สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤตไทย วิกฤตโลก การผลิตชะงักไกลถึงอเมริกา

จาก โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศ

หลังจากที่ต้องระงับการผลิตในโรงงาน 3 แห่ง ที่สำโรง เกตเวย์ และบ้านโพธิ์ เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ป้อนให้ประสบกับภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก และเพียงไม่กี่วันต่อมา ปัญหานี้ก็กระทบต่อไปยัง โตโยต้า มอเตอร์ สำนักงานใหญ่ประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องประกาศลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) ในโรงงาน 4 แห่ง เหลือวันละ 8 ชั่วโมง และส่งผลให้กำลังการผลิตรถยนต์ซึ่งอยู่ระหว่างเร่งสปีดเต็มสูบหลังฟื้นตัว จากสึนามิใหญ่ในญี่ปุ่นต้องหายไปกว่า 6,000 คัน

ล่าสุด ผลกระทบน้ำท่วมไทยครั้งนี้ หนาวไกลข้ามทวีปไปถึงสหรัฐแล้ว เมื่อโตโยต้า มอเตอร์ ต้องระงับการทำงานล่วงเวลาในการผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ที่โรงงานถึง 4 แห่ง ในภาคพื้นอเมริกาเหนือ โดยยังไม่สามารถตัดสินได้ว่าจะกลับมาเริ่มการผลิตตามปกติได้ในเร็วๆ นี้หรือไม่

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของไทย ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 3 เดือน ได้กลายเป็นปัญหาร่วมของโลกไปแล้ว นอกเหนือจากญี่ปุ่นที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ในไทย และน้ำท่วมไทยก็ไม่ได้กระทบเพียงอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ไอที และยังรวมถึงภาคการเกษตร ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของโลก

คนซื้อรถทั้งในเมืองไทยและเมืองนอกอาจได้รับการส่งมอบรถช้าออกไปเป็น เดือน ส่วนคริสต์มาสปีนี้ อาจมีของขวัญประเภทกล้องและสินค้าไอทีให้เลือกซื้อน้อยลง และที่สำคัญก็คือ ราคาอาหารทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

แม้นักลงทุนต่างชาติจะเพลาการตำหนิหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลง เพราะไม่อยากสั่นคลอนความสัมพันธ์ และเห็นแก่มนุษยธรรมในยามที่คนไทยจำนวนมากกำลังถูกน้ำท่วมมิดหัว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าทั่วโลกจะไม่คาดหวังให้รัฐบาลไทยเร่ง แก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว

แม้สหรัฐจะขนนักลงทุนบางส่วนมาโปรยยาหอมว่าจะไม่ย้ายการลงทุนออกจากไทย แต่นี่อาจเป็นเพียงการให้กำลังใจรูปแบบหนึ่งในยามวิกฤตเท่านั้น และไม่ได้มีสิ่งใดรับประกันเลยว่านักลงทุนต่างชาติจะไม่หนี หรือหันไปตั้งโรงงานเพิ่มในประเทศอื่นๆ แทน หลังจากที่เข็ดขยาดกับภาวะน้ำท่วมที่ไร้ทางออกในไทย

เพราะในช่วงเดียวกันนี้ ประเทศไทยเริ่มจะมี “คะแนนตก” ในการจัดอันดับความพร้อมของโลก ทั้งในด้านการลงทุนและภูมิรัฐศาสตร์ที่เสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ

การจัดอันดับประเทศที่น่าลงทุนที่สุด 183 ประเทศทั่วโลก (Doing Business 2012) โดยธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ พบว่าประเทศไทยหล่นไปอยู่อันดับที่ 17 จากที่ 16 ในปีที่แล้ว แม้จะยังรั้งอยู่ในกลุ่มท็อป 20 ในเอเชีย เป็นรองเพียงสิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้ แต่ก็ยังไม่น่าวางใจ เพราะในรายละเอียดปลีกย่อยหลายด้านนั้นยังมีคะแนนไม่น่าพอใจเท่าไรนัก อาทิ การชำระภาษี การเข้าถึงสินเชื่อ การปกป้องนักลงทุน และการจดทะเบียนทรัพย์สิน มีเพียงด้านการค้าระหว่างประเทศและการเริ่มต้นทำธุรกิจเท่านั้นที่ปรับตัวดี ขึ้น

และหากมองย้อนกลับไปในรอบ 4 ปีมานี้ จะยิ่งเห็นความน่าเป็นห่วงยิ่งขึ้น เพราะอันดับของไทยหล่นจากที่ 12 ในปี 2009 และ 2010 ลงมาถึง 5 อันดับในปีนี้ สวนทางกับมาเลเซียที่ขยับขึ้นมา 5 อันดับจากปีที่แล้ว มาอยู่อันดับที่ 18 ในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่สถานการณ์โลกเริ่มเปลี่ยนไป โดยพบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้นในหลายประเทศ การย้ายฐานการผลิตของประเทศอุตสาหกรรมมายังประเทศกำลังพัฒนาจึงต้องพิจารณา ปัจจัยความเสี่ยง การรับมือความเสี่ยง และกระบวนการแก้ปัญหาจากภัยธรรมชาติไปด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

โดยเฉพาะการรับมือและจัดการกับภัยพิบัตินั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนได้

จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งได้อันดับที่ 37 ประเทศเสี่ยงภัยพิบัติมากที่สุดจาก 193 ประเทศทั่วโลก มีความเป็นไปได้สูงที่บรรดานักลงทุนต่างชาติจะหันมาทบทวนแผนการลงทุนใหม่ เพื่อลดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

นิสสัน มอเตอร์ คือตัวอย่างหนึ่งที่อาจกลายเป็นต้นแบบให้บริษัทอื่นๆ หันมาพิจารณาเรื่องการกระจายความเสี่ยงของซัพพลายเออร์ โดยไม่เลือกใช้ซัพพลายเออร์ที่กระจุกตัวเฉพาะในประเทศ หรือในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นหลัก

คริสโตเฟอร์ คีฟ โฆษกของนิสสัน มอเตอร์ ได้เปิดเผยกับสื่อหลายสำนักในญี่ปุ่นก่อนหน้านี้ว่า บทเรียนหนึ่งที่ได้รับจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่นครั้งใหญ่ เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาก็คือ ต้องกระจายซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนยานยนต์ในหลายพื้นที่ และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นิสสันได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ใน ไทยน้อยกว่าค่ายรถยนต์อื่นๆ

แต่ประเด็นที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ก็คือ การกระจายซัพพลายเออร์จะยังเกิดขึ้นภายในประเทศเดียวกัน หรือหันไปกระจายในหลายประเทศแทน โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียที่กำลังเนื้อหอมรับการลงทุนจาก ต่างชาติในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้นในช่วง 2–3 ปีมานี้

หากสามารถสร้างความมั่นใจในศักยภาพการแก้ปัญหาในฐานะที่เป็นรัฐบาลประเทศเจ้าบ้านได้ ความกังวลในเรื่องดังกล่าวอาจพอบรรเทาลง

ทว่า หากไม่เช่นนั้น ก็อาจต้องเตรียมทำใจรับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจยุคโลกาภิวัตน์ที่ไม่ได้ แคร์เรื่องความสัมพันธ์มากไปกว่าตัวเลขผลประกอบการ


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : วิกฤตไทย วิกฤตโลก การผลิตชะงัก ไกลถึงอเมริกา

view