สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เมื่อโซเชียลมีเดียน่าเชื่อกว่ารัฐ ได้เวลาหยุดสงครามน้ำ(ลาย)

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย : ปกรณ์ พึ่งเนตร


นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ วิพากษ์อาการ "สำลักข่าวสาร" ท่ามกลางการสื่อสารแบบ "สำลักน้ำ" ของรัฐบาล จนชาวบ้านหันไปเชื่อโซเชียลมีเดียมากกว่า

สถานการณ์อุทกภัยที่ว่ากันว่าร้ายแรงระดับ "สึนามิน้ำจืด" นั้น ประเด็นปัญหาที่พูดกันว่าเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้วิกฤติลุกลามเกินควบคุมคือ "การสื่อสารในภาวะวิกฤติ" ซึ่งพูดได้ว่าล้มเหลวแทบจะสิ้นเชิง

แต่โลกนี้ไม่มีอะไรสายเกินไป ในห้วงแห่งวิกฤติที่สังคมไทยยังต้องเผชิญไปอีกแรมเดือน ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาและเสนอทางออกให้สังคมร่วมกันพิจารณา

"จริงๆ แล้วตัววิกฤติมีพัฒนาการของมัน ณ ตอนต้นถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ถ้ามีการพูดจากันแบบตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้น เปิดให้สื่อสารแบบที่สถาพระปกเกล้าชอบใช้ เรียกว่าสานเสวนาหรือสุนทรียาสนทนาก็แล้วแต่ คือคุยกันแบบแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เคารพความคิดซึ่งกันและกันว่าปัญหานี้หนักหนาแค่ไหน ไม่ใช่โยนภาระให้รัฐบาลรับผิดชอบฝ่ายเดียว ใครทำอะไรได้ก็ช่วยกันทำไปก่อน สถานการณ์จะดีกว่าวันนี้มาก" ดร.ปาริชาต ระบุถึงต้นตอของปัญหา พร้อมฉายภาพที่เกิดขึ้น ในปัจจุบัน

"สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ณ วันนั้นเป็นข่าวลือ แต่วันนี้เป็นข่าวจริง เมื่อข่าวลือกลายเป็นข่าวจริงก็ย้อนไปดิสเครดิตคนที่คุมนโยบายทั้งหมด ไม่ใช่แค่รัฐบาลอย่างเดียว แต่เป็นทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน"

ดร.ปาริชาต อธิบายต่อว่า เมื่อเกิดข่าวลือและประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นภาครัฐ การสื่อสารข้อมูลจึงไหลเข้าไปใน "โซเชียลมีเดีย"

"อินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่ข่าวลือที่กลายเป็นจริง จึงเริ่มเห็นการกักตุนน้ำ เตรียมตัวรับน้ำท่วม ทำให้น้ำหายไปจากซุปเปอร์มาร์เก็ต กลุ่มที่เริ่มขึ้นกระสอบทรายกลุ่มแรกๆ เป็นการส่งสัญญาณไม่ใช่ด้วยวาจา แต่เป็นภาษาการกระทำ ทำไมธนาคารตรงสีลมขึ้นกระสอบทรายตั้งแต่ 2-3 สัปดาห์ก่อน หน่วยงานของรัฐก็ด้วย โรงแรมดังๆ ก็เช่นกัน ประชาชนจึงยิ่งหวาดผวา เป็นภาพจากโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นวิกฤติ"

ดร.ปาริชาต ชี้ว่า แม้สถานการณ์บานปลายมาถึงขณะนี้ แต่ปัญหาเรื่องการสื่อสารในภาวะฉุกเฉินยังไม่ดีขึ้น และไม่ได้รับการแก้ไข

"ยกตัวอย่างเรื่องของรถ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ยิ่งบอกไม่ให้เอาไปจอดบนสะพาน บนทางด่วน คนยิ่งเอาไปจอด เพราะประชาชนต้องกระเสือกกระสนเนื่องจากขาดที่พึ่ง สิ่งที่ประชาชนต้องการวันนี้คือความเชื่อมั่น เราไม่สามารถเชื่อมั่นเรื่องการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐได้"

"วันนี้ต้องยอมรับว่าน้ำมาและต้องอยู่กับน้ำอย่างน้อย 1 เดือน แต่มีใครทำหน้าที่บอกกับประชาชนหรือยังว่าเราจะอยู่กับน้ำอย่างไรในแบบที่เอาสังคมเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง วันนี้เราจึงกำลังเรียนรู้การอยู่กับน้ำแบบเอาตัวรอด ตัวใครตัวมัน สถานการณ์จึงยิ่งวิกฤติกว่าเรื่องน้ำท่วม เพราะขาดทั้งน้ำใจ เจอน้ำเหนือ น้ำเน่า และน้ำลาย"

ยิ่งไปกว่านั้น ดร.ปาริชาต เห็นว่าแม้รัฐบาลจะเริ่มตั้งหลักตอนนี้ก็ยังยาก เพราะข้อมูลข้อเท็จจริงมีหลายชุด

"ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ฝ่ายการเมืองที่ไม่ใช่รัฐบาล กรมชลประทาน หรือนักวิชาการ ต่างมีความจริงคนละชุดกัน และมีข้อเสนอไปคนละทาง ทำให้ประชาชนไม่รู้จะเชื่อใคร ผลจึงไม่ใช่การตื่นตัว แต่เป็นการตื่นตระหนก อย่างตอนนี้ดอนเมืองถูกปิด สนามบินสุวรรณภูมิจะถูกปิดหรือเปล่า ก็เริ่มลือออกมาแล้ว เพราะดูจากการย้ายเครื่องบินของกองทัพอากาศที่ไม่ได้ย้ายไปสุวรรณภูมิ แต่ย้ายไปที่อื่นที่ไกลออกไป เป็นการสื่อสารที่ไม่ใช่คำพูดแต่ทำให้คนเชื่อมากกว่าคำพูด"

"จึงไม่แปลกที่วันนี้คนตื่นตระหนก ไม่สนใจอีกแล้วว่าใครจะแก้ตัว ใครจะขอโทษ ประชาชนคิดแต่ว่าจะอยู่กับสิ่งที่เจออย่างไร และใครจะการันตีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินได้ รัฐบาลออกมาเรียกร้องให้ประชาชนมีสติ แต่จริงๆ แล้วสติตก ตระหนกเพิ่มขึ้น ตระหนักไม่มี เพราะไม่รู้ว่าใครมีข้อมูลที่ถูกต้องอย่างแท้จริง"

เมื่อเกิดวิกฤติซ้อนวิกฤติ ดร.ปาริชาต เสนอว่า ทางออกคือต้องใช้ภาวะของผู้นำทุกระดับด้วยการนำแบบมีสติ

"สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยได้คือการโชว์ภาวะการนำของผู้นำ ไม่ว่าจะระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น ระดับหน่วยงาน หรือแม้แต่โรงงาน ต้องโชว์ภาวะการนำแบบมีสติว่าใครควรทำอะไร เอาข้อมูลมาเปิดกันโดยไม่ใช่การเล่นละครหรือใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการชิงดีชิงเด่น เอาหน้า เอาผลงาน"

"วันนี้สถานการณ์จริงเป็นอย่างไร คนที่คุมข้อมูลอยู่ได้ข้อมูลจริงทุกมุมหรือไม่ หรือได้เพียงแค่มุมเดียว เพราะมีระบบการบล็อคข้อมูล หรือเป็นข้อมูลที่ตนเองไม่เชื่อ สูตรการคำนวณก็มีหลายสูตร ฉะนั้นวันนี้ไม่ต้องถกแล้วว่าปัญหาคืออะไร เพราะไม่มีทางเลือก ไม่มีอะไรดีที่สุด ทุกทางต้องเสีย เพียงแต่ทางไหนเสียน้อยที่สุดเท่านั้น จึงเป็นภาวะผู้นำที่จะต้องโชว์ศักยภาพ แต่ถ้าผู้นำออกทีวียังเสียงสั่นเครือ ความเชื่อมั่นก็ยิ่งหาย"

"ถึงเวลาแล้วที่่ทุกฝ่ายต้องเอาข้อมูลมาตีแผ่ หยุดกั๊ก ต้องพูดคุย ต้องยอมเจ็บ ใครจะยอมเจ็บมาก ใครจะยอมเจ็บน้อย ทำอย่างไรให้เกิดคำว่าแฟร์ (เป็นธรรม) ในสูตรแก้วิกฤติไม่มีคำว่าการเมือง ต้องทิ้งการเมือง แล้วร่วมไม้ร่วมมืออย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำให้สื่อเห็นแล้วสร้างวาทกรรม และสิ่งสำคัญที่สังคมไทยขาดมากๆ เลยคือวินัย"

ส่วนบทบาทของสื่อแขนงต่างๆ ดร.ปาริชาต ชี้ว่า น่าจะเป็นช่องทางเสนอข้อมูลบนพื้นฐานของความจริง แต่จากการรับสื่อ เช่น สื่อทีวี จะเห็นว่าประเด็นที่เสนอความจริงได้อย่างดีคือมุมของปัญหาว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น แต่มุมที่เป็นทางออกยังต้องตั้งคำถามว่าใครคือเจ้าของสื่อ

"ถ้าเป็นช่องของทหารก็จะเสนออย่างหนึ่ง ทีวีไทยก็อีกแบบหนึ่ง ช่อง 11 ก็อีกแบบหนึ่ง เนื้อหาที่สื่อสารยังขาดความเป็นเอกภาพ ผิดหลักการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ฉะนั้นจำเป็นต้องมีผู้นำที่อาจจะเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ ลุกขึ้นมาเป็นผู้นำที่คนเชื่อ แล้วบอกว่าประชาชนจะต้องทำอะไรกันบ้าง"

อย่างไรก็ดี ดร.ปาริชาต ยอมรับว่า สถานการณ์ของสื่อขณะนี้มีภาวะแข่งขันกันมาก ต้องเสนอข่าวด่วนสุด เร็วสุด และเป็นดราม่าสุดๆ ฉะนั้นสื่อต้องเปลี่ยนการแข่งขันเป็นความร่วมมือ เป็นสื่อเฉพาะกิจ ไม่ให้รัฐบาลเซ็นเซอร์ แล้วเสาะหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่น่าเชื่อถือมากๆ มาเผยแพร่ เพราะสื่อเข้าถึงทุกคน ทุกหน่วยงาน 

"อยากให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ หรือสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ทำบทบาทตรงนี้ เพื่อสร้างเอกภาพในการนำเสนอข้อมูลที่ตรวจสอบแล้วว่าน่าเชื่อถือ คนจะได้มีความหวังจากสื่อที่ร่วมมือกันมากกว่าคอยโซเชียลมีเดียซึ่งต้องตรวจสอบตัวบุคคลที่ให้ข้อมูลว่าเป็นเรื่องจริงหรือข่าวลือ"

ดร.ปาริชาต กล่าวด้วยว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ยังยืดเยื้อไปอีกนานและมีเรื่องที่ต้องทำอีกมาก ทั้งการคิดระบบเยียวยาหลังจากน้ำลด เรื่องโรคระบาด ภาวะขาดแคลนอาหาร และปัญหาในระบบเศรษฐกิจ การเงิน ซึ่งจะพึ่งรัฐอย่างเดียวคงยาก ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน แม้จะยังมีความขัดแย้งแบ่งฝ่ายกันอยู่ก็ตาม

"เราโชคร้ายที่เกิดเรื่องภายใต้ความขัดแย้งที่ยังคงมีอยู่ ฉะนั้นแม้จะนำวาทกรรมสามัคคีขึ้นมาเป็นเกราะ แต่พอเอาเข้าจริงก็ยังเป็นความขัดแย้ง ต่อสู้ช่วงชิงกันแบบตาต่อตาฟันต่อฟันระหว่างค่ายต่างๆ ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ทำให้มาตรการว่าด้วยการบริหารจัดการวิกฤติที่เคยประสบความสำเร็จในประเทศอื่นๆ ทั้งอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ไม่สามารถนำมาใช้ในประเทศไทยได้เลย"

"ฉะนั้นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจึงไม่ใช่การจัดฉาก แต่เป็นการร่วมแรงร่วมใจจากใจจริงๆ เราควรหยุดด่า หยุดบ่นกันได้แล้ว และลงมือช่วยกันแก้ไขวิกฤติเสียที"


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : โซเชียลมีเดีย น่าเชื่อกว่ารัฐ ได้เวลาหยุด สงครามน้ำลาย

view