สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ความมั่นใจในวิกฤติ

ความมั่นใจในวิกฤติ


ทุกครั้งที่ดิฉันเดินทางไปต่างประเทศ สิ่งหนึ่งที่ชอบทำคือ ละเลียดสังเกตพฤติกรรมของเพื่อนร่วมโลก ตั้งแต่เรื่องใหญ่

 เช่น พฤติกรรมในการเจรจาซื้อขายธุรกิจ เรื่อยเปื่อยไปจนเรื่องเล็ก อาทิ วิธีการเดินข้ามถนนของคนท้องถิ่น จึงได้สัมผัสถึงความคล้ายและความต่างที่น่าสนใจ ให้มุมมองหลากหลายที่สะท้อนสังคม และความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ว่ายากดีมีจน ก็คนเหมือนกัน...และต่างกัน

 ล่าสุด ดิฉันได้มีโอกาสเดินทางไปสหรัฐอเมริกา คุณริชาร์ด เพื่อนนักเรียนเก่า ลงทุนขับรถข้ามหลายรัฐมาทักทายในฐานะสหายแก่

 เขามาพร้อมรูปเก่าที่เล่าอดีตยามเราเป็นนักเรียน ที่แม้ฮาเฮ ปัดเป๋ตามวัย แต่เราต่างก็มีความเพียรที่จะเปลี่ยนโลกใบใหญ่ หวังให้เป็นโลกที่สดใสไร้มลทิน

 ด้วยอ่อนวัย เราจึงยังมิได้ตระหนักถึงโลกของแท้ ที่ต้องเอาความเป็นจริงมาชั่ง มาตรอง เพื่อมองให้ทะลุถึงความซับซ้อนซ่อนเงื่อน เงื่อนที่ต้องอ่านด้วยสายตาที่คมขึ้นด้วยวัยและประสบการณ์ แต่ยังคงต้องการจิตวิญญาณของเด็กเล็กๆ ที่อยู่ในตัวเรา เพราะเขามองเห็นความเป็นไปได้และพลังอันยิ่งใหญ่ที่เราทุกคนมี

 หลังจากหัวเราะกันจนเหนื่อย เราเลยตัดสินใจเติมพลังโดยตะลุยหาร้านอาหารอร่อย ที่ต้องเดินผ่านซอกซอย และถนนที่มีรถยนต์หนาแน่น

 ยามที่ต้องข้ามถนนบนทางม้าลายที่ไม่มีสัญญาณไฟให้รถหยุด ดิฉันก็เหลียวซ้ายแลขวา เห็นรถชะลอหยุดให้ด้วยความใจดี จึงรีบยิ้มให้พร้อมเอ่ยคำขอบคุณ จากนั้นเหลียวขวาแลซ้ายอีกรอบเพื่อความมั่นใจ ก่อนเดินกึ่งวิ่งไปอีกฝั่ง

 เพื่อนข้างกาย เมื่อเห็นดิฉันวิ่ง เลยสาวเท้าตาม แล้วหัวเราะถามว่า “พอใจ วิ่งทำไมจ๊ะ?”

 ดิฉันตอบแบบหอบๆ กลางถนนว่า  “อ้าว! แล้วทำไมริชาร์ดถึงไม่วิ่ง ก็เราข้ามถนน คนธรรมดาเขาก็ต้องรีบ จะเดินนวยนาดอืดอาดอยู่อย่างไร ทั้งอันตรายและเกรงใจคนที่หยุดรถให้เรา”

 คุณริชาร์ดหัวเราะดังกว่าเก่า  “เขาหยุดให้เราตามหน้าที่ครับ คนขับรถต้องหยุดให้คนข้าม ดังนั้น เดินตามสบาย ไม่ต้องรีบ”

 อ้าว! ...จากนั้น ดิฉันได้เริ่มสังเกตพฤติกรรมการข้ามถนนของคนอเมริกัน จึงเห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่เหลียวซ้ายแลขวามากมาย ต่างเดินข้ามด้วยความมั่นใจว่าผู้ขับขี่รถยนต์จะหยุดให้ตามกฎกติกา

 ประเด็นสำคัญ คือ ความมั่นใจ

 การวิจัยด้านจิตวิทยาหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นของนักจิตวิทยาชื่อก้อง Sigmund Freud หรือ ผู้ที่เป็นต้นแบบของทฤษฎีการจูงใจ เช่น Abraham Maslow จนถึง Anthony Robbins นักเขียนและนักสื่อสารคนดังแห่งยุค ต่างระบุถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ปัจจัยหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่ง นั่นคือ Certainty หรือ ความแน่นอน

 ความต้องการ Certainty คือ ความต้องการความแน่นอน ความมั่นใจ ความชัดเจน ความนิ่ง ที่ทำให้เราคาดเดาได้ว่าจะเกิด หรือ ไม่เกิดอะไร โดยเฉพาะในสิ่งที่เราให้ความสำคัญ

 ความมั่นใจ ยามปกติว่าสำคัญแล้ว ยามเกิดความสับสนวุ่นวาย เช่นนาทีนี้ ที่มีวิกฤตภัย น้ำท่วมใหญ่ที่เรากำลังเผชิญแบบเกินกำลัง ความมั่นใจจะมีระดับความสำคัญที่เอ่อสูงขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

 เราจึงไม่แปลกใจว่าการบริหารวิกฤติแบบวิกฤติ ข้อมูลสับสน ทั้งจริงทั้งลือปนจนคนสติแตก แยกไม่ออก บอกไม่ถูก ความเชื่อมั่นจึงขาดสะบั้น

 เมื่อไม่มั่นใจ เราจึง “วิ่ง” แบบลนลาน

 เมื่อไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าใครจะออกมายืนยันนั่งยันอย่างไร จะให้เชื่อหมดใจ ไม่มีแล้ว

 ต่างชีวิตจึงต่างเอาตัวรอด เอาความปลอดภัยของตัวและครอบครัว ตลอดจนทรัพย์สินที่เพียรสร้างสมมาตลอดชีวิตเป็นหลัก

 หลายท่านออกมาให้ความเห็นเปรียบเทียบด้วยความอดสู ขอให้ดูความแตกต่างระหว่างเราคนไทยกับชาวญี่ปุ่น ยามญี่ปุ่นประสบภัยสึนามิแสนสาหัส เขายังมีสติ มีวินัย เข้าคิวแบ่งปันได้อย่างสงบ

 ดิฉันมองว่า ที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นเพราะเพื่อนชาวญี่ปุ่นของเรา เขาอยู่ในวัฒนธรรมและสังคมที่แตกต่าง โดยเฉพาะเรื่องความมั่นใจ เช่น เมื่อลืมของทิ้งไว้ในที่สาธารณะ กะได้ว่า เปอร์เซ็นต์ของหายต่ำกว่าหลายๆ ที่ส่วนใหญ่ในโลก

 ยามญี่ปุ่นประสบภัยยิ่งใหญ่ ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน ความไม่แน่ใจว่าอะไรจะเกิด แต่ก็ยังมีความนิ่ง ที่ต่างมั่นใจได้ว่าทั้งรัฐบาล และสังคมจะดูแลกันและกันอย่างไร

 หัวใจ คือ ความมั่นใจ นั่นเอง

 เฉกเช่นคนอเมริกัน ที่มั่นใจว่ารถจะหยุดให้ยามต้องการข้ามถนน จึงเดินได้อย่างนิ่ง ไม่วิ่งละล้าละลัง

 ความสับสนในบ้านเรา ณ ปัจจุบัน ที่เกิดจากพฤติกรรมที่เสมือนเห็นแก่ตัว หรือไร้เหตุผล เช่น แก่งแย่งกักตุนอาหารและของใช้เต็มอัตรา หรือ ยังไม่กล้าตัดสินใจอพยพย้ายจากที่พัก แม้ภัยคืบคลานใกล้เข้ามาทุกขณะ หรือ พนังกันน้ำข้า ใครอย่าแตะ ตลอดจนการนำรถยนต์ไปจอดให้รอดน้ำท่วมบนสะพานที่ทางการประกาศย้ำๆ ว่าห้ามๆๆ ล้วนมีสาเหตุสำคัญจากการที่เราต่างไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไร ยังไม่เห็นภาพใหญ่  ไม่เห็นอนาคต ทั้งยังไม่มั่นใจว่าหากรอดจากอุทกภัย จะมีใครโอบอุ้มดูแลหลังน้ำลด

 ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือการใช้สติของเราเอง สร้างความนิ่งท่ามกลางความไม่นิ่ง

 นอกจากนั้น เราต้องเรียนรู้จากบทเรียนแสนแพง ต้องไม่ให้ภัยครั้งใหญ่ยิ่งถูกทิ้งไปง่ายๆ

 เราต้องได้บทเรียน

 บทเรียนสำคัญบทหนึ่งสำหรับองค์กรยามเกิดวิกฤติ คือ การที่ผู้นำต้องสร้างความแน่นอน ความนิ่ง ความไว้เนื้อเชื่อใจ และมั่นใจในบางสิ่งที่ควบคุมได้ เพื่อสยบความเคลื่อนไหว

 เพราะหากปล่อยให้คนนับล้านหวั่นไหว โดยไม่รู้จะเชื่ออะไร หรือเชื่อใคร ไม่มีหลักใดให้เกาะ จนต่างต้องใช้สัญชาตญาณการเอาตัวรอดของตนเองเมื่อไร...ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่จืด ดังที่เห็นในภาวะปัจจุบัน

 ขอร่วมเป็นกำลังใจให้พวกเราคนไทยผ่านพ้นภัยอย่างไม่ทิ้งกันค่ะ

Tags : ความมั่นใจ ในวิกฤติ

view