สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

บทเรียนน้ำถล่มไทยอย่ามัวพึ่งรัฐ เอกชน ต้องพร้อมรับมือ

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

ถึงวินาทีนี้ โลกคงไม่ต้องลุ้นให้เหนื่อยใจแล้วว่า มวลน้ำมหาศาลจะทะลวงปราการของรัฐบาลเข้ามาทักทายพื้นที่ภายในกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศไทยหรือไม่

เพราะตอนนี้น้ำเหล่านั้นได้คืบคลานเข้ามาภายในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นบางส่วนเรียบร้อยแล้ว ขาดแต่เพียงว่าจะถึงบริเวณส่วนไหนช้าเร็วกว่ากัน และส่วนไหนที่จะได้รับผลกระทบหนักเบากว่ากัน

ทั้งนี้ นอกจากประชาชนชาวไทยที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ในครั้งนี้ แล้ว บรรดาเอกชนอย่างผู้ประกอบการชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ของไทยอย่างญี่ปุ่น ก็ถือเป็นผู้ประสบภัยเช่นเดียวกัน

เพราะต้องทนมองเห็นโรงงานจำนวนกว่า 1.4 หมื่นแห่ง ในนิคมอุตสาหกรรมย่อยยับ โดยมีความเสียหายที่ประเมินกันในเบื้องตันล้วนไม่ต่ำกว่าเลข 6 หลักขึ้นไป

แม้จะเป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจโทษว่าเป็นความผิดของใครได้ แต่นักวิเคราะห์และบรรดาผู้ประกอบการส่วนหนึ่งต่างระบุว่า ตัวเลขความเสียหายมหาศาลจากเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ของไทยในครั้งนี้ เป็นเพราะรัฐบาลไทยไร้ฝีมือที่จะจัดการข้อมูลข่าวสารและไร้ระบบเตือนภัยที่ ดีพอ

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ เจอร์รี เวลาสเควซ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานยุทธศาสตร์นานาชาติ ด้านการลดภัยพิบัติ แห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นไอเอสดีอาร์ (United Nations International Strategy for Disaster Reduction Secretariat) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มองว่า เป็นภาระรับผิดชอบที่เอกชนต้องมีส่วนเข้ามาแบกรับด้วย

 

ทั้งนี้ เมื่อพลิกดูสถิติที่ยูเอ็นไอเอสดีอาร์ได้บันทึกไว้ จะพบว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกเผชิญหน้ากับภัยพิบัติทางธรรมชาติถี่ขึ้น และหนักขึ้นทุกๆ ปี โดย 50% ของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในแต่ละปีอยู่ในบริเวณภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยแต่ละประเทศได้รับภัยจำนวนมากน้อยต่างกัน แต่ก็ได้รับความรุนแรงอย่างทั่วถึงกัน

แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ตัวเลขผู้บาดเจ็บหรือผู้เสียชีวิตจากเหตุหายนภัยทางธรรมชาติครั้งรุนแรงจะลด ลง สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของระบบและอุปกรณ์เครื่องมือช่วยเหลือผู้ประสบ ภัย แต่มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มากถึงขนาดที่ทำให้ธุรกิจบางแห่งต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

จากการประเมินคร่าวๆ ของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ไม่เพียงเฉพาะในไทย แต่เหมารวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นลาว ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเวียดนาม มีมูลค่ารวมอย่างน้อย 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ความเสียหายชนิดย่อยยับล้มละลายดังกล่าว คือสิ่งที่เวลาสเควซ ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่บรรดาบริษัทห้างร้านเอกชน ไม่มีการเตรียมตัววางแผนรับมือในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ

ขณะเดียวกันอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือว่า ภัยธรรมชาติร้ายแรงที่เกิดขึ้นในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้ส่งผลให้เกิดการอพยพเคลื่อนย้ายโรงงานผลิตออกนอกประเทศ สู่สถานที่ใหม่ที่คิดว่าปลอดภัยมากกว่า แต่ก็ไม่อ่อนด้อยล้าหลังจนเกินไป พร้อมด้วยแรงงานคุณภาพดีราคาไม่แพง และได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ เป็นอย่างดี

แน่นอนว่า การย้ายฐานการผลิตเป็นกิจกรรมที่เอื้อประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายนักลงทุนได้ผลผลิตไปทำกำไร ขณะที่ฝ่ายที่รับการลงทุนก็มีการขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ มีเงินหมุนเวียนเข้าในระบบ และมีการจ้างงาน

แต่การย้ายโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติ ก็ถือเป็นเรื่องที่ประมาท ขณะเดียวกันก็เรียกได้ว่า ผลักภาระให้กับรัฐบาลเจ้าของประเทศมากจนเกินไป ขณะที่เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นแต่ละครั้ง การกระทำของภาคเอกชนที่เห็นได้เสมอ คือ การเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร

ทั้งๆ ที่หากภาคเอกชนเหล่านั้นตื่นตัว มีแผนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น ก็จะสามารถฟื้นตัวและพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดไม่ใกล้ไม่ไกลก็คือ ประเทศญี่ปุ่น

ด้วยชัยภูมิที่ต้องเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหว หรือภัยพิบัติอื่นๆ ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีการประชุมเตรียมพร้อมวางแผนรับมือให้กับบริษัทห้างร้าน ทั้งสัญชาติญี่ปุ่นและสัญชาติต่างๆ ที่เข้ามาลงทุนในญี่ปุ่น

เห็นได้จากการประชุมองค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการจัดวาระเรื่องการเตรียมเอกชนให้พร้อมรับมือภัยพิบัติสำหรับเมืองเซน ไดโดยเฉพาะ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตยันบุคลากร โดยมี เรเนซาส อิเล็กทรอนิกส์ เป็นตัวอย่างเอกชนที่มีการวางแผนรับมือความเสี่ยงจากภัยพิบัติเป็นอย่างดี ทำให้สามารถเริ่มกระบวนการผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น จนฟื้นตัวภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มครั้งใหญ่เมื่อเดือน มี.ค. เพียงไม่นาน

อย่างไรก็ตาม แม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ตื่นตัวเรื่องหายนภัยทางธรรมชาติในระดับที่ค่อน ข้างสูง แต่ดูเหมือนว่า เมื่อพ้นจากพื้นที่ประเทศตนเองแล้ว ความตื่นตัวที่ว่าจะลดน้อยถอยลงไป เช่น กรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องศึกษาก่อนเข้ามาลงทุนในประเทศหนึ่งๆ ก็คือ ทำเลที่ตั้ง หรือชัยภูมิที่เหมาะสมในการสร้างโรงงาน รวมถึงการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของที่ตั้ง

หมายความว่า บรรดาเอกชนต้องรับรู้ เข้าใจ และตระหนักแล้วว่า ภาคกลางของไทยคือพื้นที่ราบลุ่มที่น้ำท่วมถึง เพราะแต่เดิมเป็นพื้นที่ทางการเกษตร แต่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอ และเป็นหน้าที่ของเอกชนส่วนหนึ่งที่ต้องวางแผนเตรียมตัวรับมือกับอุทกภัย ที่ไม่เพียงแต่ปกป้องความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่ต้องครอบคลุมไปถึงลูกจ้างแรงงานท้องถิ่นที่อพยพเข้ามาในพื้นที่

ทั้งนี้ ความเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้นในไทย และอาจรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับภาคเอกชนให้ต้องเตรียมการวางแผนรับมือกับ ความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติต่อไปในอนาคต

เพราะบรรดาผู้เชี่ยวชาญและนักสิ่งแวดล้อมจากสหประชาชาติได้เตือนไว้ล่วง หน้าแล้วว่า ภัยธรรมชาติในขณะนี้ไม่อาจนับเป็นเหตุการณ์เหนือความคาดหมายอีกต่อไป เนื่องจากเหตุการณ์เหล่านั้นพร้อมเกิดขึ้นทุกปีและทุกแห่ง


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : บทเรียน น้ำถล่มไทย อย่ามัวพึ่งรัฐ เอกชน ต้องพร้อมรับมือ

view