 2460 น้ำท่วมไปถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ถึงขั้นมีการแข่งเรือได้
       สมัยรัชกาลที่ 8 : เกิดน้ำท่วมนานถึง 2 เดือน ปริมาณน้ำมากกว่าเมื่อปี 2460 เกือบเท่าตัว และในปี 2485 ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน น้ำท่วมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า สูงถึง 1.50 ม. และท่วมนานถึง 3 เดือน รวมถึงพื้นที่สำคัญๆอีกหลายแห่งเช่น สถานีรถไฟหัวลำโพง ถ.เยาวราช อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภูเขาทอง ถ.ราชดำเนิน อนุสาวรย์ชัยสมรภูมิ พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นต้น นับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อมากักเก็บน้ำ

น้ำท่วมบริเวณหัวลำโพง(17 ต.ค. 2485)
       มาในสมัยรัชกาลปัจจุบัน น้ำท่วมยังคงเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งสร้างความเดือดร้อนแก่ชาวกรุงเทพฯอย่างต่อเนื่อง
       
       ในพ.ศ.2518 : พายุดีเปรสชั่นได้พาดผ่านตอนบนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้มีปริมาณน้ำสูงทางภาคกลางตอนบน จนเป็นเหตุให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ
       
       พ.ศ.2521 : พายุลูกใหญ่ 2 ลูก คือ "เบส" และ "คิท" ได้พาดผ่านพื้นที่ตอนบนลุ่มน้ำปริมาณสูง รวมไปถึงปริมาณน้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลบ่าเข้าท่วมเป็นจำนวนมาก ทำให้ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯถูกน้ำท่วมไปโดยปริยาย

ผู้คนในนวนครอพยพหลังน้ำเข้าท่วมหนัก(18 ต.ค. 54)
       พ.ศ.2523 : ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทวีระดับความสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนที่สะพานสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ 2.00 ม. ระดับน้ำสูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2 ม. ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพฯถึง 4 วัน 4 คืน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่
       
       พ.ศ.2526 : พายุหลายลูกพัดผ่านเข้าภาคเหนือ และภาคกลางในช่วงก.ย. - ต.ค. ทำให้น้ำท่วมในครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมากอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวัดปริมาณฝนตลอดทั้งปีได้ 2,119 มม. จากค่าฝนเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ที่ 1,200 มม. ส่งผลให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯและปริมณฑล น้ำท่วมเป็นเวลานานที่สุดถึง 4 เดือน

น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสวนสันติฯมองดูคล้ายทะเล(19 ต.ค. 54)
       พ.ศ.2529 : ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันที่กรุงเทพฯในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะที่เขตราษฎร์บูรณะ ถ.วิภาวดีตั้งแต่ช่วงสะพานลอยเกษตรเข้าไป ย่านถ.สุขุมวิท ย่านรามคำแหง ย่านบางนา ทำให้การจราจรติดขัดมาก แต่อย่างไรก็ดีในครั้งนั้นอยู่ในช่วงที่น้ำทะเลไม่ได้หนุน ทำให้มีการระบายน้ำออกเป็นไปอย่างรวดเร็ว
       
       พ.ศ.2533 : เดือนตุลาคม พายุโซนร้อน "อีรา" และ "โลล่า" ได้พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ทำให้ฝนตกหนักที่กรุงเทพฯถึง 617 มม. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังสูงประมาณ 30-60 ซม. ในหลายพื้นที่ ทั้งบริเวณเขตมีนบุรี, หนองจอก, บางเขน, ดอนเมือง, บางกะปิ, พระโขนง, ลาดกระบัง, ลาดพร้าว, บึงกุ่ม และปริมณฑล โดยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานกว่า 1 เดือน

ระดับน้ำบริเวณถ.วิภาวดีหน้าห้างฟิวเจอร์ (18 ต.ค. 54)
       พ.ศ.2537 : พายุฝนฤดูร้อน ถล่มกรุงเทพฯและปริมณฑล ในเดือนพฤษภาคม โดยเฉลี่ยในทั่วเขตกรุงเทพฯมีปริมาณน้ำฝน 200 มม. ถือว่ามากที่สุดในประวัติการณ์ จนเรียกได้ว่าเป็น “ฝนพันปี” ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันที่บริเวณถ.จันทร์ เขตยานนาวา ถ.พหลโยธิน ตั้งแต่ย่านสะพานควาย ถ.ประดิพัทธ์ สวนจตุจักร ถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซ.สุทธิสารตลอดทั้งซอย รวมไปถึงถ.วิภาวดีรังสิตและรัชดาภิเษก ถ.ลาดพร้าว ถ.สุขุมวิท ตั้งแต่ย่านพระโขนง จนถึงอ.สำโรง สมุทรปราการ ส่วนถ.สาธร โดยเฉพาะซ.เซ็นต์หลุยส์ มีน้ำท่วมขังมากที่สุดประมาณ 50 ซม. ส่งผลให้การจราจรเป็นอัมพาต เกิดไฟฟ้าดับหลายจุด สร้างความเดือดร้อนทั่วทุกพื้นที่
       
       พ.ศ.2538 : เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง โดยพายุหลายลูกได้พัดผ่านทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะพายุโอลิส ที่ถล่มกระหน่ำทำให้เกิดในตกหนักอย่างต่อเนื่องหลายวัน วัดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ได้สูงถึง 2.27 ม. เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (เท่าน้ำท่วมปี 2485) ทำให้คันกั้นน้ำริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถูกน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่อย่าง หนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝั่งธนบุรีระดับความสูงถึง 1 ม. รวมระยะเวลาน้ำท่วมประมาณ 2 เดือน การคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบากต้องอาศัยเรือในการเดินทาง เพราะเกือบจะทั่วทุกพื้นที่กลายเป็นคลองไปหมด อีกทั้งยังมีน้ำเหนือหลากเข้าท่วมพื้นที่จังหวัดโดยรอบอีกด้วย

ถนนกลายเป็นที่สัญจรทั้งรถและเรือในย่านบางบัวทอง(19 ต.ค. 54)
       พ.ศ.2539 : มีฝนตกหนักในภาคเหนือ และภาคกลาง ในช่วง พ.ย.ทำให้ระดับน้ำสูงล้นแนวป้องกันน้ำท่วมเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำฝั่ง ธนบุรี บริเวณ ถ.จรัญสนิทวงศ์ ถ.เจริญนคร ฝั่งพระนคร บริเวณ ถ.สามเสน ถ.พระอาทิตย์ ซึ่งน้ำได้ท่วมขังกินระยะเวลานาน 2 เดือน
       
       พ.ศ.2549 : เกิดอุทกภัยใน 47 จังหวัด ทั่วประเทศ ส่งผลให้หลายพื้นที่มีสภาพน้ำท่วมขัง ประกอบกับมีการผันน้ำเข้าเก็บกักเอาไว้ในพื้นที่ว่างเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำ ท่วมโดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรในหลายจังหวัดภาคกลาง แต่เมื่อจังหวัดนั้นๆไม่สามารถรับนํ้าได้ไหว นํ้าจึงไหลเข้าท่วมขังที่กรุงเทพฯ เกือบ 1 ม. นานกว่าสัปดาห์
       
       และในพ.ศ.2554 นี้ ถึงแม้ว่าน้ำจะยังไม่ทะลักเข้าท่วมกรุงเทพฯ แต่มีความเป็นไปได้สูงว่ากรุงเทพฯจะประสบปัญหาน้ำท่วม และอาจรุนแรงเทียบเท่าปี 2538 เลยก็ว่าได้ เพราะพื้นที่โดยรอบกรุงเวลานี้ได้จมอยู่ใต้น้ำกันหมดแล้ว เราๆชาวกรุงก็ต้องลุ้นกับอย่างอกสั่นขวัญแขวนกันว่ารัฐบาลชุดนี้จะจัดการกับ วิกฤตอุทกภัยนี้อย่างไร อย่าดีแต่แถลงข่าวสร้างความสับสนให้ประชาชน จนประชาชนชาวไซเบอร์ต้องออกมาบอกว่า “รัฐบาลอย่าตกใจ ขอให้มีสติ ประชาชนจะดูแลท่านเอง!!”

น้ำทะลักท่วมถ.พระอาทิตย์(19 ต.ค. 54)
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       ข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณ ภัย(18 ต.ค. 54) มีผู้เสียชีวิต 315 ราย สูญหาย 3 คน กระทบ 62 จังหวัด 621 อําเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,742,310 ครัวเรือน 8,795,516 คน
       
       สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้า พระยาบริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ในวันนี้ (19 ต.ค. 54) น้ำขึ้น 2 ครั้ง ในเวลา 13.02 น. คาดว่าจะสูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.03 ม. และในเวลา 20.19 น. คาดว่าจะสูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 1.96 ม. และจากปริมาณการระบายน้ำในปัจจุบัน คาดว่าในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงในวันที่ 27-30 ต.ค. 54 จะสูงกว่าระดับทะเลปานกลางประมาณ 2.30-2.35 ม. ซึ่งระดับน้ำยังคงต่ำกว่าสันเขื่อนกันน้ำกรุงเทพมหานคร ซึ่งสูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 2.50 ม.
       
       HotLine สายด่วนน้ำท่วม
       สำนักนายกรัฐมนตรี โทร.1111
       สายด่วน ปภ. (กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย) โทร.1784
       บริการแพทย์ฉุกเฉิน และนำส่งโรงพยาบาล ฟรี โทร.1669
       ศูนย์ความปลอดภัย กรมทางหลวงชนบท โทร.1146
       ตำรวจทางหลวง สอบถามเส้นทางน้ำท่วม ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โทร.1193
       การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร.1690
       สายด่วน กฟภ. โทร.1129
       ท่าอากาศยานไทย โทร.0-2535-1111
       ศูนย์ประสานและติดตามสถานการณ์น้ำ โทร.0-2243-6956
       
       หมายเหตุ : ภาพน้ำท่วมในอดีตจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ย้อนรอยน้ำท่วมกรุงเทพฯ จากอดีตถึงปัจจุบัน รัฐบาลอย่าตกใจ ประชาชนจะดูแลท่านเอง

view