สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ไทย ตกชั้นอาเซียน ไล่หลังเพื่อนบ้านพิษการเมืองแย่ น้ำท่วมถล่มซ้ำ

จาก โพสต์ทูเดย์

ขณะที่หลายฝ่ายกำลังวิตกว่าวิกฤตการณ์น้ำท่วมไทยครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนต่างชาติอย่างหนัก

โดย ทีมข่าวต่างประเทศ

ขณะที่หลายฝ่ายกำลังวิตกว่าวิกฤตการณ์น้ำท่วมไทยครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของบรรดานักลงทุนต่างชาติอย่างหนัก หลายฝ่ายอาจยังนึกไม่ถึงหรือไม่กล้าวิเคราะห์ลงไปให้ลึกกว่านั้นว่า แท้จริงแล้วอุทกภัยครั้งใหญ่สุดในรอบกว่า 50 ปีครั้งนี้ อาจสร้างความเสียหายต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของไทยรุนแรงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ มากนัก

โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบดูกับตัวเลขย้อนหลังในรอบ 10 ปีมานี้ และพบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างน่าผิดหวัง จนอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วง “ทศวรรษที่หายไป” หรือ “The Lost Decade” ของไทย ซึ่งทำให้ไทยแลนด์ที่เคยมีเศรษฐกิจโชติช่วงในกลุ่มประเทศอาเซียนเตลอด 20 ปีก่อนหน้านี้ กลับถูกเพื่อนบ้านแซงหน้ากันอย่างก้าวกระโดด

และผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ทวีความเสียหายรุนแรงขึ้นจากภาวะน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ก็อาจเป็นตัวเร่งฉุดให้ประเทศไทยยิ่งรั้งท้าย...

จากที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเขตเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้รวดเร็วที่สุดประเทศ หนึ่งของโลกในช่วงทศวรรษที่ 80 และ 90 ประเทศไทยกลับต้องพบกับอันดับและดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจหลายด้านที่ตามหลัง ประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วยกัน ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แม้จะขยายตัวขึ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่การเติบโตอย่างน่าจับตาเมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน อาทิ จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งรายหลังกำลังเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในช่วง 2-3 ปีหลังมานี้

 

นับตั้งแต่ปี 2543 มาจนถึงวิกฤตการณ์ภาคการเงินโลกในปี 2550 ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 5.1% โดยเฉลี่ย เมื่อเทียบกับประเทศตลาดเกิดใหม่ในฝั่งเอเชียตะวันออกโดยรวม ที่ขยายตัวได้ 7.8% และแม้จะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งเอาเมื่อปี 2553 แต่ระหว่างปี 2551-2552 เศรษฐกิจไทยก็ได้รับความเสียหายหนักกว่าเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในเอเชีย

จุดหนึ่งที่ไทยกำลังตามหลังอย่างเห็นได้ชัด คือ การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ใหม่ๆ ที่แพ้ให้กับเวียดนามและอินโดนีเซียในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ทั้งที่เคยเป็นผู้นำมาตลอด โดยมีตัวเลขการลงทุนเอฟดีไอเฉลี่ยที่ระหว่าง 3,000-6,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา ไทยสามารถดึงดูเอฟดีไอได้เพียง 5,800 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียที่ 1.33 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

วอลสตรีต เจอร์นัล รายงานโดยอ้างความเห็นบรรดานักเศรษฐศาสตร์ว่า สาเหตุที่ทำให้อดีตดาวรุ่งอย่างไทยต้องกลายเป็นดาวตก เป็นเพราะการประสบกับภัยธรรมชาติครั้งใหญ่หลายครั้ง ท่ามกลางปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่บั่นทอนเสถียรภาพของประเทศ

จากสึนามิครั้งใหญ่ถล่มหลายจังหวัดในภาคใต้เมื่อปี 2547 ไปสู่รัฐประหารในปี 2549 จากนั้นต่อเนื่องกับคลื่นการประท้วงทางการเมืองที่นำไปสู่การบุกยึดสนามบิน ในปี 2551 จนมาถึงการชุมนุมเผาเมืองในปี 2553 ซึ่งจบลงอย่างนองเลือด 90 ศพ

ทั้งหมดนี้กำลังถูกซ้ำเติมต่อด้วยวิกฤตการณ์น้ำท่วมล่าสุด ที่เขย่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติและอาจเบี่ยงเบนรัฐบาลไทยให้เขวไป จากแผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างชาติ

ปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่ๆ ในไทย อาทิ ฟอร์ด มอเตอร์ ยังคงเลือกที่จะปักหลักหรือกระทั่งขยายการลงทุนในอยู่ไทย แต่สิ่งที่ประเทศไทยยังไม่สามารถทำให้สำเร็จก็คือ การดึงดูดบรรดานักลงทุนหน้าใหม่ในเวลานี้ ที่เต็มไปด้วยประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่น่าสนใจ

“นักลงทุนที่มีฐานในไทยอยู่แล้วมีแนวโน้มที่จะลงทุนเพิ่ม เพราะรู้จักและคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมแล้ว แต่ในกรณีที่จะขนเงินทุนใหม่มาลงทุนใหม่ๆ ในไทยนั้น ณ เวลานี้ หลายบริษัทคงจะไม่ได้มองประเทศไทย” เฟรเดอริก นิวแมน นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารเอชเอสบีซี สาขาฮ่องกง กล่าวกับวอลสตรีต เจอร์นัล

นิวแมน ยังให้รายละเอียดภาพของทศวรรษที่หายไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของไทยด้วยว่า ในขณะที่ไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียงเล็กน้อยตลอดสิบปีมานี้ ค่าจ้างในอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือจีน กลับปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาพที่สวนทางกันหากย้อนไปเมื่อ 10-15 ปีก่อนหน้า อาทิ ค่าจ้างโดยเฉลี่ยต่อเดือนในภาคการผลิตของจีนที่ 400 เหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับไทยที่ 250 เหรียญสหรัฐ

เป็นการให้รายละเอียดที่บ่งชี้ว่า แม้จะถูกกว่าแต่ก็ยังไม่สามารถดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ให้เข้ามาได้

และอุทกภัยในวันนี้ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 400 คน ก็อาจยิ่งฉุดให้สถานการณ์เลวร้ายลง เมื่อบรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์เบื้องต้นว่า มูลค่าความเสียหายทั้งหมดอาจพุ่งสูงถึง 3 แสนล้านบาท ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพิ่งลดคาดการณ์จีดีพีปี 2554 ลงมาอยู่ที่ 2.6% จากเดิมที่ 4.1% ซึ่งน้อยลงเท่าตัวจากคาดการณ์จีดีพีโดยเฉลี่ยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 5.4% และจีนที่ 9%

ด้าน ทิม คอนดอน นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารไอเอ็นจี ในสิงคโปร์ มองว่า ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้ขึ้นในเมืองไทย กลุ่มคนชั้นกลางที่อยู่ชายขอบก็จะตกลงไปสู่ความยากจนอีกครั้ง และหากเศรษฐกิจไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาก่อนยุควิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540-2541 ที่จีดีพีขยายตัวได้เฉลี่ย 7% คนจำนวนมากที่หล่นจากระดับชนชั้นกลางไปแล้ว ก็จะไม่สามารถไต่กลับขึ้นมาได้อีก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในภาพรวมก็ไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นไต่ลงเหว อัตราการว่างงานยังนับว่าต่ำมากที่ระดับ 1% และรัฐบาลก็ยังมีโอกาสที่จะพลิกสถานการณ์กลับมาได้อยู่

นักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซี มองว่า ปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้ความพยายามจัดการกับภาวะน้ำท่วมในขณะนี้ของไทย เป็นเหมือนกับจุดเปลี่ยนชี้ชะตาอนาคตประเทศ

“หากไทยมีการรับมือที่เด็ดขาด แก้ปัญหาได้ตรงจุด ฟื้นฟูความเสียหายบนท้องถนน และหันมาลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก วิกฤตก็อาจกลายเป็นโอกาสในการปฏิรูป และช่วยให้ดึงดูต่อการลงทุนใหม่ๆ” นิวแมน กล่าว

ทว่า หากไร้ซึ่งแผนการรับมือกับวิกฤตการณ์ เงินทุนเริ่มไหลออกตามช่องทางต่างๆ และรัฐบาลมัวแต่มุ่งกับนโยบายเฉพาะหน้าแล้ว ปัญหาน้ำท่วมก็จะกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกของบรรดานักลง ทุนต่างชาติที่ว่า ไทยแลนด์ อาจจะไม่ใช่ประเทศที่เป็นมิตรต่อการลงทุนอีกต่อไป


สำนักงานบัญชีและธุรกิจ พี.เอ.แอล.,สำนักงานสอบบัญชี พีแอนด์อี
ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,จดทะเบียนธุรกิจ,วางระบบบัญชี

Tags : ไทย ตกชั้นอาเซียน ไล่หลังเพื่อนบ้าน พิษการเมืองแย่ น้ำท่วมถล่มซ้ำ

view